กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

เราควรทานอาหารชนิดใดในระหว่างที่ใช้ยาปฏิชีวนะ?

เผยแพร่ครั้งแรก 5 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เราควรทานอาหารชนิดใดในระหว่างที่ใช้ยาปฏิชีวนะ?

ยาปฏิชีวนะเป็นยาชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติช่วยฆ่าและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแบคทีเรีย แต่ยาชนิดนี้มักทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง เบื่ออาหาร ฯลฯ แม้ว่าอาการข้างเคียงเหล่านี้ทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัว แต่มันก็มีแนวโน้มที่จะหายอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การทานอาหารอย่างเหมาะสมสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงและช่วยในการรักษาตัว สำหรับบทความในวันนี้ เราจะพาคุณไปดูว่าอาหารชนิดใดที่ควรทานหรือเลี่ยงขณะที่ทานยาปฏิชีวนะ

อาหารที่ควรทานในระหว่างหรือหลังทานยาปฏิชีวนะ

คนมีแบคทีเรียและจุลชีพชนิดอื่นๆ ในลำไส้ประมาณล้านล้านตัว ซึ่งยาปฏิชีวนะจะไปต่อสู้กับแบคทีเรีย และทำให้แบคทีเรียชนิดดีเสียสมดุล ซึ่งเป็นจุลชีพที่ช่วยในการทำงานของระบบย่อยอาหาร และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันปกป้องร่างกายไม่ให้ติดเชื้อไวรัส เมื่อยาปฏิชีวนะทำให้แบคทีเรียเสียสมดุล มันก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ฯลฯ อย่างไรก็ดี การทานโปรไบโอติกและพรีไบโอติกในระหว่างและหลังทานยาปฏิชีวนะสามารถช่วยคืนความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้

1.โปรไบโอติก

โปรไบโอติกเป็นจุลชีพที่มีชีวิต ซึ่งถูกจัดให้เป็นแบคทีเรียชนิดที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้โปรไบโอติกสามารถช่วยลดผลข้างเคียงบางอย่างของยาปฏิชีวนะอย่างอาการท้องอืดและท้องเสีย หลังจากที่ทานยาปฏิชีวนะครบแล้ว การทานโปรไบโอติกสามารถช่วยคืนความสมดุลของจุลชีพในลำไส้

2.พรีไบโอติก

พรีไบโอติกเป็นอาหารสำหรับแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ การให้อาหารแบคทีเรียก่อนและหลังทานยาปฏิชีวนะสามารถช่วยให้ลำไส้กลับมาอยู่ในสภาวะสมดุล อย่างไรก็ดี มีอาหารบางชนิดที่มีพรีไบโอติกสูง เช่น หัวหอม กระเทียม กล้วย รากชิโคริแก่นตะวัน ฯลฯ ในบางครั้งผู้ผลิตก็อาจเติมพรีไบโอติกลงในอาหารบางชนิด เช่น โยเกิร์ต นมผงของทารก ซีเรียล ขนมปัง ฯลฯ อย่างไรก็ดี พรีไบโอติกส่วนมากเป็นไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ หากทานมากเกินไป มันก็อาจทำให้เกิดก๊าซหรือท้องอืด หากคิดจะทานพรีโบโอติก คุณควรทำอย่างช้าๆ เพื่อให้ลำไส้ปรับตัว

3.อาหารหมักดอง

อาหารหมักดองเป็นแหล่งของแบคทีเรียชนิดดี ซึ่งอาหารหมักดองทุกชนิดมีจุลชีพ แต่ความร้อนหรือกระบวนการกรองสามารถฆ่าแบคทีเรียชนิดดี สำหรับอาหารที่มีจุลชีพ เช่น มิโสะ เทมเป้ กิมจิ โยเกิร์ต ซาลามี ชีสบางชนิด ผักดอง

4.วิตามินเค

ยาปฏิชีวนะฆ่าแบคทีเรียทุกชนิดแม้แต่แบคทีเรียชนิดที่ช่วยในการทำงานของร่างกาย โดยหมายความรวมถึงแบคทีเรียชนิดที่ผลิตวิตามินเค ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำให้เลือดแข็งตัว อย่างไรก็ดี คุณสามารถมีส่วนช่วยลดผลกระทบของยาปฏิชีวนะที่มีต่อวิตามินเคโดยทานอาหารบางชนิด ตัวอย่างเช่น ผักเคล ผักโขม เทอร์นิพ ผักคอลลาร์ด สวิสชาร์ด พาร์สลีย์ ผักกาดเขียวปลี กะหล่ำดาว ฯลฯ

5.ไฟเบอร์

ไฟเบอร์อาจช่วยกระตุ้นการเติบโตของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ซึ่งเราควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงในขณะที่ทานโปรไบโอติก เพราะมันอาจส่งผลต่อการดูดซึมยาที่กระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อทานยาปฏิชีวนะครบตามที่แพทย์จ่ายให้แล้ว การทานอาหารที่มีไฟเบอร์สามารถช่วยฟื้นฟูแบคทีเรียชนิดดีและช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างของอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น อาร์ติโชก กล้วย เบอร์รี ถั่ว บร็อคโคลี่ เลนทิล ถั่ว โฮลเกรน ฯลฯ

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะที่ทานยาปฏิชีวนะ

อาหารบางชนิดสามารถลดประสิทธิผลของยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะเกรปฟรุตและน้ำเกรปฟรุตที่สามารถหยุดการสลายและดูดซึมยา นอกจากนี้มีงานวิจัยระบุว่าอาหารที่มีการเติมแคลเซียมเป็นจำนวนมาก เช่น น้ำส้มบางชนิด ก็สามารถไปขัดขวางการดูดซึมยาปฏิชีวนะบางชนิด ส่วนแอลกอฮอล์ก็เป็นเครื่องดื่มที่เราควรหลีกเลี่ยงในระหว่างทานยา แม้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ระดับปานกลางไม่ได้ไปขัดขวางการทำงานของยาปฏิชีวนะ แต่มันอาจทำให้ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นแย่ลง อย่างไรก็ดี แพทย์จะแนะนำไม่ให้ดื่มแอลกอฮอล์ชนิดใดๆ ก็ตามหากผู้ป่วยอยู่ในช่วงทานยาปฏิชีวนะชนิดใดชนิดหนึ่งดังนี้

  • เมโทรนิดาโซล: ใช้รักษาการติดเชื้อในช่องปาก การติดเชื้อในช่องคลอด การติดเชื้อที่แผลบริเวณขา และแผลกดทับ
  • ทินิดาโซล: ใช้รักษาการติดเชื้อในช่องปาก การติดเชื้อในช่องคลอด การติดเชื้อที่แผลบริเวณขา แผลกดทับ และกำจัดแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Helicobacter pylori ในลำไส้

การดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ทานยาปฏิชีวนะข้างต้นสามารถทำให้เกิดการตอบสนองที่รุนแรง และทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมา เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ร้อนวูบวาบ หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงนอน ฯลฯ ผู้ที่ทานยาปฏิชีวนะควรเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์นานกว่า 48 ชั่วโมงหลังทานยาเมโทรนิดาโซลจนครบตามที่แพทย์สั่ง และ 72 ชั่วโมงหลังทานยาทินิดาโซล

การฟื้นฟูแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้หลังจากทานยาปฏิชีวนะนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งสามารถทำโดยทานโปรไบโอติก พรีไบโอติก อาหารหมักดอง และไฟเบอร์ นอกจากนี้ผู้ที่ทานยาปฏิชีวนะควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เรากล่าวไปข้างต้น ซึ่งสามารถทำให้ประสิทธิผลของยาปฏิชีวนะลดลง

ที่มา: https://www.medicalnewstoday.c...322374.php


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Can I drink alcohol while taking antibiotics?. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/common-health-questions/medicines/can-i-drink-alcohol-while-taking-antibiotics/)
What to eat on antibiotics: During and after treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/322374)
Using medication: Using antibiotics correctly and avoiding resistance. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK361005/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป