น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion) หรือ ภาวะน้ำในปอด คือการมีของเหลวปริมาณมากอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด (ช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้มปอด 2 ชั้น) ซึ่งของเหลวดังกล่าวจะไปกดทับเนื้อเยื่อปอดจนแฟบลง ทำให้ถุงลมปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ จนระบบทางเดินหายใจทำงานผิดปกติได้
ภาวะน้ำในปอดนั้นเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และอาจเกิดขึ้นกับปอดข้างเดียว หรือพร้อมกันทั้งสองข้างก็ได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการของภาวะน้ำในปอด
อาการแสดงที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจที่สำคัญ ได้แก่
- หายใจลำบาก หอบเหนื่อย โดยเฉพาะเมื่อนอนราบ
- รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะข้างที่มีของเหลวคั่งค้างอยู่
- หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย
นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ของร่างกายด้วย เช่น
- ไอเรื้อรัง และสะอึกบ่อยๆ เพราะเกิดการระคายเคืองปอด
- มีไข้ หนาวสั่น ไอมีเสมหะ เนื่องจากปอดอักเสบ
- มือเท้าบวม
ชนิดของภาวะน้ำในปอด และสาเหตุ
ของเหลวที่คั่งค้างในปอด แบ่งตามลักษณะได้ 2 ชนิด ได้แก่
1. ของเหลวชนิดขุ่น (Exudate)
ของเหลวชนิดนี้จะมีลักษณะขุ่นข้น สีออกเหลือง หรือเป็นหนอง สีออกคล้ำ เพราะมีเลือดปน มีความหนาแน่นสูง และในของเหลวจะประกอบด้วยสารต่างๆ ปริมาณมาก เช่น โปรตีน ไขมัน และน้ำตาลกลูโคส รวมถึงเซลล์ต่างๆ เช่น เซลล์มะเร็ง เซลล์เยื่อบุหุ้มปอด แบคทีเรีย และเชื้อรา
มักเกิดจากความเสียหายของผนังหลอดเลือดในเยื่อหุ้มปอด ทำให้ของเหลวในหลอดเลือดรั่วซึมเข้ามาในโพรงเยื่อหุ้มปอดได้ ซึ่งมักเกิดจากการอักเสบ
2. ของเหลวชนิดใส (Transudate)
ลักษณะของของเหลวชนิดนี้ คือ มีสีใส ความหนาแน่นใกล้เคียงกับน้ำ ประกอบด้วยสารโปรตีน และคอเลสเตอรอลต่ำ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
เป็นน้ำที่รั่วซึมออกมาจากหลอดเลือด มักเกิดจากความดันโลหิตสูง ทำให้แรงดันในหลอดเลือดสูงขึ้น หรือโปรตีนในเลือดต่ำ
สาเหตุของของเหลวในปอดทั้ง 2 ชนิด
1. สาเหตุที่ทำให้พบของเหลวชนิดใสในปอด
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ทำให้เกิดความดันย้อนกลับในหลอดเลือด ส่งผลให้ของเหลวในหลอดเลือดซึมเข้ามาในปอด และเยื่อหุ้มอวัยวะอื่นๆ จึงมักพบอาการมือเท้าบวมด้วย
- โรคปอด ทำให้เนื้อเยื่อปอดแฟบลง ของเหลวภายในหลอดเลือดจึงเกิดแรงดัน และซึมเข้ามาในปอดได้
- โรคตับแข็ง หรือตับวาย ตับมีหน้าที่ผลิตโปรตีนชนิดสำคัญในเลือด หากตับมีความผิดปกติ จะทำให้ระดับโปรตีนในเลือดลดลง จนแรงดันในหลอดเลือดผิดปกติได้
- เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ไตวาย มีการล้างไตผ่านทางหน้าท้อง หรือผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
2. สาเหตุที่ทำให้พบของเหลวชนิดขุ่นในปอด
- โรคมะเร็งอื่นๆ ที่แพร่มาสู่ปอด เช่น มะเร็งเต้านม ซึ่งอาจพบเซลล์มะเร็งเต้านมในของเหลวด้วย
- โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบจากการติดเชื้อ ของเหลวในปอดมักเป็นหนอง มีเลือดปน และพบเชื้อก่อโรคปะปนอยู่ด้วย
- โรคปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง
- วัณโรคปอด มักพบหนองในปอดเช่นเดียวกัน
- โรคมะเร็งปอด มะเร็งทำให้เกิดการอักเสบของปอด มักพบเซลล์มะเร็งปอด เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาวปนอยู่ในของเหลว
- เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ไตวาย ทำให้ไม่สามารถกรองเลือดได้ตามปกติ หรือมีเลือดคั่งในอก
การรักษาภาวะน้ำในปอด
จะเน้นการรักษาที่สาเหตุร่วมกับการบรรเทาอาการ ซึ่งมีแนวทางดังนี้
1. การรักษาด้วยยา
แพทย์จะจ่ายยาให้ตามสาเหตุของโรค เช่น
- หากเป็นปอดอักเสบจากการติดเชื้อ แพทย์จะให้ยาต้านไวรัส ยาปฏิชีวนะต้านแบคทีเรีย หรือยากำจัดเชื้อรา ขึ้นอยู่กับชนิดเชื้อก่อโรค
- หากเกิดน้ำในปอดจากโรคมะเร็งปอด หรือมะเร็งชนิดอื่น แพทย์จะให้ยาเคมีบำบัด และฉายรังสี เพื่อรักษามะเร็ง
- หากมีอาการไอเรื้อรัง แพทย์อาจให้ยาแก้ไอ และยาละลายเสมหะด้วย
นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องให้สารน้ำ และอาหารทางหลอดเลือดดำ เพื่อชดเชยโปรตีน แร่ธาตุ และปรับสภาพความดันในหลอดเลือดให้เป็นปกติด้วย
2. การเจาะน้ำออกจากปอด
เป็นการเจาะที่ช่องอกเพื่อสอดเข็ม หรือท่อเข้าไปดูดน้ำภายในโพรงเยื่อหุ้มปอดออกมา ซึ่งหากมีปริมาณของเหลวเพิ่มขึ้นอีก ก็ต้องทำการเจาะซ้ำเรื่อยๆ
การเจาะปอดนั้น นอกจากจะทำเพื่อระบายของเหลวที่คั่งในปอดออกแล้ว ยังมีจุดประสงค์เพื่อนำของเหลวมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของโรค เช่น นำมาเพาะเชื้อก่อโรค วัดระดับสารต่างๆ หรือนับจำนวนเซลล์อีกด้วย
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจาะปอด
ภาวะแทรกซ้อนจากการเจาะปอดนั้นอาจพบได้บ้างจากความผิดพลาดในการเจาะ หรือจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- เกิดเนื้อเยื่อปอดฉีกขาด จนมีอากาศเข้าไปในโพรงหุ้มปอด
- หากดูดน้ำออกเร็วเกินไป อาจทำให้ปอดขยายตัวจนเกิดภาวะบวมน้ำได้
- เกิดการติดเชื้อในโพรงหุ้มปอด เนื่องจากเข็มไม่สะอาด
- หลอดเลือดฉีกขาด ทำให้เลือดออกในโพรงหุ้มปอด
- การคำนวณตำแหน่งผิด อาจทำให้อวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ม้าม เกิดความเสียหายได้
3. การผ่าตัด
หากปริมาณของเหลวในปอดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อสอดท่อสำหรับเปลี่ยนทิศทางน้ำในปอดไปสู่ช่องท้อง หรืออาจต้องผ่าตัดเยื่อหุ้มปอดบางส่วนออกไป
การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำในปอด
นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว ตัวผู้ป่วยและญาติก็สามารถดูแลตัวเองให้เหมาะสมได้ โดยทำตามข้อแนะนำดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่นควัน สารเคมี เพราะจะทำให้ปอดระคายเคืองมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง เช่น อาหารที่ปรุงด้วยน้ำปลา ขนมขบเคี้ยว อาหารหมักดอง และอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด
รวมถึงลดปริมาณน้ำที่ดื่มลง เพื่อไม่ให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจทำให้ปริมาณของเหลวในปอดเพิ่มขึ้นได้ และควรเปลี่ยนมาทานอาหารรสจืดที่ย่อยง่าย และมีผักผลไม้มากๆ - หลีกเลี่ยงการออกแรงมาก เช่น การยกของหนัก หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก เพราะเมื่อปอดมีความผิดปกติ จะทำให้หายใจลำบาก และมีอาการหอบเหนื่อยง่าย
การป้องกันภาวะน้ำในปอด
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคที่ทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในปอด เช่น
- งดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยคนอื่นๆ
- ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายเป็นประจำ
- ป้องกันโรคตับแข็ง โดยการงดดื่มแอลกอฮอล์
- ป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อโรคในปอด โดยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
- ป้องกันความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โดยการลดอาหารที่มีไขมันสูง
ภาวะน้ำในปอด เกิดได้จากหลายสาเหตุ หลายปัจจัย การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สด สะอาด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
รีวิว ตรวจเอกซเรย์ปอด ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2 | HDmall
ดูแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android