กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล แพทย์ทั่วไป

ระวังโรคปลายประสาทอักเสบ อาการชา ร้อนวูบวาบ หลังตื่นนอน

รวม 5 สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปลายประสาทอักเสบ และวิธีการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 15 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ระวังโรคปลายประสาทอักเสบ อาการชา ร้อนวูบวาบ หลังตื่นนอน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เส้นประสาท คือระบบที่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อ ความเจ็บปวด การสั่นสะเทือนในร่างกาย
  • เริ่มชาตามใบหน้า มือ แขน ขา คืออาการเบื้องต้นของโรคปลายประสาทอักเสบหรือเส้นประสาทกดทับ
  • อาการปลายประสาทอักเสบ เกิดจาก การกดทับเฉพาะที่ การขาดวิตามิน โรคประจำตัว หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุที่ทำให้เส้นประสาทเสียหาย
  • โรคปลายประสาทอักเสบป้องกันได้โดย รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ขยับร่างกายเป็นประจำ
  • หากคุณคิดว่าอาการชาที่เกิดขึ้นนี้ เข้าข่ายโรคปลายประสาทอักเสบ แนะนำมองหาแพ็กเกจกายภาพบำบัดไว้เพื่อรักษาโรคนี้ ดูได้ที่นี่

ถ้าเริ่มเกิดอาการชา รู้สึกเจ็บปวด ร้อน หรือเย็น ตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายแบบผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง แขน ขา และใบหน้า อย่านิ่งนอนใจ เพราะนั่นคืออาการเบื้องต้นของโรคปลายประสาทอักเสบ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า เส้นประสาทถูกกดทับ

อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน หรือหลังตื่นนอนใหม่ๆ โดยมีลักษณะร้อนวูบวาบ หรือชายุบยิบ และต่อมาก็จะเริ่มชานานกว่าเดิม สัมผัสอะไรก็เริ่มไม่มีความรู้สึกตรงส่วนนั้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เส้นประสาทอักเสบ คือการที่ระบบเส้นประสาทในร่างกายที่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อ ความรู้สึกเจ็บปวดทั้งหมดของร่างกาย การสั่นสะเทือน และการขยับข้อต่อต่างๆ ในร่างกาย เกิดความผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะพบว่าเกิดจากการติดเชื้อ

5 สาเหตุของโรคปลายประสาทอักเสบ

1. การถูกกดทับเฉพาะที่

เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในคนที่ต้องทำงานที่ต้องใช้ข้อมือหนักๆ เป็นประจำจนทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทตรงบริเวณนั้น เช่น รับจ้างซักรีด พิมพ์ดีด หรือคอมพิวเตอร์ เป็นประจำ หรือแม้กระทั่งการเล่นกีฬาที่ต้องใช้มือเป็นประจำก็สามารถทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทได้

2. เป็นผลมาจากโรคประจำตัว หรือเกิดความผิดปกติด้านอื่นแทรกซ้อน

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานในระยะเวลานาน และไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จะทำให้เกิดอาการชาจากปลายประสาทอักเสบ ซึ่งมักเรียกว่าโรคเส้นประสาทจากโรคเบาหวาน (Diabetic neuropathies) นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคไทรอยด์บางชนิด โรคไตวายเรื้อรัง โรคติดต่อบางชนิด และผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านภูมิคุ้มกัน

3. การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ

ผู้ที่ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจแล้วไม่รีบรักษา อาจทำให้เชื้อลุกลามไปยังปลายประสาทจนเกิดการอักเสบได้ โดยมักเกิดบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งถ้ามีอาการรุนแรงก็อาจถึงขั้นต้องสอดท่อช่วยหายใจ เพราะกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจเกิดการล้มเหลวนั่นเอง อย่างไรก็ตามภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก

4. เกิดจากการขาดวิตามิน หรือสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายบางชนิด

หากขาดวิตามินบี 12 อย่างรุนแรง จะทำให้ระดับการทำงานของเซลล์ประสาทและระบบประสาทผิดปกติ เนื่องจากวิตามินบี 12 ทำหน้าที่ป้องกันเยื่อไมอีลิน (Myelin) ที่ห่อหุ้มเส้นประสาทเอาไว้ แต่สาเหตุนี้มักพบได้น้อยในปัจจุบัน

5. เกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นๆ

  • ได้รับยาหรือสารพิษบางชนิดมากจนเกินไป คือยาต้านมะเร็ง, ยาปฏิชีวนะบางชนิด, สารตะกั่ว และปรอท เป็นต้น หากถอนพิษจนหมดก็จะกลับมาเป็นปกติ
  • เกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจนส่งผลให้ปลายประสาทเกิดความเสียหาย หากรักษาจนอาการดีขึ้นก็จะกลับมาเป็นปกติ

อาการของโรคปลายประสาทอักเสบ

ผู้ป่วยจะมีอาการชา มึน และอ่อนแรงในบริเวณนิ้วมือ แขน เท้า และขา โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นส่วนปลายของร่างกายมากกว่าจะเป็นตามช่วงกลางของร่างกาย หรือบางครั้งก็จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนเหมือนโดนพริก หรือคล้ายถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกที่บริเวณนั้นๆ

ในกรณีที่เป็นโรคของเส้นประสาทสมอง ก็จะสูญเสียหน้าที่ของเส้นสมองคู่นั้นๆ ก่อให้เกิดอาการปากเบี้ยว และหลับตาไม่สนิท

อาการที่คล้ายคลึงกับโรคปลายประสาทอักเสบ

ความผิดปกติที่ระบบประสาทส่วนกลาง หรือความผิดปกติที่เกิดความเสียหายต่อไขสันหลัง จะมีลักษณะอาการคล้ายกับโรคปลายประสาทอักเสบ มักมีสาเหตุมาจากการเกิดเนื้องอก หรือมีอะไรเข้าไปกดทับเส้นประสาท ได้แก่ กระดูกงอก หรือหมอนรองกระดูกหลังปลิ้นไปกดเส้นประสาท โดยจะมีอาการชาตามร่างกาย อ่อนแรง และสูญเสียการทรงตัวไปในที่สุด ถือเป็นอาการที่รุนแรงกว่าโรคปลายประสาทอักเสบอย่างมาก

วิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบ

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เส้นประสาทถูกกดทับเป็นเวลานาน โดยไม่ควรอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานจนเกินไป
  • ผู้ที่ป่วยโรคเบาหวานควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะให้ได้ และดูแลร่างกายให้แข็งแรง สมบูรณ์อยู่เสมอ
  • ถ้ามีโรคประจำตัวอย่างอื่นก็ให้รับประทานยารักษาโรคตามที่แพทย์แนะนำ และสั่งจ่ายให้ แต่ให้เพิ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือรับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วยเมื่อมีอาการปวด
  • รับประทานวิตามินเสริม โดยเฉพาะวิตามินบี12 หรือที่เรียกว่า โคบาลามิน ก็จะช่วยส่งเสริมการซ่อมแซมเส้นประสาทต่างๆ ให้กลับมาอยู่ในสภาพปกติ พร้อมทั้งบรรเทาอาการชา และอาการข้างเคียงต่างๆ ให้ดีขึ้น
  • ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
  • หมั่นทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูร่างกาย กล้ามเนื้อ และระบบประสาท ให้กลับมาแข็งแรงและใช้งานได้ตามปกติ

ข้อควรระวังในผู้ป่วยโรคปลายประสาทอักเสบ

  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลตามปลายมือปลายเท้า แต่ถ้าพบว่ามีบาดแผล หรือร่องรอยฟกช้ำ ให้รีบรักษา หรือไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไม่ให้ลุกลาม
  • หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกฮอล์

โรคปลายประสาทอักเสบ มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหาร หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรง และห่างไกลจากโรคนี้แน่นอน


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Azhary H, et al. Peripheral Neuropathy: Differential Diagnosis and Management. 2010. Am Fam Physician
Peripheral neuropathy (https://www.nhs.uk/conditions/peripheral-neuropathy/), 24 April 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป