อาหารเป็นพิษ โรคฮิตจากการกิน

เผยแพร่ครั้งแรก 21 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
อาหารเป็นพิษ โรคฮิตจากการกิน

อาการปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ที่เกิดขึ้นหลังทานอาหาร เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึง อาหารเป็นพิษ (Food poisoning) ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคที่ปะปนมาในอาหารนั่นเอง อาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่พบได้บ่อยๆ ในประเทศเขตร้อน อย่างเช่นประเทศไทย เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสมกับการเจริญของเชื้อก่อโรคในอาหาร สาเหตุของอาหารเป็นพิษนั้นเกิดได้จากเชื้อหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น

  • เชื้อแบคทีเรีย ชนิดที่ก่อโรคในอาหารได้มีหลายสายพันธุ์ เช่น E.coli, Staphylococcus spp., Salmonella spp., Clostridium spp., Listeria monocytogenes และ Shigella spp. เป็นต้น ซึ่งเชื้อบางชนิดมีสารพิษที่ทนทานต่อความร้อน แม้ตัวเชื้อจะถูกทำลายไปแล้วจากการปรุงอาหาร แต่สารพิษที่ปนเปื้อนก็ยังก่อโรคได้อยู่
  • เชื้อไวรัส เช่น Norovirus, Hepatitis A virus และ Rotavirus ซึ่งมักพบในเด็ก
  • เชื้อปรสิตและโปรโตซัว เช่น E.histolitica

เชื้อโรคเหล่านี้จะปนเปื้อนมากับอาหาร น้ำดื่ม โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก หรือทิ้งไว้ค้างคืน รวมถึงผักสดและเนื้อสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีเพาะเลี้ยงและจัดเก็บไม่สะอาด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการของโรคอาหารเป็นพิษ

โดยทั่วไปอาการจะปรากฏหลังทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนภายใน 1-2 วัน โดยอาการที่เด่นชัด ได้แก่

  • ปวดท้องอย่างเฉียบพลันและรุนแรง จากการบีบรัดตัวของลำไส้
  • ถ่ายเหลวติดต่อกันหลายครั้ง อุจจาระอาจมีมูกเลือดปนด้วย
  • คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย หมดแรง เนื่องจากร่างกายเสียน้ำและแร่ธาตุ
  • บางครั้งอาจมีไข้ หนาวสั่น

หากเป็นติดต่อกันหลายวัน อาจสูญเสียน้ำและแร่ธาตุมาก จนมีอาการสับสน มึนงง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผิวและปากแห้ง จนอาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ จึงถือว่าเป็นภาวะที่อันตรายทีเดียว โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ

การรักษาและดูแลตัวเองเมื่ออาหารเป็นพิษ

โดยปกติอาการของอาหารเป็นพิษจะค่อยๆ ทุเลาลงเมื่อสารพิษถูกกำจัดออกจนหมดทางการขับถ่าย แต่สิ่งที่ต้องระวังและรักษาให้ทันท่วงที คืออาการขาดน้ำและแร่ธาตุ ซึ่งจะเป็นอันตรายมาก ดังนั้น แนวทางการรักษาอาหารเป็นพิษ ได้แก่

  • ดื่มน้ำเกลือชงหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำ แร่ธาตุ และกลูโคส ที่ร่างกายสูญเสียไปจากการขับถ่ายและการอาเจียน โดยควรจิบเรื่อยๆ บ่อยๆ ในระหว่างช่วงที่มีอาการ
  • อาจดื่มผงถ่านชงกับน้ำเพื่อให้สารพิษถูกกำจัดออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น โดยผงถ่านสำเร็จรูปสำหรับดื่มสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  • รับประทานเฉพาะอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย และรสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม จนกว่าอาการปวดเสียดท้องจะหายไป และเริ่มขับถ่ายเป็นปกติ
  • หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียและไม่สามารถหายได้เอง แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ รวมถึงให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดร่วมด้วย

การป้องกันอาหารเป็นพิษ

  • ควรทานอาหารที่สด ใหม่ และปรุงโดยผ่านความร้อน รวมทั้งต้องคำนึงถึงสุขอนามัยในการกิน โดยหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ไม่สะอาด เช่น ผักสดที่ไม่ได้ล้าง อาหารข้างทางที่ทำค้างไว้ หรือดูสกปรก สำหรับอาหารที่เสียง่าย หากทานไม่หมดควรเก็บเข้าตู้เย็น และก่อนทานก็ควรอุ่นด้วยความร้อนใหม่
  • ดูแลความสะอาดและสุขอนามัยของตนเอง รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ควรล้างมือก่อนทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง รวมถึงรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัย เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคมาปนเปื้อนในอาหารได้
  • หากต้องเดินทางไปประเทศที่เสี่ยงต่อการเกิดอาหารเป็นพิษ ควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ และหากเป็นไปได้ ควรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไปด้วย 

26 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Food poisoning. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/food-poisoning/)
Food Poisoning Symptoms | Food Safety. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/foodsafety/symptoms.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป