ภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือด (Amniotic fluid embolism) คือภาวะที่มีน้ำคร่ำรั่วเข้าสู่กระแสเลือดของผู้คลอด แล้วไปอุดกั้นบริเวณหลอดเลือดดำที่ปอด ทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านส่วนประกอบในน้ำคร่ำ เช่น ขนอ่อน ไข ผม ขี้เทา เป็นต้น ส่งผลให้ระบบหายใจหรือหัวใจล้มเหลว มีอาการชัก มีหลอดเลือดหดรัดตัวทั่วร่างกาย และเกิดความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด เช่น ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (Disseminated intravascular coagulation: DIC) เป็นต้น
สาเหตุของภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือด
ภาวะนี้เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากได้รับยากระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัว จึงทำให้มีความดันในโพรงมดลูกสูงมากและดันน้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือดของผู้คลอด สาเหตุอาจเกิดจากถุงน้ำคร่ำแตก ซึ่งอาจแตกเองหรือจากการเจาะให้แตก ทำให้เกิดช่องทางติดต่อเข้าไปในกระแสเลือดหรือเกิดจากทารกตายในครรภ์เป็นเวลานาน ทำให้เยื่อหุ้มทารกเปื่อยยุ่ย ขาดง่าย และหลอดเลือดฉีกขาด ทำให้น้ำคร่ำเข้าสู่กระแสเลือด
ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือด ได้แก่ ภาวะคลอดเฉียบพลัน รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด มดลูกแตก การบาดเจ็บในช่องคลอด การผ่าตัดเอาทารกออกทางหน้าท้อง การเบ่งในขณะคลอดศีรษะเมื่อถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก การตรวจวินิจฉัยน้ำคร่ำก่อนคลอด (Amniocentesis) การเจาะถุงน้ำคร่ำ การรีดเพื่อช่วยเปิดขยายปากมดลูก (Membrane stripping) การหมุนเปลี่ยนท่าทารกภายนอก การหมุนเปลี่ยนท่าทารกจากภายใน การเร่งคลอดโดยใช้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก (Oxytocin induction)
ภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือดเกิดขึ้นอย่างไร?
น้ำคร่ำจะผ่านเข้าสู่กระแสเลือดเนื่องจากการแตกหรือรั่วของผนังกั้นตามธรรมชาติ ซึ่งน้ำคร่ำนั้นประกอบด้วยขนอ่อน ขี้เทา และไข ซึ่งจะเข้าไปอุดตันในหลอดเลือดดำเล็ก จากนั้นร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อต้านโดยทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดที่ไหลจากปอดมายังหัวใจซีกซ้ายลดลงอย่างกะทันหัน ทำให้เลือดที่จะถูกบีบออกจากหัวใจห้องซ้ายไปเลี้ยงร่างกายลดลงทันที จนเกิดภาวะช็อกจากหัวใจในที่สุด
นอกจากนี้ยังทำให้ความดันในหลอดเลือดปอดสูงขึ้น เลือดคั่งในปอด ส่งผลให้หัวใจซีกขวาไม่สามารถบีบตัวดันเลือดให้ผ่านปอดไปได้ เนื่องจากภายในปอดมีแรงดันสูง จึงเกิดภาวะปอดบวมน้ำตามมา อีกทั้งปฏิกิริยาต่อต้านยังทำให้การไหลเวียนของเลือดในปอดลดลง เกิดภาวะขาดออกซิเจนในเลือดแดง และตามมาด้วยภาวะ DIC ผู้คลอดจะเสียเลือดและเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลวและหัวใจล้มเหลวได้
อาการภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือด
อาการของภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือดเริ่มด้วยมีอาการสั่น เหงื่อออกมาก กระสับกระส่าย มีความวิตกกังวลสูง เจ็บหน้าอก ไอมีเสมหะเป็นฟองสีชมพู อาเจียน ชัก ต่อมาหายใจลำบาก หายใจเร็ว ปลายมือปลายเท้าเขียว มีเลือดออก มีภาวะช็อก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ทั้งผู้คลอดและทารก
การวินิจฉัยภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือด
แพทย์สามารถวินิจฉันภาวะนี้ได้จากการสังเกตอาการตามข้างต้น และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray) การสแกนปอด (Lung scan) และการวัดความดันในหลอดเลือดดำ (Central venous pressure: CVP) รวมถึงการตรวจหาปริมาณปัจจัยในการแข็งตัวของเลือด และการชันสูตรศพในกรณีที่ผู้คลอดเสียชีวิตไปแล้ว
การรักษาภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือด
การรักษาจะต้องทำทางเดินหายใจให้โล่ง หากผู้คลอดหมดสติจะต้องให้ออกซิเจน 100% ทางท่อช่วยหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ รวมถึงให้ยาตามอาการ เช่น เฮพาริน มอร์ฟิน ดิจิทาลิส สเตียรอยด์ และยาต้านการแข็งตัวของเลือดทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น
นอกจากนี้จะมีการใส่สายสวนปัสสาวะไว้ เพื่อบันทึกน้ำเข้า-ออก และควบคุมการเสียเลือดโดยการให้เลือดแบบต่างๆ เช่น Whole blood (WB) Fresh frozen plasma (FFP) Packed red cell (PRC) และ Platelets หากพบว่ามีน้ำเกินอาจให้โปรตีน Cryoprecipitate นอกจากนี้จะตรวจดูการหดรัดตัวของมดลูก และอาจจำเป็นต้องให้ยา Oxytocin หรือยา Methergin ทางหลอดเลือดดำรวมทั้งตรวจดูรกอย่างละเอียด
การดูแลผู้ป่วยภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือด
แพทย์จะให้การดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ในระยะคลอดเพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือด ตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ดูแลผู้คลอดที่ได้รับยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกอย่างใกล้ชิดเพื่อระวังการเกิดมดลูกหดรัดตัวมากผิดปกติชนิดหดรัดตัวไม่คลาย (Tetanic contraction)
- เจาะถุงน้ำอย่างถูกวิธีโดยเจาะขณะที่มดลูกคลายตัว โดยเฉพาะในผู้คลอดที่มีภาวะครรภ์แฝดน้ำ
- หลีกเลี่ยงการเลาะแยกถุงน้ำคร่ำ เพราะจะทำให้เส้นเลือดบริเวณปากมดลูกฉีกขาด
- งดการตรวจทางช่องคลอด ในกรณีมีภาวะรกเกาะต่ำ และติดตามผลตรวจเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
- หากผู้คลอดมีภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นหลอดเลือดในปอดแล้ว จะต้องจัดให้นอนท่าศีรษะสูงให้ออกซิเจน
- ประเมินสัญญาณชีพหรือวัดความดันเลือดดำส่วนกลาง (Central venous pressure: CVP)
- บันทึกน้ำเข้า-ออกในร่างกาย หากทารกยังมีชีวิตอยู่ให้เตรียมผู้คลอดเพื่อผ่าตัดเอาทารกออกทางหน้าท้องอย่างรีบด่วนภายใน 30 นาที
- บันทึกเลือดที่ออกทางช่องคลอด
- ให้ยามอร์ฟิน ดิจิทาลีส สเตียรอยด์ เฮพาริน และตรวจดูว่าผู้คลอดเกิดภาวะ DIC หรือไม่
- หากมีภาวะการแข็งตัวผิดปกติของเลือด (Disseminated intravascular coagulation: DIC) แพทย์จะพิจารณาให้เลือดชนิดพลาสมาสดแช่แข็ง (Fresh frozen plasma; FFP) และดูแลด้านจิตใจโดยอธิบายขั้นตอนการรักษาให้ครอบครัวเข้าใจ
ทั้งนี้ภาวะน้ำคร่ำอุดตันในหลอดเลือดเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตราย ผู้คลอดและทารกอาจเสียชีวิต หากการรักษาไม่ประสบผลสำเร็จ
เบาหวานขึ้นตามีวิธีรักษาอย่างไรบ้างค่ะ