เมื่อเอ่ยถึงโรคบาดทะยัก (Tetanus) หลายคนคงนึกถึง โรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางบาดแผล ไม่ว่าจะมีดบาด ตะปูตำเท้า เสี้ยนตำ หกล้ม ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก การรักษาพยาบาลที่ใช้เครื่องมือไม่สะอาด เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมักได้รับคำแนะนำจากบุคลการทางการแพทย์ให้ฉีดยาป้องกันโรคบาดทะยัก ไม่เช่นนั้นหากติดเชื้อขึ้นมาอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
สาเหตุของโรคบาดทะยัก
โรคบาดทะยักสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยไม้เว้นแม้แต่ทารกแรกเกิด โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า คลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium tetani) ซึ่งแพร่กระจายสปอร์ไปตามพื้นดิน หญ้า สิ่งแวดล้อม สิ่งสกปรก ฝุ่นละออง หรืออุจจาระของสัตว์ แบคทีเรียชนิดนี้สามารถมีชีวิตอาศัยอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลานานนับเดือน หรือปี และทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี แม้ว่าบริเวณนั้นจะมีอุณหภูมิสูงก็ตาม
ยุค New Normal สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ใจมากยิ่งขึ้น
ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ หรือมีเสมหะ เหนียวคอ มาดู 5 วิธี บรรเทาง่ายๆ ได้ผล อย่ารอให้เป็นหนัก
เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลจะเริ่มแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและสร้างสารพิษขึ้น ยิ่งบาดแผลลึก อากาศเข้าถึงยากมากแค่ไหน เชื้อแบคทีเรียจะยิ่งเจริญเติบโตได้ไวมากขึ้นเท่านั้น สารพิษจะกระจายจากแผลไปยังปลายประสาทที่อยู่ในกล้ามเนื้อ เข้าสู่ไขสันหลัง และอาจไปถึงก้านสมอง ในที่สุดจะทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
สำหรับการติดเชื้อบาดทะยักในทารกแรกเกิดมักมาจากความไม่สะอาดของอุปกรณ์ในการทำคลอด เช่น การใช้กรรไกร มีดทำครัว หรือของมีคมบางชนิดอย่างไม้ไผ่ฝานบางๆ ตัดสายสะดือทารก การพอกสะดือด้วยยากลางบ้าน การโรยแป้งบริเวณสะดือ
อาการของโรคบาดทะยัก
เมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าสู่ร่างกายแล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ 3 – 28 วัน หรืออาจจะนานกว่านั้น แต่โดยส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 10 – 14 วัน โดยผู้ป่วยที่แสดงอาการอย่างรวดเร็วมักจะมีการติดเชื้อรุนแรงและรักษาให้หายค่อนข้างยากพอสมควร อาการจากการติดเชื้อบาดทะยักที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่
- กล้ามเนื้อขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้
- กล้ามเนื้อลำคอหดเกร็งจนรู้สึกเจ็บปวด
- หลังเกร็ง
- หลังแอ่น
- แขนเหยียดเกร็ง
- บางคนมีอาการทางประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก (หน้าเขียว) กลืนลำบาก เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตสูง บางคนอาจมีอาการเกร็งอย่างรุนแรงจนกล้ามเนื้อสลายตัว กระดูกหัก อาการเหล่านี้หากไม่ได้รับการรักษาทันทีอาจทรุดหนักจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นแล้วเสียชีวิตได้ หรือบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้
การรักษาโรคบาดทะยัก
การปฏิบัติก่อนที่จะนำไปพบแพทย์ ถ้าสังเกตว่าเด็กไม่ดูดนมและไม่อ้าปากแสดงว่ามีขากรรไกรแข็ง อย่าพยายามฝืนหรือกรอกนม เพราะอาจจะทำให้สำลักนมเข้าทางเดินหายใจ ทำให้ขัดขวางทางเดินหายใจอาจถึงตายได้ทันที หรืออาจทำให้เกิดปอดอักเสบได้ ควรหลีกเลี่ยงการจับต้องตัวโดยไม่จำเป็น และอย่าให้มีเสียงดังรบกวนเพราะจะทำให้ชักเกร็งมากขึ้นได้
ในการรักษาเฉพาะ จะให้ tetanus antitoxin (TAT) 10,000-20,000 หน่วยเข้าหลอดเลือด หรือให้ tetanus immune globulin (TIG) 3,000-6,000 หน่วยกล้ามเนื้อ เพื่อให้ไปทำลาย tetanus toxin ที่ยังไม่จับที่ระบบประสาท พร้อมทั้งให้ยาปฏิชีวนะเพนนิซิลิน (penicillin) ขนาดสูง เพื่อทำลายเชื้อ C.tetani ที่บาดแผล
นอกจากนี้แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น นำเนื้อเยื่อของแผลที่ตายแล้วและสิ่งแปลกปลอมออกจากบาดแผล ให้ยาบรรเทาอาการปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาระงับประสาท ยากันชัก และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก ส่วนผู้ป่วยที่รับประทานอาหารไม่ได้จะต้องใช้หลอดให้อาหาร หรือหยดสารอาหารเข้าทางเส้นเลือด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การป้องกันโรคบาดทะยัก
วิธีป้องกันโรคบาดทะยักที่ง่ายและได้ผลมากที่สุดคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก อีกทั้งควรฉีดกระตุ้นซ้ำเมื่อเกิดบาดแผลสกปรก หากผู้ป่วยไม่มั่นใจว่า ตนเองได้รับวัคซีนโรคบาดทะยักครั้งล่าสุดเมื่อไร นอกจากนี้ทารกควรได้รับวัคซีน DTaP ในการป้องกันทั้งโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน จำนวน 5 ครั้งตามกำหนด
เมื่อเด็กมีอายุ 4 – 6 ปี ควรได้รับวัคซีนอีกครั้ง และฉีดกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี ส่วนเด็กที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักเลย ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน ช่วงระยะแรก 3 – 4 ครั้ง โดยขึ้นอยู่กับอายุแล้วค่อยฉีดกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี
ใช้เครื่องมือที่สะอาดในการทำคลอด เครื่องมือทุกชิ้นจะต้องต้มในน้ำเดือดนาน 1 ชั่วโมง รักษาความสะอาดของสะดือโดยการเช็คด้วยแอลกอฮอล์ 70 % เช็ดวันละ 1-2 ครั้ง ห้ามใช้แป้งหรือผงยาต่างๆ โรยสะดือ และไม่ควรห่อหุ้ม พันท้อง หรือปิดสะดือ
การดูแลตัวเองเมื่อเกิดบาดแผล
ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลที่เกิดจากสิ่งใดก็ตาม ล้วนแต่มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคบาดทะยักได้ทั้งสิ้น ยกเว้นบาดแผลเล็กๆ ที่ไม่สกปรก แต่ก็ควรดูแลบาดแผลดังนี้
- เมื่อมีบาดแผลควรรีบล้างแผลทำความสะอาดทันทีด้วยการฟอกสบู่ ล้างน้ำสะอาด
- เช็ดด้วยน้ำเกลือล้างแผล หรือยาฆ่าเชื้อแล้วทายาใส่แผลสด เช็ดวันละ 1-2 ครั้ง
- แผลพุพองที่กำลังแห้งจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ ดังนั้นจึงควรใช้ผ้าก็อซปิดแผลไว้จนกว่าจะเริ่มเป็นสะเก็ด พร้อมกับเปลี่ยนผ้าก็อซทุกวัน หรือเมื่อเปียกน้ำและสกปรก
- ในผู้ป่วยที่หายจากโรคบาดทะยักต้องให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบชุด เพราะจะไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเพียงพอ
หากดูแลบาดแผลแล้วยังมีอาการแปลกๆ หรือไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรคและรักษาทันที เพราะโรคบาดทะยักเป็นโรคที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่งเพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
วัคซีนบาดทะยักคืออะไร จำเป็นต้องฉีดไหม ใครควรฉีดบ้าง ราคาเท่าไร?