March 01, 2019 15:07
ตอบโดย
กันตณัฏฐ์
อยู่ตรีรักษ์ (แพทย์ทั่วไป)
(นพ.)
General physician
สวัสดีครับ
จากอาการตามที่เล่ามาข้างต้นนั้น มีหลายๆอาการที่บ่งบอกว่าอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ครับ
อาการของโรคซึมเศร้านั้นจะประกอบด้วยการมีอารมณ์เศร้าหดหู่หรือเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไรต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ร่วมกับมีอาการ
- นอนไม่หลับหรืออยากนอนมากขึ้น
- เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น
- อ่อนเพลียไม่มีแรง
- ไม่มีสมาธิ ความคิด ความจำแย่ลง
- คิดช้าทำช้าลงหรือกระสับกระส่ายมากขึ้น
- มีความคิดในแง่ลบ คิดโทษตัวเองบ่อยๆ หรือเห็นคุณค่าในตนเองลดลง
- เคยคิดหรือลงมือทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
ถ้าหากมีอาการในลักษณะนี้หลายๆข้อ ร่วมกับอาการที่เป็นส่งผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็จะมีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้นครับ
ในเบื้องต้นนั้นอาจลองทำแบบทดสอบตามลิงค์นี้เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าด้วยตนเองก่อนได้ครับ
http://www.prdmh.com/แบบประเมินโรคซึมเศร้า-9-คำถาม-9q.html
ถ้าหากทำได้ตั้งแต่ 7 คะแนนขึ้นไปก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น
ในกรณีนี้หมอเห็นด้วยที่ตัดสินใจจะไปพบจิตแพทย์ครับ และถ้าหากสามารถมีผู้ปกครองไปด้วยได้ก็ย่อมจะส่งผลดีมากกว่า เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้เข้าใจอาการที่เกิดขึ้น และจะได้สามารถช่วยดูแลในระหว่างการรักษาได้ครับ
แต่ถ้าหากยังไม่สะดวกที่จะพาผู้ปกครองไปด้วย ก็ยังสามารถไปพบจิตแพทย์ด้วยตัวเองได้เช่นกันครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ทำเลสิกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 25,500 บาท ลดสูงสุด 35%!!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ตอบโดย
ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
จากอาการหากมีอาการต่อเนื่องนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นซึมเศร้าได้ค่ะ
หากสงสัยเกี่ยวกับอาการของโรคซึมเศร้า สามารถเช็คอาการด้วยการทำแบบประเมินซึมเศร้าด้วยตัวเองดูก่อนนะคะ โดยในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้มีอาการเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
ไม่มีเลย 0 คะแนน
มี 1-7 วัน 1 คะแนน
≥7 วัน 2 คะแนน
ทุกวัน 3 คะแนน
1. เบื่อหน่าย ไม่สนใจอยากจะทำอะไร
2. ไม่สบายใจ ซึมเศร้า ท้อแท้
3. หลับยาก หลับๆตื่นๆ หรือหลับมากเกินไป
4. เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง อ่อนเพลีย
5. เบื่ออาหาร หรือ กินได้มาก กินจุบจิบตลอดเวลา
6. รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าล้มเหลว หรือคิดว่าทำให้ตนเองและครอบครัวผิดหวัง
7. ขาดสมาธิ เหม่อลอย ขี้ลืมบ่อย
8. ทำอะไรช้าลง กระสับกระส่าย อยู่นิ่งไม่ได้
9. คิดทำร้ายตัวเอง อยากตาย หรือตายไปจะดีกว่า
จากนั้นรวมคะแนน หากได้มากกว่า 7 คะแนนขึ้นไป อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นซึมเศร้าได้ค่ะ แนะนำให้พบจิตแพทย์ ประเมินอาการเพิ่มเติม แล้วรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางโรคจะช่วยให้อาการดีขึ้น ปรับตัวได้มากขึ้น ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติอีกครั้งนะคะ
หากผู้ปกครองสามารถไปพบจิตแพทย์ได้ก็ควรไปด้วย แต่หากหนูมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถให้ผู้ปกครองไปได้ หนูสามารถไปพบจิตแพทย์ด้วยตัวเองก็ได้ค่ะ
การไปพบจิตแพทย์หนูควรคำนึงถึงสิทธิ์การรักษาพยาบาลของหนู และคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางด้วยนะคะ เนื่องจากการรักษาซึมเศร้าจำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่องจิตแพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะนะคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ตอบโดย
ฉัตรดนัย
ศรชัย
(นักจิตวิทยาการปรึกษา)
Rehabilitation in Mental Health & Addiction
สวัสดีครับ
จากเรื่องราวที่เล่ามาจะเห็นได้ว่ามีหลากหลายอาการซึ่งจะค่อนข้างตรงกับเรื่องของภาวะโรคซึมเศร้า ซึ่งคุณเองก็ต้องการที่จะหาควมช่วยเหลือจากจิตแพทย์โดยที่ไม่ต้องการให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการรับการช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งตามอายุแล้วคุณเองก็สามารถเข้าพบกับจิตแพทย์ได้โดยที่ไม่ต้องมีผู้ปกครองครับ แต่อย่างไรก็ตาม การนำผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจสามารถเป็นไปได้อย่างราบรื่นขึ้น จากการที่สมาชิกภายในบ้านได้มีความเข้าใจในสถานการณ์และเรื่องราวของสมาชิกคนอื่นๆมากขึ้น แต่ว่าหากตัวคุณเองไม่สะดวกใจที่จะพาคุณแม่เข้ามาร่วมแล้ว ตรงนี้ก็ขอยืนยันอีกครั้งครับว่ามีโรงพยาบาลหลายๆแห่งที่ยินยอมให้ผู้ที่อายุไม่ถึง 18 ปีสามารถพบจิตแพทย์ได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครอง
ซึ่งนอกจากการเข้าพบกับผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผมขอฝากไว้ว่า การบริหารจัดการกับความเครียดหรือการดูแลตนเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกันนะครับ การทานอาหารหรือการนอนหลับที่เพียงพอจะมีส่วนในการควบคุมอารมณ์ และในเบื้องต้นอยากให้ลองใช้เวลาให้กับตัวเราเองเพื่อทำกิจกรรมที่ชอบทำหรือทำแล้วมีความสุขโดยอาจจะเป็นในเรื่องของ การออกกำลังกาย การดูหนัง ฟังเพลง หรือหากอยู่กับเพื่อนๆแล้วรู้สึกดี ก็อาจจะหาเพื่อนที่รู้สึกไว้ใจลองค่อยๆบอกเล่าปัญหาที่เจอให้ฟังได้ แต่ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไปนะครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะช่วยในเรื่องของการปรับอารมณ์ของตัวคุณได้ หรืออาจจะช่วยให้อารมณ์เศร้าเหล่านี้บรรเทาลงไปได้
ในส่วนของการทำร้ายตนเองหรือความคิดฆ่าตัวตาย หากมีความคิดเหล่านี้เข้ามาเยอะๆ หรือว่ามีแนวโน้มที่เราจะทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น สิ่งแรกที่คุณควรจะต้องทำก็คือโทรติดต่อหาคนสนิทที่ไว้ใจได้ให้มาช่วยเหลือเนื่องจากคุณมีความคิดแบบนี้ คุณสามารถติดต่อไปที่สมาคมสะมาริตันส์ได้ที่เบอร์ 02-713-6793 เวลาทำการ 12:00-22:00 ซึ่งการบริการจะเป็นการให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์เช่นเดียวกันครับ หากไม่สามารถติดต่อไปที่สมาคมสะมาริตันส์ได้ คุณสามารถติดต่อกู้ภัยฉุกเฉิน 1669 เพื่อให้นำคุณไปที่โรงพยาบาลใกล้เคียงได้ครับ
สุดท้ายนี้ขอเป็นกำลังใจให้คุณผ่านพ้นช่วงเวลาตรงนี้ไปได้ และหากมีอะไรก็สามารถสอบถามเข้ามาได้นะครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อยากสอบถามค่ะอาการเเบบนี้คล้ายโรคซึมเศร้าไหม ถ้าจะไปพบแพทย์ต้องทำยังไงบ้างคะ ผู้ปกครองต้องไปด้วยไหม😥 หนูอายุ17 บางทีนั่งอยู่เฉยๆก็เศร้าอยากร้องไห้ รู้สึกว่าเหลือตัวคนเดียว รู้สึกว่าใครๆไม่เคยนึกถึง อยากฆ่าตัวตายแต่ติดอยู่หลายอย่าง เคยคิดฆ่าตัวตายบ่อยมาก มีอาการขี้ลืมคือลืมบ่อยมากแทบจะตลอด และหงุดหงิดง่ายค่ะรู้สึกว่าคนรอบข้างไม่มีใครเข้าใจสักคน แม่หนูเป็นโรคซึมเศร้ากำลังรักษาอยู่ อยากทราบว่าอาการแบบนี้เป็นโรคซึมเศร้าไหมคะ เเละถ้าเป็นเวลาไปพบจิตแพทย์ต้องให้ผู้ปกครองเข้าไปด้วยไหมคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)