ค้นหาโรค อาการ หรือวิธีการรักษา

กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ไตติดเชื้อ

เผยแพร่ครั้งแรก 12 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 3 ก.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที

ภาวะไตติดเชื้อ (กรวยไตอักเสบ - pyelonephritis) เป็นภาวะที่ทำให้เกิดความไม่สบายตัวและเจ็บปวดเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในร่างกาย โดยเข้าจากกระเพาะปัสสาวะไปสู่ไตข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง

ภาวะนี้มีความร้ายแรงมากกว่าภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (cystitis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะที่พบได้บ่อยที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดขณะปัสสาวะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หากทำการรักษาอย่างทันท่วงที การติดเชื้อที่ไตจะไม่เป็นอันตรายนอกจากทำให้คุณรู้สึกไม่สู้ดีอย่างมาก แต่หากไม่ทำการรักษาภาวะติดเชื้อที่ไต จะทำให้ภาวะนี้ทรุดลงจนสร้างความเสียหายแก่ไตอย่างถาวร

อาการของภาวะติดเชื้อที่ไตมักจะเกิดขึ้นเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยคุณอาจจะมีไข้ หนาวสั่น รู้สึกคลื่นไส้ และเจ็บปวดที่แผ่นหลังหรือข้างลำตัว

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

คุณควรไปพบแพทย์หากว่าคุณมีไข้และมีอาการปวดท้องเรื้อรัง ปวดหลังส่วนล่างหรือปวดอวัยวะเพศ หรือสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของกิจจะลักษณะการปัสสาวะของตนเอง

ภาวะติดเชื้อที่ไตส่วนมากจะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อหยุดการติดเชื้อไม่ให้เข้าทำลายไตหรือกระจายเข้าสู่กระแสเลือด คุณอาจจะได้รับยาแก้ปวดมาใช้ร่วมกันก็ได้

หากคุณเป็นผู้ที่อ่อนไหวต่อภาวะติดเชื้อ ยกตัวอย่างเช่นคุณมีภาวะสุขภาพอื่น ๆ อยู่ก่อน หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ คุณจะต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลและรักษาด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือดแทน

หลังจากการใช้ยาปฏิชีวนะ คุณควรจะรู้สึกดีขึ้นภายในเวลาประมาณสองสัปดาห์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

แต่ในกรณีหายาก การติดเชื้อที่ไตก็ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา อย่างเช่นภาวะเลือดเป็นพิษ (sepsis) และฝีที่ไต

อะไรเป็นสาเหตุของภาวะติดเชื้อที่ไต?

ภาวะไตติดเชื้อมักจะเกิดขึ้นเมื่อเชื้อแบคทีเรีย (มักเป็นเชื้อ E. coli) เข้าสู่ท่อปัสสาวะ (ท่อที่ใช้สูบฉีดปัสสาวะออกจากร่างกาย) และลามเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะและไต

ใครมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้บ้าง?

ภาวะไตติดเชื้อนั้นค่อนข้างหายาก คาดกันว่าในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยใหม่หนึ่งคนจากทุก ๆ 830 คน (ข้อมูลจากสหราชอาณาจักร)

ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นกับคนอายุใดก็ได้ แต่ก็มักจะเกิดกับผู้หญิงมากที่สุด โดยรายงานกล่าวว่าผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นภาวะติดเชื้อที่ไตมากกว่าผู้ชายถึงหกเท่า เนื่องจากว่าท่อปัสสาวะของผู้หญิงมีขนาดสั้นกว่าจนทำให้แบคทีเรียเข้าไปถึงไตได้ง่ายกว่านั่นเอง

เด็กเล็กเองก็มีโอกาสติดเชื้อที่ไตได้เช่นกัน แต่มักจะเป็นเพราะความผิดปรกติของระบบขับถ่ายหรือจากภาวะที่เรียกว่าภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับทาง (vesico-ureteric reflux) ที่ซึ่งปัสสาวะจะไหลจากกระเพาะขึ้นไปยังไต

สามารถทำการป้องกันภาวะติดเชื้อที่ไตได้หรือไม่?

คุณสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะไตติดเชื้อได้ด้วยการทำให้ท่อและกระเพาะปัสสาวะปราศจากซึ่งเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจทำได้ด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ ดูแลความสะอาดที่อวัยวะเพศ และรักษาภาวะท้องผูกที่เกิดขึ้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อาการของภาวะติดเชื้อที่ไต

อาการของภาวะไตติดเชื้อมักจะเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน โดยมีอาการทั่วไปดังนี้: เจ็บปวดหรือไม่สบายบริเวณสีข้างลำตัว แผ่นหลังส่วนล่าง หรือรอบอวัยวะเพศ มีไข้สูง (อาจสูงถึง 39.5 องศาเซลเซียส) หนาวสั่น อ่อนแรงหรือเหน็ดเหนื่อย ไม่อยากอาหาร รู้สึกคลื่นไส้ ท้องร่วง

คุณอาจมีอาการอื่น ๆ คล้ายกับอาการจากภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือท่อปัสสาวะอักเสบได้ ดังนี้: อาการแสบร้อนหรือเจ็บปวดขณะปัสสาวะ ต้องปัสสาวะบ่อย ๆ หลายครั้ง รู้สึกว่าไม่สามารถ่ายปัสสาวะให้หมดภายในครั้งเดียวได้ มีเลือดปนปัสสาวะ

อาการของภาวะติดเชื้อที่ไตในเด็ก

สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นภาวะติดเชื้อที่ไตจะมีอาการเพิ่มเติมนอกจากที่กล่าวไปได้ด้วย เช่น: หมดเรี่ยวแรง ฉุนเฉียว ทานอาหารไม่ดีหรือ/และอาเจียน ปวดท้อง ดีซ่าน (ผิวและตาขาวออกสีเหลือง) มีเลือดปนปัสสาวะ ปัสสาวะมีกลิ่นแรง ปัสสาวะรดที่นอน

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

ติดต่อแพทย์เมื่อคุณมีไข้สูง มีอาการเจ็บปวดเรื้อรัง หรือสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของกิจจะลักษณะการปัสสาวะของตนเอง และควรติดต่อแพทย์ทันทีที่ลูกของคุณประสบกับภาวะไตติดเชื้อ

หากมีเลือดปนปัสสาวะของคุณ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุทันที

ควรทำการรักษาภาวะติดเชื้อที่ไตอย่างเร่งด่วนด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

แพทย์จะดำเนินการทดสอบง่าย ๆ หลายอย่างเพื่อช่วยวินิจฉัยภาวะไตติดเชื้อของคุณ

สาเหตุของภาวะติดเชื้อที่ไต

ภาวะติดเชื้อที่ไตเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรีย (มักจะเป็นเชื้อ E. coli) ที่มักอาศัยอยู่ลำไส้เข้าไปในช่องเปิดของท่อปัสสาวะและเคลื่อนตัวผ่านระบบทางเดินปัสสาวะเข้าไปติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะก่อนแล้วจึงเคลื่อนไปติดเชื้อที่ไตของคุณ

คาดกันว่าการที่เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ระบบปัสสาวะโดยไม่ได้ตั้งใจมักจะจากทวารหนักไปสู่ท่อปัสสาวะ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเช่นการเช็ดก้นหลังการอุจจาระ และการใช้กระดาษชำระที่ไม่สะอาดเข้าไปสัมผัสกับอวัยวะเพศ หรือแม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ก็ได้เช่นกัน

ในกรณีหายาก ภาวะติดเชื้อที่ไตสามารถเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียหรือเชื้อราขึ้นไปอยู่บนผิวหนังและลุกลามผ่านกระแสเลือดไปยังไต กระนั้น การติดเชื้อรูปแบบนี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเท่านั้น

ใครมักจะประสบกับภาวะติดเชื้อที่ไต?

ผู้หญิงและเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อที่ไตมากที่สุด เช่นเดียวกับภาวะติดเชื้อที่ระบบปัสสาวะอื่น ๆ (UTI) อย่างภาวะท่อปัสสาวะอักเสบ

สำหรับผู้หญิง ท่อปัสสาวะนั้นอยู่ใกล้กับทวารมากกว่าผู้ชาย ทำให้มีความเสี่ยงที่แบคทีเรียจะมาจากทวารสู่ท่อปัสสาวะโดยไม่ตั้งใจได้ง่ายมาก อีกทั้งท่อปัสสาวะก็มีขนาดสั้นกว่าผู้ชายมากจนทำให้แบคทีเรียสามารถเข้าถึงกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้คุณเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อที่ไตมีดังนี้:

ภาวะที่ทำให้ระบบทางเดินปัสสาวะอุดกั้น อย่างเช่นนิ่วในไตหรือภาวะต่อมลูกหมากโต: สำหรับเด็กนั้น ภาวะท้องผูกก็ทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะไตติดเชื้อเพิ่มขึ้นเช่นกัน

การเกิดมาพร้อมระบบทางเดินปัสสาวะที่ผิดปรกติ

เป็นภาวะที่ทำให้คุณไม่สามารถถ่ายให้หมดกระเพาะปัสสาวะได้ อย่างเช่นการบาดเจ็บที่ไขสันหลังจนทำให้เชื้อแบคทีเรียกระจายเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะและเพิ่มจำนวนขึ้น

การที่คุณมีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ: ยกตัวอย่างเช่นจากเบาหวานประเภทสอง หรือผลข้างเคียงจากการรักษาเคมีบำบัด

มีภาวะติดเชื้อที่ต่อมลูกหมากที่เรียกว่าต่อมลูกหมากอักเสบ: การติดเชื้อนี้สามารถกระจายจากต่อมลูกหมากเข้าไปในไตได้

การสอดท่อสวนกระเพาะปัสสาวะ (ท่อเรียวยาวที่สอดเข้าไปในกระเพาะเพื่อดูดปัสสาวะออก)

เป็นผู้หญิงและมีกิจกรรมทางเพศบ่อยครั้ง: การมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่จะทำให้ท่อปัสสาวะระคายเคืองและทำให้แบคทีเรียสามารถเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้

เป็นผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก: แบคทีเรียสามารถเข้าไปในท่อปัสสาวะสู่กระเพาะได้

กำลังตั้งครรภ์: เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายไปชะลอการไหลออกของปัสสาวะ จนทำให้แบคทีเรียแพร่กระจายไปยังไตได้ง่ายขึ้น

เข้ารับการขลิบอวัยวะเพศสตรี (female genital mutilation - FGM): เป็นหัตถการที่ผิดกฎหมายที่ซึ่งอวัยวะเพศของผู้หญิงถูกกรีดหรือเปลี่ยนรูปร่างเพื่อเหตุผลทางวัฒนธรรม ทางศาสนา หรือทางสังคม

การวินิจฉัยภาวะติดเชื้อที่ไต

เพื่อการยืนยันว่าคุณมีภาวะไตติดเชื้อจริง แพทย์จะทำการสอบถามอาการและประวัติการรักษาตัวของคุณ

แพทย์จะทำการประเมินสุขภาพโดยรวมของคุณด้วยการวัดอุณหภูมิร่างกายและวัดความดันโลหิตของคุณเช่นกัน

การทดสอบปัสสาวะ

การทดสอบปัสสาวะจะช่วยระบุว่าคุณมีภาวะติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) หรือไม่ โดยการทดสอบนี้จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะและตรวจหาแบคทีเรียที่ปนอยู่

คุณจะได้รับกล่องบรรจุปัสสาวะกลับไป โดยแพทย์จะสอนวิธีเก็บปัสสาวะแก่คุณ ซึ่งคุณสามารถทำได้เอง ณ สถานพยาบาลหรือที่บ้าน คุณจะต้องระบุข้อมูลบนฉลากของกล่องบรรจุปัสสาวะและเก็บในถุงพลาสติกให้มิดชิดก่อนเก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งคุณควรส่งตัวอย่างปัสสาวะแก่ศัลยแพทย์ภายในสี่ชั่วโมง

การทดสอบปัสสาวะไม่สามารถบอกได้ว่าคุณมีภาวะติดเชื้อที่ใดเช่นไม่ว่าจะอยู่ในไตหรือส่วนอื่น ๆ ของระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

แพทย์จะยืนยันการติดเชื้อที่ไตก็ต่อเมื่อคุณมีผลการทดสอบปัสสาวะเป็นบวกและมีอาการอื่น ๆ ที่บ่งชี้ถึงภาวะนี้ เช่นมีไข้ หรือเจ็บปวดสีข้าง

การสแกนที่โรงพยาบาล

คุณอาจถูกส่งไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับการทดสอบเพิ่มเติมหากว่า: อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อาการทรุดลงอย่างกะทันหัน คุณมีอาการเพิ่มเติมขึ้นมาที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะติดเชื้อที่ไต คุณเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากภาวะไตติดเชื้อ

สำหรับเด็กที่เป็น UTI ซ้ำซากก็จะถูกส่งไปรับการทดสอบที่โรงพยาบาลเช่นกัน

ในสถานการณ์เหล่านี้จะมีการสแกนเพื่อตรวจสอบระบบทางเดินปัสสาวะหาสัญญาณและปัญหาต่าง ๆ ซึ่งอาจจะมีดังนี้:

การสแกนคอมพิวเตอร์ (CT): เป็นการถ่ายเอกซเรย์หลายชุดและนำคอมพิวเตอร์มารวมภาพที่ได้เข้าด้วยกันกลายเป็นภาพของระบบทางเดินปัสสาวะแบบละเอียด

การสแกนอัลตราซาวด์: เป็นการใช้คลื่นเสียงสร้างภาพภายในร่างกายออกมา

การสแกนไอโซโทป: มีการใช้สารสีฉีดเข้ากระแสเลือดก่อนถ่ายชุดภาพเอกซเรย์

การรักษาภาวะติดเชื้อที่ไต

ผู้ป่วยภาวะไตติดเชื้อส่วนมากจะสามารถทำการรักษาได้เองที่บ้านด้วยคอร์สยาปฏิชีวนะชนิดเม็ดหรือแคปซูลที่ต้องใช้นานเจ็ดถึง 14 วัน

สำหรับผู้ป่วยส่วนมากนอกจากสตรีมีครรภ์ ยาปฏิชีวนะที่ใช้จะเรียกว่า ciprofloxacin หรือ Co-amoxiclav แต่ก็สามารถใช้ยาปฏิชีวนะตัวอื่นได้เช่นกัน

ผลข้างเคียงของ ciprofloxacin คือคลื่นไส้และท้องร่วง

Co-amoxiclav จะทำให้ยาคุมกำเนิดหรือแผ่นปะคุมกำเนิดมีประสิทธิผลน้อยลง ดังนั้นคุณจึงควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นในระหว่างที่ต้องใช้ยาเหล่านี้

สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ชื่อว่า cephalexin ที่ต้องใช้เป็นเวลา 14 วันแทน

โดยทั่วไป คุณควรจะรู้สึกดีขึ้นหลังเริ่มการรักษา และควรจะหายสนิทหลังจากใช้ยาต่อเนื่องนานสองสัปดาห์

หากอาการต่าง ๆ ยังไม่มีสัญญาณว่าดีขึ้นหลังเริ่มการรักษาไปแล้ว 24 ชั่วโมง ให้ติดต่อแพทย์เพื่อขอคำแนะนำทันที

ยาแก้ปวด

การทานยาแก้ปวดอย่างพาราเซตตามอลจะช่วยบรรเทาอาการปวดและไข้สูงจากภาวะไตติดเชื้อได้

อย่างไรก็ตาม แพทย์มักจะไม่แนะนำยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatories - NSAID) เนื่องจากยาจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาที่ไตเพิ่มเติม

คำแนะนำในการดูแลตนเอง

หากคุณประสบกับภาวะไตติดเชื้อ พยายามอย่ายืนบนขอบชักโครกขณะขับถ่าย เพราะจะทำให้ไม่สามารถถ่ายกระเพาะปัสสาวะได้เต็มที่

สิ่งสำคัญคือการดื่มน้ำมาก ๆ เพราะจะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำและเพื่อชะล้างแบคทีเรียออกจากไต สังเกตได้ด้วยการปัสสาวะออกมาบ่อย ๆ และมีสีของปัสสาวะจางหรือใส

พยายามพักผ่อนให้มาก ๆ เนื่องจากภาวะไตติดเชื้อจะทำให้ร่างกายอ่อนแรงแม้ว่าปกติแล้วคุณมีสุขภาพแข็งแรงดีก็ตาม ต้องพึงจำไว้ว่าการพักฟื้นจากภาวะนี้อาจต้องใช้เวลานานประมาณสองสัปดาห์

การรักษาตามโรงพยาบาล

แพทย์จะส่งตัวคุณไปยังโรงพยาบาลหากว่าคุณมีปัญหาต้นตอที่ระบบทางเดินปัสสาวะที่ทำให้อ่อนไหวต่อการติดเชื้อที่ไต

การตรวจสอบหาภาวะติดเชื้อที่ไตในผู้ชายจะหายากกว่าผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงที่เคยประสบกับภาวะไตติดเชื้อสองครั้งขึ้นไปต้องถูกส่งตัวไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ส่วนเด็กที่ป่วยเป็นภาวะไตติดเชื้อส่วนมากจะต้องถูกรักษากันในโรงพยาบาลอยู่แล้ว

การรักษาในโรงพยาบาลจะเกิดขึ้นเมื่อ: คุณประสบกับภาวะขาดน้ำรุนแรง คุณไม่สามารถกลืนหรือรับของเหลวหรือยาได้เลย คุณมีอาการเพิ่มเติมที่สุ่มเสี่ยงต่อภาวะเลือดเป็นพิษ เช่นหัวใจเต้นเร็วและหมดสติ คุณกำลังตั้งครรภ์และมีไข้สูง คุณมีสุขภาพโดยรวมย่ำแย่หรืออ่อนแอเป็นพิเศษ อาการของคุณไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 24 ชั่วโมง คุณมีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ คุณมีสิ่งแปลกปลอมภายในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่นนิ่วในไตหรือสายสวนท่อปัสสาวะ คุณเป็นเบาหวาน คุณมีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป คุณเป็นภาวะสุขภาพที่ส่งผลต่อการทำงานของไต เช่นโรคไตเรื้อรัง

หากคุณต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล คุณจะต้องได้รับน้ำเข้ากระแสเลือดเพื่อป้องกันการขาดน้ำ โดยจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะผ่านตัวหยดยาเช่นกัน

จะมีการตรวจปัสสาวะและเลือดของคุณเป็นประจำเพื่อสอดส่องสุขภาพและการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ

ผู้ป่วยส่วนมากจะตอบสนองต่อการรักษาที่โรงพยาบาลได้ดี และตราบใดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านได้ภายในสามถึงเจ็ดวัน การรักษามักจะสลับไปใช้ยาปฏิชีวนะแบบเม็ดหรือแคปซูลหลังจากการหยดยา

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะติดเชื้อที่ไต

ภาวะไตติดเชื้อส่วนมากจะตอบสนองต่อการรักษาได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นมา กระนั้นผู้ป่วยบางรายก็อาจประสบกับปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเติมได้

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะติดเชื้อที่ไตนั้นหายาก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้หากว่า: คุณเป็นเด็ก คุณมีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป คุณกำลังตั้งครรภ์ คุณเป็นเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง หรือภาวะโลหิตจางเม็ดเลือดรูปเคียว (sickle cell anaemia) คุณเพิ่งเข้ารับการปลูกถ่ายไต (เสี่ยงมากในช่วงสามเดือนแรกหลังปลูกถ่าย) คุณมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ คุณเริ่มมีภาวะไตติดเชื้อขณะอยู่ที่โรงพยาบาล

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้

ฝีที่ไต

ฝีที่ไต (Kidney abscess) เป็นภาวะแทรกซ้อนหายากแต่ก็ร้ายแรงมาก ที่ซึ่งมีหนองเกิดขึ้นภายในเนื้อเยื่อไต

คุณจะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนนี้สูงขึ้นหากว่าคุณเป็นเบาหวาน

อาการของฝีที่ไตจะคล้ายกับภาวะติดเชื้อที่ไตเอง โดยส่วนมากจะมีดังนี้: มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป หนาวสั่น ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร เจ็บปวดขณะปัสสาวะ

ฝีที่ไตเป็นภาวะอันตรายเนื่องจากแบคทีเรียภายในฝีสามารถลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ เช่นกระแสเลือดหรือปอด

ฝีขนาดเล็กมักจะรักษาได้ด้วยการหยดยาปฏิชีวนะ ส่วนการผ่าตัดจะเกิดขึ้นกับฝีที่มีขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการดูดหนองของฝีออกด้วยเข็มชนิดพิเศษที่แทงเข้าไปในไต

ภาวะเลือดเป็นพิษ

ภาวะเลือดเป็นพิษจากการติดเชื้อที่ไตนั้นหายากแต่ก็ร้ายแรงมากเช่นกัน ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียลุกลามจากไตเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อแบคทีเรียอยู่ในกระแสเลือด การติดเชื้อจะลามไปยังส่วนอื่นของร่างกายรวมไปถึงอวัยวะสำคัญต่าง ๆ

ผู้ป่วยภาวะไตติดเชื้อที่มีภาวะเลือดเป็นพิษจะมีอาการดังนี้: ความดันโลหิตต่ำจนทำให้หน้ามืดขณะยืน สับสนหรืองุนงง เหงื่อออกมาก สั่นอย่างควบคุมไม่ได้ มีไข้สูง หรือมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (ต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส) ผิวซีด หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด

ภาวะเลือดเป็นพิษเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องเข้ารับการรักษาในแผนก ICU ทันที ซึ่งจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อนี้

หากคุณกำลังใช้ยาสำหรับโรคเบาหวาน อย่าง metformin หรือ angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitors แพทย์จะทำการหยุดยาเหล่านี้ก่อนจนกว่าคุณจะหายดี เนื่องจากว่ายาเหล่านี้จะสร้างความเสียหายแก่ไตระหว่างที่ประสบกับภาวะเลือดเป็นพิษ

ภาวะติดเชื้อรุนแรง

เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อที่ไตที่หายากและอันตรายมาก ๆ ซึ่งเรียกได้ว่า emphysematous pyelonephritis (EPN)

EPN เป็นภาวะติดเชื้อรุนแรงที่ซึ่งเนื้อเยื่อไตถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว และแบคทีเรียต้นเหตุของการติดเชื้อเริ่มปล่อยก๊าสพิษออกมาจนสะสมอยู่ภายในไต

สาเหตุการเกิด EPN นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่แทบทุกกรณีจะเกิดกับผู้ป่วยเบาหวาน

การรักษาภาวะนี้มักจะเป็นการผ่าตัดกำจัดส่วนของไตที่ได้รับผลกระทบออก ซึ่งการตัดไตออกจนเหลือข้างเดียวจะไม่ส่งผลใด ๆ กับการใช้ชีวิตอยู่แล้ว

ไตล้มเหลว

ในกรณีที่หายากมาก ๆ ภาวะไตติดเชื้อทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงขึ้นจนทำให้ไตล้มเหลวลง

ภาวะไตล้มเหลวนับว่ามีความอันตรายมาก แต่ก็สามารถรักษาได้ด้วยการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไต

ปัญหาอื่น ๆ

ภาวะไตติดเชื้อสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนนอกเหนือจากข้างต้นได้ด้วย รวมไปถึงความดันโลหิตสูงหรือการคลอดก่อนกำหนด

การป้องกันภาวะติดเชื้อที่ไต

วิธีป้องกันการติดเชื้อที่ไตคือการดูแลให้ท่อและกระเพาะปัสสาวะให้ปราศจากเชื้อแบคทีเรียอยู่ตลอดเวลา

ต่อไปนี้คือคำแนะนำในการป้องกัน

ดื่มน้ำมาก ๆ

การดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ จะช่วยชะล้างแบคทีเรียจากกระเพาะและระบบทางเดินปัสสาวะได้

การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่หรือทานสารสกัดจากแครนเบอร์รี่สามารถป้องกันภาวะติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) ได้ กระนั้นคุณก็ควรเลี่ยงน้ำผลไม้ชนิดนี้หากว่าคุณกำลังใช้ยาวอร์เฟริน (warfarin) อยู่ ซึ่งเป็นยาที่ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดเนื่องจากน้ำแครนเบอร์รี่จะทำให้ฤทธิ์ของวอร์เฟรินมีมากขึ้นจนสร้างความเสี่ยงต่อการเลือดออกได้

คำแนะนำขณะทำธุระ

เพื่อป้องกันให้ระบบขับถ่ายของคุณปลอดแบคทีเรีย: ไปห้องน้ำทันทีที่คุณปวดปัสสาวะ เช็ดทวารหรืออวัยวะเพศจากหน้าไปหลัง ฝึกกิจจะลักษณะที่ดีด้วยการล้างอวัยวะเพศทุกวันและก่อนมีเพศสัมพันธ์ ถ่ายกระเพาะปัสสาวะให้หมดหลังมีเพศสัมพันธ์ หากคุณเป็นผู้หญิง เลี่ยงการใช้ชักโครงแบบนั่งยอง ๆ เพราะจะทำให้ปัสสาวะตกค้างภายในกระเพาะ

รักษาภาวะท้องผูก

ท้องผูกทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ (UTI) ขึ้น ดังนั้นควรจัดการกับภาวะท้องผูกนี้ทันที

การรักษาท้องผูกมีดังนี้: เพิ่มปริมาณกากใยอาหารในอาหารที่ทานเป็น 20-30 กรัมต่อวัน ทานยาระบายอ่อน ๆ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ

ควรไปพบแพทย์ทันทีที่อาการท้องผูกไม่ดีขึ้นหลังจากการรักษา 14 วัน (หรือเจ็ดวันสำหรับเด็ก)

ใช้การคุมกำเนิดอย่างระมัดระวัง

หากคุณประสบกับ UTI บ่อยครั้ง (มากกว่าสามครั้งต่อปีจะนับว่าสูงมาก)  เลี่ยงการใช้ถุงยางที่มีฤทธิ์ฆ่าสเปิร์มหรือฝาครอบปากมดลูก (diaphragms) เพราะสารฆ่าสเปิร์มจะไปกระตุ้นให้แบคทีเรียมีจำนวนมากขึ้น

ควรใช้ถุงยางที่มีสารหล่อลื่นที่ไม่มีสารฆ่าสเปิร์ม เพราะหากใช้ถุงยางที่ไม่มีสารหล่อลื่นจะทำให้ท่อปัสสาวะของคู่นอนเกิดความระคายเคืองจะอ่อนไหวต่อการติดเชื้อ

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความก่อนหน้า
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ