ปลายประสาทอักเสบ อีกหนึ่งโรคร้ายที่ควรระวัง

ปลายประสาทอักเสบ โรคร้ายที่ส่งผลต่อการรับความรู้สึก
เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ปลายประสาทอักเสบ อีกหนึ่งโรคร้ายที่ควรระวัง

ความหมายของโรคปลายประสาทอักเสบ

โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) เป็นภาวะที่เส้นประสาทซึ่งเชื่อมต่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายไปยังสมองและไขสันหลังเกิดความเสียหาย 

โดยปกติเส้นประสาทมีหน้าที่รับความรู้สึก และข้อมูลส่งมายังระบบประสาทส่วนกลาง คือสมองและไขสันหลัง และนำคำสั่งกลับไปยังอวัยวะเป้าหมายให้เกิดการตอบสนอง หากเส้นประสาทได้รับความเสียหาย จะทำให้เกิดความผิดปกติทั้งการรับความรู้สึกและการตอบสนองต่อสิ่งเร้า อาการที่พบได้บ่อยในโรคปลายประสาทอักเสบ ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • รู้สึกชาตามส่วนต่างๆ โดยเฉพาะมือและเท้า
  • มีอาการปวดแปลบ หรือปวดจี๊ดๆ
  • รู้สึกร้อนวูบวาบ หรือแสบร้อนใต้ผิวหนัง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เคลื่อนไหวลำบาก และบางครั้งอาจเสียการทรงตัว

นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตต่ำ เหงื่อออกมาก และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หากไม่รีบรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น เกิดบาดแผลไหม้บนผิวหนัง หกล้มบ่อย เนื่องจากทรงตัวไม่อยู่ เป็นต้น 

สาเหตุของโรคปลายประสาทอักเสบ

ปลายประสาทอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ และอาจเป็นผลข้างเคียงจากโรคต่างๆ เช่น

  • เกิดจากโรคเบาหวาน : เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากการมีน้ำตาลในเลือดสูง มักทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทส่วนต่างๆ ผู้ป่วยเบาหวานจึงมักมีอาการชาตามมือและเท้าด้วย
  • เส้นประสาทถูกกดทับ : เป็นสาเหตุที่มักพบในผู้สูงวัย และผู้ที่ทำกิจกรรมในอิริยาบถเดิมๆ เป็นเวลานาน เช่น การนั่งหรือนอนตลอดทั้งวัน รวมถึงเส้นประสาทได้รับบาทเจ็บด้วย เช่น จากอุบัติเหตุหรือเกิดขึ้นระหว่างการผ่าตัด
  • เกิดอุบัติเหตุ : ทำให้เกิดบาดแผลและความเสียหายต่อเส้นประสาท เช่น การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรืออุบัติเหตุอื่นๆ
  • โรคมะเร็งบางชนิด: มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) และ มัลติเพิล ไมอีโลมา ซึ่งเป็นมะเร็งของไขกระดูก (multiple myeloma)
  • เกิดการติดเชื้อ : เชื้อไวรัสและแบคทีเรียหลายชนิด สามารถสร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทได้ เช่น 
    • เชื้อไวรัส EBV 
    • เชื้อไวรัสตับอักเสบ 
    • เชื้อไวรัสงูสวัด 
    • เชื้อ HIV 
    • โรคคอตีบ
    • ภาวะเป็นพิษจากเชื้อโบทูลิซึม (botulism)
  • ขาดสารอาหาร : โดยเฉพาะวิตามิน บี 1 วิตามิน บี 6 และ วิตามิน บี 12  หากขาดสารอาหารดังกล่าว อาจทำให้เส้นประสาททำงานผิดปกติ
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม : เช่น เป็นโรค Charcot-Marie-Tooth ซึ่งเป็นโรคผิดปกติของเส้นประสาทชนิดหนึ่ง โรคความผิดปกติอื่นที่ส่งผลต่อเส้นประสาทสั่งการ และเส้นประสาทรับความรู้สึก ซึ่งสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม (hereditary motor sensory neuropathy)
  • โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ : ทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อในระบบประสาทของตัวเอง เช่น
  • โรคแอมีลอยด์ (amyloidosis): เป็นกลุ่มของอาการที่พบได้น้อยแต่มีความรุนแรง เกิดขึ้นจากการสะสมของโปรตีนผิดปกติที่ชื่อว่า แอมีลอยด์ (amyloid) ในเนื้อเยื่อและอวัยวะภายในร่างกาย
  • Guillain-Barré syndrome: หรือกลุ่มอาการกูเลนแบร์ เป็นความผิดปกติของระบบประสาทที่พบได้น้อยมาก ลักษณะอาการ คือกล้ามเนื้ออ่อนแรงลงอย่างรวดเร็วในไม่กี่วัน 
  • จากยาบางชนิด
    • ยาเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ มะเร็งระบบน้ำเหลือง หรือ ไมอีโลมา
    • ยาปฏิชีวนะบางชนิด ถ้าหากรับประทานนานเป็นเดือนๆ เช่น ยา metronidazole หรือ nitrofurantoin
    • ยา phenytoin สำหรับรักษาโรคลมชัก (หากรับประทานเป็นเวลานาน)
    • ยา amiodarone และ thalidomide
  • เกิดจากสาเหตุอื่นๆ : เช่น 
    • การใช้ยาเคมีบำบัด 
    • การอักเสบของเส้นเลือด (vasculitis)
    • เนื้องอกทับเส้นประสาท 
    • โรคตับเรื้อรัง หรือโรคไตเรื้อรัง
    • ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (hypothyroidism)
    • การสัมผัสกับพิษโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท 
    • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นเวลาหลายปี 

โรคปลายประสาทอักเสบจากโรคเบาหวาน

โรคปลายประสาทอักเสบมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานมากที่สุด ทั้งจากโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ซึ่งเราเรียกว่า "โรคเส้นประสาทจากโรคเบาหวาน" (diabetic polyneuropathy) เกิดขึ้นจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงจนไปทำลายหลอดเลือดขนาดเล็กที่เลี้ยงเส้นประสาท

ยิ่งเป็นโรคเบาหวานเป็นระยะเวลานาน จะยิ่งมีความโอกาสเป็นโรคปลายประสาทอักเสบมากขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน 1 ใน 4 จะประสบกับอาการปวดบางอย่าง ที่มีสาเหตุมาจากการทำลายของเส้นประสาท

ถ้าคุณเป็นโรคเบาหวานและไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม ความเสี่ยงของการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น หรือถ้าคุณมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้สูบบุหรี่
  • ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ
  • อายุมากกว่า 40 ปี

ถ้าคุณเป็นผู้ป่วยเบาหวาน คุณควรตรวจเท้าของคุณเป็นประจำเพื่อดูว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นที่เท้าหรือไม่

การรักษาโรคปลายประสาทอักเสบ

การรักษาปลายประสาทอักเสบ สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เช่น

  • รักษาด้วยยา ซึ่งยาที่ใช้บ่อย ได้แก่
    • ยาบรรเทาอาการปวด หากอาการไม่รุนแรงอาจใช้ยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs แต่หากมีอาการปวดและชารุนแรง ก็อาจต้องใช้ยาอื่นๆ เช่น Oxycodone และ Tramadol ซึ่งมีโอปิออยด์เป็นส่วนประกอบ และต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น
    • ยาทาเฉพาะที่ เช่น ยา Capsaicin ซึ่งเป็นครีมทาลดอาการปวดส่วนที่เกิดปลายประสาทอักเสบ แต่อาจมีผลข้างเคียงคือเกิดอาการแสบและระคายเคืองผิวหนังได้ 
    • ยาอื่นๆ เช่น ยา Gabapentin สำหรับต้านชัก ซึ่งใช้รักษาโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทด้วย แต่อาจมีผลข้างเคียงคืออาการเวียนศีรษะ นอกจากนี้ ยังมียากลุ่มแก้โรคซึมเศร้า เช่น Tricyclic และ Doxepin ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของสารสื่อประสาท และสามารถลดความเจ็บปวดได้ 
  • การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาสำหรับผู้ที่เส้นประสาทถูกกดทับ เช่น มีเนื้องอก หรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งการผ่าตัดจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดอย่างถาวร
  • การบำบัดอื่นๆ ใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด รักษาการบาดเจ็บเสียหายของเส้นประสาท และช่วยให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น เช่น การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาท (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation: TENS) การทำกายภาพบำบัด และการใช้ไม้ค้ำพยุง หรือเครื่องช่วยเดิน เป็นต้น

การป้องกันโรคปลายประสาทอักเสบ

  • ป้องกันและควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน การติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรียต่างๆ
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารที่มีวิตามินบี 12 สูง เช่น ผักใบเขียว ธัญพืช ข้าวซ้อมมือ อาหารที่มีโปรตีนไขมันต่ำ
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อเส้นประสาทถูกกดทับ เช่น การยกของหนัก การก้มๆ เงยๆ ในท่าเดิมนานๆ
  • ออกกำลังเป็นประจำ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ



1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป