ผักเชียงดา (Gymnema)

สรรพคุณ คุณประโยชน์ และข้อควรระวังการกินผักเชียงดา ไขข้อสงสัย ผักเชียงดาช่วยลดน้ำตาลในเลือดและรักษาเบาหวานได้จริงหรือไม่?
เผยแพร่ครั้งแรก 10 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 27 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ผักเชียงดา (Gymnema)

ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านในภาคเหนือของประเทศไทย ด้วยความที่หาง่าย และนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย จึงทำให้ได้รับความนิยมจากคนในพื้นที่มาก นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นก็ได้ให้ความสนใจสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดาเป็นอย่างยิ่ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnema inodorum (Lour.) Decne.

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ชื่อวงศ์            APOCYNACEAE

ชื่ออังกฤษ         Gymnema

ชื่อท้องถิ่น         เจียงดา ผักเจียงดา ผักเซียงดา ผักกูด ผักจินดา ผักเซ่งดา ผักม้วนไก่ ผักเซ็ง ผักว้น ผักฮ่อนไก่ ผักอีฮ่วน เครือจันปา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักเชียงดา

ผักเชียงดาเป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นเมื่อยังอ่อนมีสีเขียวเข้ม แต่ทุกส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินมียางสีขาว ขนาดของลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-5 เซนติเมตร ใบเดี่ยว ออกคู่ตรงกันข้าม ใบรูปหอกกว้าง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบโค้งมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ก้านใบยาว 3.5-6 เซนติเมตร ใบกว้าง 9-11 เซนติเมตร ใบยาว 15-19 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจุกจากซอกใบ ดอกย่อย กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกสีขาว สีเหลืองอ่อน หรือเหลืองอมส้ม เกสรตัวผู้เป็นกระจุกแน่น ผลเมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลคล้ำ มี 2-3 เมล็ด

คุณค่าทางโภชนาการของผักเชียงดา 100 กรัม 

ให้พลังงาน 60 แคลอรี

ที่มา: สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สรรพคุณของผักเชียงดา

แต่ละส่วนของผักเชียงดา สามารถนำมาปรุงเป็นยาได้ โดยมีวิธีทำและสรรพคุณดังนี้

  • นำใบสดของผักเชียงดามาตำให้ละเอียดใช้พอกบริเวณกระหม่อม เพื่อบรรเทาอาการไข้หวัด หรือนำไปประกอบในตำรายาแก้ไข้อื่นๆ เช่น บอระเพ็ด กระดอม สะเดา เป็นต้น
  • ผลของผักเชียงดา มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ โดยนำผลไปตากแห้ง จากนั้นบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง น้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย นำมากวาดคอ จะช่วยทำให้ชุ่มคอ ลดอาการไอ บรรเทาอาการหอบหืด
  • ต้นของผักเชียงดา มีสรรพคุณเป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ แก้ไอ แก้ปอดอักเสบ ขับปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำ โดยนำทั้งต้นมาต้มในน้ำเดือด แล้วดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันไม่เกิน 14 วัน
  • หัวใต้ดินของผักเชียงดา มีรสมันขม มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษอักเสบ พิษร้อน ช่วยดับพิษกาฬ แก้พิษไข้เซื่องซึม และแก้เริม โดยนำส่วนหัวใต้ดินมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปต้มในน้ำเดือด แล้วดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 3-7 วัน

ฤทธิ์ลดน้ำตาลของผักเชียงดา

ในผักเชียงดามีสารสำคัญชื่อ Gymnemic acid ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งน้ำตาล ชะลอการดูดซึมน้ำตาลบริเวณลำไส้เล็ก กระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมเบต้าเซลล์ในตับอ่อน ทำให้มีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้น้ำตาลในเลือดลดลง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครสุขภาพดี พบว่าหลังจากอาสาสมัครดื่มชาที่ได้จากใบเชียงดาอบแห้ง มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อรับประทานต่อเนื่อง 28 วัน สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดาในผู้ป่วยเบาหวานยังมีไม่มากนัก แต่ก็สามารถใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในขั้นต้นได้เช่นกัน

การนำผักเชียงดามาปรุงอาหาร

ยอดผักเชียงดาสามารถนำรับประทานแบบสด หรือนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น แกงส้ม แกงแค แกงเขียว แกงโฮะ แกงขนุน แกงเลียงกับปลาแห้ง หรือใส่ในต้มเลือดหมู

ในช่วงฤดูแล้งยอดอ่อนใบอ่อนและดอกของผักเชียงดาจะมีรสหอมหวาน แต่ในช่วงฤดูฝน ยอดอ่อนใบอ่อนและดอก จะมีรสเฝื่อน หลายคนจึงนิยมรับประทานผักเชียงดาเฉพาะช่วงคือฤดูแล้งเท่านั้น แต่หากต้องการรับประทานเพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการ แนะนำให้รับประทานผักเชียงดาใบอ่อนที่ไม่ผ่านความร้อน

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการรับประทานผักเชียงดา

ผักเชียงดาเป็นผักพื้นบ้านที่นำมารับประทานเป็นเวลานาน ซึ่งก็ยังไม่เคยปรากฏรายงานความเป็นพิษจากการรับประทาน แต่หากผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาแผนปัจจุบันและต้องการรับประทานผักเชียงดาร่วมด้วย ควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากอาจจะเสริมฤทธิ์กับยารักษาเบาหวาน จนทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
กนกพร อะทะวงษา, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดา. 2561
วิทยา บุญวรพัฒน์. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. 2554
มาโนช วามานนท์, เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชน, 2538.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)