ตับแข็งระยะสุดท้าย ป้องกันและรักษาได้อย่างไร?

เผยแพร่ครั้งแรก 25 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ตับแข็งระยะสุดท้าย ป้องกันและรักษาได้อย่างไร?

ตับแข็ง (Cirrhosis) คือภาวะที่เซลล์และเนื้อเยื่อตับเกิดความบาดเจ็บเสียหายและถูกทำลายอย่างถาวร จนเกิดเป็นพังผืดขึ้นในเนื้อตับ ตับจึงมีลักษณะแข็งกว่าปกติ และไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ หากป่วยเป็นตับแข็งในระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใดๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และพัฒนาไปถึงขั้นเป็นตับแข็งระยะสุดท้าย ตับจะสูญเสียการทำงานเกือบทั้งหมด ทำให้เกิดความผิดปกติต่อร่างกายมากมาย

สาเหตุของตับแข็ง

ตับแข็งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • การดื่มแอลกอฮอล์ มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยตับแข็งนั้นมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน พิษของแอลกอฮอล์ที่สะสมจะส่งผลให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนเกิดตับแข็งได้ในที่สุด
  • การติดเชื้อไวรัส ไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักคือ ไวรัสตับอักเสบ B และ C (Hepatitis virus B/C) ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 10 โดยมักเกิดกับผู้ที่ติดเชื้อเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาแล้วไม่หาย
  • ไขมันเกาะตับ หากร่างกายมีไขมันสูงและเกิดการสะสมที่ตับ ไขมันอาจกระตุ้นในเซลล์ตับเกิดการอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็งได้ โดยไขมันเกาะตับมักพบในผู้ที่เป็นโรคอ้วน เบาหวาน และมีไขมันในเลือดสูง
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะท่อน้ำดีอุดตัน ภาวะธาตุเหล็กเกิน ได้รับสารพิษสะสมจากยา หรือสมุนบางชนิด มีการติดเชื้อปรสิต เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้พบได้น้อยกว่าสาเหตุ 3 ข้อแรก

อาการของตับแข็ง

ในระยะแรกของโรคตับแข็ง มักมีอาการที่สัมพันธ์กับความเสียหายของตับ แต่ไม่จำเพาะเจาะจงมากนัก ได้แก่

เมื่อการดำเนินโรครุนแรงขึ้น จะเริ่มแสดงอาการที่จำเพาะต่อโรคมากขึ้น ได้แก่

  • ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • เจ็บบริเวณชายโครงขวา
  • รู้สึกคันตามผิวหนัง
  • มีจุดแดงขึ้นที่หน้าอก หน้าท้อง ต้นแขน และฝ่ามือแดงกว่าปกติ เนื่องจากเกิดเส้นเลือดฝอยมากขึ้น
  • ในเพศชายอาจมีอัณฑะฝ่อเล็ก และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

จนเมื่อโรคตับแข็งดำเนินมาถึงระยะสุดท้าย จะมีอาการที่รุนแรงขึ้น ได้แก่

  • ท้องมาน ท้องโต บวมตามขาและข้อเท้า
  • เห็นหลอดเลือดพองที่หน้าท้อง
  • อาจอาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากเส้นเลือดในหลอดอาหารแตก
  • มีอาการทางสมอง เช่น สับสน มึนงง เพ้อ จนกระทั่งหมดสติ

การรักษาโรคตับแข็ง

ขั้นแรกของการรักษา คือการหาสาเหตุที่ทำให้เกิดตับแข็ง และรักษาที่ต้นเหตุเป็นหลัก เช่น หากตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอล์ ต้องเลิกการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด หากมีการติดเชื้อไวรัส ก็ต้องให้ยาต้านไวรัส หรือถ้าพบว่ามีไขมันเกาะตับ ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดน้ำหนัก และควบคุมไขมันในเลือด ส่วนอาการผิดปกติที่เกิดจากความเสียหายของตับ แพทย์จะทำการรักษาไปตามอาการ เช่น

  • ให้ยาขับปัสสาวะ Furosemide หรือ Spironolactone เพื่อลดอาการท้องมานและบวมน้ำ
  • หากมีการขาดธาตุเหล็ก จะต้องให้ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก
  • หากมีความดันในตับสูง แพทย์จะให้ยากลุ่ม Beta-blocker เพื่อลดความดันภายในตับ
  • หากมีอาการคันตามผิวหนัง อาจต้องทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ
  • หากมีเลือดออกมากหรืออาเจียนเป็นเลือดหลายครั้ง จะต้องให้เลือดชดเชยด้วย
  • หากตับเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถทำงานได้ แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายตับ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถทำได้ในคนไข้บางคนเท่านั้น เพราะต้องหาผู้บริจาคตับที่เนื้อเยื่อเข้ากันได้กับร่างกายผู้ป่วย อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายสูงและค่อนข้างยุ่งยาก รวมถึงอาจมีผลข้างเคียงที่อันตรายตามมาได้

การป้องกันโรคตับแข็ง

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน และมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ด้วยการสวมถุงยางอนามัย
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และระวังไม่ให้ไขมันในเลือดสูง โดยการออกกำลังกายและทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อป้องกันการเกิดไขมันเกาะตับ
  • หลีกเลี่ยงการทานยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น เช่น ยาพาราเซตามอล และยาสมุนไพรต่างๆ
  • หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

 


25 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Patient education: Cirrhosis (Beyond the Basics). UpToDate. (https://www.uptodate.com/contents/cirrhosis-beyond-the-basics)
Liver Cirrhosis: Symptoms, Stages, Diet & Life Expectancy. eMedicineHealth. (https://www.emedicinehealth.com/cirrhosis/article_em.htm)
Cirrhosis of the liver: Causes, symptoms, and treatments. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/172295)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)