โรคตับอักเสบ C

เผยแพร่ครั้งแรก 25 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 14 นาที
โรคตับอักเสบ C

โรคตับอักเสบ C (Hepatitis C) คือภาวะติดเชื้อไวรัสที่ตับที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิตหากปล่อยทิ้งไว้เพราะเป็นภาวะที่ไปสร้างความเสียหายกับตับเรื่อย ๆ

ด้วยวิทยาการรักษาสมัยใหม่ทำให้แพทย์สามารถรักษาโรคนี้ได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยส่วนมากมีอายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) กลับไปเป็นปรกติ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

คุณสามารถติดเชื้อไวรัสนี้ได้จากการสัมผัสเลือดของผู้ติดเชื้อ

คุณติดเชื้อตับอักเสบ C ได้อย่างไร?

ไวรัสตับอักเสบ C แพร่กระจายจากการสัมผัสเลือดกับเลือด โดยตัวอย่างการรับเชื้อมีดังนี้: การใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อร่วมกัน โดยเฉพาะเข็มที่ใช้ฉีดยาเสพติด การใช้มีดโกนหรือแปรงสีฟันร่วมกัน ส่งต่อจากมารดาสู่ลูกในครรภ์ ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน (นับว่าหายากมาก ๆ )

ของเหลวอื่น ๆ จากร่างกายก็อาจมีเชื้อไวรัสอยู่ก็ได้ แต่เลือดจะเป็นแหล่งที่อยู่ของไวรัสที่สูงที่สุด แม้การสัมผัสหยดเลือดเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ และหากอยู่ในอุณหภูมิห้องก็คาดกันว่าไวรัสก็ยังคงมีชีวิตอยู่ได้นานหลายสัปดาห์แม้ว่าเลือดนั้นจะแห้งไปแล้วก็ตาม

การติดเชื้อส่วนใหญ่ (ในสหราชอาณาจักร) เกิดกับผู้ที่ใช้เข็มฉีดยากับสารเสพติดทั้งในปัจจุบันและในอดีต คาดกันว่าเกือบครึ่งของกลุ่มเสี่ยงนี้จะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C

ยาฉีด

ผู้ที่ใช้ยาฉีด รวมไปถึงการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด และยาสเตียรอยด์เพิ่มสมรรถนะจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C สูงที่สุด

การติดเชื้อสามารถแพร่กระจายได้จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน โดยการใช้เข็มที่ปนเปื้อนไวรัสเพียงหนึ่งครั้งก็ทำให้คุณติดเชื้อได้แล้ว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

คุณสามารถติดเชื้อได้จากอุปกรณ์ใช้ยาอื่น ๆ เช่นช้อนยา หลอด หรือท่อส่งยาต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเลือดที่มีเชื้ออยู่

สาเหตุที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ไวรัสตับอักเสบ C สามารถส่งต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันได้ (โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย) กระนั้นก็นับว่าความเสี่ยงมีอยู่ต่ำมาก ๆ แต่ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์อาจจะสูงขึ้นหากคุณเป็นกลุ่มชายรักชาย หากคุณมีอาการปวดหรือแผลบนอวัยวะเพศจากโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (sexually transmitted infection) หรือหากคุณเป็นผู้ป่วย HIV

วิธีป้องกันการส่งต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบ C ที่ดีที่สุดคือการใช้ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย หรือใช้ห่วงยางอนามัยสำหรับผู้หญิง แต่หากคุณเป็นคู่ที่มีความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาคนเดียว คุณก็สามารถไม่ใช้ถุงยางอนามัยก็ได้

หากคู่นอนของคุณมีเชื้อไวรัสตับอักเสบ C คุณควรเข้ารับการทดสอบหาภาวะนี้ด้วย

การถ่ายเลือดและการรักษาที่ต่างแดน หากคุณเข้ารับการถ่ายเลือดหรือการรักษาทันตกรรมหรือทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ต่างแดนที่ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม คุณอาจติดเชื้อตับอักเสบ C ได้เนื่องจากไวรัสสามารถรอดชีวิตอยู่บนรอยเลือดบนอุปกรณ์ได้นานมาก

การใช้แปรงสีฟัน กรรไกร และมีโกนร่วมกัน เชื้อไวรัสตับอักเสบ C สามารถส่งต่อจากการสักหรือเจาะร่างกายที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสมได้ ดังนั้นควรทำการตรวจสอบก่อนว่าสถานที่สักหรือเจาะนั้นได้มีการรองรับและเคร่งครัดเรื่องความสะอาดและปลอดภัยก่อนเข้ารับบริการทุกครั้ง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

มารดาสู่เด็ก มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่แม่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C จะส่งต่อเชื้อไปยังทารก โดยคาดว่าเกิดประมาณ 5% ของกรณีทั้งหมด

คาดกันว่าเด็กทารกไม่ได้ติดเชื้อไวรัสจากมารดาผ่านทางการดื่มนมจากเต้า

เข็มตำ มีความเสี่ยงน้อย (ประมาณ 1 ใน 30) ที่พบว่าเกิดกรณีติดเชื้อตับอักเสบ C จากการถูกเข็มที่ผ่านการใช้งานจากผู้ติดเชื้อตับอักเสบ C ผ่านผิวหนังลงไป

โดยผู้ดูแลทางสุขภาพ พยาบาล และนักทดลองในห้องปฏิบัติการณ์จะมีความเสี่ยงต่อกรณีเช่นนี้สูงที่สุดเพราะต้องอยู่ใกล้กับเลือดและของเหลวร่างกายที่อาจปนเปื้อนเลือดของผู้ติดเชื้อ

อาการของโรคตับอักเสบ C

โรคตับอักเสบ C มักจะไม่ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการที่ชัดเจนจนกว่าตับจะเสียหายไปค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อหลายรายไม่รู้ตัวว่าตนเองมีเชื้ออยู่

เมื่อเกิดอาการขึ้น อาการต่าง ๆ ก็มีส่วนคล้ายกับภาวะสุขภาพอื่น ๆ ดังนี้: อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่นปวดกล้ามเนื้อ และมีไข้สูง รู้เหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้

วิธีที่จะตรวจพบว่าคุณเป็นโรคตับอักเสบ C คือการเข้ารับการทดสอบเท่านั้น

อาการแรกเริ่มของโรคตับอักเสบ C

ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ C หลายรายจะไม่มีอาการใด ๆ และอาจไม่รู้สึกว่าตนเองติดเชื้ออยู่ก็ได้ โดยอาการมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ตับของผู้ป่วยเสียหายมากขึ้น

โดยผู้ป่วยประมาณ 1 จากทุก ๆ 3-4 คนจะมีอาการในช่วง 6 เดือนแรกหลังติดเชื้อตับอักเสบ C โดยระยะนี้จะเรียกว่าโรคตับอักเสบ C ชนิดเฉียบพลัน (acute hepatitis C)

หากเกิดอาการขึ้น (ส่วนมากจะเกิดหลังจะติดเชื้อไม่กี่สัปดาห์) อาการก็มักจะมีดังนี้: มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป เหน็ดเหนื่อย ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้

ผู้ที่ประสบกับอาการประมาณ 1 ใน 5 จะมีอาการผิวหนังและตาขาวออกสีเหลืองกว่าปรกติที่เรียกว่าภาวะดีซ่านร่วมด้วย (jaundice)

ผู้ติดเชื้อตับอักเสบ C ประมาณ 1 ใน 4 จะหายจากโรคเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายได้ทำการกำจัดไวรัสออกภายในช่วงเวลาไม่กี่เดือน และผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่มีอาการใด ๆ อีกนอกจากจะกลับมาติดเชื้อซ้ำ

ส่วนกรณีที่เหลือนั้น ไวรัสจะคงอยู่ในร่างกายนานหลายปี ซึ่งภาวะนี้จะเรียกว่าโรคตับอักเสบ C ชนิดเรื้อรัง (chronic hepatitis)

อาการระยะหลังของโรคตับอักเสบ C

อาการจากโรคตับอักเสบ C ชนิดระยะยาว (เรื้อรัง) จะมีความผันแปรกันออกไปอย่างมาก บางคนอาจมีอาการน้อยจนแทบไม่สังเกตเห็น แต่อีกกลุ่มอาจมีอาการรุนแรงจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต อีกทั้งอาการต่าง ๆ ก็อาจเกิดขึ้นและหายไปเป็นช่วงเวลานาน ๆ สลับกัน

ปัญหาที่ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ C ชนิดเรื้อรังส่วนมากจะประสบมีดังนี้: รู้สึกเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลา ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ คลื่นไส้ ปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำระยะสั้น สมาธิ และทำกิจกรรมที่ต้องใช้กระบวนการคิดลำบาก (ภาวะสมองล้า) อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย ภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล อาหารไม่ย่อย หรือท้องอืด คันผิวหนัง ปวดท้อง

หากปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษา การติดเชื้อนี้จะเข้าไปทำลายตับจนทำให้เกิดแผลขึ้นในที่สุด (ภาวะตับแข็ง) โดยสัญญาณของภาวะตับแข็ง (cirrhosis) มีทั้งดีซ่าน อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีเข้ม และมีของเหลวสะสมในขาและช่องท้อง

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

ควรไปพบแพทย์ทันทีที่คุณมีอาการข้างต้นเรื้อรัง หรือประสบกับอาการเหล่านั้นเรื่อย ๆ แพทย์มักจะแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ C

แม้คุณจะมีอาการข้างต้นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นโรคตับอักเสบ C เท่านั้น แต่กระนั้นคุณก็ควรต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการจะดีที่สุด

คุณควรปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับการทดสอบความเสี่ยงที่คุณจะติดเชื้อแม้จะไม่มีอาการใด ๆ โดยเฉพาะผู้ที่เคยฉีดยาเสพติดมาก่อนทั้งปัจจุบันและในอดีต

การวินิจฉัยและการรักษาที่เกิดขึ้นเร็วจะช่วยป้องกันหรือจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดกับตับของคุณ และช่วยควบคุมไม่ให้การติดเชื้อลุกลามไปยังผู้อื่นได้

การป้องกันโรคตับอักเสบ C

ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ C มีเพียงการดูแลลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น: ไม่ใช้อุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ทั้งชนิดเข็มหรือแม้แต่ช้อนทานยาหรือหลอดดูดยา ไม่ใช้มีดโกนหรือแปรงสีฟันร่วมกับผู้อื่น เพราะสิ่งของเหล่านี้อาจปนเปื้อนเลือดที่มีเชื้ออยู่ก็เป็นได้

ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตับอักเสบ C จากการมีเพศสัมพันธ์นับว่าต่ำมาก ๆ กระนั้นความเสี่ยงก็อาจจะสูงขึ้นหากระหว่างกิจกรรมมีเลือดออกมา เช่นประจำเดือน หรือการเลือดออกเล็กน้อยจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

กรณีชายหรือหญิงแท้อาจไม่จำเป็นต้องใช้ถุงยางเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคตับอักเสบ C แต่หากต้องการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือมีการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง ก็ควรใช้ถุงยางป้องกันจะดีที่สุด

การวินิจฉัยโรคตับอักเสบ C

หากคุณคาดว่าตนเองติดเชื้อตับอักเสบ C ควรพิจารณาไปรับการทดสอบจะดีที่สุด ซึ่งหากผลออกมาเป็นบวก แพทย์จะแนะนำให้คุณเข้ารับการรักษาทันที

ใครควรเข้ารับการทดสอบบ้าง?

คุณควรพิจารณาเข้ารับการทดสอบหาโรคตับอักเสบ C หากคุณกังวลว่าจะติดเชื้อหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง

โรคตับอักเสบ C มักจะไม่แสดงอาการให้เห็น ดังนั้นคุณอาจจะมีเชื้ออยู่โดยที่มีสุขภาพดีอยู่ก็เป็นได้ โดยกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C สูงกว่าคนทั่วไปมีดังนี้: ผู้รับบริจาคปลูกถ่ายอวัยวะหรือเนื้อเยื่อก่อนปี 1992 ผู้ที่อาศัยหรือมีประวัติการรักษาตัวในพื้นที่ที่มีการพบโรคตับอักเสบ C เป็นปรกติ ทารกและเด็กที่มีแม่เป็นโรคตับอักเสบ C ผู้ที่สัมผัสกับไวรัสโดยไม่ตั้งใจ เช่นคนงานด้านสาธารณสุข ผู้ที่ไปสักหรือเจาะร่างกายด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม ผู้ที่มีคู่นอนเป็นโรคตับอักเสบ C

หากคุณยังคงดำเนินกิจกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคตับอักเสบ C อย่างเช่นใช้สารเสพติดชนิดฉีดบ่อยครั้งอาจต้องเข้ารับการทดสอบบ่อยครั้งตาม ซึ่งบรรดาแพทย์จะให้คำแนะนำเพิ่มเติมกับคุณได้

การทดสอบหาโรคตับอักเสบ C

โรคตับอักเสบ C วินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเลือด 2 ประเภท คือการทดสอบหาแอนติบอดี และการทดสอบ PCR โดยผลจากการทดสอบทั้งสองควรจะออกมาภายใน 2 สัปดาห์

การทดสอบแอนติบอดี

การทดสอบแอนติบอดีจะชี้ชัดว่าคุณเคยสัมผัสกับไวรัสตับอักเสบ C มาก่อนหรือไม่ โดยการหาร่องรอยของแอนติบอดีที่ผลิตออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค

การทดสอบจะไม่แสดงให้เห็นปฏิกิริยาด้านบวกหากคุณติดเชื้อมาไม่กี่เดือน เพราะร่างกายต้องใช้เวลาในการผลิตแอนติบอดี

หากผลการทดสอบเป็นลบ แต่คุณมีอาการของโรค หรือคุณอาจสัมผัสกับไวรัสตับอักเสบ C คุณควรเข้ารับการทดสอบอีกครั้ง

ผลการทดสอบที่เป็นบวกหมายความว่าคุณเคยติดเชื้อมาแล้วระยะใดระยะหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณติดเชื้ออยู่ ณ ขณะนั้นเนื่องจากร่างกายของคุณอาจจะกำจัดไวรัสออกจากร่างกายหมดแล้วก็ได้

วิธีเดียวที่จะทราบได้ว่าคุณติดเชื้ออยู่ ณ ขณะนั้นหรือไม่คือการตรวจเลือดครั้งที่สองที่เรียกว่าการทดสอบ PCR

การทดสอบ PCR

การทดสอบ PCR คือการตรวจเลือดเพื่อหาว่าร่างกายคุณมีไวรัสกำลังเพิ่มจำนวนอยู่หรือไม่

ผลการทดสอบที่เป็นบวกหมายความว่าร่างกายยังคงกำจัดไวรัสออกไม่หมด และการติดเชื้อนี้อาจลุกลามกลายเป็นระยะเรื้อรังได้

การทดสอบเพิ่มเติม

หากคุณมีภาวะติดเชื้อตับอักเสบ C อยู่ คุณต้องเข้าพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อดูว่าตับของคุณได้รับความเสียหายหรือไม่ โดยอาจมีการทดสอบดังนี้:

การตรวจเลือด: เพื่อหาเอนไซม์และโปรตีนในกระแสเลือดที่บ่งชี้ถึงความเสียหายหรืออักเสบที่ตับของคุณ

การสแกนอัลตราซาวด์: กระบวนการใช้คลื่นเสียงทดสอบความแข็งของตับ (ความแข็งบ่งชี้ว่าตับของคุณเสียหายเท่าไร)

การรักษาโรคตับอักเสบ C

แผนการรักษาโรคตับอักเสบ C

แผนการรักษาโรคตับอักเสบ C มีดังนี้: การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสียหายต่อตับเพิ่มเติม และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัส การใช้ยา 2 ถึง 3 ประเภทในการต่อสู้กับไวรัส (combination therapy)

โดยปรกติแล้วคุณจะได้รับยาเป็นเวลาต่อเนื่อง 12 ถึง 48 อาทิตย์ โดยระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับยาที่คุณกำลังใช้อยู่ และพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบ C

ไวรัสตับอักเสบ C มีอยู่ 6 สายพันธุ์ และแต่ละประเทศอาจมีการพบไวรัสโรคนี้แตกต่างกัน

ระหว่างการรักษา คุณควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบว่ายาได้ผลหรือไม่ หากผลการทดสอบบ่งชี้ว่าการรักษามีผลน้อยมาก แพทย์อาจแนะนำให้คุณยุติการรักษานั้น ๆ ลง

วิธีการใช้ชีวิต

คุณสามารถจำกัดความเสียหายที่ตับและป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ด้วยตนเอง ดังนี้: การทานอาหารที่สมดุลและดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ การเลิกหรือลดปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ ใช้แต่สิ่งของเครื่องใช้ประจำตัว เช่นแปรงสีฟัน หรือมีดโกน ไม่ใช้เข็มหรือหลอดฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

การใช้ยารักษาโรคตับอักเสบ C 

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยค้นพบว่าโรคตับอักเสบ C สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาผสานกันเพื่อหยุดการเพิ่มจำนวนของไวรัสภายในร่างกายของคุณ ซึ่งยาเหล่านี้ต้องถูกจัดจ่ายให้คุณเป็นเวลานานหลายเดือน

ผู้ป่วยส่วนมากจะได้รับยา 2 ประเภทที่เรียกว่า pegylated interferon (ยาฉีดรายสัปดาห์) และ ribavirin (ยาเม็ดหรือแคปซูล) กระนั้นก็มีการรักษาแบบใหม่ที่ใช้เฉพาะยาเม็ดเพียงอย่างเดียวแทนการฉีดยา interferon

ยาเหล่านี้มักถูกจัดให้ใช้ร่วมกัน แต่ทุกวันนี้มักจะใช้ร่วมกับยาประเภทใหม่ที่มีประสิทธิภาพมาก ซึ่งเป็นการใช้ยา simeprevir , sofosbuvir และ daclatasvir

การใช้ชุดยาแบบใหม่นี้ทำให้ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ C มากกว่า 90% หายจากโรค แต่ยาเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คุณมีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส ทำให้คุณต้องคอยดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อนในอนาคต

หากแพทย์พบการติดเชื้อในระยะเริ่มต้น (โรคตับอักเสบ C ชนิดเฉียบพลัน) การรักษาอาจจะไม่จำเป็นต้องเริ่มทันที แต่แพทย์จะแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจเลือดอีกครั้งหลังจากผ่านไปไม่กี่เดือนเพื่อดูว่าร่างกายของคุณขจัดไวรัสออกทั้งหมดแล้วหรือไม่

หากยังคงมีการติดเชื้อต่อไปอีกหลายเดือน หรือที่เรียกว่าโรคตับอักเสบ C ชนิดเรื้อรัง แพทย์จะแนะนำการรักษาทันที

Pegylated interferon และ ribavirin Pegylated interferon 

มักเป็นยาฉีดที่ต้องใช้เป็นเวลาหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ คุณอาจต้องฝึกฉีดยานี้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยต้องใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน 48 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของคุณ

Ribavirin มักจะเป็นยาแคปซูล ยาเม็ด หรือยาละลายน้ำ และมักถูกกำหนดให้ทานสองครั้งต่อวันพร้อมอาหาร โดยอาจต้องใช้พร้อมกับ Pegylated interferon เป็นเวลา 48 สัปดาห์

ยากลุ่มใหม่ ทุกวันนี้มียาใหม่ที่สามารถใช้เพื่อรักษาโรคตับอักเสบ C ได้ โดยยาบางตัวสามารถใช้ร่วมกับ pegylated interferon และ/หรือ ribavirin ได้ ในขณะที่บางตัวอาจต้องทานแยกหรือร่วมกับยาประเภทใหม่อื่น ๆ

โดยตัวอย่างยาใหม่ที่ใช้ในการรักษาโรคตับอักเสบ C มีดังนี้: simeprevir sofosbuvir daclatasvir ยาผสม ledipasvir กับ sofosbuvir ยาผสม ombitasvir , paritaprevir และ ritonavir โดยที่สามารถใช้ร่วมกับ dasabuvir ก็ได้

ยาเหล่านี้เป็นยาเม็ดที่ต้องใช้หนึ่งหรือสองครั้งต่อวันเป็นเวลาแปดถึง 48 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้ genotype ของไวรัสตับอักเสบ C และความรุนแรงของภาวะของคุณ

ยาเหล่านี้มักถูกใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคตับอักเสบ C ชนิด genotype 1หรือ genotype 4 กระนั้นยาเหล่านั้นก็อาจใช้ในการรักษาผู้ป่วยด้วย genotype อื่น ๆ ก็ได้

การรักษามีประสิทธิภาพแค่ไหน? ประสิทธิภาพของการรักษาโรคตับอักเสบ C ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสที่คุณเป็น

Genotype 1 เคยเป็นสายพันธุ์ที่ทำการรักษายากมาก โดยเคยมีผู้ป่วยจากไวรัสพันธุ์นี้ที่รักษาสำเร็จน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ด้วยการรักษาด้วยยาประเภทใหม่ โอกาสในการรักษาจึงเพิ่มสูงขึ้น และหากใช้ยาผสานกันจะทำให้อัตราการหายจากโรคสูงกว่า 90%

ความสำเร็จที่สูงนี้กลับกลายเป็นว่าแพทย์สามารถทำการรักษาโรคตับอักเสบ C Genotype 1 ได้ดีกว่า Genotype อื่น ๆ เสียอีก

การรักษา genotype 3 มักจะเป็นการรักษาง่าย ๆ ด้วย pegylated interferon และ ribavirin ซึ่งมีโอกาสรักษาสำเร็จประมาณ 70-80%

หากการรักษาสามารถขจัดไวรัสได้หมด สิ่งที่คุณต้องจำไว้คือคุณยังคงไม่มีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อตับอักเสบ C หมายความว่าคุณจะสามารถติดเชื้อซ้ำได้อีกครั้งหากคุณยังคงใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาดภายหลังการรักษา

หากการรักษาไม่ได้ผล แพทย์จะดำเนินการรักษาต่อไปด้วยการเพิ่มยาที่ใช้ หรือลองใช้ยาตัวอื่นร่วมด้วย

ผลข้างเคียงจากการรักษา ผลข้างเคียงจาก combination therapy ที่มีการใช้ interferon เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย ส่วนการรักษาด้วยยาเม็ดประเภทใหม่จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก จนทำให้ผู้ใช้ยาส่วนมากไม่รู้สึกอะไร

หากการรักษาของคุณมีการใช้ยา interferon ผลข้างเคียงจะมีดังนี้: มีอาการไข้หวัดใหญ่ เช่นปวดศีรษะ เหน็ดเหนื่อยรุนแรง และมีไข้สูง เซลล์เม็ดเลือดแดงลดจำนวนลง (ภาวะโลหิตจาง) จนทำให้คุณหมดแรงและเหนื่อยล้า ผื่นขึ้น ภาวะซึมเศร้า คันผิวหนัง คลื่นไส้ ท้องผูก หรือท้องร่วง ปัญหาการนอนหลับ ไม่อยากอาหาร และน้ำหนักลด

การใช้ยารักษาโรคตับอักเสบ C ที่ใช้ยาหรือการรักษาอื่น ๆ จะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่คาดเดาไม่ได้ ดังนั้นคุณควรปรึกษากับแพทย์ เภสัชกร หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเริ่มการรักษาอื่น

ผลข้างเคียงจากยาจะดีขึ้นเมื่อร่างกายของคุณปรับตัวชินกับยาที่ใช้ แต่หากผลข้างเคียงส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคุณมากเกินไป คุณควรแจ้งทีมรักษาของคุณทันที

การรับมือกับผลข้างเคียงอาจเป็นเรื่องท้าทายมาก แค่คุณควรใช้ยาที่แพทย์จ่ายมาอย่างเคร่งครัดต่อไป หากขาดตกบกพร่องไปแม้แต่หนึ่งโดสอาจลดความเสี่ยงต่อความสำเร็จของการรักษาได้

การรักษาระหว่างตั้งครรภ์ การใช้ยารักษาโรคตับอักเสบ C โดยเฉพาะยา ribavirin อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาตัวนี้ระหว่างการตั้งครรภ์

หากคุณกำลังตั้งครรภ์และถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อ การรักษามักจะถูกเลื่อนออกไปจนกว่าคุณจะคลอดเสียก่อน แต่หากคุณไม่ได้ตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้คุณคุมกำเนิดในขณะที่ดำเนินการรักษาไปก่อน และอาจต้องทำการทดสอบครรภ์บ่อยครั้ง

การตัดสินใจไม่รับการรักษา ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ C ชนิดเรื้อรังบางรายอาจตัดสินใจไม่เข้ารับการรักษาเพราะว่า: พวกเขาไม่มีอาการใด ๆ ยอมใช้ชีวิตไปพร้อมกับความเสี่ยงต่อภาวะตับแข็งในอนาคต ไม่รู้สึกว่าจะได้รับผลประโยชน์จากการรักษาที่พอจะหักลบกับผลข้างเคียงจากการรักษา

ทีมรักษาของคุณอาจแนะนำให้คุณเข้ารับการรักษาต่อไป แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายก็อยู่ที่คุณอยู่ดี หากคุณตัดสินใจจะไม่รับการรักษาแต่เกิดเปลี่ยนใจ คุณก็สามารถขอให้แพทย์เริ่มการรักษาเมื่อใดก็ได้

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับอักเสบ C

หากปล่อยให้เกิดการติดเชื้อต่อเนื่องหลายปี ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ C บางคนจะเริ่มประสบกับความเสียหายที่ตับ (ภาวะตับแข็ง) และหากปล่อยไว้ต่อไปอาจทำให้ตับหยุดทำงานได้

มีหลายสิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตับแข็งขึ้น ดังนี้: การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเบาหวานประเภท 2 ติดเชื้อตับอักเสบ C ณ ช่วงอายุมาก ติดเชื้อ HIV หรือโรคตับอักเสบประเภทอื่น เช่นโรคตับอักเสบ B

โดยปรกติแล้ว จะมีผู้ติดเชื้อตับอักเสบ C ประมาณ 1 ใน 3 ที่เริ่มประสบกับภาวะตับแข็งภายใน 20-30 ปี ในกรณีที่เป็นรุนแรงอาจกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงถึงชีวิตขึ้นมา เช่นภาวะตับล้มเหลวที่ซึ่งตับหยุดการทำงานส่วนมากหรือทั้งหมดไป หรือแม้แต่มะเร็งตับ เป็นต้น

การรักษาโรคตับอักเสบ C ควรเกิดขึ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอันตรายข้างต้น

ภาวะตับแข็ง

หากคุณเป็นภาวะตับแข็ง (cirrhosis) เนื้อเยื่อของตับที่เกิดแผลจะค่อย ๆ ถูกทดแทนด้วยเนื้อเยื่อสุขภาพดีเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันอวัยวะหยุดทำงาน

ในช่วงระยะเริ่มต้น ภาวะนี้ยังคงไม่ทำให้เกิดอาการมากมายอะไร แต่เมื่อตับสูญเสียความสามารถในการทำงานไปแล้ว คุณอาจประสบกับ: อาการเหน็ดเหนื่อยและอ่อนแรง ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด คลื่นไส้ คันผิวหนังรุนแรง กดเจ็บหรือเจ็บปวดบนที่ท้อง เกิดเส้นสีแดงเล็ก ๆ (หลอดเลือดฝอย) บนผิวหนัง

วิธีรักษาภาวะตับแข็งมีเพียงการปลูกถ่ายตับเท่านั้น แต่การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตและการใช้ยารักษาโรคตับอักเสบ C ก็สามารถช่วยป้องกันไม่ให้ภาวะนี้ทรุดลงได้

ภาวะตับล้มเหลว

ในกรณีที่คุณเป็นภาวะตับแข็งรุนแรง ตับอาจจะสูญเสียการทำงานส่วนมากหรือทั้งหมดไปจนทำให้ตับหยุดทำงานในที่สุด

ในแต่ละปีมีผู้ป่วยตับแข็งจากโรคตับอักเสบประมาณ 1 จาก 20 คนเกิดภาวะตับล้มเหลวขึ้น โดยอาการของภาวะตับล้มเหลวมีดังนี้: ผมร่วง ของเหลวสะสมในขา ข้อเท้า และเท้า (ภาวะบวมน้ำ) ของเหลวสะสมในท้อง (ภาวะท้องมาน) ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีดำคล้ายก้อนถ่าน หรือสีซีดมาก เลือดกำเดาออก และเลือดออกตามไรเหงือกบ่อยครั้ง ฟกช้ำง่าย อาเจียนเป็นเลือด

ผู้ป่วยที่ได้รับยาจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกับภาวะตับล้มเหลวได้นานหลายปี กระนั้นวิธีการรักษาภาวะนี้ที่ดีที่สุดก็ยังคงเป็นการปลูกถ่ายตับอยู่

มะเร็งตับ

คาดกันว่ามีผู้ป่วยตับแข็งจากโรคตับอักเสบประมาณ 1 จาก 20 คนที่ประสบกับมะเร็งตับทุกปี

อาการของโรคมะเร็งตับมีดังนี้: ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดอย่างหาสาเหตุไม่ได้ เหน็ดเหนื่อยรุนแรง คลื่นไส้ เจ็บปวดหรือท้องบวม ดีซ่าน

โชคไม่ดีที่ยังไม่มีวิธีรักษามะเร็งตับ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เกิดมาจากภาวะตับแข็ง กระนั้นการรักษาที่มีก็สามารถช่วยควบคุมอาการและชะลอการลุกลามของโรคได้

การใช้ชีวิตร่วมกับโรคตับอักเสบ C

สิ่งที่ทำให้โรคตับอักเสบ C ทรุดลงมีอะไรบ้าง?

การดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสียหายที่ตับของคุณ หากคุณเป็นโรคตับอักเสบ C คุณควรลดหรือเลิกการบริโภคแอลกอฮอล์เสีย หากคุณต้องการคำแนะนำควรปรึกษาแพทย์หรือติดต่อบริการช่วยเหลือต่าง ๆ

หากคุณมีความกังวลว่าการเสพย์ติดแอลกอฮอล์ของคุณมีรุนแรงจนทำให้คุณไม่สามารถเลิกดื่มสุราได้ ควรติดต่อแพทย์เพื่อรับการรักษาช่วยเลิกสุราต่าง ๆ

สิ่งที่คุณสามารถทำเพื่อช่วยตนเองมีอะไรบ้าง?

เช่นเดียวกับการงดแอลกอฮอล์ คุณก็สามารถ: ลดน้ำหนักด้วยการทานอาหารที่สมดุลและดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายเป็นประจำ เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ A และ B

การที่คุณมีน้ำหนักร่างกายมากเกิน การสูบบุหรี่ และการป่วยเป็นโรคตับอักเสบประเภทอื่น ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อความเสียหายที่ตับมากขึ้น

คุณต้องได้รับอาหารพิเศษหรือไม่?

คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปทานอาหารพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคตับอักเสบ C แต่อย่างใด คุณควรใช้วิธีทานอาหารให้สมดุลและดีต่อสุขภาพจะดีที่สุด

ในแต่ละมื้อของคุณควรมีผักและผลไม้มาก ๆ อาหารจำพวกแป้ง กากใยอาหาร และโปรตีน พยายามลดปริมาณอาหารไขมันสูง อาหารทอด และอาหารแปรรูปต่าง ๆ

หากตับของคุณเสียหายรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้คุณจำกัดปริมาณเกลือและโปรตีนลงเพื่อไม่ให้ตับของคุณต้องรับภาระหนักเกินไป โดยนักโภชนาการจะสามารถให้คำแนะนำเรื่องอาหารการกินแก่คุณได้

คุณสามารถป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อย่างไร?

คุณสามารถลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบ C ได้ด้วย: การใช้สิ่งของเครื่องใช้ประจำตัว อย่างเช่นแปรงสีฟัน และมีดโกน การทำความสะอาดและปิดบาดแผลบาดหรือรอยตัดด้วยที่ปิดแผลกันน้ำ ทำความสะอาดรอยเลือดที่หยดลงสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านเรือนด้วยน้ำยาทำความสะอาด ไม่ใช้เข็มหรือหลอดฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ไม่เข้าบริจาคเลือด

ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อตับอักเสบ C ผ่านการมีเพศสัมพันธ์มีต่ำมาก แต่ความเสี่ยงจะสูงขึ้นหากมีเลือดออกระหว่างกิจกรรมนั้น ๆ เช่นมีประจำเดือนหรือมีเลือดออกจากทวารหนักระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

หากคุณเป็นคู่สามีภรรยาที่รักเดียวใจเดียว พวกคุณก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยก็ได้

คุณสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่?

คุณสามารถเดินทางแม้จะเป็นโรคตับอักเสบ C ได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าเสียก่อน

คุณอาจต้องเข้ารับวัคซีนและต้องมีการจัดเตรียมเป็นพิเศษเพื่อให้มั่นใจว่าคุณสามารถขนย้ายและเก็บยาสำหรับโรคตับอักเสบ C ได้อย่างปลอดภัย

คุณควรนำข้อมูลทางการแพทย์ไปด้วย เช่นรายละเอียดการตรวจเลือด หรือบันทึกการรักษาส่วนตัวเผื่อในกรณีที่คุณต้องเข้ารับการรักษาที่ต่างแดน

คุณสามารถมีบุตรในกรณีที่คุณหรือคู่สมรสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ C ได้หรือไม่?

คุณสามารถมีบุตรได้แม้คุณจะมีคู่สมรสหรือตัวคุณเองที่เป็นโรคตับอักเสบ C แต่จะมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่ทารกจะได้รับเชื้อจากมารดา (ประมาณ 1 จาก 20 กรณี)

อีกทั้งผู้ที่ไม่มีเชื้อจะมีความเสี่ยงได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน แม้ว่ากรณีนี้จะเกิดขึ้นยากมากก็ตาม

ดังนั้นคุณและคู่ของคุณควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแผนการสร้างครอบครัวเสียก่อน


13 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Hepatitis C Information | Division of Viral Hepatitis. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/hepatitis/hcv/index.htm)
Hepatitis C - What Is Hep C? Symptoms, Causes, Diagnosis, Treatment. WebMD. (https://www.webmd.com/hepatitis/digestive-diseases-hepatitis-c#1)
Hepatitis C — Key facts [Fact sheet]. (2018). (https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hepatitis-c)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป