หัวไชเท้า (White Radish)

เผยแพร่ครั้งแรก 10 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
หัวไชเท้า (White Radish)

หัวไชเท้า เป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูง นิยมนำมาใช้ปรุงน้ำซุป เพื่อทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยกลมกล่อมมากขึ้น นอกจากนี้ยังถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรนับตั้งแต่สมัยโบราณ โดยหัวไชเท้าสามารถนำมาใช้เพื่อสุขภาพและนำมารับประทาน ดังนี้

ทำความรู้จักหัวไชเท้า

หัวไชเท้า (White radish) เป็นพืชกินหัวที่อยู่ในตระกูลเดียวกับผักกาด มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน หัวไชเท้ามีหลายสี เช่น สีขาว สีม่วง สีชมพู มีขนาดที่แตกต่างกันตามสายพันธุ์ ในตำราจีนระบุว่าพืชชนิดนี้มีฤทธิ์เย็น แต่มีรสชาติเผ็ดร้อน นิยมใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรค หัวไชเท้าสามารถรับประทานได้ทั้งแบบดิบและแบบสุก แต่การรับประทานแบบดิบจะทำให้ได้รับสารอาหารมากกว่า

คุณค่าทางโภชนาการของหัวไชเท้า

หัวไชเท้าดิบ 100 กรัม มีพลังงาน 14 กิโลแคลอรี่ และมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

โปรตีน 1.10 กรัม
ไขมัน 0.1 กรัม
เส้นใย 1.4 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 2.63 กรัม
แคลเซียม 27 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 9 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 28 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม 280 มิลลิกรัม
โซเดียม 16 มิลลิกรัม
สังกะสี 0.13 มิลลิกรัม
วิตามินซี 29 มิลลิกรัม
วิตามินบี 6 0.1 มิลลิกรัม
โฟเลต 14 ไมโครกรัม

สรรพคุณของหัวไชเท้า

ประโยชน์ของหัวไชเท้า มีดังนี้

  1. บำรุงตับ หัวใช้เท้ามีสรรพคุณช่วยบำรุงตับ จากการศึกษาทดลองโดยการหยดสารสกัดจากหัวไชเท้าลงไปบนเซลล์ตับของมนุษย์ พบว่าหัวไชเท้ามีฤทธิ์ป้องกันสารพิษที่เป็นอันตรายต่อตับ นอกจากนี้ยังมีการทดลองอื่นๆ อีก ได้แก่ การใช้รักษาโรคไขมันพอกตับ (ที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์) โดยทำการทดลองในหนูทดลอง พบว่าสารสกัดจากหัวไชเท้าสามารถลดไขมันในตับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ลดความดันโลหิต หัวไชเท้ามีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเช่น ฟลาโวนอยด์ แทนนิน และอัลคาลอยด์ ที่จะช่วยลดระดับความดันโลหิต และลดอัตราการเต้นของหัวใจให้ต่ำลงได้
  3. รักษาแผลในกระเพาะอาหาร หัวไชเท้ามีสรรพคุณในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร โดยจะช่วยบรรเทาอาการให้ค่อย ๆ ทุเลาลง
  4. ป้องกันโรคมะเร็ง พืชที่อยู่ในตระกูลกะหล่ำรวมถึงหัวไชเท้า จะมีสารประกอบบางชนิดที่เมื่อผสมกับน้ำ จะทำให้เกิดสารไอโซไทโอไซยาเนต ซึ่งมีสรรพคุณขจัดสารพิษในร่างกาย ช่วยลดการเกิดเนื้องอก และยังช่วยยับยั้งการก่อตัวของเซลล์มะเร็งอีกด้วย
  5. แก้อาการอาเจียนเป็นเลือด รากหัวไชเท้าสามารถนำมาใช้ทำเป็นยา เพื่อใช้แก้อาการอาเจียนเป็นเลือด และยังช่วยบำรุงร่างกายจากภายในให้มีความแข็งแรงมากขึ้น
  6. กระตุ้นการย่อยอาหาร ใบหัวไชเท้ามีสรรพคุณกระตุ้นการย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่เกิดจากอาหารไม่ย่อย

แนวทางการใช้หัวไชเท้าเพื่อสุขภาพ

หัวไชเท้าเต็มไปด้วยสรรพคุณทางยา จึงสามารถนำมาใช้เพื่อสุขภาพได้ ดังนี้

  1. รักษาฝ้า นำหัวไชเท้ามาล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาปั่นให้ละเอียด เติมน้ำมะนาวลงไป 1 ช้อนโต๊ะ ปั่นอีกครั้ง นำมาพอกบริเวณผิวหน้าที่เป็นฝ้า กระ ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างออก ทำเป็นประจำ จะทำให้ฝ้าจางลง ใบหน้าดูขาว เรียบเนียนสม่ำเสมอมากขึ้น

เมนูสุขภาพที่ทำจากหัวไชเท้า

หัวไชเท้าสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น

  1. แกงจืดหัวไชเท้า นำหัวไชเท้าไปล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นเตรียมไว้ โขลกรากผักชี กระเทียม พริกไทย หั่นเนื้อไก่ นำเห็ดหอมไปแช่น้ำ แล้วนำมาผ่าครึ่ง นำน้ำใส่หม้อขึ้นตั้งไฟ ใส่หัวไชเท้า ตามด้วยกระเทียม รากผักชี พริกไทย ซุปไก่ก้อนลงไป ปิดฝา ตั้งไว้ประมาณ 10 นาที ใส่เนื้อไก่ เห็ดหอมลงไป ตั้งไฟต่อจนเนื้อไก่เริ่มสุก ปิดไฟ ตักใส่ชาม
  2. หัวไชเท้าดองหวาน นำหัวไชเท้ามาล้าง ตัดหัวตัดท้ายทิ้ง จากนั้นนำมาหั่นเป็นท่อนๆ แล้วผ่าออกเป็น 4-6 ชิ้น นำมาคลุกกับเกลือให้ทั่ว ทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง แล้วล้างน้ำให้สะอาด เสร็จแล้วนำไปตากแดด จนหัวไชเท้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เอาน้ำใส่หม้อขึ้นตั้งไฟ ใส่น้ำตาลทรายลงไป คนจนละลาย เติมน้ำผึ้ง ปิดไฟ ทิ้งไว้ให้เย็น ใส่หัวไชเท้าลงไปในขวดโหล ที่มีฝาปิด เทน้ำเชื่อมลงไป ปิดฝา ดองทิ้งไว้ 6-7 วัน ตักขึ้นจากน้ำเชื่อม นำไปแช่เก็บไว้ในตู้เย็น
  3. ต้มยำหัวไชเท้า นำหัวไชเท้ามาปอกเปลือก หั่นตามยาว ลวกลูกชิ้นปลา เกี๊ยวปลา ตับหมู จากนั้นต้มน้ำซุป ลดไฟลง แล้วใส่หัวไชเท้าลงไป เมื่อหัวไชเท้าเริ่มสุก ตักใส่ชาม ใส่ลูกชิ้นปลา เกี๊ยวปลา ตับหมูที่ลวกไว้แล้วลงไป เริ่มทำน้ำจิ้ม โดยการนำพริกดองไปผสมกับน้ำส้มสายชู ใส่น้ำปลา ถั่วลิสงบุบ น้ำตาลทราย พริกป่น ใส่กุ้งแห้งลงไป ต้มน้ำซุปให้เดือดอีกครั้ง ปิดไฟ ใส่หมูสับลงไป ตักน้ำซุปเล็กน้อยไปผสมกับส่วนผสมน้ำจิ้มที่เตรียมไว้ ตักซุปหัวไชเท้าที่ได้ใส่ชาม ราดด้วยน้ำจิ้ม แต่งหน้าด้วยผักชี ต้นหอม กระเทียมเจียว ยกขึ้นเสิร์ฟ
  4. หัวไชเท้านึ่ง นำหัวไชเท้ามาปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำเห็ดหอมไปแช่น้ำ แล้วหั่นเป็นเส้น ซอยขิง กระเทียม พริกชี้ฟ้าและขึ้นฉ่ายเตรียมไว้ นำหัวไชเท้าหั่นมาวางบนเห็ด ผสมพริกไทย ซอสปรุงรส ซอสเห็ดหอมเข้าด้วยกัน ผสมจนเข้ากันดีแล้ว นำมาราดลงบนหัวไชเท้า ใส่ขิงซอยลงไป นำไปนึ่งประมาณ 25 นาที หรือจนกว่าจะสุก ใส่กุ้งสดลงบนหัวไชเท้า นึ่งต่ออีก 5 นาที นำกระเทียม พริกชี้ฟ้า มาโรยหน้า ตามด้วยขึ้นฉ่าย ยกขึ้นเสิร์ฟ

ข้อควรระวัง

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์ ควรเลี่ยงการรับประทานหัวไชเท้า เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตไทรอยด์ จนเกิดภาวะพร่องไทรอยด์ได้
  • ผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดี ไม่ควรใช้หัวไชเท้าในแง่ของการรักษาโรค แต่ถ้าหากต้องการใช้ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนทุกครั้ง

ที่มาของข้อมูล

Brandi Marcene, 11 Amazing Health Benefits of Daikon (https://www.naturalfoodseries.com/11-health-benefits-daikon/), 8 December 2018

United States Department of Agriculture, Basic Report: 11637, Radishes, white icicle, raw (https://ndb.nal.usda.gov/ndb/foods/show/11637), 2018


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Radish: Uses, Side Effects, Interactions, Dosage, and Warning. WebMD. (https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-502/radish)
Daikon Radish: Types, Nutrition, Benefits, and Uses. Healthline. (https://www.healthline.com/nutrition/daikon-radish)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)