พุทราจีน (Jujube)

ประโยชน์และสรรพคุณทางยาของพุทราจีน ไขคำตอบ กินพุทราจีนแบบเชื่อมหรือแบบสดจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน?
เผยแพร่ครั้งแรก 21 พ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
พุทราจีน (Jujube)

พุทราจีน หนึ่งในยาสมุนไพรและอาหารที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยโบราณของประเทศจีนมากกว่า 3,000 ปี ได้ชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ มีสรรพคุณให้ความร้อนและความอบอุ่นแก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี ทั้งในการบำรุงเลือด บำรุงกำลัง ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ อีกทั้งเป็นแหล่งรวมวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายหลายชนิด ทั้งวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินบีรวม แร่ธาตุที่จำเป็น เช่น แคลเซียม เหล็ก สังกะสี ฟอสฟอรัส

พุทราจีน มีลักษณะเป็นอย่างไร?

พุทราจีนเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก บริเวณลำต้นมีหนาม ภายในผลมีเมล็ดเดียว ผิวเปลือกเรียบ ผลสดจะมีสีเขียวแกมเหลือง เมื่อสุกแล้วจะมีสีน้ำตาลแดงเข้ม มีรสหวานมันและฝาด สามารถรับประทานได้ทั้งผลสุกและตากแห้ง หากเป็นผลแห้ง ก่อนรับประทานควรนำมาแช่น้ำก่อนประมาณ 3-4 ชั่วโมง ให้ผิวของพุทราเริ่มตึงแล้วค่อยนำมาใช้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สรรพคุณของพุทราจีน

ส่วนต่างๆ ของพุทราจีน มีสรรพคุณทางยาดังต่อไปนี้

  • เนื้อพุทราจีน มีแร่ธาตุที่สำคัญอย่างโพแทสเซียม ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยรักษาสมดุลความดันเลือดได้ดี มีฟอสฟอรัสและเหล็ก ช่วยในการไหลเวียนระบบโลหิต ป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง กล้ามเนื้ออ่อนแรง บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ และมีแคลเซียมที่ช่วยในการรักษาสมดุลความหนาแน่นของมวลกระดูก ลดการอักเสบบริเวณข้อ ลดอาการบวมได้

    นอกจานี้ 50% ของเนื้อพุทราคือไฟเบอร์ ช่วยทำให้การขับถ่ายง่ายขึ้น ลดการเกิดท้องผูก ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดริดสีดวงทวาร และที่สำคัญ สารในเนื้อพุทรายังช่วยส่งเสริมการสร้างเยื่อบุในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดแผลในทางเดินอาหารจากเชื้อแบคทีเรีย

ลดระดับคอลเรสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมัน LDL ในเส้นเลือด ช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และป้องกันการเกิดเส้นเลือดในสมองตีบได้อีกด้วย

มีวิตามินซีช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระและช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

วิตามินเอช่วยบำรุงสายตา ป้องกันอาการตาบอดตอนกลางคืน (อาการมองไม่ชัดในเวลากลางคืนหรือในที่ที่มีแสงไฟสลัว) และช่วยบำรุงผิวพรรณให้ผิวสุขภาพดีและแข็งแรง

อุดมไปด้วยวิตามินบีรวม ที่มีส่วนช่วยในการบำรุงเส้นประสาทและสมอง

  • เมล็ดของพุทราจีน เมื่อนำมาสกัด พบว่ามีคุณสมบัติช่วยในการนอนหลับ นอกจากนี้เนื้อผลเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วสามารถช่วยลดความเครียด และช่วยเพิ่มการทำงานของสมองได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สารพฤษเคมีที่สำคัญในพุทราจีน

ในงานวิจัยจากประเทศจีน รายงานว่าพุทราจีนมีสารต่างๆ เหล่านี้

  • มีฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และโพลีแซกคาไรด์ (Polysaccharide) ซึ่งเป็นสารที่มีความสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังมีกรดไตรเตอร์เพนิก (Triterpenic acids) ช่วยยับยั้งกระบวนการอักเสบ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง และโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • จากการทดลองสกัดวิตามินซีในเนื้อพุทราจีนในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีประสิทธิภาพในการต้านเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด เช่น โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งผิวหนัง
  • จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเพิ่มเติมพบว่า ในเมล็ดพุทราจีนมีสารออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทและสมอง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการทำงานของกาบา (GABA) ที่เป็นสารสื่อประสาทและฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ช่วยรักษาสมดุลของระบบประสาท ลดความเครียด ทำให้ร่างกายสงบลง รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยส่งเสริมคุณภาพการนอน ทำให้หลับสนิทและหลับลึก ป้องกันการเกิดโรคลมชัก โรคอัลไซเมอร์ เพิ่มทักษะการเรียนรู้และช่วยเพิ่มความจำได้เป็นอย่างดี
  • ในพุทราจีนมีแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และสารไลโคปีน (Lycopene) สูงมาก ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารเดียวกันกับที่พบในมะเขือเทศและพืชผักผลไม้ที่มีสีแดง มีคุณสมบัติในการต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง ชะลอความความเสื่อมของเซลล์ ช่วยแก้อาการอ่อนเพลียในสตรีหลังคลอดบุตร บำรุงโลหิต รักษาโรคโลหิตจาง ช่วยไม่ให้เลือดจับตัวกันเป็นก้อน จึงสามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
  • เปลือกพุทรา มีสารแทนนิน (Tannins) ทำให้มีรสฝาด สามารถรักษาอาการท้องเสียได้

คนท้องกินพุทราจีนได้ไหม?

ผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่สามารถรับประทานพุทราจีนได้ปกติในประมาณที่พอเหมาะ เพราะสรรพคุณหลักของพุทราจีนนั้นช่วยบำรุงเลือดและบำรุงกำลัง

ที่สำคัญคือควรรับประทานผลไม้สดให้หลากหลาย ไม่ควรรับประทานชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน

ผลไม้ที่สตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ควรหลีกเลี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นผลมี่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน ลำไย มะม่วงสุก เพราะเมื่อรับประทานน้ำตาลเข้าไปมากแล้ว จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และอาจมีผลต่อน้ำหนักตัวอีกด้วย และผลไม้ในกลุ่มดังกล่าวจะทำให้ร่างกายร้อนหากรับประทานมาก เสี่ยงต่อการเกิดอาการไข้และร้อนในได้

น้ำสมุนไพรจากพุทราจีน

พุทราจีนพบได้บ่อยในเมนูน้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง หรืออาจเคยเห็นพุทราเชื่อมในของหวาน ความจริงแล้วพุทราจีนสามารถนำมาต้มกับเมล็ดเก๋ากี้และดอกเก็กฮวย ดื่มเป็นน้ำสมุนไพร ซึ่งจะมีสรรพคุณหลักในการรักษาโรคเกี่ยวกับสายตา โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอาการตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน อีกทั้งยังช่วยลดการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายได้อีกด้วย

วิธีทำ นำพุทราจีน เก๋ากี้ และดอกเก็กฮวย อัตราส่วน 1:1:1 ห่อด้วยผ้าขาวบางต้มในน้ำ 1 ลิตร ใช้ไฟกลางจนเดือด ดื่มวันละ 1-2 แก้ว

พุทราจีน ผลไม้ลดน้ำหนัก

เนื้อพุทราสดมีแคลอรีต่ำ (พุทรา 100 กรัมให้พลังงานประมาณ 79 แคลอรี) อุดมไปด้วยกากใย ช่วยให้อิ่มท้องนาน และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี

อีกทั้งรสหวานจากพุทราจีนเป็นความหวานจากธรรมชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

กินพุทราจีนอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ?

  • ตำราสมุนไพรจีนกล่าวว่า พุทราจีนมีฤทธิ์ร้อน หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้มีอาการไข้ อาการเจ็บคอ ร้อนใน ปากเป็นแผล หรือมีอาการไข้ขึ้น ครั่นเนื้อครั่นตัวได้ จึงมักรับประทานหรือต้มเป็นน้ำร่วมกับดอกเก็กฮวยหรือใบเตย ที่มีฤทธิ์ยาเย็น แนะนำให้ดื่มวันละ 1-2 แก้ว จะช่วยลดความร้อนจากพุทราได้เป็นอย่างดี
  • แนะนำให้รับประทานพุทราจีนในรูปแบบผลสด จะได้วิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการมากกว่าการรับประทานแบบเชื่อม เนื่องจากวิตามินและสารสำคัญต่างๆ จะไม่สูญเสียไประหว่างผ่านความร้อน
  • การรับประทานพุทราจีนแบบสด ควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนทุกครั้ง เพราะเนื้อพุทราจีนมีกากใยอาหารอยู่มาก จึงอยู่ในกระเพาะอาหารนานอาจทำให้ท้องอืดได้
  • ไม่ควรรับประทานเกิน 20 ลูกต่อวัน เนื่องจากอาจทำให้ท้องผูก
  • สตรีระหว่างมีประจำเดือน หรือผู้ที่มีอาการท้องอืดและมีอาการบวมบริเวณต่างๆ เช่น ตาบวม เท้าบวม ไม่แนะนำให้รับประทานพุทราจีน เพราะจะทำให้มีอาการบวมเพิ่มมากขึ้นจากความร้อนของผลพุทรา และอาจทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติ
  • ไม่ควรรับประทานขณะใช้ยาต้านโรคซึมเศร้า เช่น Venlafaxine หรือ Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitors (SSNRIs) เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาสมุนไพรกับยา ซึ่งเป็นผลเสียต่อร่างกาย

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
SaVanna Shoemaker, What is Jujube fruit? Nutrition, Benefits, and uses (https://www.healthline.com/nutrition/jujube), 23 August 2019.
Jianping Chen, Xiaoyan Liu and ZHonggui Li et al., The Hong Kong University of Science and Technology, A Review of Dietary Zizi phusjujuba Fruit (Jujube): Developing Health Food Supplements for Brain Protection (https://www.researchgate.net/publication/317393848_A_Review_of_Dietary_Ziziphus_jujuba_Fruit_Jujube_Developing_Health_Food_Supplements_for_Brain_Protection), 7 Jun 2017.
Hasan NM, Alsorkhy MA, Al Battah FF, King Saud bin Abdulaziz University for Health Science, Ziziphus Jujube of the Middle East, Food and Medicine (https://www.researchgate.net/publication/268096032_Ziziphus_Jujube_of_the_Middle_East_Food_and_Medicine), November 2014.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)