โรคจอประสาทตาเสื่อม ทำตาบอดได้ง่าย ๆ ถ้าไม่รู้วิธีป้องกัน

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
โรคจอประสาทตาเสื่อม ทำตาบอดได้ง่าย ๆ ถ้าไม่รู้วิธีป้องกัน

โรคจอประสาทตาเสื่อม คือโรคที่เกิดความผิดปกติขึ้นตรงจุดกลางรับภาพของจอประสาทตา ส่วนใหญ่จะพบมากในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือในพันธุกรรม จอประสาทตาเป็นส่วนที่อยู่บริเวณหลังสุดของตา เมื่อใช้สายตามองไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แสงที่กระทบสิ่งของจะส่งผ่านเข้าไปในรูปแบบของสัญญาณไฟฟ้าผ่านเส้นประสาทตาไปยังสมอง ซึ่งบริเวณจอประสาทตาจะมีส่วนที่ไวที่สุดของจอประสาทตาคือ แมคูลา ลูเตีย ที่ประกอบไปด้วยเซลล์รับแสงนับล้าน ที่ช่วยในการมองภาพได้คมชัดยิ่งขึ้น

แต่ในผู้ที่เป็นจอประสาทตาเสื่อม จะโดนทำลายตัวแมคูลา ลูเตียไปทีละน้อย จะค่อย ๆ ลุกลามอย่างช้า ๆ จนอาจจะมีผลทำให้ตาบอดไปในที่สุด ทั้งนี้อาจจะบอดแค่ข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ โรคนี้มักเป็นสาเหตุหลักของการตาบอดในผู้สูงอายุ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

โรคจอประสาทตาเสื่อมแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด

  1. จอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคนี้จะเกิดการสลายตัวของเซลล์ไวแสง ที่จะมีการเสื่อมสลาย หรือบางลงของจุดรับภาพ ซึ่งจะเป็นการเสื่อมไปตามอายุ ความสามารถในการมองเห็นก็จะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ
  2. จอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก ที่พบได้ประมาณ 10-15% ของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด แต่มีปัญหาเรื่องของการเกิดความเสียหายที่รวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญหลักที่ทำให้ผู้ป่วยตาบอด ซึ่งเกิดจากมีเส้นเลือดงอกออกมาอยู่ใต้จอประสาทตาแบบผิดปกติ ทำให้จุดกลางรับภาพเกิดการบวมจึงเป็นเหตุทำให้มองภาพเห็นเป็นภาพที่บิดเบี้ยว จนภาพที่เห็นจะมืดลงและดับไปในที่สุด

ความเสี่ยงที่ก่อเกิดจอประสาทตาเสื่อม

  1. ปัจจัยหลัก ๆ จะอยู่ที่อายุที่มากขึ้น มักพบผู้ป่วยโรคนี้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่
  2. การสูบบุหรี่ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างเห็นได้ชัด
  3. ความดันสูง มักพบโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้ที่ต้องทานยาลดความดันเลือด และมีระดับของคลอเรสเตอร์รอลในเลือดสูง ซึ่งผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นที่เร็วกว่าผู้ป่วยรายอื่น ๆ
  4. การเผชิญกับแดดมากจนเกินไป หรือการออกแดดในเวลาที่แดดร้อนจัดโดยไม่มีการใส่แว่นกันแดดที่ได้มาตรฐานป้องกัน
  5. อาจจะเกิดจากพันธุกรรม โดยจะมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของคนที่เป็นโรคสายตรงไปสู่ญาติพี่น้อง ดังนั้นคนในครอบครัวของผู้ที่เป็นควรจะต้องไปตรวจเช็คสายตาทุก 2 ปี
  6. โรคนี้มักจะเกิดกับผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย และมักจะเกิดกับคนผิวขาวโดยส่วนใหญ่
  7. ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมนก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อมเช่นกัน

โดยในบางรายอาจจะมีอาการที่หนักถึงขั้นมีภาวะเลือดออกภายในลูกตาแบบล้นทะลักออกมา ส่งผลให้มองไม่เห็นภาพใด ๆ เลย จึงต้องได้รับการผ่าตัดที่เร่งด่วนเพื่อห้ามเลือดที่ออกอยู่ในลูกตาก่อน จึงจะทำการรักษาต่อไปได้ ซึ่งช่วงที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือช่วงหลังการผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องดูแลแผลหลังผ่าตัดให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการติดเชื้อจนเข้าสู่สภาวะวิกฤตได้

อาการของโรค

อาการของผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมนั้น จะแสดงออกที่แตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน และยากต่อการสังเกตว่าเป็นหรือไม่เป็นในระยะเริ่มแรก เพราะอาการมักจะออกก็ต่อเมื่อเริ่มเป็นในระยะที่เริ่มรุนแรงแล้ว จึงต้องคอยไปตรวจสายตา หรือสังเกตดูว่าตาข้างใดเริ่มมีปัญหาหรือไม่ แต่ถ้าเกิดขึ้นในตาทั้ง 2 ข้างก็อาจจะรู้สึกถึงอาการได้เร็วกว่าคนที่เป็นแค่ข้างใดข้างหนึ่ง เพราะอาการผิดปกติจะแสดงออกให้เห็นในรูปแบบของการมองเห็นที่ผิดเพี้ยน รูปภาพบิดเบี้ยว ส่วนกลางของรูปจะหายไปมองเห็นแค่รายละเอียดรอบ ๆ หรือไม่ภาพนั้นก็จะมืดดำไปเลย

ทางการแพทย์ได้มีการแนะนำวิธีสังเกตว่า ผู้ที่มีอายุในช่วง 40 -64 ปี ควรเริ่มที่จะต้องไปตรวจสุขภาพตาทุก ๆ 2-4 ปี แต่ถ้าอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ให้ไปตรวจทุก ๆ 1-2 ปีถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติอะไรก็ควรที่จะไปตรวจไว้ เพื่อเป็นการป้องกันและรู้ทันโรคก่อนที่อาการจะรุนแรงหนักขึ้นโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว

ส่วนการรักษาทางการแพทย์ในปัจจุบันนั้นยังไม่สามารถที่จะรักษาให้หายได้ ทำได้เพียงการชะลอไม่ให้อาการเสื่อมของตาดำเนินไปอย่างรวดเร็วได้เพียงเท่านั้น

การดูแลตัวเอง เมื่อเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

  1. รับประทานอาหารและวิตามินที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่นวิตามินซี, อี, เบต้าแคโรทีน และซิงค์ ในปริมาณที่สูงซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงที่รุนแรงต่ออาการเสื่อมได้ร้อยละ 25 ในคนไข้ที่เสื่อมแล้วในระยะ 3 หรือ4
  2. จะต้องรับประทานวิตามินทดแทนต่อวัน คือ วิตามินซี 500 มิลลิกรัม, วิตามินอี 400 IU, เบต้าแคโรทีน 15 มิลลิกรัม, ซิงค์ 80 มิลลิกรัม และ Copper 2 มิลลิกรัม
  3. งดการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเมื่อทานสารเบต้าแคโรทีนแล้วต้องห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพราะสารตัวนี้เมื่อเข้าไปผสมกับควันของบุหรี่แล้วจะยิ่งเข้าไปเร่งการเกิดมะเร็งในปอดให้มากยิ่งขึ้น

ที่สำคัญคือสารทดแทน และวิตามินเหล่านี้ไม่สามารถที่จะป้องกันหรือรักษาได้ แต่แค่เป็นการลดความเสี่ยงที่โรคจะเข้าสู้สภาวะที่รุนแรง จนอาจถึงขั้นตาบอดได้เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยการยิงแสงเลเซอร์และการผ่าตัด เพื่อรักษาอาการจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียกที่มีอาการที่รุนแรงมาก แต่ก็เป็นแค่การลดความเสื่อมให้ช้าลงเท่านั้นไม่ใช่การทำให้โรคนี้หายขาด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง


 

วิธีดูแลถนอมสายตา

สำหรับใครที่ต้องอยู่กับความเสี่ยงต่อโรคนี้ โดยต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือต้องออกไปเจอแสงแดยาวนานต่อเนื่อง 8 ชม./วันแล้วนั้น ก็ควรที่จะต้องรู้จักวิธีดูแลถนอมสายตาตัวเอง ก่อนที่จะเป็นโรคนี้จนลุลามทำให้ตาบอดได้ในอนาคต เช่น

  • ควรวางคอมพิวเตอร์ในจุดที่เหมาะสม คือวางไว้ข้างหน้าต่าง โดยมีระยะห่างจากตัวเรากับจอคอมพิวเตอร์อยู่ที่ 50-70 ซม. และจัดหน้าจอไม่ให้สูงหรือว่าต่ำจนเกินไป
  • เมื่อต้องจ้องอยู่หน้าจอคอมแล้ว ก็ควรที่จะปิดไฟรอบข้างที่สว่างมากจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้แสงจากไฟฟ้าเข้ามาทำร้ายสายตาเราเพิ่ม
  • เมื่อต้องพิมพ์งานควรใช้ตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่และเข้มให้พอดีกับสายตา โดยตัวอักษรนั้นต้องใหญ่ขนาดที่เราสามารถมองเห็นได้ในระยะ 3 เท่าของระยะที่นั่งทำงาน
  • สวมแว่นทุกครั้งที่ต้องทำงานหน้าจอคอม โดยเฉพาะแว่นป้องกันสายตาจากแสงสีฟ้าของจอคอมพิวเตอร์ และสีเลนส์ที่ดีควรออกเป็นสีออกเขียว และควรสวมใส่แว่นกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้านเทื่อมีแสงแดดจ้า
  • ตลอดทั้งวันขณะนั่งทำงานอยู่หน้าจอควรจะกริบตาให้ได้ 20-22 ครั้งต่อนาที หรือถ้ามีอาการตาแห้งก็ควรใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา และควรที่จะทำการบริหารดวงตาโดยการกลอกตาไปมาซ้าย-ขวา ขึ้น-ลงช้า 6 ครั้ง ทะซ้ำ 2-3 ครั้งต่อชั่วโมง และลุกยืดเส้นอยู่เรื่อย ๆ และควรที่จะไปตรวจสุขภาพตาทุก ๆ 2 ปี อย่างสม่ำเสมอ

ถึงแม้การรักษาจะพัฒนามากขึ้น แต่ผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมก็ยังคงสูญเสียการมองเห็นไปไม่มากก็น้อยอยู่ดี

ในปัจจุบันมีคนที่เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมเพิ่มมากขึ้น และอายุก็เริ่มน้อยลงทุกปี จึงควรที่จะหมั่นรักษาสุขภาพร่างกาย และสุขภาพดวงตาของตัวเองให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่สูญเสียสายตาไปอย่างไม่สามารถเอากลับมาได้


15 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)