กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป

ระบบประสาททำงานอย่างไร

ระบบประสาททำหน้าที่ควบคุมการรับรู้ และการตอบสนองของร่างกาย มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และมีกระบวนการทำงานอย่างไร อ่านเลย!
เผยแพร่ครั้งแรก 11 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 8 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ระบบประสาททำงานอย่างไร

ระบบประสาท (Nervous system)

ทำหน้าที่ควบคุมการรับรู้ และการตอบสนองของร่างกาย มีหลักการทำงานคือ ส่งข้อมูลจากสิ่งที่รับรู้ในรูปของกระแสไฟฟ้าไปยังอวัยวะที่ทำหน้าที่สั่งการ ได้แก่ สมอง และไขสันหลัง เพื่อให้ร่างกายเกิดการตอบสนองต่างๆ

ระบบประสาทของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนมาก เนื่องจากสมองของมนุษย์มีวิวัฒนาการมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น และยังมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้องด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

องค์ประกอบสำคัญของระบบประสาท

เซลล์ประสาท (Neuron)

เป็นหน่วยเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลในรูปของสัญญาณประสาท โดยเซลล์ประสาทจะมีส่วนที่เรียกว่า ใยประสาท (Nerve fiber) ซึ่งยื่นออกมาเป็นแขนงอยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  • เดนไดรท์ (Dendrite) ทำหน้าที่รับกระแสประสาทเข้ามายังเซลล์
  • แอกซอน (Axon) ทำหน้าที่นำกระแสประสาทออกจากเซลล์เพื่อส่งต่อไปยังเซลล์อื่น หรือไปยังเส้นประสาทที่เข้าสู่สมอง และไขสันหลัง

โดยจุดที่เกิดการส่งต่อกระแสประสาทระหว่างแอกซอนและเดนไดรท์ของเซลล์ 2 เซลล์ เรียกว่า จุดประสานประสาท (synapse)

เส้นประสาท (Nerve)

เป็นมัดของใยประสาทที่เชื่อมต่อระหว่างสมองและไขสันหลัง รวมถึงอวัยวะอื่นๆ ที่ทำหน้าที่นำส่งกระแสประสาท เส้นประสาทจึงประกอบด้วยปลายแอกซอนจำนวนมาก

เส้นประสาทสามารถแบ่งได้เป็น เส้นประสาทสมอง และเส้นประสาทไขสันหลัง ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกันคือ รับข้อมูลมายังสมองหรือไขสันหลัง และส่งคำสั่งกลับไปยังอวัยวะเป้าหมาย

เยื่อไมอิลิน (Myelin sheath)

เป็นสารประเภทไขมันที่หุ้มบริเวณปลายแอกซอนของเซลล์ประสาทและเส้นประสาท โดยเยื่อไมอิลินเป็นฉนวนไฟฟ้า จึงทำให้กระแสประสาทสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว

สมอง

ทำหน้าที่รับข้อมูล (กระแสประสาทจากเส้นประสาท) ประมวลผล และสั่งการไปยังอวัยวะต่างๆ อีกทอดหนึ่ง สมองคนเรามีโครงสร้างที่ซับซ้อน และแบ่งแยกย่อยเป็นหลายส่วน ซึ่งแต่ละส่วนก็จะควบคุมการรับรู้และการตอบสนองที่ต่างกันไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ไขสันหลัง

เป็นทางผ่านของกระแสประสาทไปยังสมอง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางการตอบสนองแบบทันทีทันใดด้วย เช่น หากเราจับโดนอะไรสักอย่างที่ร้อนมากๆ เส้นประสาทจะรับความรู้สึกและส่งไปยังไขสันหลัง และไขสันหลังก็จะสั่งการให้เราชักมือกลับทันที โดยไม่ต้องผ่านสมอง เพื่อให้ร่างกายตอบสนองต่ออันตรายได้อย่างทันท่วงที

การแบ่งการทำงานของระบบประสาท

เนื่องจากร่างกายเราประกอบด้วยอวัยวะมากมาย รวมถึงมีการตอบสนองที่หลากหลาย ระบบประสาทจึงต้องแบ่งงานกันทำเป็นระบบย่อยๆ ได้แก่

ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System: CNS)

พูดง่ายๆ ว่าเป็นส่วนกลางที่มีอำนาจสูงสุดในการออกคำสั่งต่างๆ โดยอวัยวะที่เกี่ยวข้องมีเพียง 2 อวัยวะ คือ สมอง และ ไขสันหลัง ซึ่งจะรับกระแสประสาทจากภายนอกผ่านเส้นประสาท และส่งคำสั่งกลับไปยังอวัยวะต่างๆ ผ่านเส้นประสาทเช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • สมอง (Brain) แบ่งคร่าวๆ ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ สมองส่วนหน้า สมองส่วนกลาง และ สมองส่วนท้าย ซึ่งแต่ละส่วนก็แบ่งเป็นส่วนย่อยๆ ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น สมองส่วนซีรีบรัมซึ่งอยู่ในส่วนหน้า จะควบคุมเกี่ยวกับการเรียนรู้ การคิด และการให้เหตุผล สมองส่วนซีรีเบลลัมซึ่งอยู่ในส่วนท้าย จะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว เป็นต้น
  • ไขสันหลัง (Spinal cord) ลักษณะเป็นท่อผอมยาวตลอดแนวสันหลัง และประกอบด้วยเนื้อเยื่อประสาทจำนวนมาก ไขสันหลังเป็นทางผ่านของกระแสประสาทระหว่างสมองและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อีกทั้งยังควบคุม การตอบสนองแบบทันทีทันใด (Reflex) โดยไม่ต้องผ่านสมองด้วย

ระบบประสาทรอบนอก (Peripheral Nervous System: PNS)

ประกอบด้วยเซลล์ประสาทและเส้นประสาทซึ่งอยู่ที่อวัยวะอื่นๆ รอบนอก โดยเซลล์ประสาทเหล่านี้จะรับและส่งต่อข้อมูลไปยังระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อให้สมองและไขสันหลังส่งคำสั่งการตอบสนองกลับมาผ่านทางเส้นประสาท

ในสมองมีเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับอวัยวะอื่นๆ อยู่ 12 คู่ ส่วนในไขสันหลังนั้นมีเส้นประสาทถึง 31 คู่ นอกจากนี้ ระบบประสาทรอบนอกยังแบ่งย่อยได้อีก 2 ระบบ คือ

  • ระบบประสาทโซมาติก (Somatic nervous system) เป็นการควบคุมการตอบสนองของกล้ามเนื้อที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ เช่น การเดิน การวิ่ง การนั่ง เป็นต้น
  • ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) เป็นการควบคุมการตอบสนองของกล้ามเนื้อโดยอิสระ และอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ เช่น การเต้นของหัวใจ การทำงานอวัยวะภายในอย่างตับ และปอด เป็นต้น

ความผิดปกติของระบบประสาท

ระบบประสาทมีเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก หากเกิดความผิดปกติของเนื้อเยื่อเหล่านี้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็จะส่งผลให้การรับ-ส่งสัญญาณประสาทผิดปกติได้

ตัวอย่างความผิดปกติของระบบประสาท

  • หากเส้นประสาทบริเวณใดบริเวณหนึ่งถูกทำลาย ก็จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นเสียการควบคุม หมดความรู้สึก มีอาการชา กระตุก ขยับไม่ได้
  • หากเส้นประสาทไขสันหลังถูกกดทับ ก็จะทำให้เกิดอาการปวดคอ ปวดหลัง ปวดเอว จนอาจถึงขั้นเดินไม่ได้
  • หากเกิดความผิดปกติที่สมอง ก็อาจส่งผลให้การสั่งการด้านพฤติกรรม การเรียนรู้ และการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ผิดปกติไปด้วย เป็นต้น

ตัวอย่างโรคของระบบประสาทที่พบบ่อย

  • โรคสมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ
  • โรคเนื้องอกในสมอง
  • โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากความเสื่อมของเนื้อสมอง
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคบาดทะยัก เกิดจากแบคทีเรียโบทูลินุม (Botulinum)
  • หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ภาวะมีแร่ธาตุในเลือดต่ำ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม
  • เส้นประสาทถูกทำลายจากสารพิษ
  • โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากไวรัสเรบีส์ (Rabies Virus)

การดูแลระบบประสาท

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นโทษ เช่น อาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งล้วนเป็นภัยร้ายต่อระบบประสาท เพราะไขมันอาจไปอุดกั้นผนังหลอดเลือดสมอง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดในสมองแตก
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์ และสารพิษอื่นๆ อาจทำลายเส้นประสาทได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่ช่วยบำรุงระบบประสาท เช่น ผักใบเขียว ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และปลา ซึ่งอุดมด้วยวิตามินบี 1 และบี 12
  • พักผ่อนให้เพียงพอและไม่เครียดจนเกินไปนัก เพราะความเครียดและการนอนไม่พอจะทำให้ระบบประสาทตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา อาจส่งผลให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทผิดปกติ
  • ทะนุถนอมอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น ไม่ใช้สายตามากเกินไป ไม่ก้มๆ เงยๆ หรือยกของหนักจนเกินไป เพราะเป็นพฤติกรรมที่ทำลายอวัยวะในระบบประสาททั้งสิ้น และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมองและไขสันหลังด้วย

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์

อาการที่บ่งบอกความผิดปกติของระบบประสาท ได้แก่ วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า การมองเห็นหรือการได้ยินลดลง ชาตามมือและเท้า ซึ่งหากพบว่ามีอาการเหล่านี้บ่อยๆ หรือเป็นแล้วไม่หาย ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุโดยด่วน


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Kim Ann Zimmermann, Nervous System: Facts, Function & Diseases (https://www.livescience.com/22665-nervous-system.html), 14 February 2018
Christopher Melinosky, Visual Guide to Your Nervous System (https://www.webmd.com/brain/ss/slideshow-nervous-system-overview)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
รู้จักฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มากับมลภาวะ และวิธีการเลือกหน้ากากป้องกัน
รู้จักฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มากับมลภาวะ และวิธีการเลือกหน้ากากป้องกัน

ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร? มาจากไหน? แตกต่างจากฝุ่นละอองทั่วไปในอากาศอย่างไร? อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?

อ่านเพิ่ม