กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

โรคซึมเศร้า (Depression)

โรคซึมเศร้าอาจรบกวนการใช้ชีวิต กระทบต่อความสัมพันธ์และสุขภาพกาย ควรรีบรับการรักษาอย่างถูกต้อง
เผยแพร่ครั้งแรก 23 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 14 นาที
โรคซึมเศร้า (Depression)

โรคซึมเศร้าอาจรบกวนการใช้ชีวิต กระทบต่อความสัมพันธ์และสุขภาพกาย ควรรีบรับการรักษาอย่างถูกต้อง

โรคซึมเศร้าคืออะไร?

โรคซึมเศร้า (Depression) จัดเป็นภาวะความผิดปกติทางอารมณ์รูปแบบหนึ่ง เป็นความรู้สึกซึมเศร้า หดหู่ หรือโกรธเกรี้ยวที่ส่งผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 882 บาท ลดสูงสุด 51%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โรคซึมเศร้านั้นพบได้ค่อนข้างบ่อย จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกาในปี 2013-2016 พบว่า ผู้ใหญ่อายุ 20 ปีขึ้นไป มากถึงร้อยละ 8.1 นั้นมีภาวะซึมเศร้า

คนแต่ละคนอาจเผชิญภาวะซึมเศร้าในรูปแบบที่แตกต่างกัน และอาการซึมเศร้าอาจรบกวนชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงและหมดเปลืองเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ยังอาจกระทบต่อความสัมพันธ์และทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังด้านสุขภาพด้วย

ความผิดปกติด้านสุขภาพที่มักมีอาการแย่ลงเมื่อผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ได้แก่

ควรทำความเข้าใจก่อนว่า ความรู้สึกผิดหวังที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวนั้นเป็นเรื่องปกติของชีวิต สิ่งที่ทำให้โศกเศร้า หรือไม่พึงพอใจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากคุณรู้สึกหดหู่หรือสิ้นหวังแม้กับเรื่องเล็กน้อยธรรมดา นั่นอาจหมายถึงคุณกำลังเผชิญกับโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้านั้นจัดเป็นปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาการอาจรุนแรงขึ้น คนที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมส่วนมากจะมีอาการดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์

อาการของโรคซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้านั้นอาจรุนแรงกว่าความรู้สึกเศร้าหรือเสียใจตามปกติ โดยทั่วไปโรคซึมเศร้ามักแสดงอาการที่หลากหลาย ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ หรือแม้กระทั่งต่อร่างกาย อาการอาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นๆ หายๆ เป็นช่วงๆ ก็ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 882 บาท ลดสูงสุด 51%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โรคซึมเศร้านั้นส่งผลกระทบต่อผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กแตกต่างกันไป

อาการของโรคซึมเศร้าในผู้ชายที่พบบ่อย ได้แก่

  • ด้านอารมณ์ โกรธเกรี้ยว ก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล และกระวนกระวาย
  • ด้านความรู้สึก รู้สึกว่างเปล่า เศร้า หรือสิ้นหวัง
  • ด้านพฤติกรรม หมดความสนใจ ไม่มีความสุขกับกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ เหนื่อยง่าย คิดถึงการฆ่าตัวตาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก ใช้ยาเสพติด และเกี่ยวพันกับกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเจ็บตัว
  • ด้านพฤติกรรมทางเพศ มีความต้องการทางเพศลดลง หรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
  • ด้านการคิดและสติปัญญา ขาดสมาธิจดจ่อ ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้ ตอบสนองช้าในระหว่างการสนทนา
  • ด้านการนอนหลับ นอนไม่หลับ อดนอน ง่วงซึม และนอนไม่หลับในตอนกลางคืน
  • ด้านร่างกาย อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ และมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร

อาการของโรคซึมเศร้าที่มักพบในผู้หญิง ได้แก่

  • ด้านอารมณ์ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  • ด้านความรู้สึก รู้สึกเศร้า ว่างเปล่า วิตกกังวล หรือสิ้นหวัง
  • ด้านพฤติกรรม หมดความสนใจในกิจกรรมต่างๆ แยกตัวจากสังคม คิดถึงการฆ่าตัวตาย
  • ด้านการคิดและสติปัญญา คิดหรือพูดช้าลง
  • ด้านการนอนหลับ มีอุปสรรคในการนอนตอนกลางคืน ตื่นเร็ว หรือนอนมากเกินไป
  • ด้านร่างกาย มีพลังงานลดลง อ่อนเพลีย เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ เป็นตะคริวบ่อย

อาการของโรคซึมเศร้าในเด็ก ได้แก่

  • ด้านอารมณ์ โกรธง่าย หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ร้องไห้บ่อย
  • ด้านความรู้สึก รู้สึกว่าตนไร้ความสามารถ (เช่น ทำอะไรก็ผิดไปหมด) หรือรู้สึกสิ้นหวัง ซึมเศร้าอย่างรุนแรง
  • ด้านพฤติกรรม มักมีปัญหาที่โรงเรียน หรือไม่อยากไปโรงเรียน หลีกเลี่ยงการพบปะเพื่อนฝูง พี่น้อง และคิดถึงการฆ่าตัวตาย
  • ด้านการคิดและสติปัญญา ขาดสมาธิจดจ่อ ผลการเรียนแย่ลง
  • ด้านการนอนหลับ นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
  • ด้านร่างกาย ไม่มีพลังงาน มีปัญหาเรื่องระบบย่อยอาหาร เบื่ออาหารหรืออยากอาหารกว่าปกติ น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว

อาการของโรคเหล่านี้อาจส่งผลถึงสภาพร่างกายและจิตใจด้วย

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ความผิดปกติทางชีวภาพไปจนถึงสภาพแวดล้อมภายนอก

สาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ประวัติในครอบครัว คนที่มีครอบครัวซึ่งเคยเผชิญภาวะโรคซึมเศร้า หรือโรคผิดปกติทางอารมณ์ จะมีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้ามากกว่าคนอื่นๆ
  • บาดแผลทางใจในวัยเด็ก เหตุการณ์บางอย่างนั้นส่งผลต่อร่างกายในการตอบสนองต่อความกลัวหรือต่อสภาวะที่มีความเครียดสูง
  • โครงสร้างของสมอง ผู้ที่สมองส่วนหน้าตื่นตัวน้อยกว่าปกติ มีโอกาสจะเกิดโรคซึมเศร้าได้สูง อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่าลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังการเกิดภาวะซึมเศร้า
  • ภาวะด้านสุขภาพ ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าได้ เช่น โรคเรื้อรัง ภาวะนอนไม่หลับ การบาดเจ็บเรื้อรัง หรือโรคสมาธิสั้น
  • การใช้ยา ประวัติการใช้ยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์เกินขนาด อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้

มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าภาวะซึมเศร้าที่เป็นอยู่เกิดจากอะไร และประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่ใช้สารเสพติดร้ายแรงก็มักเผชิญกับโรคซึมเศร้าเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีก ได้แก่

  • การขาดความนับถือในตัวเอง หรือโทษตัวเองบ่อยครั้ง
  • เคยมีประวัติความเจ็บป่วยทางจิต
  • มีการใช้ยาบางชนิด
  • มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดสูง เช่น สูญเสียของรัก ปัญหาเศรษฐกิจ หรือการหย่าร้าง

ปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากนี้อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกซึมเศร้าได้เช่นกัน และบ่อยครั้ง สาเหตุของภาวะซึมเศร้ามักสัมพันธ์กับความเจ็บป่วยทางกายด้วย

การตรวจหาโรคซึมเศร้า

การตรวจหาโรคซึมเศร้ายังไม่สามารถทำได้โดยใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง แพทย์จึงมักวินิจฉัยโรคโดยดูจากอาการและการประเมินทางสภาพจิตใจ ส่วนมาก แพทย์จะถามคำถามหลายข้อที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความอยากอาหาร การนอนหลับ การทำกิจกรรมต่างๆ และความรู้สึกนึกคิด

เนื่องจากโรคซึมเศร้ามักเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ ด้วย แพทย์อาจตรวจร่างกายหรือให้ตรวจเลือดเพิ่มเติม เช่น บางครั้งความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ หรือภาวะขาดวิตามินดีก็ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาสุขภาพจิต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 882 บาท ลดสูงสุด 51%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เมื่อเกิดอาการซึมเศร้า เราไม่ควรละเลยความรู้สึกดังกล่าว หากสภาพอารมณ์ไม่ดีขึ้นหรือยิ่งแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป ควรแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยทางใจ และหากไม่ได้รับการรักษาจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น

  • น้ำหนักลด หรือน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • เสี่ยงต่อการใช้สารเสพติด
  • มีอาการตื่นตกใจ
  • มีผลกระทบด้านลบต่อความสัมพันธ์
  • เกิดการปลีกตัวจากสังคม
  • เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
  • เกิดการทำร้ายตัวเอง

ประเภทของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้ตามความรุนแรงของอาการ ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการไม่รุนแรงและเกิดเป็นครั้งคราว ในขณะที่บางคนอาจมีอาการรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

โดยทั่วไปเราแบ่งโรคซึมเศร้าได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) และโรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง (Persistent depressive disorder)

โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)

โรคซึมเศร้าเป็นประเภทที่มีอาการหนักที่สุด ผู้ป่วยมักมีอาการซึมเศร้า สิ้นหวัง และรู้สึกไร้ค่าอยู่ตลอดเวลา และไม่สามารถทำให้อาการหายไปเองได้

ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าประเภทนี้ แพทย์จะดูว่าผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้อย่างน้อย 5 ข้อ เป็นเวลาติดต่อกันตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปหรือไม่

  • รู้สึกซึมเศร้าเกือบตลอดทั้งวัน
  • หมดความสนใจในกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างชัดเจน
  • นอนมากเกินไป หรือนอนไม่หลับ
  • คิดหรือเคลื่อนไหวช้าลง
  • อ่อนเพลีย หรือมีพลังงานต่ำเกือบตลอดทั้งวัน
  • รู้สึกไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอยู่เสมอ
  • ขาดสมาธิจดจ่อ หรือไม่สามารถตัดสินใจได้
  • คิดถึงความตาย หรือการฆ่าตัวตายบ่อยๆ

โรคซึมเศร้า ยังสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ได้อีก ได้แก่

  • Atypical features ผู้ป่วยมักอยากอาหารมากกว่าปกติ นอนมาก น้ำหนักขึ้น
  • Anxious distress มักมีอาการวิตกกังวล หวาดหวั่น หวาดกลัว อึดอัด ไม่สบายใจ เกรงว่าจะมีเหตุการณ์ไม่ดีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้นกับตน
  • Mixed features ผู้ป่วยจะแสดงอาการซึมเศร้า ขาดความสนใจหรือความชอบในกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำร่วมกับอาการอื่นๆ หลายอย่าง ทั้งไม่มีพลังจะทำสิ่งใด รู้สึกไร้ค่า น้ำหนักเปลี่ยนแปลงผิดปกติ นอนมากหรือนอนน้อยเกินไป หงุดหงิด กระสับกระส่าย ทำสิ่งต่างๆ ได้ช้า หรือไม่อยากทำอะไรเลย ไม่มีสมาธิจดจ่อ คิดวนเวียนเกี่ยวกับความตายหรือการฆ่าตัวตาย
  • Peripartum onset ซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอด
  • Seasonal patterns ความผิดปกติทางอารมณ์จากฤดูที่เปลี่ยนแปลง
  • Melancholic features มีภาวะสิ้นยินดี (anhedonia) คือไม่มีความสนใจหรือพึงพอใจในกิจกรรมที่โดยปกติเป็นที่พึงพอใจ ตื่นแต่เช้า น้ำหนักลด ผิดหวังอย่างมากแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย คิดฆ่าตัวตาย
  • Catatonia ซึมลึก ไม่ตอบสนองต่อการพูดคุย เฉยเมย เพิกเฉย กระทำสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่คาดว่าจะเป็น (Negativism) และกระวนกระวาย

โรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง (Persistent depressive disorder (PDD))

โรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง ในอดีตเรียกว่า Dysthymia เป็นอาการซึมเศร้าประเภทที่รุนแรงน้อยกว่า แต่เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง

ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง แพทย์จะดูว่าอาการของโรคนั้นเกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี โรคซึมเศร้าแบบเรื้อรังอาจกระทบต่อชีวิตประจำวันได้มากกว่าโรคซึมเศร้าแบบแรก เนื่องจากมีอาการเป็นเวลานานกว่า อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วย ได้แก่

  • หมดความสนใจต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
  • รู้สึกสิ้นหวัง
  • ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง
  • ความเชื่อมั่นและนับถือในตนเองลดลง

โรคซึมเศร้านั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากผู้ป่วยปฏิบัติตามแนวทางรักษาอย่างเคร่งครัด

การรักษาโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าอาจมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน การรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาที่เหมาะกับตนเอง

ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการของโรคได้โดยใช้การรักษาวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลากหลายวิธีร่วมกัน ระหว่างการรักษาทางการแพทย์ร่วมกับการบำบัดในชีวิตประจำวัน วิธีการรักษาดังกล่าว ได้แก่

การรักษาด้วยยา

แพทย์อาจสั่งยาต้านโรคซึมเศร้า ยาบรรเทาอาการวิตกกังวล หรือยาระงับอาการทางจิตให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งยาแต่ละชนิดนั้นอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้บ้าง

การรักษาด้วยจิตบำบัด

การพูดคุยกับนักจิตบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับความรู้สึกด้านลบได้ดีขึ้น และผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากการบำบัดร่วมกับครอบครัวหรือร่วมกับกลุ่มผู้ป่วยคนอื่นๆ

การรักษาด้วยแสงบำบัด

การสัมผัสกับแสงขาวภายใต้ความเข้มระดับหนึ่ง จะช่วยในการจัดการอารมณ์ของผู้ป่วยและทำให้อาการของโรคซึมเศร้าดีขึ้น การรักษาวิธีนี้มักใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิด Seasonal affective disorder (หรือปัจจุบันเรียกว่า โรคซึมเศร้าชนิด Seasonal pattern)

การรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก

เช่น การฝังเข็ม หรือการใช้อาหารเสริมสมุนไพร อย่างเซนต์จอห์นเวิร์ต, SAMe และน้ำมันปลา อาจสามารถบรรเทาอาการซึมเศร้าได้เช่นกัน

ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้อาหารเสริมเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการกินยาตามที่แพทย์สั่ง เนื่องจากสารบางอย่างในอาหารเสริมอาจทำปฏิกิริยากับยาได้ และอาหารเสริมบางตัวอาจทำให้อาการซึมเศร้าแย่ลง หรือทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงได้เช่นกัน

การออกกำลังกาย

ควรตั้งเป้าหมายการออกกำลังกายให้ได้สัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละ 30 นาที การออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นการหลั่งเอนดอร์ฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยปรับอารมณ์ให้แจ่มใสเบิกบาน

หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพสารเสพติด

แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอาจช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ในระยะยาว สารเหล่านี้จะทำให้อารมณ์ซึมเศร้าและวิตกกังวลแย่ลงได้

ฝึกที่จะปฏิเสธ

การต้องรับผิดชอบงานจำนวนมากอาจทำให้อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลแย่ลง ผู้ป่วยจึงควรกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบและแยกงานออกจากชีวิตส่วนตัว เพื่อให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น

ดูแลตัวเอง

ผู้ป่วยสามารถเยียวยาอาการซึมเศร้าได้โดยการดูแลตัวเองให้ดี เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงคนที่ทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบ และร่วมทำกิจกรรมที่ช่วยให้เบิกบานใจ

บางครั้งภาวะซึมเศร้าอาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา แพทย์จึงมักแนะนำทางเลือกอื่นๆ ในการรักษาควบคู่ไปด้วยหากพบว่าอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น ซึ่งได้แก่ การบำบัดด้วยไฟฟ้า หรือการกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก

การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยวิธีธรรมชาติ

การรักษาโรคซึมเศร้าโดยทั่วไปมักใช้ยาควบคู่กับการให้คำปรึกษา แต่ปัจจุบันมีการรักษาทางเลือกอีกหลายวิธีที่ผู้ป่วยอาจใช้ได้ผลเช่นกัน

แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า การรักษาด้วยวิธีธรรมชาติเหล่านี้มีการศึกษาทางคลินิกรับรองค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ยังไม่รับรองอาหารเสริมต่างๆ ว่าใช้รักษาในทางการแพทย์ได้จริงหรือไม่ เราจึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือเท่านั้น และต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอหากต้องการใช้อาหารเสริมสมุนไพรควบคู่กับการรักษา

การใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

มีสารสกัดในอาหารเสริมหลายชนิดที่เชื่อว่าช่วยบรรเทาอาการโรคซึมเศร้าได้ ตัวอย่างเช่น

เซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John’s wort)

การศึกษาหลายชิ้นให้ผลแตกต่างกันไป ปัจจุบันสมุนไพรชนิดนี้ใช้บำบัดโรคซึมเศร้าในยุโรปอย่างแพร่หลาย ส่วนในอเมริกา ยังไม่มีการรับรองสรรพคุณสมุนไพรชนิดนี้ในทางการแพทย์

S-adenosyl-L-methionine (SAMe)

ฤทธิ์ของสารชนิดนี้ในการบำบัดโรคซึมเศร้ายังมีการศึกษาค่อนข้างน้อย จากงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า SAMe จะออกฤทธิ์ได้ดีที่สุดในผู้ป่วยที่ได้รับยายับยั้งการดูดกลับเซโรโทนิน (Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs)) ซึ่งเป็นยาต้านโรคซึมเศร้าชนิดหนึ่ง ปริมาณซีโรโทนินจะถูกกำจัดให้น้อยลง ทำให้สามารถส่งต่อสารสื่อประสาทได้มากขึ้น

5-Hydroxytryptophan (5-HTP)

5-HTP จะทำให้ระดับเซโรโทนินในสมองเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ ร่างกายเราสามารถสร้างสารชนิดนี้ได้เองเช่นกัน เมื่อเราบริโภค Tryptophan ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่เป็นโครงสร้างสายโปรตีน

กรดไขมันโอเมก้า-3

กรดไขมันจำเป็นชนิดนี้มีความสำคัญต่อพัฒนาการของระบบประสาทและสมอง การรับประทานโอเมก้า-3 เสริมจึงช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้าได้

การใช้น้ำมันหอมระเหย

น้ำมันหอมระเหยถือเป็นวิธีบำบัดตามธรรมชาติที่ใช้รักษาอาการต่างๆ ได้มากมาย แต่งานวิจัยที่ยืนยันสรรพคุณในการบรรเทาอาการซึมเศร้านั้นยังมีค่อนข้างน้อย

มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีอาการดีขึ้นได้ เมื่อใช้น้ำมันหอมระเหยต่อไปนี้

  • น้ำมันกระทือ (Wild ginger) การสูดดมน้ำมันกระทือซึ่งมีกลิ่นแรง จะช่วยกระตุ้นตัวรับเซโรโทนินในสมอง และช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียดได้
  • น้ำมันเบอร์กาม็อท น้ำมันจากผลไม้ตระกูลส้มชนิดนี้สามารถลดอาการวิตกกังวลในผู้ที่รอรับการผ่าตัด สรรพคุณดังกล่าวยังให้ผลดีต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีอาการวิตกกังวลด้วยเช่นกัน แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่รองรับชัดเจนนัก

น้ำมันชนิดอื่นๆ เช่น น้ำมันคาร์โมไมล์ หรือน้ำมันกุหลาบ อาจมีฤทธิ์ช่วยให้อารมณ์สงบได้เมื่อสูดดม แต่สรรพคุณดังกล่าวมักเห็นผลในการใช้ระยะสั้นเท่านั้น

การใช้วิตามิน

วิตามินนั้นมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า มีวิตามิน 2 ชนิด ที่สามารถบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่

  • วิตามินบี วิตามินบี12 และ บี6 นั้นสำคัญต่อการทำงานของสมอง หากระดับวิตามินบีต่ำ ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าจะสูงขึ้น
  • วิตามินดี บางครั้งอาจเรียกว่า วิตามินจากแสงแดด เนื่องจากการสัมผัสแสงแดดจะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินชนิดนี้ วิตามินดีมีความสำคัญต่อสมอง หัวใจ และกระดูก มักพบว่าผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีระดับวิตามิน ดีในร่างกายต่ำด้วย

ยังมีสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และวิตามินอีกหลายชนิด ที่กล่าวกันว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ส่วนมากยังไม่มีงานวิจัยที่รับรองสรรพคุณทางการแพทย์อย่างชัดเจน จึงควรศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ให้ดี และปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

การป้องกันโรคซึมเศร้า

ตามปกติแล้วโรคซึมเศร้าถือเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากมักไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าภาวะดังกล่าวเกิดจากอะไร การป้องกันจึงยิ่งทำได้ยาก เมื่อใดก็ตามที่ต้องเผชิญกับอารมณ์ซึมเศร้า สามารถเตรียมการรับมือเพื่อป้องกันอาการของโรคในอนาคตได้ โดยเรียนรู้แนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการบำบัดที่ช่วยเยียวยาภาวะดังกล่าว

แนวทางการปฏิบัติที่สามารถช่วยได้ ได้แก่

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • การบำบัดสภาพจิตใจอย่างต่อเนื่อง
  • ผ่อนคลายความเครียด
  • สร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับคนรอบข้าง

นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคอื่นๆ ที่ช่วยบรรเทาอารมณ์ด้านลบซึ่งอาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดูแลสุขภาพ เป็นต้น

โรคซึมเศร้าแบบอารมณ์สองขั้ว (Bipolar depression)

โรคซึมเศร้าแบบอารมณ์สองขั้วเกิดในผู้ป่วยที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) อยู่แล้ว และอยู่ในช่วงที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้า

ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วมักมีอารมณ์แปรปรวนสลับไปมาระหว่าง 2 ช่วง คือช่วง Mania ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการตื่นตัว กระวนกระวาย มีพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ สูง กับช่วง Depression ซึ่งผู้ป่วยจะแสดงอาการซึมเศร้าและหมดพลัง อาการของโรคอารมณ์สองขั้วขึ้นอยู่กับชนิดของโรคด้วย เช่น ผู้ป่วยบางคนอาจแสดงอาการของช่วง Mania เท่านั้น โดยไม่มีอาการซึมเศร้า

อาการของโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว มีดังนี้

  • หมดความสนใจหรือไม่รู้สึกสนุกกับกิจกรรมทั่วๆ ไป
  • รู้สึกเศร้า วิตกกังวล หรือว่างเปล่า
  • ไม่มีพลังจะทำกิจกรรมใดๆ หรือไม่สามารถทำงานจนสำเร็จได้
  • มีปัญหาในการจดจำ หรือการระลึกถึงความทรงจำ
  • นอนมากเกินไป หรือนอนไม่หลับ
  • น้ำหนักเพิ่มหรือน้ำหนักลด ซึ่งเป็นผลมาจากความอยากอาหารหรือเบื่ออาหาร
  • ครุ่นคิดถึงความตายหรือการฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง

หากโรคอารมณ์สองขั้วได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อาการซึมเศร้าก็มักทุเลาลงตามไปด้วย

ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล

อารมณ์ซึมเศร้าและวิตกกังวลอาจเกิดขึ้นพร้อมกันในผู้ป่วยได้ และจากการศึกษาพบว่า ราวๆ 70% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีอาการวิตกกังวลไปด้วย แม้เรามักคิดว่าอารมณ์ซึมเศร้าและวิตกกังวลนั้นเกิดจากปัจจัยที่ต่างกัน แต่ความรู้สึกทั้งสองก็ส่งผลให้เกิดอาการที่คล้ายกันหลายอย่าง เช่น กระวนกระวาย มีปัญหาในการจดจำและสมาธิจดจ่อ รวมถึงปัญหาในการนอนหลับ

อารมณ์ซึมเศร้าและวิตกกังวลมีวิธีการรักษาบางส่วนที่เหมือนกัน เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม การใช้ยา หรือการบำบัดทางเลือกอื่นๆ อย่างการสะกดจิต

หากรู้สึกว่าตนเองมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังที่กล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับอาการและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

ภาวะซึมเศร้าและโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

โรคย้ำคิดย้ำทำหรือ Obsessive-compulsive disorder (OCD) จัดเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้ความคิด การกระทำ และความกังวลต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่พึงปรารถนาและไม่สามารถควบคุมได้

ความกังวลหรือความกลัวเหล่านี้จะครอบงำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือการกระทำอย่างเดิมซ้ำๆ (หรือการย้ำทำ เนื่องจากควบคุมจิตใจไม่ได้) ซึ่งผู้ป่วยมักรู้สึกไปเองว่าการกระทำดังกล่าวจะช่วยลดความกดดันจากการย้ำคิดได้

ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค OCD มักพบว่าตนเองมีความคิดและการกระทำอย่างเดิมซ้ำๆ โดยไม่สามารถควบคุมได้จนทำให้รู้สึกแปลกแยก และนำไปสู่การปลีกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนและสังคมรอบข้าง ส่งผลให้โอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าสูงขึ้นได้

ผู้ป่วยโรค OCD อาจไม่จำเป็นต้องเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป แต่การเป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งก็มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่โรคอื่นๆ ได้สูง และจากการศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยโรค OCD จำนวนมากถึง 80% ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแบบรุนแรงด้วย

ในเด็ก การป่วยเป็นสองโรคนี้ในเวลาเดียวกันเป็นเรื่องที่น่ากังวล พฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก อาจทำให้พวกเขารู้สึกผิดปกติ และนำไปสู่การแยกตัวจากกลุ่มเพื่อน ทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าสูงขึ้นตาม

โรคซึมเศร้ากับอาการผิดปกติทางจิต

ผู้ป่วยบางคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าแบบรุนแรง อาจมีอาการผิดปกติทางจิตร่วมด้วย เมื่อเกิดทั้งสองโรคขึ้นพร้อมกัน เราจะเรียกภาวะนี้ว่า โรคจิตชนิดซึมเศร้า หรือ Depressive psychosis

Depressive psychosis ทำให้ผู้ป่วยเห็น ได้ยิน เชื่อ หรือได้กลิ่นของสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้อาจมีความรู้สึกซึมเศร้า สิ้นหวัง และหงุดหงิดง่ายร่วมด้วย การมีอาการของสองโรคนี้ร่วมกันนั้นค่อนข้างอันตราย เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดภาพหลอนที่นำไปสู่ความเสี่ยงอื่นๆ หรือการฆ่าตัวตายได้

ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าโรคทั้งสองนี้เกิดจากสาเหตุใด หรือทำไมผู้ป่วยจึงเผชิญสองโรคนี้พร้อมกัน แต่การรักษาอย่างเหมาะสม ทั้งการใช้ยาและบำบัดด้วยไฟฟ้าสามารถช่วยบรรเทาอาการได้

โรคซึมเศร้าในระหว่างตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์นั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความตื่นเต้นสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ก็มีว่าที่คุณแม่จำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้าไปพร้อมกันด้วย

อาการของโรคซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ ได้แก่

  • มีการเปลี่ยนแปลงในด้านความอยากอาหารหรือพฤติกรรมการกิน
  • รู้สึกสิ้นหวัง
  • วิตกกังวล
  • หมดความสนใจต่อกิจกรรมรอบตัว หรือสิ่งที่เคยชื่นชอบ
  • รู้สึกซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง
  • มีปัญหาในการใช้สมาธิและการจำ
  • มีปัญหากับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
  • คิดถึงความตายหรือการฆ่าตัวตาย

การรักษาโรคซึมเศร้าในระหว่างตั้งครรภ์ จะเน้นไปที่การพูดคุยให้คำปรึกษาและการบำบัดโดยวิธีธรรมชาติเป็นหลัก บางรายต้องรับยาต้านโรคซึมเศร้าไปด้วยระหว่างตั้งครรภ์ แต่ยังไม่มีการศึกษาใดรองรับว่ายาชนิดใดปลอดภัยที่สุด แพทย์จึงมักใช้การบำบัดทางเลือกอื่นๆ ในการรักษาไปจนกว่าทารกจะคลอด

ความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้านั้นไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อทารกคลอดเท่านั้น แต่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดหรือที่เรียกว่า Major depressive disorder with peripartum onset ก็เป็นโรคที่น่ากังวลสำหรับคุณแม่มือใหม่เช่นกัน การสังเกตอาการได้เร็วจะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนจะอาการจะรุนแรงขึ้น

โรคซึมเศร้ากับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

มีงานวิจัยบางชิ้นที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นมีแนวโน้มที่จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินขนาด

มีการสำรวจพบว่าประมาณ 50% ของผู้ติดสารเสพติดจะมีอาการทางจิตประสาท และจากการศึกษาในปี 2012 พบว่า ร้อยละ 63.8 ของคนที่ติดแอลกอฮอล์จะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ อาจส่งผลให้อาการโรคซึมเศร้าแย่ลง และผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้วก็มีแนวโน้มก็ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้นหรือดื่มมากขึ้นด้วย

เป้าหมายในการบำบัดโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า อาจแสดงอาการเพียงชั่วคราวหรืออาจกลายเป็นปัญหาในระยะยาวก็ได้ บางครั้งการรักษาก็ไม่สามารถบรรเทาอาการซึมเศร้าให้หายได้อย่างสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยการรักษาที่เหมาะสมจะทำให้สามารถควบคุมอาการได้ดีขึ้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวคือการใช้ยาควบคู่ไปกับการบำบัดอื่นๆ หากแนวทางการรักษาหนึ่งไม่ได้ผล ผู้ป่วยก็อาจตอบสนองต่อการรักษาด้วยแนวทางอื่นๆ ได้ดีกว่า

ที่มาของข้อมูล

Kimberly Holland, Everything You Want to Know About Depression (>https://www.healthline.com/health/depression), December 2018

Reading seminar เรื่อง Depressivedisorder: etiology andclinical feature นําเสนอโดย พญ. ดลฤดี เพชรสุวรรณ, อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.นพ. มาโนช หล่อตระกูล, (https://med.mahidol.ac.th/ramamental/sites/default/files/public/pdf/Depressive%20Disorder%20-%20Etiology%20and%20Clinical%20Features.pdf), 17 ตุลาคม 2548

Nancy Schimelpfening,  Medically reviewed by a board-certified physician, Depressive Disorder With Mixed Features - Causes, Symptoms, and Diagnosis, (https://www.verywellmind.com/what-does-depressive-disorder-with-mixed-features-mean-1067282), 21 January 2019


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ตรวจโรคซึมเศร้าครั้งแรก เตรียมตัวอย่างไร? ใครควรตรวจ?, (https://hdmall.co.th/c/depression-diagnose).
The History of Depression and Treatment. Verywell Mind. (https://www.verywellmind.com/who-discovered-depression-1066770)
Depression: What it is, symptoms, causes, treatment, types, and more. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/8933)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)