กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.นันทิดา สาลักษณ
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.นันทิดา สาลักษณ

แผลกดทับ

รู้จักแผลชื่อสั้นๆ ที่อาจเปลี่ยนชีวิตคุณและคนที่รักไปตลอดกาล หากดูแลและรักษาได้ไม่ดีพอ
เผยแพร่ครั้งแรก 31 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 11 ส.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
แผลกดทับ

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • แผลกดทับเกิดจากการที่มีแรงกดปริมาณมากเกิดขึ้นกับผิวหนังภายในช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูก เช่น กระดูกก้นกบ กระดูกเชิงกราน โดยสามารถเกิดได้ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงถึงหลักวัน หรือเกิดในบริเวณที่มีอุปกรณ์การแพทย์กดทับ
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดแผลกดทับได้ง่าย เช่น ผู้มีปัญหาสุขภาพที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก โดยเฉพาะหากต้องนอนพักรักษาตัวในท่านอน หรือท่านั่งเป็นเวลานาน ไม่ค่อยพลิกตะแคงตัว ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย
  • การรักษาแผลกดทับมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วและไม่ลุกลาม ทั้งการแต่งแผล การใช้ครีม และเจลสำหรับเร่งกระบวนการฟื้นตัวและบรรเทาการกดทับ บางครั้งอาจต้องมีการผ่าตัดรักษาสำหรับกรณีที่เกิดแผลรุนแรง
  • แม้ว่าแพทย์จะดูแลแผลกดทับระดับ 3 หรือ 4 ดีที่สุดแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ และภาวะที่ตามมาบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด กระดูกและข้อต่อติดเชื้อ โรคเนื้อเน่า โรคเนื้อเยื่อเน่าตายและสร้างแก๊ส
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิงและผู้ชายทุกวัย

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า "แผลกดทับ" กันมาบ้าง และเข้าใจกันทั่วไปว่า แผลกดทับมักเกิดกับผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่แทบไม่มีการเคลื่อนไหว หรือผู้ป่วยที่เคลื่อนไหวน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อเกิดบาดแผลขึ้น ผู้ป่วยแผลกดทับจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเพื่อให้แผลหายเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้วแผลกดทับอาจเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น หรือลุกลามลึกขึ้นๆ จนถึงกระดูกได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แผลกดทับเกิดขึ้นได้อย่างไร

แผลกดทับเกิดจากการที่มีแรงกดปริมาณมากเกิดขึ้นกับผิวหนังภายในช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูก เช่น กระดูกก้นกบ กระดูกเชิงกราน โดยสามารถเกิดได้ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงถึงหลักวัน หรือเกิดในบริเวณที่มีอุปกรณ์การแพทย์กดทับ 

อย่างไรก็ตาม แผลกดทับยังสามารถเกิดได้จากแรงทับปริมาณน้อยๆ แต่อยู่ในช่วงเวลายาวนานได้ด้วย 

แรงกดที่เกิดขึ้นจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดผ่านผิวหนัง เมื่อผิวหนังส่วนนั้นไม่ได้รับเลือดไปเลี้ยงก็จะเริ่มขาดออกซิเจนกับสารอาหารและเสียหายลงจนเกิดแผลขึ้นมา 

การขาดเลือดไปเลี้ยงยังหมายถึงว่า ผิวหนังจะขาดเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ใช้ต่อสู้กับการติดเชื้อ เมื่อเกิดแผลขึ้นจะทำให้บาดแผลติดเชื้อแบคทีเรียขึ้น

แผลกดทับยังสามารถเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้ได้ด้วย

  • แรงกด หรือเสียดสี จากพื้นผิวแข็งๆ เช่นเตียง หรือรถเข็นนั่ง 
  • แรงกดที่เกิดกับผิวหนังจากการเคลื่อนไหวที่ควบคุมไม่ได้ของกล้ามเนื้อ เช่น การบิดเกร็งของกล้ามเนื้อ 
  • ความชื้น ทำให้ผิวหนังชั้นนอกถูกทำลายลง

ทั้งนี้ระยะเวลาที่จะเกิดแผลกดทับจะขึ้นอยู่กับปริมาณของแรงกด และความบอบบางของผิวหนัง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ใครสามารถประสบกับแผลกดทับได้บ้าง

  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก โดยเฉพาะหากต้องนอนพักรักษาตัวในท่านอน หรือท่านั่งเป็นเวลานาน ไม่ค่อยพลิกตะแคงตัว
  • ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย 
  • ผู้ที่มีภาวะส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิตผ่านร่างกาย เช่น เบาหวานชนิดที่ 2 สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดแผลกดทับได้ง่ายขึ้น
  • ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทรับความรู้สึก ทำให้การรับรู้ความรู้สึกเสียไปและเกิดแผลกดทับโดยไม่รู้ตัวได้
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีจะมีความอ่อนไหวต่อแผลกดทับสูงมากเพราะมีการขยับร่างกายน้อยร่วมกับมีผิวหนังที่บอบบางเนื่องจากมีอายุมากขึ้น

ปัจจัยอื่นๆ ที่นำไปสู่การเกิดแผลกดทับได้

  • ปัญหาด้านการเคลื่อนไหวของร่างกายบางส่วน หรือทุกส่วน เช่น การบาดเจ็บที่ไขสันหลังจนทำให้อวัยวะบางส่วน หรือทั้งหมดเป็นอัมพาต ความเสียหายของสมองจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หรือการบาดเจ็บที่สมองรุนแรงจนทำให้เป็นอัมพาต ภาวะที่ทำให้เกิดความเสียหายที่ประสาทการเคลื่อนไหวร่างกายแบบพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือโรคพาร์กินสัน
  • มีความเจ็บปวดรุนแรงขณะขยับร่างกายบางส่วน หรือทั้งหมด เช่น กระดูกร้าว หรือหัก กำลังฟื้นตัวจากการผ่าตัด อยู่ในภาวะโคม่า หรือภาวะที่ทำให้ขยับข้อต่อกับกระดูกยากขึ้น เช่น โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์
  • โภชนาการไม่ดีซึ่งส่งผลต่สุขภาพผิว เช่น ภาวะกลืนลำบาก ป่วยด้วยโรคอะนอเรกเซีย (ภาวะทางจิตเวชที่ทำให้ผู้ป่วยมีความหมกมุ่นกับการคงน้ำหนักร่างกายให้น้อยที่สุด) ภาวะขาดน้ำ ภาวะที่น้ำในร่างกายของคุณสูญเสียออกไปมากกว่าปริมาณที่รับเข้ามา ดังนั้นเพื่อให้ผิวหนังมีสุขภาพดีจึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่จำเป็นด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  • ภาวะสุขภาพต่างๆ ที่ขวางการไหลเวียนเลือด หรือทำให้ผิวหนังมีความอ่อนไหวต่อการบาดเจ็บและความเสียหาย เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเบาหวานชนิดที่ 1 กับเบาหวานชนิดที่ 2 (ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานจะขวางการไหลเวียนของเลือด) โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (เลือดที่ไหลไปเลี้ยงขาเกิดตีบเนื่องจากการสะสมกันของสารไขมันในเส้นเลือดแดง) หัวใจล้มเหลว ไตล้มเหลว
  • อายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ผิวหนังจะสูญเสียความยืดหยุ่นไปจนทำให้บอบบางต่อความเสียหาย การไหลเวียนโลหิตที่ผิวหนังลดลงเนื่องจากความชรา ปริมาณไขมันใต้ชั้นผิวหนังลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น
  • ภาวะกลั้นปัสสาวะ หรือ/อุจจาระไม่อยู่ ผิวหนังบริเวณนั้นมีความชื้นสูงขึ้นจนบอบบางต่อการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้เกิดแผลกดทับขึ้นได้ รวมทั้งการทำใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ส่งผลให้เกิดความอับชื้น การเสียดสีของผิวหนังกับผ้าอ้อมได้
  • ภาวะทางจิตเวชรุนแรง ผู้ที่มีภาวะทางจิตรุนแรงอย่างเช่นโรคจิตเภท (ภาวะที่ทำให้ไม่สามารถแยกความเป็นจริงกับจินตนาการออก) หรือภาวะซึมเศร้ารุนแรงจะมีความเสี่ยงต่อแผลกดทับขึ้นเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารลดน้อยลง ผู้ป่วยมักมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น  ภาวะกลั้นการขับถ่ายไม่อยู่ทำให้ผิวหนังมีความอ่อนไหวต่อการบาดเจ็บและติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ตำแหน่งที่พบแผลกดทับได้บ่อย 

  • บริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ เช่น กระดูกก้นกบ กระดูกเชิงกราน กระดูกสันหลัง ข้อศอก ส้นเท้า
  • บริเวณผิวหนังส่วนที่่รับน้ำหนักและมักเป็นส่วนที่ไม่ถูกปกคลุมด้วยไขมันร่างกายและสัมผัสโดยตรงกับพื้นผิวของเตียงนอน หรือรถเข็น เช่น ไหล่ หรือสะบักไหล่ กระดูกสันหลัง แผ่นหลัง ก้น 
  • บริเวณที่มีความอับชื้น
  • บริเวณที่มีการสัมผัส หรือเสียดสีกับอุปกรณ์ เครื่องใช้ที่มีความกระด้าง หยาบ แข็ง 
  • บริเวณที่มีอุปกรณ์การแพทย์กดทับ

การวินิจฉัยแผลกดทับ

ทางผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจะพยายามป้องกันการเกิดแผลกดทับขึ้นมาก่อน ด้วยการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละคน 

แต่หากเกิดแผลกดทับขึ้นมา แพทย์จะวินิจฉัยแผลกดทับได้ด้วยการสังเกตผิวหนังที่มีอาการ กระบวนการประเมินความเสี่ยงจะเป็นการพิจารณาประเด็นต่อไปนี้ของผู้ป่วย

  • สุขภาพโดยรวม 
  • ความสามารถในการเคลื่อนไหว 
  • ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีเพียงใด
  • ภาวะปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อลักษณะท่าทาง 
  • มีอาการของการติดเชื้อหรือไม่ 
  • สุขภาพทางจิต 
  • สอบถามประวัติการเกิดแผลกดทับในอดีต
  • สอบถามการขับถ่าย เช่น มีภาวะกลั้นขับถ่ายไม่อยู่หรือไม่ 
  • สอบถามเรื่องอาหารการกิน 

ความรุนแรงของแผลกดทับ

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแบ่งระดับความรุนแรงของแผลกดทับด้วยการใช้ระบบเกรด ระบบที่มักใช้กันมากที่สุดคือ "European Pressure Ulcer Advisory Panel: EPUAP"  ยิ่งคะแนนสูงจะหมายถึงการบาดเจ็บที่ผิวหนังกับเนื้อเยื่อข้างใต้รุนแรงมาก

เกรด 1 หรือแผลกดทับระดับ 1 เป็นแผลระดับผิวเผินที่สุด ยังไม่มีการฉีกขาด เพียงแต่ผิวหนังที่ถูกกดทับจะเปลี่ยนสีไปซึ่งอาจเป็นสีแดงสำหรับผู้มีผิวขาว สีม่วง หรือเขียวสำหรับผู้มีผิวดำ แผลกดทับระดับนี้จะไม่เปลี่ยนเป็นสีขาวเมื่อใช้นิ้วกดลงไป อาจมีอาการคัน หรือปวดบ้าง มีผิวสัมผัสอุ่น นุ่ม หรือแข็งก็ได้

เกรด 2 หรือแผลกดทับระดับ 2 เป็นระดับที่ลึกชั้นหนังแท้ แผลที่เกิดขึ้นอาจดูเหมือนกับแผลเปิด มีสีชมพู หรือแดง สามารถเกิดตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนองได้

เกรด 3 หรือแผลกดทับระดับ 3 สูญเสียผิวหนังและชั้นเนื้อเยื่อข้างใต้จนมองเห็นชั้นไขมันได้  แผลที่เกิดขึ้นอาจมีความลึกมากคล้ายโพรง แต่กล้ามเนื้อกับกระดูกจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตับวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 65%

ตรวจตับ วันนี้ เปรียบเทียบราคา / ประหยัดกว่า / ผ่อน 0% ได้ / แอดมินพร้อมให้บริการ กดที่นี่

เกรด 4 หรือแผลกดทับระดับ 4 เป็นแผลกดทับที่รุนแรงที่สุด สูญเสียผิวหนังและชั้นเนื้อเยื่อข้างใต้ทั้งหมด แผลลึกจนมองเห็นชั้นพังผืด กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกอ่อน หรือกระดูกที่อยู่ข้างใต้ได้

แผลกดทับระดับ 3 หรือ 4 สามารถเกิดขึ้นได้เร็วมาก และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิตสูง ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของผู้ที่ผิวมีความบอบบาง แรงกดมาก ๆ สามารถทำให้เกิดแผลกดทับได้ภายใน 1 หรือ 2 ชั่วโมง 

แต่ในบางกรณีความเสียหายอาจจะแสดงให้เห็นชัดเจนภายในเวลาไม่กี่วัน

การรักษาและดูแลแผลกดทับ

การรักษาแผลกดทับมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วและไม่ลุกลาม ทั้งการแต่งแผล การใช้ครีม และเจลสำหรับเร่งกระบวนการฟื้นตัวและบรรเทาการกดทับ บางครั้งอาจต้องมีการผ่าตัดรักษาสำหรับกรณีที่เกิดแผลรุนแรง 

บางกรณีแผลกดทับที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการบาดเจ็บเล็กน้อยที่รักษาด้วยการพยาบาลง่ายๆ เล็กน้อยเท่านั้น แต่สำหรับบางคน แผลกดทับอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเนื้อตายเน่า

การรักษาแผลกดทับ

อาจเป็นเรื่องยุ่งยาก น่ารำคาญ และมีความท้าทายอย่างมาก ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง หรือเกรดของแผล

  • การทำความสะอาดแผล ต้องใช้ชุดอุปกรณ์ปลอดเชื้อ กระบอกฉีดยาสำหรับฉีดล้างแผล น้ำเกลือปราศจากเชื้อสำหรับใช้ล้างแผล นอกจากจะไม่ทำให้แผลแสบ หรือระคายเคือง แล้ว น้ำเกลือยังไม่ทำลายเนื้อเยื่อสร้างใหม่ (ห้ามใช้เบตาดีน แอลกอฮอล์ ยาแดง ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เด็ดขาด) ถุงมือสะอาด กลุ่มวัสดุปิดแผลที่เคลือบสารให้ความชุ่มชื้น
  • ล้างทำความสะอาดแผลให้สะอาด ด้วยการชุบน้ำเกลือเช็ดจากข้างในแผลออกมาและค่อยๆ ห่างจากแผลไปราว 1 นิ้ว  หากแผลลึกเป้นโพรงควรใช้กระบอกฉีดยาอัดน้ำเกลือเข้าไปแล้วฉีดล้างแผล 2-3 ครั้ง จนสะอาด จากนั้นซับแผลให้แห้ง
  • ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาภาวะติดเชื้อ ฆ่าเชื้อ และป้องกันการลุกลามของเชื้อ
  • ยาใช้ภายนอก เช่น ครีมและขี้ผึ้งสำหรับเร่งกระบวนการฟื้นตัวและป้องกันความเสียหายเพิ่มเติมของเนื้อเยื่อหลายชนิด
  • ปิดแผล ด้วยกลุ่มวัสดุปิดแผลที่เคลือบสารให้ความชุ่มชื้น ผ้าแต่งแผลไฮโดรโคลลอยด์ (มีเจลชนิดพิเศษที่เร่งกระบวนการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังใหม่บนแผล พร้อมกับทำให้ผิวหนังโดยรอบแห้งและมีสุขภาพดี) ผ้าแต่งแผลอัลจิเนท (เป็นผ้าแต่งแผลที่ผลิตมาจากสาหร่ายทะเลที่ประกอบด้วยโซเดียมและแคลเซียม ซึ่งเป็นสารที่ใช้เร่งกระบวนการฟื้นตัว)

ในบางกรณีอาจต้องมีการกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วจากแผลเพื่อกระตุ้นกระบวนการสมานตัวขึ้น หากเนื้อเยื่อที่ตายแล้วดังกล่าวมีพื้นที่เล็กน้อย หลังจากการกำจัดออกก็สามารถใช้ผ้าแต่งแผลกับยาทั่วไปได้ แต่หากมีพื้นที่มากจะต้องใช้เครื่องมือเข้ามาช่วย 

เทคนิคการเล็มแผลด้วยเครื่องมือ

  • การทำความสะอาดและชะล้างแผล เนื้อเยื่อที่ตายแล้วจะถูกกำจัดออกด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูง
  • อัลตราซาวด์ เนื้อเยื่อที่ตายจะถูกทำลายด้วยคลื่นพลังงานความถี่ต่ำ
  • เลเซอร์ เนื้อเยื่อที่ตายแล้วจะถูกกำจัดด้วยการจี้ด้วยแสงเลเซอร์
  • หัตถการเล็มแผล เนื้อเยื่อที่ตายแล้วจะถูกกำจัดด้วยเครื่องมือผ่าตัดอย่างมีผ่าตัดและปากคีบ
  • จะมีการใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อให้ผิวหนังที่ต้องเข้ารับการรักษาหมดความรู้สึกและเพื่อไม่ให้คนไข้รู้สึกเจ็บปวดขณะดำเนินการ

เทคนิคการเล็มแผลด้วยหนอนแมลงวัน

นอกจากนี้ "การรักษาด้วยหนอนแมลงวัน" เป็นวิธีเล็มเนื้อเยื่อที่ตายแล้วที่น่าสนใจ เพราะหนอนประเภทนี้ชอบกินเนื้อเยื่อติดเชื้อ หรือเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว หนอนเหล่านี้ยังช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อได้ด้วยการปล่อยสารฆ่าแบคทีเรียและกระตุ้นกระบวนการฟื้นตัวออกมาอีกด้วย 

การรักษาด้วยหนอนแมลงวันจะใส่ตัวหนอนลงไปพร้อมกับแต่งแผลด้วยผ้าปิดแผล หลังจากนั้นไม่กี่วัน วัสดุแต่งแผลกับตัวหนอนจะถูกนำออกมา ผู้ป่วยหลายรายอาจไม่ยอมรับการรักษารูปแบบนี้ แต่งานวิจัยพบว่า วิธีดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากกว่ากระบวนการเล็มแผลแบบปกติเสียอีก

ถ้าผู้ป่วยมีไข้ แผลกดทับเป็นหนอง หรือมีกลิ่นเหม็นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องเพราะอาจมีการติดเชื้อ เป็นอันตรายได้  ไปจนถึงในบางกรณีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษา

การผ่าตัด  

กรณีแผลกดทับระดับ 3 และ 4 อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อปิดแผลกดทับและเพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติมของเนื้อเยื่อ การรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นมีทั้งการทำความสะอาดแผลและเย็บขอบแผลให้ปิดเข้าด้วยกัน หรือใช้เนื้อเยื่อจากผิวหนังใกล้เคียงมาปิด  

การผ่าตัดรักษาแผลกดทับเป็นเรื่องท้าทายเพราะผู้ป่วยแผลกดทับส่วนมากจะมีสุขภาพโดยรวมที่ไม่ดีอยู่ก่อนทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดมากมาย เช่น การติดเชื้อ เนื้อเยื่อปลูกถ่ายตาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตุ่มหนอง การเกิดแผลกดทับซ้ำ การติดเชื้อในกระแสเลือด 

การติดเชื้อของกระดูก เลือดออกภายใน ฝี ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (เกิดลิ่มเลือดภายในเส้นเลือดดำที่ขา) แม้จะมีความเสี่ยงมาก แต่การผ่าตัดก็มักดำเนินการกันเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่างๆ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด เนื้อเน่าตาย

แนวทางการดูแลอื่นๆ ที่สำคัญ

  • เปลี่ยนอิริยาบถให้ผู้ป่วย เช่น พลิกตะแคงผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อลดลดการกดทับแผล และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยบางคนอาจต้องมีการเปลี่ยนท่าบ่อยครั้งกว่า เช่น ทุกๆ 15 นาที พยายามเลี่ยงการกดทับผิวหนังบริเวณที่อ่อนไหวต่อการเกิดแผลกดทับ หรือที่เป็นแผลกดทับอยู่
  • เปลี่ยนเตียง ผ้าปูเตียง และหมอนใหม่ มีเตียง ผ้าปูเตียง และหมอนแบบพิเศษที่มีช่องให้อากาศไหลเวียนอยู่ระหว่างผืนผ้าเพื่อควบคุมแรงกดลง ใช้บรรเทาแรงกดบนผิวหนังบอบบางได้ สำหรับผู้ที่คาดว่า จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับหรือผู้ที่มีแผลกดทับระดับ 1 หรือ 2 อยู่มักจะสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้และเห็นผลดี
  • หาอุปกรณ์เสริม เช่น ใช้หมอนรองกับการพันผ้าเพื่อบรรเทาการกดทับ หรือปกป้องผิวหนัง
  • ห้ามขาดสารอาหาร งานวิจัยพบว่า สารอาหาร เช่น โปรตีน สังกะสี เหล็ก วิตามินซี วิตามินเอ จะช่วยเร่งกระบวนการฟื้นตัวของบาดแผลได้ไวขึ้น  
  • ห้ามอด พยายามรับประทานอาหารมื้อเล็กลงตลอดทั้งวันแทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ 2 หรือ 3 มื้อ โดยการจัดทำตารางเวลาการรับประทานเอาไว้แทนการรับประทานอาหารทุกครั้งตามความหิว หากมีภาวะกลืนลำบาก พยายามดื่มเครื่องดื่มที่อุดมด้วยสารอาหาร หรืออาหารเหลวแทน หากคุณเป็นมังสวิรัติคุณควรได้รับโปรตีนจากแหล่งอื่นแทนเนื้อสัตว์ เช่นถั่ว ชีส โยเกิร์ต และอื่น ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของแผลกดทับ

แม้ว่าแพทย์จะดูแลแผลกดทับระดับ 3 หรือ 4 ดีที่สุดแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ และภาวะที่ตามมาบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ การติดเชื้อสามารถแพร่กระจายจากแผลกดทับไปยังชั้นผิวหนังที่ลึกกว่าได้ การติดเชื้อประเภทนี้จะเรียกว่าภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบซึ่งจะมีอาการเจ็บปวด ผิวหนังแดง และบวม ซึ่งต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ 

หากปล่อยภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบโดยไม่รักษาจะมีความเสี่ยงที่การติดเชื้อจะกระจายเข้าไปในเลือด หรือข้อต่อ หรือกระดูกข้างใต้ 

การติดเชื้อในกระแสเลือด หากผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำและเป็นแผลกดทับแบบติดเชื้อจะมีความเสี่ยงที่การติดเชื้อนั้นจะแพร่กระจายเข้าไปในเลือดและอวัยวะอื่นๆ ได้ ในกรณีที่รุนแรง ความเสียหายจะไปยังอวัยวะต่างๆ จนทำให้ความดันโลหิตตกลงอย่างมาก เรียกว่า "ภาวะช็อกจากเลือดติดเชื้อ" 

ภาวะนี้เป็นอันตรายอย่างมาก ผิวหนังจะเย็นลง อัตราการเต้นหัวใจเร็วขึ้น ทั้งนี้การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องรับการรักษาและดูแลในห้อง ICU ทันที 

กระดูกและข้อต่อติดเชื้อ การติดเชื้อสามารถลุกลามจากแผลกดทับเข้าไปในข้อต่อและกระดูกได้ หากเกิดการติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อขึ้นก็สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ สำหรับกรณีที่ติดเชื้ออย่างรุนแรงอาจต้องมีการผ่าตัดกำจัดออก

โรคเนื้อเน่า โรคเนื้อเน่าเป็นการติดเชื้อร้ายแรงที่ผิวหนังที่ทำให้เนื้อเยื่อตายลงอย่างรวดเร็ว มักจะเกิดภาวะเช่นนี้ขึ้นเมื่อแผลกดทับติดเชื้อแบคทีเรียประเภทพิเศษ เช่น Group A streptococci ต้องมีการรักษาอย่างเร่งด่วนด้วยยาปฏิชีวนะกับการผ่าตัดเล็มเนื้อตายออก

โรคเนื้อเยื่อเน่าตายและสร้างแก๊ส โรคเนื้อเยื่อเน่าตายและสร้างแก๊สเป็นภาวะติดเชื้อร้ายแรงที่เกิดขึ้นเมื่อแผลกดทับติดเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม (Clostridium) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำหรือไม่มีเลย 

แบคทีเรียประเภทนี้จะผลิตแก๊สและปล่อยสารพิษอันตรายออกมา โดยอาการของโรคเนื้อเยื่อเน่าตายและสร้างแก๊สจะมีทั้งอาการเจ็บปวดรุนแรงและผิวหนังบวมขึ้นอย่างรวดเร็ว

โรคเนื้อเยื่อเน่าตายและสร้างแก๊สต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนด้วยการผ่าตัดเล็มเนื้อตาย ในกรณีร้ายแรงส่วนมากอาจต้องมีการตัดอวัยวะเพื่อป้องกันไม่ให้การติดเชื้อลุกลามมากขึ้น

วิธีป้องกันตนเองจากแผลกดทับ

หากคุณ หรือคนที่คุณรักอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ มีภาวะสุขภาพอื่นๆ อยู่ เช่น โรคเบาหวานที่จะทำให้การรับรู้ความเจ็บปวดต่างๆ ของร่างกายลดลง ควรตรวจสอบสภาพผิวหนังของคุณ หรือคนที่คุณรักเป็นประจำทุกวัน เพื่อมองหาสัญญาณของแผลกดทับ 

เช่น ผิวหนังเปลี่ยนสี คุณควรใช้กระจกเพื่อส่องดูส่วนต่างๆ ของร่างกายที่มองเห็นตามปกติได้ยาก เช่น แผ่นหลัง ก้น ส้นเท้า หากสังเกตเห็นความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

หากคุณเป็นคนสูบบุหรี่ การเลิกสูบก็เป็นอีกวิธีในการป้องกันแผลกดทับ เนื่องจากบุหรี่จะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดตกลง กดภูมิคุ้มกันร่างกายลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับขึ้น

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิงและผู้ชายทุกวัย จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Xinjuan Suna, Kechun Jianga, Jingan Chen et al. A systematic review of maggot debridement therapy for chronically infected wounds and ulcers, International Journal of Infectious Diseases 2014; 25:32-37.
Stages of Pressure Sores: Bed Sore Staging 1-4 (https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/pressure-sores-4-stages#1), 19 October 2019.
Raetz J, et al. Common questions about pressure ulcers. American Family Physician. 2015;92:888.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป