บาดทะยัก คือโรคที่หลายคนคุ้นเคย เพราะหากเกิดบาดแผลขึ้นบนร่างกาย มักได้ยินคำแนะนำว่า “รีบไปหาหมอ ระวังเป็นบาดทะยัก” แม้ว่าจะดูเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงเท่าโรคร้ายอื่นๆ แต่รู้หรือไม่ว่า โรคนี้อันตรายถึงชีวิต
จากข้อมูลของสภากาชาดระบุว่า เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคบาดทะยัก จะมีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่ 10%–90% ซึ่งนับว่ามีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง และการรักษายังเป็นเพียงการประคับประคองเป็นหลัก ดังนั้นการฉีดวัคซีนบาดทะยักจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคได้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ความหมายของโรคบาดทะยัก
บาดทะยัก (Tetanus) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย "คลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium Tetani)" พบได้ตามพื้นดิน ฝุ่น หรือมูลสัตว์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผล เช่น แผลถลอก ไฟไหม้ โดนของมีคมบาด ตะปูตำ ถูกสัตว์กัด หรือใช้เข็มฉีดยาที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ
เมื่อเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายจะสร้างสารพิษชื่อว่า "เททานัสท็อกซิน (Tetanus toxin)" ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง ในรายที่ติดเชื้อรุนแรงอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทั้งนี้บาดแผลที่มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการติดเชื้อบาดทะยัก ได้แก่
- บาดแผลที่ต้องเย็บ หรือผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยไปพบแพทย์ช้ากว่า 6 ชั่วโมง
- บาดแผลที่มีเนื้อตายจำนวนมาก เช่น แผลไฟไหม้ แผลกดทับ หรือแผลที่เป็นรอยเจาะ เช่น ถูกตะปูตำ แผลจากการสัก เจาะตามร่างกาย โดยเฉพาะบาดแผลที่ปนเปื้อนดิน หรือเศษวัสดุแปลกปลอม
- บาดแผลที่พบร่วมกับกระดูกหัก
ดังนั้นหากใครมีบาดแผลที่มีความเสี่ยง แนะนำให้รีบทำความสะอาดบาดแผล โดยล้างด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่นานอย่างน้อย 10-15 นาที (กรณีเป็นบาดแผลที่ไม่ใช่บาดแผลฉกรรจ์) จากนั้นไปพบแพทย์ทันที เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
อาการของโรคบาดทะยัก
เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย อาการเริ่มแรกคือ ผู้ป่วยจะมีอาการขากรรไกรแข็ง กล้ามเนื้อเกร็ง อ้าปากไม่ค่อยได้
จากนั้นมือ แขน และขาเริ่มเกร็ง หลังแข็งและแอ่น ใบหน้าจะมีลักษณะคล้ายยิ้มแสยะ โดยอาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเมื่อมีเสียงดัง หรือเมื่อได้สัมผัสตัวผู้ป่วย ในผู้ป่วยรายที่มีอาการรุนแรงมาก จะมีอาการชักกระตุก หน้าเขียว ซึ่งจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ขาดออกซิเจน เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการแทรกซ้อนของโรคบาดทะยัก
นอกจากอาการหลักของโรคบาดทะยักที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้แล้ว ยังอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ด้วย ดังนี้
- กระดูกหัก เกิดจากการเกร็ง และบิดอย่างรุนแรงจนส่งผลถึงกระดูก
- ไตวายเฉียบพลัน เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรุนแรงจนทำให้กล้ามเนื้อสลายกลายเป็นโปรตีน ซึ่งไตมีหน้าที่กำจัดโปรตีนในร่างกาย หากมีโปรตีนสลายออกมาจำนวนมาก ไตก็อาจทำงานหนักจนทำให้ไตวายเฉียบพลันได้
- ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ภาวะบิดเกร็งของกล้ามเนื้ออาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลว หยุดหายใจ จนทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และเสียชีวิต
การรักษาโรคบาดทะยัก
เมื่อแพทย์ประเมินแล้วว่ าผู้ป่วยเป็นโรคบาดทะยัก แพทย์อาจวางแผนการรักษาดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย ป้องกันเสียงรบกวน เพราะจะทำให้มีอาการชักเกร็งรุนแรงขึ้น
- แพทย์จะให้ยาทำลายสารพิษที่เชื้อแบคทีเรียสร้างขึ้น รวมทั้งให้ยาปฏิชีวนะเพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
- แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการควบคู่กันไป เช่น ยาระงับอาการชัก ยาลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ งดให้น้ำและอาหารทางปาก เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยสำลักได้ จึงจำเป็นต้องให้อาหารทางหลอดเลือดแทน
- เฝ้าระวังเรื่องการหายใจ เพราะอาจมีอาการหายใจขัด หายใจไม่ออกจนทำให้เสียชีวิตได้
วัคซีนบาดทะยัก การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
การฉีดวัคซีนบาดทะยัก คือ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค โดยวัคซีนบาดทะยักนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นวัคซีนบาดทะยักเพียงชนิดเดียว และวัคซีนที่ป้องกันโรคอื่นๆ ร่วมด้วย สามารถแบ่งได้ดังนี้
- วัคซีนบาดทะยัก (Tetanus Toxoid: TT)
- วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก (diphtheria-tetanus toxoid: dT)
- วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Diphtheria, Tetanus, Pertussis: DTaP)
ทั้งนี้วัคซีนแต่ละประเภทก็มีรูปแบบการใช้ที่แตกต่างกัน
1. วัคซีนบาดทะยัก
แพทย์จะพิจารณาฉีดวัคซีนบาดทะยัก TT ให้เด็กโต (อายุ 7 ปีขึ้นไป) ที่มีบาดแผลที่คาดว่ามีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคบาดทะยัก โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1.1 ผู้ที่ไม่เคยรับ หรือรับไม่ครบ หรือไม่ทราบประวัติการรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก
- บาดแผลสะอาด แพทย์จะฉีดวัคซีนบาดทะยัก TT ทั้งหมด 3 เข็ม เข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกัน 4-8 สัปดาห์ ส่วนเข็มสุดท้ายเป็นการฉีดกระตุ้น จะฉีดห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6-12 สัปดาห์
- บาดแผลที่มีสิ่งแปลกปลอม เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง แพทย์จะให้เซรุ่มต้านพิษบาดทะยัก ร่วมกับวัคซีนบาดทะยัก TT ในวันแรก จากนั้นประมาณ 4-8 สัปดาห์ จึงให้เข็มที่ 2 และ 2-12 สัปดาห์ จึงให้วัคซีนบาดทะยักเข็มสุดท้าย
1.2 ผู้ที่เคยรับวัคซีนบาดทะยักครบ (เคยได้รับวัคซีนมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง)
- บาดแผลสะอาด หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานเกินกว่า 10 ปี แพทย์จะให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก TT กระตุ้น 1 เข็ม โดยไม่ต้องรับเซรุ่มต้านพิษบาดทะยักเพิ่ม
- บาดแผลที่มีสิ่งแปลกปลอม เสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง หากได้รับวัคซีน เข็มสุดท้ายมานานเกินกว่า 5 ปีให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก TT กระตุ้น 1 เข็ม โดยไม่ต้องรับเซรุ่มต้านพิษบาดทะยักเพิ่ม
2. วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก
เป็นวัคซีนสำหรับเด็กโต (อายุ 7 ปีขึ้นไป) และผู้ใหญ่ มีหลักเกณฑ์การใช้เหมือนกับวัคซีนบาดทะยัก TT ซึ่งแพทย์มักใช้ทดแทนกันเพื่อฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคคอตีบร่วมด้วย
ยุค New Normal สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ใจมากยิ่งขึ้น
ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ หรือมีเสมหะ เหนียวคอ มาดู 5 วิธี บรรเทาง่ายๆ ได้ผล อย่ารอให้เป็นหนัก
3. วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
เป็นวัคซีนที่รวมการป้องกัน 3 โรคในเข็มเดียว นิยมฉีดให้เด็กทารกอายุตั้งแต่ 2 เดือนเป็นต้นไป โดยฉีดบริเวณต้นขาด้านหน้า ทั้งหมด 5 เข็ม ตามระยะเวลาดังนี้
- ครั้งที่ 1 อายุประมาณ 2 เดือน
- ครั้งที่ 2 อายุประมาณ 4 เดือน
- ครั้งที่ 3 อายุประมาณ 6 เดือน
- ครั้งที่ 4 อายุประมาณ 18 เดือน
- ครั้งที่ 5 อายุประมาณ 4-7 ปี
การฉีดวัคซีนบาดทะยักให้หญิงตั้งครรภ์
วิธีการป้องกันโรคบาดทะยักที่ดีที่สุดสำหรับเด็กแรกเกิดคือ การฉีดวัคซีนบาดทะยักให้คุณแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะฉีดวัคซีนให้หญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด 3 เข็ม ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
- เข็มที่ 1 ฉีดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 6-7 เดือน
- เข็มที่ 2 ฉีดเมื่ออายุครรภ์ไม่เกิน 8 เดือน (เข็มที่ 2 ควรให้ก่อนคลอดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน เพราะภูมิคุ้มกันจะถูกส่งไปสู่ทารกแรกเกิดในระดับที่สูงพอจะป้องกันโรคบาดทะยักได้
- เข็มที่ 3 ฉีดหลังจากได้รับเข็มที่ 2 ประมาณ 6-12 เดือน (ฉีดหลังคลอด) เพื่อให้มั่นใจว่ าระดับภูมิคุ้มกันของคุณแม่จะคงอยู่ในระดับสูง และนาน 5-10 ปี จึงค่อยฉีดกระตุ้นซ้ำ
ผู้ที่ไม่ควรฉีดวัคซีนบาดทะยัก
แม้ว่าวัคซีนบาดทะยักจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้เช่นกัน ดังนี้
- ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้อย่างรุนแรงหลังฉีดวัคซีนบาดทะยัก เช่น มีอาการลมชัก มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท มีอาการบวมแดงและปวดอย่างรุนแรง
- ผู้ที่มีประวัติป่วยเป็นโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง
- ผู้ที่มีอาการป่วยใดๆ ก็ตาม ควรรอให้หายสนิทก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก
อาการข้างเคียงหลังจากการฉีดวัคซีนบาดทะยัก
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากได้รับวัคซีนบาดทะยักนั้นเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปและไม่รุนแรง เช่น มีอาการปวด บวมแดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ต่ำๆ หนาวสั่น ปวดศีรษะหรือปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนอาจเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากการฉีดวัคซีน และจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่หากมีอาการอื่นๆ ที่รุนแรงมากกว่าที่กล่าวมา เช่น มีไข้ขึ้นสูง ปวดบริเวณที่ฉีดอย่างรุนแรง มีอาการชัก คันตามผิวหนัง เป็นผื่น หัวใจเต้นเร็ว
ต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจมีอาการแพ้วัคซีนได้
ราคาการวัคซีนบาดทะยัก
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลรัฐได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แต่สำหรับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนบาดทะยักกระตุ้น ผู้ที่มีบาดแผลซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยัก หรือหญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการฉีดวัคซีนบาดทะยักเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกตั้งแต่แรกคลอด
กลุ่มคนเหล่านี้สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก หรือฉีดควบคู่ไปกับวัคซีนคอตีบ และไอกรนได้ที่โรงพยาบาลรัฐ และเอกชน รวมทั้งคลินิกชั้นนำทั่วไป
ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนบาดทะยักเริ่มตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนและค่าบริการของแต่ละโรงพยาบาล
หากใครประสบอุบัติเหตุ มีบาดแผลที่คาดว่ามีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อบาดทะยัก แนะนำให้รีบไปฉีดวัคซีนบาดทะยักทันที
เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ คนทั่วไปที่เคยฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้วก็ควรฉีดวัคซีนบาดทะยักกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี เพื่อการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนเด็ก ตรวจก่อนแต่งจากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android