ค้นหาโรค อาการ หรือวิธีการรักษา

ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hypertrophy; Benign prostatic hyperplasia; BPH)

เผยแพร่ครั้งแรก 26 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 11 ก.พ. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที

ความหมาย ต่อมลูกหมากโตเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง

สาเหตุ สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัดแต่เชื่อว่าเมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะโตขึ้นและมักโตจากฮอร์โมน เช่น Dihydrotestosterone hormone (DHT)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

พยาธิสรีรภาพ เมื่อผู้ชายมีอายุมากขึ้นและมีต่อมลูกหมากโต ต่อมลูกหมากที่อยู่รอบท่อปัสสาวะบริเวณผนังด้านข้างของต่อมลูกหมากหรือด้านในของต่อมลูกหมากจะมีจำนวนเซลล์ปกติเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติจนเกิดเป็นก้อน ก้อนเหล่านี้จะเบียดเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากเดิมให้บางออกจนเหมือนเปลือกหุ้มหรือเป็นแคปซูล เมื่อต่อมลูกหมากโตจะเบียดขึ้นข้างบนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะและเบียดเข้าข้างในเข้าไปในท่อปัสสาวะ ทำให้ท่อปัสสาวะส่วนต่อมลูกหมากแคบลงและทางเดินปัสสาวะอุดตัน เมื่อปัสสาวะออกไม่ได้หรือปัสสาวะออกไม่สะดวก กระเพาะปัสสาวะมีการปรับตัวโดยไวต่อการกระตุ้น ทำให้ปัสสาวะบ่อยและกลั้นปัสสาวะไม่ได้ หากปัสสาวะออกไม่ได้หรือออกไม่สะดวกเป็นเวลานานๆ กระเพาะปัสสาวะจะมีการปรับตัวโดยผนังกระเพาะปัสสาวะหนา หากการอุดตันนี้ไม่ได้รับการแก้ไขผนังของท่อไตจะบางลง พองออก และมีน้ำปัสสาวะขังอยู่ กลายเป็นไตบวมน้ำ ทำให้ปัสสาวะไหลไม่สะดวกจากคอของกระเพาะปัสสาวะอุดตันหรือปัสสาวะไหลย้อนกลับเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดภาวะไตวาย

อาการ ในรายที่มีการอุดตันของท่อปัสสาวะจะมีอาการปัสสาวะออกช้า ต้องเบ่งถ่ายปัสสาวะหรือรอนานกว่าปัสสาวะจะออกมาได้ ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะไหลช้าเป็นลำเล็ก ปัสสาวะสะดุด ปัสสาวะไม่สุด หรือปัสสาวะไม่หมด ส่วนในรายที่เกิดจากการระคายเคืองจะมีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นไว้ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง ปัสสาวะกลางคืนมากกว่า 1-2 ครั้ง ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะคั่ง บางรายอาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดหรือมีอาการถ่ายปัสสาวะขัดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

การวินิจฉัยโรค มีประวัติถ่ายปัสสาวะผิดปกติ ตรวจร่างกายอาจพบว่าผู้ป่วยมีเลือดจาง บวมตามตัว เคาะเจ็บบริเวณเอวด้านหลังซึ่งถือว่ามีการอักเสบที่ไต ตรวจหน้าท้องพบกระเพาะปัสสาวะโป่งจากปัสสาวะตกค้าง (มากกว่า 500 มิลลิลิตร) ตรวจโดยคลำทางทวารหนักพบต่อมลูกหมากโต ตรวจปัสสาวะมีภาวะเป็นด่างพบเม็ด

เลือดขาวสูง ตรวจเลือดพบฮีมาโตคริตและฮีโมโกบิลต่ำ พบยูเรียไนโตรเจนและครีอะตินินสูง ทำให้ Plain Kidney, Ureters and Bladder (Plain KUB) อาจเห็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือในต่อมลูกหมาก ทำ Intravenous pyelogram (IVP) อาจพบไตบวมน้ำ ท่อไตโต หรือท่อไตบวมน้ำ ตรวจดูความแรงของการถ่ายปัสสาวะและจำนวนปัสสาวะที่เหลือค้าง ส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อดูว่าต่อมลูกหมากโตเพียงใด

การรักษา ให้ยาลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่บีบรัดท่อปัสสาวะ เช่น Doxazosin, Tamsulosin เป็นต้น ให้ยาลดขนาดของต่อมลูกหมาก เช่น Finasteride บางรายอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทางท่อปัสสาวะหรือออกทางหน้าท้อง บางรายอาจต้องขยายท่อปัสสาวะด้วยบอลลูนหรือใช้คลื่นความร้อน

การพยาบาล ในรายที่ต้องรักษาโดยการผ่าตัด ให้การดูแลโดยระวังการเกิดภาวะช็อกจากการเสียเลือดหลังผ่าตัด โดยบันทึกสัญญาณชีพทุกๆ 1 ชั่วโมง ใน 8 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด บันทึกจำนวนน้ำที่ได้รับและปัสสาวะที่ออกมาทุก 1 ชั่วโมงจนกว่าจะคงที่ ติดตามค่าฮีมาโตคริตทุก 4-6 ชั่วโมงหลังผ่าตัด การมีเลือดออกทางท่อปัสสาวะและบริเวณแผลผ่าตัด บรรเทาความปวดโดยให้ยาแก้ปวด ยาลดการเกร็งของกระเพาะปัสสาวะ ยาระบาย ดูแลให้ผู้ป่วยสามารถกลั้นปัสสาวะได้โดยสอนวิธีการบริหารกล้ามเนื้อฝีเย็บให้ขมิบทวารหนัก หากเกิดการติดเชื้อเช็ดตัวลดไข้ แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ ให้ยาปฏิชีวนะ และคลายความวิตกกังวล

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ "คู่มือโรค" โดยปราณี ทู้ไพเราะ จากจากโรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความก่อนหน้า
ภาวะไตวาย
ภาวะไตวาย
บทความต่อไป
ภาวะไตวายเรื้อรัง
ภาวะไตวายเรื้อรัง