โรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic pulmonary fibrosis - IPF) เป็นภาวะสุขภาพเรื้อรังที่ปอดเนื่องจากบาดแผลและทำให้การหายใจทำได้ลำบากขึ้น
ยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น แต่ก็เป็นภาวะที่มักเกิดกับผู้ที่อายุ 70 – 75 ปี และหายากที่จะเกิดกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
มีการรักษาหลายประเภทที่สามารถช่วยลดไม่ให้อาการของ IPF ทรุดลง แต่ก็ยังไม่มีวิธียับยั้งโรคหรือแก้ไขความเสียหายของปอดได้
อาการของโรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
อาการของ IPF มักจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ โดยมีอาการดังต่อไปนี้: หายใจติดขัด ไอแห้งเรื้อรัง เหน็ดเหนื่อย ความอยากอาหารลดน้อยลงและน้ำหนักลด นิ้วกลมบวม
ผู้ป่วยหลายรายมักจะไม่สนใจอาการหายใจติดขัดในช่วงแรก และอาจจะคิดว่าเป็นเพราะการแก่ตัวลงหรืออ้วนขึ้น แต่ระยะหลัง ๆ จะเริ่มมีอาการนี้ขึ้นแม้จะทำกิจกรรมเบา ๆ อย่างการแต่งตัว หรือแม้แต่อาบน้ำ
ผู้ป่วยจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งจะประสบกับการเปลี่ยนแปลงของนิ้วมือและเล็บเท้า ซึ่งเป็นการหนาตัวขึ้นของเนื้อเยื่อที่ฐานของนิ้วและเล็บเท้า (ภาวะนิ้วกระบอง) สาเหตุการเกิดภาวะเช่นนี้ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดเช่นกัน แต่มักจะเกิดกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื่องของหัวใจกับหน้าอก
ภาวะทุติยภูมิจากโรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
ภาวะ IPF สามารถทำให้ปอดและหัวใจของผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะทุติยภูมิหลายอย่าง เช่น
ภาวะติดเชื้อในอก
คุณจะมีความเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในอกและหลอดลมเพิ่มขึ้น อย่างเช่น: หลอดลมอักเสบ (bronchitis): การติดเชื้อที่หลอดลมของปอด ปอดบวม (pneumonia): การติดเชื้อที่ถุงอากาศของปอด ไข้หวัดใหญ่
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อาการของภาวะติดเชื้อในอกมีดังนี้: อาการหายใจติดขัดทรุดลง เจ็บหน้าอก มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เหงื่อออกและหนาวสั่น
ภาวะความดันหลอดลมปอดสูง
ผู้ป่วย IPF ประมาณสามในสี่จะประสบกับภาวะความดันหลอดลมปอดสูง (Pulmonary hypertension) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อความดันโลหิตภายในเส้นเลือดแดงที่เชื่อมปอดเข้ากับหัวใจขึ้นสูงจนเกินไป
อาการของภาวะความดันหลอดลมปอดสูงมีดังนี้: วิงเวียน รู้สึกจะเป็นลม เจ็บหรือแน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว
ภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) เกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ และสามารถเกิดขึ้นเนื่องจากการทรุดลงอย่างรุนแรงของ IPF
สาเหตุเป็นเพราะปัจจัยหลายประการ อย่างเช่นการสะสมกันของเลือดภายในหัวใจข้างขวา (ข้างที่ต้องสูบฉีดเลือดไปยังปอด) เนื่องจากการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อปอด เมื่อร่างกายขาดแคลนออกซิเจน (เพราะปอดที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ) จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดล้มเหลวในการทำงานเช่นกัน
หัวใจล้มเหลวทำให้เกิดอาการมากมายดังนี้: อาการหายใจติดขัดทรุดลงอย่างมาก เหน็ดเหนื่อยหรืออ่อนแรงรุนแรง ขา ข้อเท้า และเท้าบวมเนื่องจากการสะสมกันของของเหลว (ภาวะบวมน้ำ)
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
ควรไปพบแพทย์หากว่าคุณเริ่มมีอาการหายใจลำบากเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือหลังจากมีอาการไอนานกว่าสามสัปดาห์ อาการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปรกติและไม่ควรเพิกเฉย
หากแพทย์คาดว่าคุณมีภาวะปอดอย่าง IPF พวกเขาจะส่งตัวคุณไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการทดสอบต่าง ๆ เช่น: การทดสอบการหายใจ (การทำงานของปอด) การตรวจเลือด การเอกซเรย์หน้าอก และการสแกนคอมพิวเตอร์ (CT) การตัดชิ้นเนื้อปอดไปตรวจ
สาเหตุของโรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
ผู้ป่วย IPF จะมีถุงอากาศภายในปอด (alveoli) ที่เสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ปอดแข็งและทำการถ่ายออกซิเจนไปยังเลือดได้ยากขึ้น
สาเหตุการเกิดภาวะเช่นนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด จึงเป็นเหตุให้มีการเรียกโรคนี้ด้วยคำว่า “Idiopathic” ซึ่งแปลว่าเกิดขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ
กระนั้น IPF ก็ได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับ: การสัมผัสฝุ่นละอองบางประเภท อย่างเช่นฝุ่นเหล็ก ฝุ่นจากไม้ ผ้า หิน หรืองานในฟาร์ม เป็นต้น การติดเชื้อไวรัส: เช่นไวรัสตับอักเสบ C มาจากครอบครัวที่มีประวัติ IPF : คาดว่าผู้ป่วย IPF 1 คนจาก 20 คนจะมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคเดียวกัน โรคกรดไหลย้อน (gastro-oesophageal reflux disease - GORD) การสำลักอาหารเรื้อรัง: อาหาร น้ำ หรือน้ำลายเข้าสู่ปอดและไม่ถูกไอออกมา มักเกิดจากภาวะสุขภาพอื่น ๆ มลพิษหรือฝุ่นละอองในอากาศ การสูบบุหรี่
เนื่องจากว่า IPF เป็นภาวะหายาก จึงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าปัจจัยข้างต้นส่งผลอย่างไรต่อการเกิดโรค IPF หรือไม่สามารถคำนวณหาโอกาสที่คุณจะประสบกับภาวะนี้
ความคาดหวังต่อโรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
IPF จะทรุดลงตามกาลเวลา แต่ความเร็วของการทรุดลงจะแตกต่างกันออกไป
ผู้ป่วยบางรายอาจตอบสนองต่อการรักษาได้ดีและจะปลอดอาการเสียส่วนมากนานหลาย ๆ ปี ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายอาจทรุดลงอย่างรวดเร็ว หรือมีอาการหายใจติดขัดแย่ลงอย่างมาก
ปัญหาอื่น ๆ ยังสามารถเกิดขึ้นมาได้เช่นกัน อย่างภาวะติดเชื้อในอก ความดันหลอดเลือดปอดสูง (pulmonary hypertension) และหัวใจล้มเหลว
เป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่าผู้ป่วย IPF จะมีชีวิตอยู่นานเท่าไรในช่วงที่เริ่มการวินิจฉัยโรคครั้งแรก ซึ่งการสอดส่องอาการเป็นประจำโดยแพทย์จะสามารถคาดการณ์ประเด็นนี้ได้บ้าง แต่ก็มีความคาดหวังว่าอายุไขของผู้ป่วยจะขยับขยายมากขึ้นตามแนวทางการรักษาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อชะลอการทรุดลงของโรค
การวินิจฉัยโรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
โรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic pulmonary fibrosis - IPF) เป็นภาวะที่ทำการวินิจฉัยได้ยากเนื่องจากอาการของโรคนั้นคล้ายกับภาวะปอดอื่น ๆ อย่างโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease - COPD) อย่างมาก
แพทย์จะส่งตัวคุณไปพบผู้เชี่ยวชาญประจำโรงพยาบาลเพื่อรับการทดสอบมากมายที่ช่วยวิเคราะห์จำแนกภาวะสุขภาพอื่น ๆ และยืนยันการวินิจฉัย โดยจะมีการทดสอบและตรวจสอบดังต่อไปนี้: การตรวจสอบประวัติการรักษา การทดสอบการหายใจและเลือด การเอกซเรย์และ CT หน้าอก การส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy) การเจาะตรวจชิ้นเนื้อปอด
การตรวจสอบประวัติการรักษา
แพทย์จะทำการสอบถามประวัติการรักษาตัวของคุณ และหาว่าคุณมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นที่ปอดหรือไม่ อย่างเช่นว่า: คุณสูบหรือเคยสูบบุหรี่มาก่อนในอดีตหรือไม่ คุณได้สัมผัสกับสารอันตรายระหว่างที่ทำงานหรือไม่ เช่นแร่ใยหิน เป็นต้น คุณมีภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ อยู่หรือไม่
อีกทั้งจะทำการ: ตรวจสอบเสียงหายใจของคุณด้วย stethoscope: หากมีเสียงกุกกักจะสื่อได้ว่าปอดมีบาดแผลขึ้น ตรวจสอบนิ้วมือของคุณเพื่อดูว่าส่วนฐานบวมออกหรือไม่ (ภาวะนิ้วกระบอง) ขอให้คุณเดินไปรอบ ๆ เป็นเวลาไม่กี่นาทีเพื่อดูว่าคุณมีอาการหายใจติดขัดหรือไม่
การทดสอบการหายใจและเลือด
การทดสอบการทำงานของปอดจะประเมินว่าปอดของคุณทำงานได้ดีอย่างไร และช่วยชี้วัดปัญหาที่อาจจะมีอยู่ ซึ่งการทดสอบนี้จะวัดว่า: อากาศสามารถเข้าออกปอดของคุณได้เร็วเท่าไร อากาศที่คุณสามารถคงอยู่ในปอดมีปริมาตรเท่าไร ปอดสามารถส่งผ่านออกซิเจนสู่เลือดและกรองคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีอย่างไร (สามารถดูได้จากการตรวจเลือด)
วิธีที่มักใช้ในการทดสอบการทำงานของปอดคือวิธีสไปโรเมธรีย์ (spirometry) ระหว่างการทดสอบ จะมีที่ปิดปากให้คุณหายใจเข้าไป
การเอกซเรย์และสแกนคอมพิวเตอร์หน้าอก
การเอกซเรย์หน้าอกมักจะไม่แสดงให้เห็นภาพของปอดชัดเจนเท่าไรนัก แต่ก็เป็นข้อมูลที่ช่วยให้แพทย์สามารถชี้จุดของปัญหาอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการขึ้นได้ เช่นโรคมะเร็ง หรือการสะสมกันของของเหลว
หากแพทย์คาดว่าคุณเป็น IPF การเอกซเรย์หน้าอกจะตามมาด้วยการสแกนคอมพิวเตอร์ (CT)
CT สแกนจะคล้ายกับการเอกซเรย์แต่จะให้ภาพปอดที่ละเอียดมากกว่า ซึ่งช่วยให้แพทย์พบสัญญาณของโรคภายในปอดของคุณ
การส่องกล้องหลอดลม
หากแพทย์ไม่มั่นใจว่าปัญหาที่ทำให้เกิดอาการของคุณคืออะไรแม้จะผ่านการทดสอบข้างต้นไปแล้ว พวกเขาอาจจะดำเนินการส่องกล้องตรวจสอบหลอดลมแทน
การทดสอบนี้เป็นการใช้ท่อขนาดเล็กและยืดหยุ่นที่มีกล้องติดอยู่ผ่านเข้าไปในหลอดลมเพื่อมองหาความผิดปรกติและเพื่อนำเนื้อเยื่อขนาดเล็กออกมาทดสอบ
คุณมักจะรู้สึกตัวอยู่ตลอดกระบวนการสอดกล้องหลอดลมและอาจจะไอบ้าง จะมีการใช้ยาชาเพื่อทำให้คอของคุณไม่รู้สึกเจ็บปวด โดยคุณอาจจะได้รับยาระงับประสาทเพื่อให้คุณรู้สึกง่วงนอนด้วยก็ได้
การเจาะชิ้นเนื้อปอด
หากการทดสอบข้างต้นทั้งหมดไม่ได้ข้อสรุป แพทย์จะทำการเจาะตรวจชิ้นเนื้อปอดผ่านหัตถการรูกุญแจเพื่อนำเนื้อเยื่อขนาดเล็กของปอดออกมาวิเคราะห์หาสัญญาณของการบาดเจ็บ
กระบวนการนี้ดำเนินการด้วยการใช้ยาสลบกับคนไข้ ศัลยแพทย์จะทำการกรีดเปิดช่องขนาดเล็กที่ข้างลำตัวของคุณและนำท่อเรียวบางที่มีกล้องและไฟฉายติดอยู่สอดเข้าไปยังพื้นที่ระหว่างปอดกับผนังหน้าอก
ศัลยแพทย์จะสามารถมองเห็นเนื้อเยื่อของปอดได้จากกล้องที่ติดอยู่ และสามารถใช้ท่อดังกล่าวนำตัวอย่างขนาดเล็กออกมาได้
การรักษาโรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
ยังไม่มีวิธีรักษา IPF แต่ก็มีการรักษาหลายประเภทที่ช่วยบรรเทาอาการและชะลอการทรุดลงของโรค ดังนี้: หลักการดูแลตนเอง: เช่นการเลิกสูบบุหรี่ ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายเป็นประจำ การใช้ยาเพื่อลดความเร็วของการทรุดโทรม: เช่น pirfenidone และnintedanib การหายใจนำออกซิเจนผ่านหน้ากาก: สามารถทำได้เองที่บ้านหรือขณะออกไปข้างนอก โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถนะปอด: หลักการออกกำลังเพื่อช่วยให้หายใจได้ง่ายขึ้น การปลูกถ่ายปอด: เป็นวิธีที่ดำเนินการกับผู้ป่วยที่เหมาะสมเท่านั้น และเกิดขึ้นได้ยากเพราะปัญหาเรื่องการบริจาค
เมื่อภาวะนี้ลุกลามมากขึ้น ทีมแพทย์เองก็มีตัวเลือกเข้ารับการดูและประคับประคองมาคอยสนับสนุนผู้ป่วยเช่นกัน
หลักการดูแลตนเอง
มีวิธีมากมายที่คุณสามารถปฏิบัติเพื่อทำให้ร่างกายของคุณแข็งแรงให้มากที่สุดแม้จะเป็น IPF ดังนี้: การเลิกสูบบุหรี่ การออกกำลังกายเป็นประจำและคงสภาพความแข็งแรงของร่างกาย การทานอาหารที่สมดุลและดีต่อสุขภาพ
คุณควรเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีและวัคซีนปอดอักเสบ ซึ่งนับเป็นภาวะอันตรายหากคุณป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับปอด
พยายามอย่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อในอกและไข้หวัดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
การใช้ยา
มียาอยู่สองประเภทที่ช่วยชะลอการลุกลามของ IPF ของผู้ป่วยบางราย นั่นก็คือ pirfenidone กับnintedanib
ผู้ป่วยบางรายสามารถใช้ยาที่เรียกว่า N-acetylcysteine ได้ กระนั้นผลประโยชน์ที่ได้จากยาตัวนี้ก็ยังคงไม่แน่ชัด
Pirfenidone ยา Pirfenidone จะช่วยชะลอการลุกลามของบาดแผลภายในปอดด้วยการลดกิจกรรมของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเป็นยาแคปซูลที่ต้องทานสามครั้งต่อวัน
การใช้ยาตัวนี้ต้องให้กับผู้ป่วยที่มีค่าความจุปอดที่ 50-80%
หากอาการของคุณทรุดลงแม้ว่าจะใช้ยา Pirfenidone และความจุปอดของคุณตกลง 10% หรือมากกว่าภายในหนึ่งปี การใช้ยาตัวนี้จะถูกยุติลงทันที
ผลข้างเคียงของ Pirfenidone มีดังนี้: รู้สึกคลื่นไส้ เหน็ดเหนื่อย ท้องร่วง อาหารไม่ย่อย ผื่นขึ้นเมื่อสัมผัสกับแสงอาทิตย์
Nintedanib ยา Nintedanib เป็นยาชนิดใหม่ที่ช่วยชะลอการเกิดบาดแผลของปอดในผู้ป่วย IPF บางราย ซึ่งเป็นยาแคปซูลที่ต้องทานสองครั้งต่อวัน
เช่นเดียวกับ Pirfenidone ยาชนิดนี้สามารถใช้กับผู้ที่มีความจุปอด 50-80% ได้ และควรจะหยุดใช้ยาทันทีที่ความจุปอดตกลงกว่า 10% หรือมากกว่าภายในหนึ่งปี
ผลข้างเคียงของ Nintedanib มีดังนี้: ท้องร่วง รู้สึกคลื่นไส้ ปวดท้อง ไม่อยากอาหารและน้ำหนักลด
N-acetylcysteine ยา N-acetylcysteine หรือที่เข้าใจในชื่อว่าสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) หาซื้อได้จากร้านขายยาหลายแห่งและมักอยู่ในรูปของยาเม็ด
ณ ปัจจุบันยังมีหลักฐานว่ายาชนิดนี้ช่วยลดปริมาณแผลของเนื้อเยื่อในปอดได้อยู่น้อยมาก อีกทั้งยังมีงานวิจัยมากมายที่ไม่พบผลประโยชน์จากยาชนิดนี้
หากคุณพิจารณาการใช้ N-acetylcysteine คุณควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญผู้ดูแลก่อนเนื่องจากยาชนิดนี้อาจไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย IPF บางราย
การช่วยเหลือด้วยออกซิเจน
IPF ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดตกลงจนทำให้คุณเกิดอาการหายใจติดขัด หากเกิดเช่นนี้ขึ้นจะมีการรักษาออกซิเจนเพื่อช่วยให้คุณหายใจได้มากขึ้น
ออกซิเจนจะถูกส่งให้คุณผ่านทางหลอดสวนรูจมูกหรือหน้ากากที่ติดเข้ากับอุปกรณ์ขนาดเล็ก ที่ทำหน้าที่ผลิตออกซิเจนที่มีระดับที่สูงกว่าอากาศทั่วไป หลอดจากเครื่องจักรจะมีความยาวมากจนคุณสามารถเคลื่อนไหวไปมาที่บ้านแม้จะต้องเชื่อมสายนี้อยู่กับตัว
มีอุปกรณ์จ่ายออกซิเจนขนาดพกพาที่คุณสามารถติดตัวออกไปข้างนอกบ้านได้เช่นกัน
โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถนะการหายใจ
โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถนะการหายใจ (Pulmonary rehabilitation) เป็นการช่วยเหลือที่ใช้กับภาวะปอดระยะยาวหลายตัว และมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับภาวะที่เป็นอยู่และช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้ชีวิตในแต่ละวันโดยไม่มีอาการหายใจติดขัดรุนแรง
ภายในโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถนะการหายใจจะมีทั้ง: การศึกษาเกี่ยวกับโรคพังผืดสะสมในปอด กิจกรรมทางร่างกาย การออกกำลังการหายใจ คำแนะนำเรื่องโภชนาการ ความช่วยเหลือทางด้านจิตเวช เครือข่ายสนับสนุนด้านสังคม
การปลูกถ่ายปอด
หากภาวะของคุณทรุดลงเรื่อย ๆ แม้จะได้รับการรักษาแล้ว ทางผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำให้คุณเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายปอดใหม่ โดยการตัดสินใจแนะนำการปลูกถ่ายจะขึ้นอยู่กับ: ความรุนแรงของภาวะของคุณ ความเร็วที่ภาวะทรุดโทรมลง อายุและสุขภาพโดยรวมของคุณ ความเป็นไปได้ที่ภาวะจะดีขึ้นหลังการปลูกถ่าย ว่ามีผู้บริจาคปอดหรือไม่
หัตถกรรมปลูกถ่ายปอดจะเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยของผู้ป่วย IPF อย่างมาก แม้ว่าจะเป็นหัตถกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างภาวะแก่ร่างกายผู้ป่วยมากก็ตาม
กระนั้นผู้ป่วยโรคพังผืดสะสมในปอดโดยไม่ทราบสาเหตุส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้ารับการปลูกถ่ายปอดได้ อีกทั้งจำนวนผู้บริจาคปอดก็ยังคงขาดแคลนอยู่มาก
การดูแลประคับประคอง
หากแพทย์ต้องชี้แจงกับคุณว่าไม่มีวิธีใดที่คุณสามารถใช้เพื่อรักษา IPF ได้ หรือคุณตัดสินใจไม่รับการรักษาอีกแล้ว แพทย์และทีมรักษาจะจัดการดูแลและการรักษาบรรเทาอาการของคุณต่อไป
การรักษาประเภทนี้จะเรียกว่าการดูแลประคับประคอง (Palliative care) โดยคุณเองก็สามารถเป็นคนตัดสินใจรับการดูแลประเภทนี้ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ เช่น: ที่บ้าน ที่ศูนย์ดูแล ที่โรงพยาบาล หรือที่ศูนย์พักพิงผู้ป่วย แพทย์และทีมรักษาจะจัดทำแผนดูแลตามความต้องการของคุณ