มันฝรั่ง (Potato)

มันฝรั่ง ให้พลังงานเท่าไร กินเยอะๆ แล้วจะอ้วนหรือไม่ รวมวิธีกินมันฝรั่งให้ได้ประโยชน์และปลอดภัย
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
มันฝรั่ง (Potato)

มันฝรั่ง เป็นพืชหัวที่ทั่วโลกนิยมนำมาบริโภค อุดมด้วยสารอาหารที่มีคุณค่า นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งประกอบอาหาร และนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป

มันฝรั่งมาจากส่วนไหนของพืช?

มันฝรั่ง ที่มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ทวีปอเมริกา เป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีขนอ่อน ความสูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

ลำต้นมันฝรั่งมีลักษณะกลวงเป็นรูปสามเหลี่ยม ใบเป็นใบประกอบขนนกปลายคี่ ใบออกเรียงสลับ ดอกมีสีขาว ชมพู ม่วงอ่อน และม่วงเข้ม ตามสายพันธุ์ มีหัวใต้ดิน หัวมันฝรั่งนี้เองเป็นส่วนที่ผู้คนนำมาบริโภค

หัวมันฝรั่งเกิดจากลำต้นใต้ดินที่ขยายตัวให้มีขนาดใหญ่เพื่อเก็บสารอาหารและขยายพันธุ์ หัวมันฝรั่งมีลักษณะกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 2 - 4 นิ้ว ผิวเรียบมีสีเหลือง สีน้ำตาลอ่อน สีม่วงอ่อน ตามสายพันธุ์ มีตาเป็นเกล็ดอยู่รอบๆ

ส่วนตาของมันฝรั่งสามารถแตกกิ่งออกเพื่อเป็นต้นใหม่ได้

มันฝรั่งให้พลังงานเท่าไร?

มันฝรั่งต้มสุก 100 กรัม (2/3 ถ้วย) ให้พลังงาน 87 Kcal ประกอบด้วย

คุณประโยชน์ของมันฝรั่ง

มันฝรั่งนับว่าเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถนำมาต้ม อบ หรือทอด เพื่อรับประทานเป็นอาหารหลักได้

ช่วยให้อิ่มท้องได้นาน ลดความหิวระหว่างมื้อ เนื่องจากมีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนคุณภาพสูง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ซึ่งควรเป็นมันฝรั่งต้มหรืออบ และผ่านการปรุงรสน้อยที่สุด

ที่สำคัญคือควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม โดยจากข้อมูลสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน สำหรับคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ให้รับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ไม่เกิน 300 กรัมต่อวัน

เพราะหากรับประทานมากเกินไปจะเกิดการสะสมน้ำตาลและไขมันในประมาณมากจะสามารถทำให้อ้วนได้

ในมันฝรั่งประกอบไปด้วยแร่ธาตุหลากหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมงกานีส สังกะสี ที่ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน มีโพแทสเซียมที่ช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด ช่วยลดระดับความดันโลหิต

นอกจากนี้ยังพบสารโคลิน (Choline) ช่วยเรื่องระบบประสาท สมอง และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

มีโฟเลต ซึ่งเป็นส่วนช่วยการสร้างและซ่อมแซมดีเอนเอ (DNA) ป้องกันการสร้างเซลล์มะเร็ง

ที่สำคัญ ในมันฝรั่งยังมีใยอาหาร วิตามินซี วิตามินบี 6 และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย และระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานดีขึ้น

นอกจากมันฝรั่งจะสามารถนำมาเป็นอาหารได้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ภายนอกเพื่อดูแลผิวพรรณได้ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินซี ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ช่วยทำความสะอาด ปกป้อง และบำรุงผิวได้ดี อีกทั้งช่วยลดรอยด่างดำและรอยย่นบนใบหน้า

ปัจจุบันจึงมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากมันฝรั่ง เช่น โลชันมันฝรั่ง มาส์กบำรุงผิว

ข้อควรระวังในการบริโภคมันฝรั่ง

มันฝรั่งเป็นพืชที่มีดัชนีน้ำตาล (Glycemic index: GI) สูง จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะหากรับประทานเข้าไปจะทำให้มีภาวะน้ำตาลสูง

มันฝรั่งที่เปลือกเปลี่ยนเป็นสีเขียว มีรอยแผลดำ หรือมีรากงอก จะพบสารโซลานีน (Solanine) ซึ่งมีมากในราก เปลือก และตาของมันฝรั่ง เป็นสารที่ทำให้เกิดรสขม และเป็นพิษต่อระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือด

หากได้รับสารโซลานีนปริมาณน้อยๆ จะทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน หากได้รับปริมาณมากจะส่งผลต่อระบบประสาทให้ทำงานผิดปกติ หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ มีไข้ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

มีรายงานจากงานวิจัยว่า ระดับโซลานีนที่เป็นพิษนั้น คือ มากกว่า 55 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมขึ้นไป แต่โดยทั่วไป ในหัวมันฝรั่งจะพบโซลานีนไม่เกิน 5-8 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตราย และโซลานีนสามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน เช่น การต้ม อบ ทอด

นอกจากนี้ในมันฝรั่งที่ถูกปรุงให้สุกด้วยความร้อนสูงกว่า 120 องศาเซลเซียส จะเกิดสารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) เป็นสารที่จะพบในกาว พลาสติก ควันบุหรี่ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยอะคริลาไมด์ (Acrylamide) มักพบใน มันฝรั่งทอดกรอบ (Potato chips) เฟรนช์ฟรายส์ (French fries)

จะเห็นได้ว่า มันฝรั่งเป็นพืชที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากรับประทานปริมาณมากเกินก็สามารถเกิดโทษ ผู้บริโภคจึงต้องพิจารณาความเหมาะสม จากภาวะสุขภาพร่างกาย โรคและความเจ็บป่วย ที่อาจเป็นข้อจำกัดในการรับประทานมันฝรั่ง


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ, หลักโภชนาการ (http://www.fhpprogram.org/general-information/nutrition-guide?fbclid=IwAR2jAORAiYa7V-aQuM5UTiilvrpHHf-PR0Vq_bPxhofXa2BFUQXQb8bXcRI).
ผศ. ดร. พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, Potato/มันฝรั่ง (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1158/potato-%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9D%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)