กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

เมล็ดเจีย ธัญพืชสารพัดประโยชน์ อาหารเพื่อสุขภาพ

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที
เมล็ดเจีย ธัญพืชสารพัดประโยชน์ อาหารเพื่อสุขภาพ

เมล็ดเจีย (Salvia Hispanica L) มีขนาดลำต้นสูงประมาณ 4 - 6 ฟุต สามารถปลูกได้ดีในบริเวณที่มีอากาศหนาว ปลูกกันมากในแถบทวีปอเมริกา ลักษณะของเม็ดเป็นเม็ดเล็กๆ มีเปลือกนอกที่สามารถพองตัวได้เหมือนกับเม็ดแมงลัก ในประเทศไทยพบปลูกมากในบริเวณจังหวัดลำปาง กาญจนบุรี เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับมินต์หรือกระเพรา มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศเม็กซิโกในแถบทางตอนกลาง และตอนใต้ของประเทศ และอีกที่หนึ่งคือกัวเตมาลา จากหลักฐานทางโบราณคดีได้มีการค้นพบว่า เมล็ดเจียเป็นพืชที่มีมานานแล้วกว่า 3,500 ปีก่อนสมัยคริสตกาล เดิมคืออาหารของชาวแอซเท็กโบราณ และชาวมายาที่มักจะทานกันเป็นอาหารหลักเหมือนกับอาหารธัญพืชทั่วไป โดยการทานนั้นจะเอาเมล็ดเจียมาบดรวมเข้ากันกับแป้ง คั้นน้ำออกมาใช้ดื่ม หรือเอาไว้เพื่อปรุงอาหาร

ต่อมาในยุคล่าอาณานิคมของสเปน ซึ่งฝั่งอเมริกาใต้ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปน ในเวลานั้นเมล็ดเจียได้ถูกจัดว่าเป็นอาหารต้องห้าม และผู้นำสเปนก็ได้ออกมาประกาศห้ามเพาะพันธุ์เมล็ดเจียอีก จึงเป็นสาเหตุให้เมล็ดเจียค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเวลาเดินมาถึงช่วงยุคของอเมริกาสมัยใหม่ นักวิทยาศาสตร์จึงได้นำเอาเมล็ดเจียมาค้นคว้าวิจัยอีกครั้งถึงคุณประโยชน์ของพืชชนิดนี้ จากนั้นก็เอาไปขยายสายพันธุ์ต่อไปจนมาถึงสมัยปัจจุบัน

ความแตกต่างของเมล็ดเจียกับเม็ดแมงลัก

โดยทั่วไปหากดูแบบผิวเผินก็จะคิดว่าเมล็ดเจียคือเม็ดแมงลัก แต่สามารถแยกออกได้ด้วยการสังเกตลักษณะโดยเมล็ดเจียจะมีลักษณะเรียวรี มีสีน้ำตาลเทา หากนำไปแช่น้ำจะพองตัวมีลักษณะใส ส่วนเม็ดแมงลักมีสีดำเข้ม หากนำไปแช่น้ำก็จะเกิดการพองตัวแบบเมล็ดเจียแต่จะมีเมือกขาวขุ่นออกมาด้วย

สารอาหารในเมล็ดเจีย 28 กรัม

ในเมล็ดเจีย 28 กรัม/1 ออนซ์ มีพลังงานอยู่ทั้งหมดประมาณ 137 กิโลแคลอรี

  • พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต 50 กิโลแคลอรี
  • พลังงานจากไขมัน 72.1 กิโลแคลอรี
  • พลังงานจากโปรตีน 15.2 กิโลแคลอรี

แบ่งส่วนประกอบได้ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 12.3 กรัม
  • โปรตีน 4.4 กรัม
  • ใยอาหาร 10.6 กรัม
  • ไขมันทั้งหมด 8.6 กรัม (แบ่งเป็นไขมันอิ่มตัว 0.9 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 0.6 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 6.5 กรัม)
  • แคลเซียม 177 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 265 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 44.8 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 5.3 มิลลิกรัม
  • สังกะสี 1.0 มิลลิกรัม
  • ทองแดง 0.1 มิลลิกรัม
  • แมงกานีส 10.6 กรัม
  • น้ำ 1.4 กรัม
  • โอเมก้า 3 สูงกว่าปลา 8 เท่า (หากเทียบที่น้ำหนักเท่ากัน)

ประโยชน์ต่อสุขภาพของเมล็ดเจีย

รู้จัก เมล็ดเจีย "Chia Seed" ของโปรดคนรักสุขภาพ : มติชนออนไลน์

มีไฟเบอร์สูง

สำหรับผู้ที่มีปัญหากับระบบขับถ่าย การทานเมล็ดเจียจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้เนื่องจากเมล็ดเจียนั้นมีไฟเบอร์สูงและไฟเบอร์ในเมล็ดเจีย 20% เป็นชนิดดูดซึมง่าย การทานเมล็ดเจียจึงดีต่อระบบลำไส้และระบบขับถ่าย

ทานแล้วอิ่มนาน

เมล็ดเจียสามารถดูดซึมน้ำได้อย่างดีทำให้พองตัวใหญ่กว่าปรกติ ดังนั้นเมื่อทานเข้าไปก็จะไปพองตัวอยู่ในกระเพาะอาหารทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน เมื่อทานอาหารมื้อต่อไปก็จะทานน้อยลง จึงสามารถช่วยลดความอ้วนจากการทานอาหารมากได้

มีโอเมก้าสูง

เดิมรู้กันแต่ว่าสามารถรับโอเมก้า 3 ได้จากอาหารประเภทปลา แต่บางคนไม่สามารถทนรับกลิ่นคาวปลาได้ เมล็ดเจียจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเมล็ดเจียมีโอเมก้าสูงกว่าปลาถึง 8 เท่าหากเทียบที่น้ำหนักเท่ากัน แต่เมล็ดเจียย่อยได้ยากกว่าปลาจึงต้องทำการบดให้ละเอียดก่อนทานจะช่วยให้ร่างกายสามารดูดซึมได้ดี โอเมก้า 3 ในเมล็ดเจียเมื่อทานเข้าไปสามารถเปลีย่นรูปไปเป็นสารที่ช่วยในเรื่องลดการอักเสบ ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่บาดแผล ทำให้แผลสามารถสมานตัวได้เร็วขึ้นไม่เกิดเป็นแผลเรื้อรังและยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดที่บาดแผลได้ด้วย นอกจากนี้โอเมก้าในเมล็ดเชียยังช่วยในเรื่องปรับสมดุลระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ลดระดับคอลเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในหลอดเลือด ช่วยให้หัวใจแข็งแรง ช่วยเร่งการเผาผลาญในร่างกาย และช่วยบำรุงสมองทำให้มีความจำดี

ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง

ในเมล็ดเจียมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างกระดูกและฟัน ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และโปรตีน ดังนั้นจึงช่วยบำรุงกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุน และกระดูกบางได้

ลดการเกิดอาการข้างเคียงของโรคเบาหวาน

เมล็ดเจียสามารถช่วยชะลอการทำงานของระบบย่อยอาหารได้ ดังนั้นจึงสามารถช่วยในเรื่องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย ระดับน้ำตาลในเลือดจะคงที่ลดการเกิดอาการข้างเคียงของโรคเบาหวานได้

ช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมกล้ามเนื้อส่วนที่สึกหรอได้เร็วขึ้น

เนื่องจากในเมล็ดเจียมีโปรตีนและฟอสฟอรัสสูง เมื่อทานเข้าไปจึงสามารถช่วยให้ร่างกายนำสารอาหารเหล่านี้ไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของเนื้อเยื่อ หรือกล้ามเนื้อของส่วนต่างๆ ในร่างกาย

ช่วยให้อารมณ์ดี

เพราะในเมล็ดเจียมีกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่คล้ายกับที่มีอยู่ในนม เมื่อทานเข้าไปแล้วก็จะช่วยควบคุมความอยากอาหาร นอนหลับสนิท และช่วยให้อารมณ์เป็นปรกติ

แก้ปัญหาและป้องกันอาการท้องผูก

ในเมล็ดเจียเต็มไปด้วยใยอาหารจึงช่วยดูดซึมสารพิษที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ได้ ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาและป้องกันอาการท้องผูกได้

ประโยชน์ในการดูแลผิวสวย

เมล็ดเจียนอกจากจะมีสรรพคุณช่วยลดความอ้วน และช่วยดีท็อกสารพิษในร่างกายแล้ว ประโยชน์ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนก็คือ สรรพคุณในด้านความสวยความงาม ด้วยสารอาหารมากมายที่อุดมอยู่ในเมล็ดเล็กๆ ของมัน การรับประทานอย่างเหมาะสมจะช่วยปรับสภาพร่างกายจากภายใน เผยผิวสวยใสภายนอกให้ดูสุขภาพดีไปด้วย

ช่วยลดปัญหาผิวอักเสบและสิวอุดตัน

ใครที่มีปัญหาสิว ผิวหมองคล้ำจากสิวอักเสบและสิวอุดตันทั้งหลาย การรับประทานเมล็ดเจียจะเข้าไปช่วยลดปัญหาสิวให้น้อยลงได้ด้วยการลดไขมันส่วนเกิน รักษาระดับน้ำตาลในเลือด และระดับอินซูลินด้วย ดังนั้นจึงช่วยปรับสมดุลภายใน ลดปัญหาสิวและผิวอักเสบจากคนที่ชอบกินอาหารหวานๆ มันๆ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิวชั้นยอด

ลดริ้วรอยทำให้ผิวอ่อนเยาว์

ด้วยแร่ธาตุสังกะสีที่พบในเมล็ดเจีย ในสัดส่วนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย มันจึงกลายเป็นพืชที่ทำหน้าที่ส่วนแอนตี้ริ้วรอยบนใบหน้า ทำให้ผิวเรียบตึง และช่วยป้องกันผิวขาดน้ำ ทำให้ดูชุ่มชื้น นุ่มลื่นเหมือนผิวเด็กด้วยการบำรุงจากภายใน

ทำให้ผิวดูเปล่งปลั่งอย่างเป็นธรรมชาติ

สำหรับใครที่อยากมีผิวดูสุขภาพดี การรับประทานเมล็ดเจียช่วยได้อย่างมาก เพราะแมกนีเซียมในเมล็ดเจียมีปริมาณมากกว่าพืชชนิดอื่น จึงเหมาะที่จะรับประทานเพื่อช่วยเสริมให้ผิวที่มีความคล้ำไร้ชีวิตชีวากลับมาดูอิ่มเอิบ เปล่งปลั่งอย่างเป็นธรรมชาติอีกครั้ง เนื่องจากสารแมกนีเซียมเข้าไปช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้ออกซิเจนถูกส่งไปเลี้ยงเซลล์ผิวได้อย่างทั่วถึง

วิธีทานเมล็ดเจีย

วิธีทานเมล็ดเจีย ทานยังไง ทานเท่าไหร่ต่อวัน? | เมล็ดเจีย ตราพาเฟ่

เมล็ดเจียสามารถทานร่วมกับอาหารได้หลากหลาย ทำให้ทานง่ายกว่าการทานเมล็ดเจียเพียงอย่างเดียว โดยสามารถเอาเมล็ดเจียผสมลงอาหารที่คุณต้องการก็สามารถทานได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว อาหารหวาน และเครื่องดื่มต่างๆ ก็ใส่เมล็ดเจียผสมลงไปได้

เมล็ดเจียทานได้แค่ไหนจึงจะดีต่อสุขภาพ

เมล็ดเจียสามรถทานได้ทุกช่วงวัย แต่เป็นปริมาณที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี ควรทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ
  • เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 - 18 ปี ควรทานวันละ 1.4 - 4.3 กรัม
  • สำหรับผู้ใหญ่ ควรทานวันละ 15 กรัม หรือ 2 ช้อนโต๊ะ
  • ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรทาน 33 - 41 กรัมในทุกๆ 3 เดือน แต่ต้องนำไปป่นก่อนทาน

ทำไมเมล็ดเจียจึงช่วยลดความอ้วนได้

เมล็ดเจียเป็นธัญพืชที่สามารถทานเพื่อลดน้ำหนักได้อย่างดี เนื่องจากในเมล็ดเจียนั้นเต็มไปด้วยใยอาหารซึ่งสามารถดูดซึมของเหลวต่างๆ ได้อย่างดี หากก่อนทานนำเมล็ดเจียไปแช่ในเครื่องดื่มต่างๆ ก่อนทานเมล็ดเจียก็จะดูดซึมของเหลวเหล่านั้นและพองตัวในกระเพาะอาหาร ดังนั้นเมื่อทานเข้าไปแล้วจึงทำให้อิ่มเร็ว จึงทานอาหารอื่นๆ ได้น้อยลง นอกจากนี้เนื่องจากเมล็ดเจียมีใยอาหารเยอะซึ่งกระเพาะจะค่อยๆ ย่อยอย่างช้าๆ จึงทำให้อิ่มนาน และไม่ค่อยอยากอาหาร และสุดท้ายเพราะในเมล็ดเจียมีคุณค่าสารอาหารต่างๆ หลายอย่างจึงช่วยลดการกินจุบจิบได้ เพราะสาเหตุของการกินจุบจิบมาจากการที่ร่างกายได้รับสารอาหารต่างๆ ไม่เพียงพอ 

ข้อควรระวังในการทานเมล็ดเจีย

ถึงเมล็ดเจียจะมีประโยชน์มากมายต่อร่างกาย แต่ก็มีข้อควรระวังบางอย่างในการทาน เพราะเมล็ดเจียนั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง ดังนี้

สำหรับผู้ที่กระเพาะอาหารและระบบลำไส้มีปัญหา: สำหรับผู้ที่มีแก๊สในกระเพาะอาหาร มีอาการกรดไหลย้อน ถ้าหากทานเมล็ดเจียเข้าไปจะยิ่งทำให้มีอาการหนักกว่าเดิมได้ เพราะเมล็ดเจียเมื่อทานเข้าไปแล้วจะขยายตัวในกระเพาะอาหารเพิ่มกว่าปรกติได้ถึง 25% ดังนั้นจึงเป็นการกระตุ้นให้ตับอ่อนสร้างน้ำย่อยออกมามากกว่าเดิม จึงทำให้อาการต่างๆ หนักขึ้น

สำหรับผู้ที่ต้องเข้ารับการศัลกรรม: รวมไปถึงคนที่มีประวัติในการใช้ยาแอสไพริน หรือยาที่ใช้เพื่อละลายลิ่มเลือดควรงดการทานเมล็ดเจีย เพราะจะยิ่งเป็นการทำให้หลอดเลือดบาง และส่งผลให้เลือดเกิดการแข็งตัวช้ามากกว่าปรกติ เป็นเหตุให้เกิดอาการเลือดไหลไม่หยุดหากมีบาดแผล

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำ: ไม่ควรทานเมล็ดเจีย เนื่องจากเมล็ดเจียจะไปส่งผลต่อแรงดันเลือดในขณะที่หัวใจเกิดการคลายตัว ซึ่งเป็นช่วงที่ความดันเลือดต่ำ ให้ต่ำลงไปกว่าเดิม อาจจะก่อให้เกิดอาการช็อก หน้ามืด เป็นลมหมดสติได้

สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์: หรือผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรทานเมล็ดเจีย เพราะสารอาหารในเมล็ดเจียมีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตอาจจะส่งผลกระทบต่อบุตรได้

กินเมล็ดเจียแล้วท้องอืด

ที่เรารู้กันดีคือเมล็ดเจียสามารถรับประทานได้ทั้งแบบแห้งและแบบแช่น้ำ ซึ่งหลายๆ คนที่เกิดอาการท้องผูก มักเกิดจากการรับประทานแบบแห้ง สาเหตุเพราะว่าเมล็ดเจียจะสามารถขยายตัวได้ดีเมื่อสัมผัสกับน้ำ(ดูดซับน้ำ) จึงทำให้ทานปริมาณน้อย แต่ส่งผลให้อิ่มนาน ดังนั้นหากพึ่งพัดทานเมล็ดเจียครั้งแรก ควรเริ่มจากการกินเพียง 2-3 ช้อนชา/ครั้ง เพื่อทดสอบดูก่อนว่าร่างกายรับได้แค่ไหน ป้องกันอาการท้องอืดแสนทรมาน

 

หลักการทานเมล็ดเจียไม่ให้ท้องอืด

  1. ควรนับปริมาณการทาน โดยแช่เมล็ดเจียในน้ำเปล่า(ที่อุณหภูมิห้อง) ซัก 15 นาที เพื่อให้เมล็ดขยายตัวก่อนทาน
  2. หากต้องการทานร่วมกับของร้อน เช่น รม หาแฟ น้ำอุ่น สามารถแช่ไว้ได้เพียง 10 นาที
  3. หากทานในน้ำเย็น ควรแช่ไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนทาน
  4. หากทานเมล็ดเจียแล้วไม่ว่าอย่างไรก็ท้องผูก แนะนำว่าควรยกเลิกการรับประทานเมล็ดเจีย และหาธัญพืชอย่างอื่นมาทดแทน เช่นเม็ดแมงลัก

เมล็ดเจีย หาซื้อได้ที่ไหน?

จริงๆ ในปัจจุบันสามารถหาซื้อเมล็ดเจียได้ตามร้านค้าออนไลน์ ซึ่งมีราคาไม่แตกต่างกันมากนัก แต่หากอยากต้องการหาซื้อในร้านค้าขนาดใหญ่ และต้องการได้สินค้าอย่างรวดเร็ว อาจลองหาซื้อตามห้างต่อไปนี้ (ในเขต กรุงเทพฯ) Top, Central World, ร้านภูมิใจไทย ทุกสาขา, ร้านสบายใจทุกสาขา, Food Land (ฟู๊ดแลนด์) มีจำหน่ายแล้ว, วิลล่า มาร์เก็ต มักจะมีจำหน่าย สำหรับผู้เริ่มทาน แนะนำว่าให้เริ่มซื้อทานจากปริมาณน้อยสุดก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มปริมาณมากขึ้นในภายหลัง

เมล็ดเจีย กินกับอะไรดี

สำหรับเมนูที่น่าสนใจ สามารถนำเมล็ดเจียไปสร้างสรรค์เป็นส่วนประกอบ ที่ไม่เพียงแค่ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ยังเสริมทัพความอร่อยให้กับเราได้อีกด้วย เมนูที่จะขอแนะนำต่อไปนี้ จึงเป็นเมนูเรียบง่ายไม่ยุ่งยาก มีทั้งขนมและเครื่องดื่ม เริ่มกันตั้งแต่ แพนเค้กเมล็ดเจีย ด้วยผสมจากไข่ไก่ แป้งสาลี และเมล็ดเจีย เป็นส่วนประกอบหลัก ได้เป็นอาหารแคลอรี่ต่ำ

เสิร์ฟคู่กับผลไม้สด ราดด้วยซอสเปรี้ยวหวานจากสตอเบอรี่ หรือซอสอื่นๆ ตามชอบสักเล็กน้อย เป็นตัวช่วยเพิ่มรสอร่อยได้ไม่ยาก ตามมาด้วยของหวานเย็นชื่นใจอย่าง พุดดิ้งเมล็ดเจีย สีหวาน เลือกใช้เป็นนมสด ผสมกับเนื้อผลไม้ โรยหน้าด้วยเมล็ดเจีย มีเจลาตินช่วยเสริมความเด้งดึ๋งให้พุดเด้งเซตตัว แช่เย็นเก็บไว้ทานเป็นอาหารมื้อว่าง หรือเวลาหิว ส่วนเครื่องดื่มเพียงแค่นำเมล็ดเจียผสมน้ำ ไม่ต้องมากเกินไป เพราะเมล็ดจะพองตัวมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า ก็ได้ความอร่อยแบบง่ายๆ กันแล้ว

เมล็ดเจียกับเมล็ดแมงลัก แตกต่างกันอย่างไร?

คนรักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก ต้องรู้จักตัวช่วยดูแลสุขภาพที่กำลังมาแรงในตอนนี้คือเมล็ดเจีย และเมล็ดแมงลัก ซึ่งล้วนมีความพิเศษหลักอยู่ที่การพองตัวเมื่อแช่ลงไปในน้ำ แต่ด้วยความแตกต่างของอาหารสุขภาพทั้งสองชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ต่างกันอย่างชัดเจนและความนิยมที่เมล็ดเจียในตอนนี้มีชื่อเสียงมากกว่า อาจจะเกิดข้อสงสัยว่ามีสรรพคุณที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้วแบบไหนจะเหมาะสำหรับการนำมาใช้ดูแลสุขภาพได้คุ้มค่ากว่ากัน

 

หากพูดถึงรูปร่างของพืชทั้งสองชนิด เมล็ดเจียจะเป็นลักษณะเมล็ดที่มนรี สีขาวและเทาปนกันเป็นแบบเฉดสี หรือบางครั้งก็ออกเป็นโทนดำ เปลือกหุ้มไม่เรียบ มีลวดลาย แต่ส่วนเม็ดแมงลัก จะมีความรี เป็นสีดำเข้มเหมือนงา และไม่มีเปลือกหุ้มเมล็ดแบบมีลวดลาย ส่วนความแตกต่างทางด้านสรรพคุณ เมื่อเปรียบเทียบแล้ว เมล็ดเจียที่มีราคาแพงกว่า พบว่ามีสารอาหารสำคัญอัดแน่นอยู่ภายในเป็นจำนวนมากกว่า ทำให้เราได้พลังงานสูงแต่มีแคลอรี่ต่ำ จึงสามารถรับประทานเป็นอาหารมื้อหลักได้ ต่างจากเม็ดแมงลักที่ไม่มีพลังงาน สรรพคุณที่สำคัญคือใช้เป็นยาระบาย ทำหน้าที่เป็นกากใย กระตุ้นการทำงานของลำไส้ และทำให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น แต่ไม่สามารถนำมาทานเป็นอาหารมื้อหลักได้

ปริมาณของเมล็ดเจียที่ควรได้รับต่อวันจะต้องไม่มากเกินไป และไม่ควรกินพร่ำเพรื่อทดแทนอาหารมื้อหลัก เพราะแม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากกินแบบผิดวิธี ก็สามารถนำโทษมาให้เราได้เช่นกัน


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Chia seeds: Health benefits and recipe tips. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/291334)
Chia Seeds 101: Nutrition, Health Benefits, How to Cook, and More. Everyday Health. (https://www.everydayhealth.com/diet-nutrition/diet/chia-seeds-nutrition-health-benefits-how-cook-more/)
Chia Seed Benefits, According to a Nutritionist. Health.com. (https://www.health.com/food/chia-seed-benefits)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป