กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

เดินเซ (Ataxia)

อาการเดินเซเกิดจากสาเหตุใด มีอาการอย่างไร ส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ สามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 7 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เดินเซ (Ataxia)

ภาพรวมของอาการเดินเซ

อาการเดินเซ (Ataxia) เกิดจากการที่กล้ามเนื้อขาดการประสานงาน การประสานงานมีความบกพร่อง หรือสูญเสียการประสานงาน ทำให้การเคลื่อนไหวไม่ประสานกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เมื่อการสื่อสารระหว่างสมองและส่วนต่างๆ ของร่างกายถูกขัดขวาง ทำให้เกิดอาการตัวกระตุก การเคลื่อนไหวเสียสมดุล การทรงตัวผิดปกติ ซึ่งอาการเดินเซ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยพอสมควร

อาการที่เกิดขึ้นจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ไม่ประสานงานกัน

การเดินเซ อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรืออาจเกิดอาการขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีสัญญาณเตือน ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้น อาจทำให้เดินลำบาก เคลื่อนไหวแขนและขายาก และท้ายที่สุดอาจทำให้สูญเสียทักษะที่มีความละเอียด เช่น การเขียนหนังสือ หรือการติดกระดุมเสื้อ เป็นต้น

อาการอื่นๆ ที่สามารถพบได้ในผู้ที่มีอาการเดินเซ ได้แก่

  • เวียนศีรษะ
  • การมองเห็นผิดปกติ
  • มีปัญหาในการพูด หรือมีการพูดเปลี่ยนแปลงไป
  • กลืนลำบาก
  • ร่างกายสั่น

อาการเหล่านี้เป็นอาการที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะอาการบางอย่างคล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หากพบอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของอาการเดินเซ

อาการเดินเซเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากสภาวะโรคเรื้อรัง ไปจนถึงโรคที่มีอาการเฉียบพลัน แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการเดินเซ มีสาเหตุมาจากสมองน้อย (สมองส่วนซีรีเบลลัม) ได้รับความเสียหายหรือเสื่อมสภาพลง

สาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับโรคและการบาดเจ็บ

การเคลื่อนไหวที่มีการประสานงานกันของร่างกายจะเกี่ยวข้องกับสมองน้อย (ซีรีเบลลัม) เส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nerves) และไขสันหลัง โรคและการบาดเจ็บบางอย่างต่อไปนี้ อาจทำให้เกิดความเสียหายหรือทำลายโครงสร้างต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเดินเซ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism)
  • การติดเชื้อ
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) : โรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อสมองและไขสันหลัง
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack (TIA))
  • อาการเดินเซที่เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม
  • สมองพิการ (Cerebral Palsy) : กลุ่มของความผิดปกติที่สมองเด็กได้รับความเสียหายในระยะต้นของการพัฒนาการ
  • เนื้องอกในสมอง
  • กลุ่มอาการพารานีโอพลาสติก (Paraneoplastic Syndromes) : ความผิดปกติในการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อเนื้องอกมะเร็ง
  • โรคเส้นประสาท (Neuropathy) คือโรคหรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาท
  • การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง (Spinal Injuries)
  • โรคทางพันธุกรรมที่มีอาการเดินเซ เช่น
    • โรค Friedreich’s Ataxia : โรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติของการสร้างพลังงานในระบบประสาทและในหัวใจ
    • โรค Wilson’s Disease : โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งมีการสะสมของทองแดง (Copper) ในร่างกาย ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อตับและระบบประสาท

สาเหตุที่เกิดจากสารพิษ (Toxins)

สารบางชนิดมีฤทธิ์ที่ส่งผลให้เกิดอาการเดินเซได้ เช่น

  • แอลกอฮอล์ (พบได้บ่อย)
  • ยากันชัก
  • ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy Drugs)
  • ยาลีเทียม (Lithium)
  • โคเคน และ เฮโรอีน
  • ยาระงับประสาท (Sedatives)
  • ปรอท ตะกั่ว และโลหะหนักอื่นๆ
  • โทลูอีน (Toluene) และตัวทำละลายชนิดอื่นๆ

การไปพบแพทย์เมื่อมีอาการเดินเซ

คุณควรไปพบแพทย์ทันที ถ้ามีอาการใดๆ ดังต่อไปนี้

  • ร่างกายเสียสมดุล ทรงตัวลำบาก
  • กลืนลำบาก
  • กล้ามเนื้อขาดการประสานงานกันเป็นเวลาหลายนาที
  • กล้ามเนื้อที่ขา แขน หรือมือ ข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง ขาดการประสานงานกัน
  • พูดไม่ชัด
  • เดินลำบาก

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจร่างกายทางระบบประสาทเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มากขึ้นเกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยจะตรวจความสามารถในการทรงตัว การเดิน การชี้ของนิ้วเท้าและนิ้วมือ และยังมีการทดสอบที่เรียกว่า Romberg Test ที่ต้องทำเพื่อดูว่าคุณสามารถทรงตัวได้ขณะปิดตาและยืนได้บนขาทั้ง 2 ข้าง

บางครั้ง แพทย์ก็สามารถระบุสาเหตุของอาการเดินเซอย่างชัดเจน เช่น การบาดเจ็บที่สมอง การติดเชื้อ หรือเกิดจากสารพิษ แต่ในบางกรณีแพทย์ต้องถามคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการของคุณ เพื่อให้ชี้เฉพาะลงไปได้มากขึ้นว่าสาเหตุของการเกิดโรคเกิดจากอะไร โดยคำถามที่มักใช้ ได้แก่

  • คุณเริ่มมีอาการเมื่อไร
  • คนในครอบครัวมีอาการคล้ายๆ กันหรือไม่
  • อาการที่พบบ่อยคืออะไร
  • อาการที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตมากน้อยเพียงใด
  • กำลังรับประทานยา อาหารเสริม และวิตามินใดอยู่ในขณะนี้บ้าง
  • มีการสัมผัสสารใดๆ มาก่อนหน้านี้หรือไม่
  • ใช้ยาเสพติด หรือติดการดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่
  • มีอาการอื่นๆ หรือไม่ เช่น สูญเสียการมองเห็น พูดลำบาก หรือสับสน

การตรวจเพื่อหาสาเหตุของอาการเดินเซ

แพทย์อาจพิจารณาให้มีการตรวจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

  • ตรวจเลือด
  • ตรวจปัสสาวะ
  • สแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography (CT) Scan)
  • การถ่ายภาพทางการแพทย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging (MRI) Scan)
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal Tap)
  • การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing)

แพทย์จะใช้ข้อมูลเกี่ยวกับอาการทั้งหมดของคุณ และผลการตรวจที่ได้ในการวินิจฉัยโรค โดยอาจมีการส่งตัวคุณไปยังพบแพทย์ระบบประสาท (Neurologist) เพื่อวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม

การใช้ชีวิตประจำวันกับอาการเดินเซ

อาการเดินเซไม่สามารถหายขาดได้เอง เพราะฉะนั้นหากแพทย์พบว่ามีโรคอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการเดินเซ แพทย์จะทำการรักษาโรคนั้นๆ เป็นอันดับแรก เช่น ถ้าผู้ป่วยได้รับการบาดเจ็บที่สมอง เมื่อแพทย์รักษาจนหายเป็นปกติ ก็อาจทำให้อาการเดินเซหายไปด้วย

แต่ในบางกรณี เช่น โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) แพทย์อาจใช้วิธีการต่างๆ เพื่อควบคุมอาการของโรค แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการบำบัดหรือใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น ไม้เท้า ช้อนส้อมชนิดพิเศษ และเครื่องมือช่วยในการสื่อสาร เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคุณ

การรักษาอาการเดินเซ

ทางเลือกในการรักษาอาการเดินเซ ได้แก่

  • การออกกำลังกาย : ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย และช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
  • การทำกิจกรรมบำบัด : มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร และการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อน
  • การบำบัดด้านการพูด : เป็นการบำบัดเพื่อช่วยให้คุณสื่อสาร กลืนอาหาร และรับประทานอาหาร ได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างภายในบ้าน จะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการเดินเซใช้ชีวิตในบ้านได้ง่ายขึ้น เช่น

  • จัดระเบียบบ้านให้สะอาด ไม่มีของวางระเกะระกะ
  • ทำทางเดินให้กว้างขวาง
  • ติดตั้งราวจับ
  • ไม่ใช้พรมหรืออุปกรณ์ใดๆ ที่อาจทำให้ลื่นหรือหกล้ม

การบำบัดด้วยอาหาร

นักวิจัยจากศูนย์การแพทย์ Albany ประเทศสหรัฐอเมริกา (Albany Medical Center) ค้นพบชนิดของอาการเดินเซที่สามารถรักษาได้ คือ อาการเดินเซที่เกิดจากการขาดวิตามินอี เมื่อรักษาด้วยการให้วิตามินอีเสริม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ส่วนผู้ป่วย Gluten Ataxia ก็มีอาการดีขึ้นเมื่อเมื่อรับประทานอาหารที่ปราศจากกลูเทน (Gluten)

ที่มาของข้อมูล

Krista O'Connell, What Is Uncoordinated Movement? (https://www.healthline.com/health/movement-uncoordinated), December 23, 2016.


12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
What is Ataxia? Definition, Symptoms & Types. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/ataxia/article.htm)
Ataxia: Types, symptoms, treatment, and causes. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/162368)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป