กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ประโยชน์ของถั่วงอก คืออะไร? พร้อมเคล็ดลับการกินอย่างถูกต้อง

ประโยชน์ถั่วงอก ส่งผลดีกับอวัยวะภายในมากมาย
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 4 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ประโยชน์ของถั่วงอก คืออะไร? พร้อมเคล็ดลับการกินอย่างถูกต้อง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ถั่วงอก 100 กรัม อุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุมากมาย รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยยับยั้งการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ จอประสาทตาเสื่อม หอบหืด ข้ออักเสบ และผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร
  • ถั่วงอกคือตัวช่วยย่อยอาหารได้ดีมาก เพราะถั่วงอกอุดมไปด้วยเอนไซม์หลากหลายชนิดที่มีส่วนช่วยย่อยอาหาร เมื่อการย่อยสลายอาหารมีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ดูดซึมสารอาหารง่ายขึ้นไปด้วย
  • โปรตีนจากถั่วงอกสามารถใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ ถั่วงอกจึงเป็นหนึ่งในอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่รับประทานเนิ้อสัตว์
  • ถั่วงอกอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยบำรุงเม็ดเลือดแดงและทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การรับประทานถั่วงอกดิบทำให้คาร์โบไฮเดรตที่ไม่สามารถย่อยได้ในทางเดินอาหาร ปล่อยก๊าซออกมาทำให้รู้สึกท้องอืด ไม่สบายท้องได้ ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงได้ที่นี่

ถั่วงอก หนึ่งในผักยอดนิยมของครัวไทย ซึ่งอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่าสารอาหารในถั่วงอกจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ก็ต่อเมื่อรับประทานอย่างถูกวิธี วันนี้เราจึงได้รวบรวมสาระน่ารู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของถั่วงอก และเคล็ดลับการรับประทานถั่วงอกให้ได้ประโยชน์สูงสุดมาฝากกัน

ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า ถั่วงอก 100 กรัม ให้แคลเซียม 27 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 85 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 12 มิลลิกรัม โปรตีน 2.8 มิลลิกรัม และยังอุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยยับยั้งการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ จอประสาทตาเสื่อม หอบหืด ข้ออักเสบ และผิวหนังเหี่ยวย่นก่อนวัยอันควร

คุณประโยชน์ของถั่วงอก

ด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่มีมาก ทำให้ถั่วงอกเป็นอีกหนึ่งผักสมุนไพรที่ช่วยบำรุงสุขภาพในด้านต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม ดังเช่น 9 คุณประโยชน์ของถั่วงอกที่เราคัดสรรมาฝากต่อไปนี้

1. ช่วยในการย่อยอาหาร

คุณประโยชน์ที่เด่นชัดที่สุดของถั่วงอกคือช่วยย่อยอาหารได้ดีมาก เพราะถั่วงอกอุดมไปด้วยเอนไซม์หลากหลายชนิดที่มีส่วนช่วยย่อยอาหาร ซึ่งปกติพบได้ไม่มากนัก ดังนั้นการรับประทานถั่วงอกจึงช่วยลดภาระของระบบย่อยอาหาร ซึ่งเมื่อการย่อยสลายอาหารมีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ดูดซึมสารอาหารง่ายขึ้นไปด้วย นอกจากนี้กากใยจำนวนมากในถั่วงอกยังช่วยเรื่องระบบขับข่าย ทำให้ลำไส้สะอาดและไม่อุดตัน ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้

2. เสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย

สารอาหารสำคัญที่พบมากในถั่วงอกก็คือโปรตีน ซึ่งจำเป็นต่อการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและการเจริญเติบโตของร่างกายในทุกๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระดูก กล้ามเนื้อ หรือแม้แต่ผิวหนัง ถั่วงอกจึงเป็นหนึ่งในอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่รับประทานเนิ้อสัตว์ เพราะโปรตีนจากถั่วงอกสามารถใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ นอกจากนี้ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ก็ได้รับประโยชน์จากการรับประทานถั่วงอกเช่นกัน เพราะโปรตีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกจากถั่วงอกจะช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในครรภ์ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วงอกดิบๆ เพราะอาจปนเปื้อนแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อครรภ์ได้

3. ควบคุมน้ำหนักและสัดส่วน

ถั่วงอกเป็นผักยอดนิยมในกลุ่มของผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เพราะมีแคลอรี่ต่ำมาก ทั้งยังอุดมไปด้วยกากใยที่ช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็วแต่ไม่รู้สึกอืด และทำให้ขับถ่ายได้อย่างคล่องตัว

4. เสริมสร้างระบบหมุนเวียนเลือด

ถั่วงอกอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยบำรุงเม็ดเลือดแดงและทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ที่มีปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายน้อยจะรู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา ไม่มีสมาธิ รู้สึกวิงเวียนศีรษะ และรู้สึกปั่นป่วนในท้องจนทำให้อยากอาเจียน เพราะเลือดหมุนเวียนไม่ทั่วร่างกาย การรับประทานถั่วงอกสามารถเพิ่มธาตุเหล็กและบรรเทาอาการจากภาวะนี้ได้

ถั่วงอก

5. บำรุงหัวใจ

ถั่วงอกอุดมไปด้วยไขมันชนิดดีอย่างโอเมก้า 3 ที่ช่วยลดปริมาณไขมันชนิดไม่ดีในเลือด ซึ่งจะช่วยลดการอุดตันของไขมันในเส้นเลือดและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวายไปพร้อมๆ กัน

6. เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

วิตามินซีในถั่วงอกช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้กับเชื้อโรคได้อีกด้วย

7. ป้องกันมะเร็ง

ด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีมากกว่าเม็ดถั่วเขียวถึง 6 เท่า ถั่วงอกจึงช่วยต้านสารอนุมูลอิสระหรือสารก่อมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งได้เป็นอย่างดี

8. บำรุงสายตา

วิตามินเอมีส่วนช่วยในป้องกันปัญหาสายตาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ต้อหิน ต้อกระจก และการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อในลูกตา นอกจากนี้วิตามินเอยังช่วยบำรุงสายตาให้มองเห็นได้คมชัดมากขึ้นอีกด้วย

9. ถั่วงอกแก้เริมได้

เริมที่ปาก (Cold sores) ทำให้รู้สึกเจ็บและแสบมาก แถมยังทำให้สูญเสียความมั่นใจเมื่อต้องพบปะผู้คน การจะทำให้เริมหายไปได้อย่างรวดเร็วได้นั้นต้องใช้เอนไซม์ไลซีน (Lysine) ซึ่งก็พบได้มากในถั่วงอก

เคล็ดลับการรับประทานถั่วงอก

ถั่วงอกนิยมนำมารับประทานทั้งแบบดิบและแบบปรุงสุก แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าการรับประทานถั่วงอกแบบดิบอาจไม่ได้ให้คุณประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะสารไฟเตตในถั่วงอกดิบจะเข้าไปจับตัวกับแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม เหล็ก สังกะสีในทางเดินอาหาร ทั้งจากถั่วงอกเองและจากอาหารอื่นๆ ที่รับประทานเข้าไปพร้อมกัน ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารอาหารเหล่านี้ไปใช้ได้ ดังนั้นหากรับประทานถั่วงอกแบบดิบ ร่างกายก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากสารอาหารนั้นๆ นอกจากนี้ถั่วงอกดิบยังมีคาร์โบไฮเดรตที่ไม่สามารถย่อยได้ในทางเดินอาหาร เมื่อเข้าไปในลำไส้จะปล่อยก๊าซออกมาทำให้รู้สึกท้องอืด ไม่สบายท้องได้ ดังนั้นจึงควรปรุงถั่วงอกให้สุกก่อนรับประทานจะดีที่สุด


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
กัลยารัตน์ เครือวัลย์, ถั่วงอกธรรมดาที่ไม่ธรรมดา (http://med.mahidol.ac.th/ramachannel/old/index.php/knowforhealth-20150406-1/)
Ryan Raman, 10 Impressive Health Benefits of Mung Beans (https://www.healthline.com/nutrition/mung-beans#section1), 25 July 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป