ตับอักเสบ (Hepatitis) เป็นภาวะที่พบบ่อยในคนไทย เนื่องจากมีปัจจัยในชีวิตประจำวันหลายอย่างที่กระตุ้นให้เกิดโรคได้ เมื่อเนื้อเยื่อตับเกิดการอักเสบและลุกลามเป็นวงกว้าง จะทำให้ตับของเราทำงานผิดปกติ และหากไม่เร่งรักษาให้หาย ก็อาจกลายเป็น ตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic hepatitis) ซึ่งทำให้การทำงานลดลงเรื่อยๆ และอาจกลายเป็นโรคตับแข็ง ตับวาย หรือมะเร็งตับในอนาคตได้
อาการของตับอักเสบเรื้อรัง
เมื่อเกิดตับอักเสบ ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการแสดงหลายอย่าง เช่น รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยร่างกาย ปวดท้องด้านขวาบน มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปัสสาวะมีสีเข้ม แต่บางครั้งหากเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะเริ่มแรก แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อตับทำงานได้ลดลงมาก หรือเข้าสู่ระยะตับวายแล้ว โดยอาการที่เด่นชัด ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
- คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระสีซีดหรือมีเลือดปน
- บวมตามขา ข้อเท้า และเท้า
- มึนงง สับสน
สาเหตุของตับอักเสบเรื้อรัง
ตับอักเสบเรื้อรังนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ รวมทั้งมีปัจจัยอื่นๆ เป็นตัวกระตุ้นด้วย เช่น พันธุกรรม อาหารการกิน โรคประจำตัวอื่นๆ โดยสาเหตุของโรคตับอักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยในคนไทย ได้แก่
- การติดเชื้อไวรัส
ไวรัสที่สามารถทำให้เกิดตับอักเสบแบบเรื้อรังได้ ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี
- ไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B virus) ติดต่อสู่กันได้ทางเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การให้เลือด โดยส่วนมากผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการตับอักเสบแบบเฉียบพลัน และจะหายขาดหลังได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง แต่มีผู้ติดเชื้อบางส่วนที่ไม่แสดงอาการ หรือรักษาไม่หาย ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง และมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งตับได้
- ไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C virus) ติดต่อได้ทางเลือดและสารคัดหลั่งเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบ บี แต่ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เกินกว่า 80% มักมีอาการแบบเรื้อรัง รักษาไม่หาย ทำให้เป็นปัญหาสุขภาพระยะยาว และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับได้
- การดื่มแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ตับ อีกทั้งตับยังต้องทำงานหนักขึ้นในการกำจัดแอลกอฮอล์ออกมา ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักจึงมีโอกาสเกิดตับอักเสบเรื้อรัง และกลายเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับได้ ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยมากในคนไทย
เกิดจากการมีไขมันคอเลสเตอรอลในร่างกายมาก จนไขมันไปเกาะพอกที่ตับและกระตุ้นให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบ คนที่เป็นตับอักเสบจากสาเหตุนี้มักไม่แสดงอาการผิดปกติในระยะแรก อาจมีเพียงอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง แต่อาการจะเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อตับอักเสบลุกลามเป็นวงกว้างและกลายเป็นพังผืด
- ผลจากสารพิษหรือยาบางตัว
สารเคมีบางชนิด เช่น สารกำจัดศัตรูพืช carbontetrachloride รวมถึงสารที่อยู่ในอาหารเสริมสมุนไพร หากเกิดการสะสมในร่างกายมากก็อาจเป็นพิษต่อตับได้ นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิดต่อเนื่องกันเกินปริมาณที่กำหนด เช่น ยาพาราเซตามอล ยากลุ่ม NSAIDs ยากันชัก และยาคุมกำเนิด ก็อาจทำให้เนื้อเยื่อตับเสียหายได้เช่นกัน
การรักษาตับอักเสบเรื้อรัง
การรักษาตับอักเสบเรื้อรังนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค เช่น
- ตับอักเสบจากไวรัส เบื้องต้นผู้ป่วยจะได้รับยาต้านไวรัส ซึ่งหากเกิดตับอักเสบเรื้อรังก็อาจต้องผสมยาต้านไวรัสหลายชนิด แต่หากอาการรุนแรงถึงขึ้นเกิดตับแข็ง และตับวาย ก็อาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายตับ
- ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ จะเน้นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ให้ยาเพื่อลดการอักเสบ ลดอาการปวด ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการเลิกดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด ซึ่งในผู้ที่ติดแอลกอฮอล์มากๆ ก็อาจต้องเข้ารับการบำบัดอย่างจริงจัง
- ตับอักเสบจากไขมันพอกตับ จะเน้นควบคุมปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย เพื่อลดน้ำหนักและลดระดับไขมันในเลือด รวมถึงหากมีไขมันในเลือดสูงมาก ก็อาจต้องใช้ยากลุ่ม statin เพื่อลดระดับไขมันด้วย
- ตับอักเสบจากสารพิษและยา ขั้นแรกต้องทำการหยุดยา หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นสาเหตุก่อน หลังจากนั้นจึงทำการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาบรรเทาการอักเสบ หรือการผ่าตัดเปลี่ยนตับหากเกิดภาวะตับวาย
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
- ทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงไปพบแพทย์ตามกำหนดเพื่อตรวจติดตามอาการเป็นระยะ
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการบาดเจ็บเสียหายของตับ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การทานอาหารเสริมสมุนไพร การทานยาต่อเนื่องกัน
- งดอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารที่ย่อยยาก เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดท้องและคลื่นไส้ได้ ให้เน้นทานพวกผักและผลไม้ อาหารปรุงสุก และดื่มน้ำที่สะอาด
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
การป้องกันตับอักเสบเรื้อรัง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อไวรัสตับอักเสบที่เป็นสาเหตุ โดยการรักษาสุขอนามัยให้ดี มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ โดยปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ และ บี สำหรับผู้ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
- งดหรือควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
- ควบคุมน้ำหนัก และระดับไขมันในเลือด โดยการทานอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารไขมันสูง และออกกำลังกายเป็นประจำ