สุขภาพของทารกและการดูแล

เผยแพร่ครั้งแรก 11 พ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 37 นาที
สุขภาพของทารกและการดูแล

ปัญหาการนอนในเด็ก

มีเด็กเล็กหลายคนที่นอนหลับยาก และจะตื่นขึ้นมากลางดึก ซึ่งมันอาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับบางคน แต่ถ้าคุณหรือลูกนอนไม่เพียงพอ การนำวิธีที่เราจะแนะนำหลังจากนี้ไปปรับใช้ก็อาจช่วยคุณได้ อย่างไรก็ตาม เด็กทุกคนแตกต่างกัน ดังนั้นให้คุณเลือกวิธีที่คุณรู้สึกสบายใจ และเป็นวิธีที่คุณคิดว่าเหมาะสำหรับเด็ก

กรณีที่ลูกไม่ยอมเข้านอน

  • ให้คุณกำหนดเวลาที่อยากให้ลูกเข้านอน
  • ก่อนถึงเวลานอนของลูก ให้คุณใช้เวลา 20 นาทีสำหรับทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย โดยให้เลื่อนกิจกรรมดังกล่าวให้เร็วขึ้น 5-10 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 15 นาทีในกรณีที่ลูกนอนดึกจนติดเป็นนิสัย หรือคุณจะเลื่อนเวลาจนกระทั่งได้เวลาเข้านอนที่คุณต้องการ
  • จำกัดเวลาที่คุณใช้กับลูกเมื่อพาเขาเข้านอน ตัวอย่างเช่น อ่านนิทานเพียงแค่เรื่องเดียว
  • ให้ของเล่นที่เด็กชอบ ตุ๊กตา หรือสิ่งใดก็ตามที่ทำให้เด็กรู้สึกสบายใจก่อนพาเขาเข้านอน
  • วางกระบอกน้ำในบริเวณที่ลูกสามารถหยิบได้และหรี่ไฟในกรณีที่จำเป็น
  • หากลูกตื่นนอน ให้คุณพยายามทำให้ลูกกลับไปนอนอีกครั้งโดยพยายามบ่นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • ทำสิ่งที่กล่าวไปอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งคุณอาจต้องทำเช่นนี้ติดต่อกันเป็นเวลาหลายคืน

กรณีที่ลูกตื่นขึ้นมากลางดึก

มีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีหลายคนที่ตื่นระหว่างคืน เด็กบางคนจะกลับไปนอนต่อด้วยตัวเอง ในขณะที่เด็กบางคนจะร้องไห้หรือต้องการคนมาอยู่เป็นเพื่อน ในกรณีนี้ให้คุณหาสาเหตุที่ทำให้ลูกตื่นนอน ตัวอย่างเช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ลูกกำลังหิวหรือไม่? หากลูกของคุณมีอายุ 1 ปี หรือมากกว่านี้ การทานซีเรียลและนมอาจช่วยให้ลูกหลับสนิทตลอดคืน
  • ลูกกลัวความมืดหรือไม่? คุณสามารถเปิดไฟที่ใช้สำหรับตอนกลางคืน หรือเปิดไฟดวงเล็กๆ ทิ้งไว้
  • ลูกตื่นเพราะเขากลัวหรือฝันร้ายหรือไม่? หากเป็นเช่นนี้ ให้ลองหาว่าสิ่งใดที่กำลังรบกวนลูกของคุณ
  • ลูกกำลังรู้สึกหนาวหรือร้อนเกินไปหรือไม่? คุณอาจเปลี่ยนผ้าปูที่นอน หรือปรับเครื่องปรับอากาศในห้องนอน และลองดูว่ามันช่วยได้หรือไม่

หากไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด และลูกของคุณก็ยังคงตื่นนอน ร้องไห้ หรือต้องการให้คุณอยู่เป็นเพื่อนอย่างต่อเนื่อง คุณอาจลองใช้วิธีดังต่อไปนี้

  • กำหนดเวลาตื่นนอน: หากลูกของคุณตื่นนอนเวลาเดิมทุกคืน ให้คุณพยายามปลุกลูกก่อนเวลาดังกล่าว 15-60 นาที จากนั้นให้ลูกกลับไปนอนตามปกติ
  • ให้ลูกนอนกับพี่น้องคนอื่นๆ: หากคุณคิดว่าลูกของคุณอาจรู้สึกเหงา และพี่น้องคนอื่นๆ ไม่ได้คัดค้าน คุณก็อาจให้ลูกนอนห้องเดียวกันทั้งหมด ซึ่งการทำเช่นนี้สามารถทำให้พวกเขานอนหลับสนิทตลอดคืน
  • หาทางออกร่วมกัน: ให้คุณลองปรึกษาคู่ชีวิตว่าจะรับมือกับปัญหาการนอนของลูกอย่างไร การวางแผนล่วงหน้าร่วมกันช่วยให้คุณไม่ต้องมานั่งคิดรับมือกับลูกในช่วงกลางดึก หากคุณทั้งคู่ตกลงกันได้ว่าจะใช้วิธีใดก็ตามที่ดีที่สุดสำหรับลูก การทำตามแผนที่วางไว้ก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

ทำอย่างไรเมื่อเด็กฝันร้าย?

การฝันร้ายเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในเด็กเล็ก ซึ่งพวกเขามักเริ่มฝันร้ายเมื่อมีอายุอยู่ในช่วง 18 เดือน และ 3 ปี อย่างไรก็ตาม การฝันร้ายไม่ได้เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ซึ่งมันอาจเกิดขึ้นหากเด็กกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับบางสิ่ง หรือดูโทรทัศน์หรือฟังเรื่องเล่าที่ทำให้รู้สึกกลัว

หลังจากฝันร้าย ลูกของคุณจะต้องการคนปลอบใจและต้องการให้คุณช่วยเรียกความมั่นใจกลับมา หากลูกฝันร้ายบ่อยครั้ง และคุณไม่รู้สาเหตุ ให้คุณลองปรึกษาแพทย์

วิธีรับมือเมื่อลูกฝันผวา (Night Terrors)

ฝันผวาเป็นอาการที่พบได้ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 3-8 ปี โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะกรีดร้อง หรือดิ้นไปมาในขณะที่ยังคงนอนหลับ อาการที่ว่ามักเกิดขึ้นหลังจากที่เด็กนอนหลับไปได้หลายชั่วโมง เด็กอาจลุกขึ้นนั่ง พูด หรือดูหวาดกลัวในขณะที่ยังคงนอนหลับ

อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรปลุกลูกในระหว่างที่เขามีอาการดังกล่าว แต่หากมันเกิดขึ้นเวลาเดิมทุกคืน ให้คุณปลุกลูกอย่างอ่อนโยนก่อนเวลาที่เด็กฝันผวาประมาณ 15 นาที จากนั้นให้ลูกตื่นสักประมาณ 3-4 นาที แล้วปล่อยให้ลูกกลับไปนอนต่อ ซึ่งเขาจะจำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ในตอนเช้า

การเห็นลูกมีอาการฝันผวาสามารถทำให้คุณกลุ้มใจมาก แต่อาการดังกล่าวไม่เป็นอันตราย และไม่เกิดขึ้นยาวนาน โดยทั่วไปแล้ว อาการฝันผวาไม่ได้เป็นสัญญาณของปัญหาที่ร้ายแรง สุดท้ายแล้วอาการดังกล่าวจะหายไปเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน

ปัญหาเกี่ยวกับการนอนที่พบในเด็กส่วนมากสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ต้องใช้ความอดทน ความสม่ำเสมอ และความรับผิดชอบ หากคุณลองทำตามวิธีที่เราแนะนำ และลูกยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน คุณควรปรึกษาแพทย์

ในระหว่างนี้ถ้าคุณรู้สึกหมดหวัง ให้คุณลองหาใครสักคนที่มาช่วยดูแลลูกเป็นบางคืน หรือคนที่ลูกสามารถอยู่ด้วยได้ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ฯลฯ คุณจะรับมือกับปัญหาได้ดีขึ้นหากคุณได้นอนพัก

การช่วยเหลือเด็กพิการให้นอนหลับ

ในบางครั้งเด็กที่ป่วยเป็นเวลานานหรือพิการจะพบว่าการนอนให้หลับต่อเนื่องตลอดคืนเป็นเรื่องยาก ซึ่งมันสามารถเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับทั้งคุณและลูก สำหรับวิธีที่คุณสามารถนำไปใช้เพื่อให้ลูกนอนหลับได้ง่ายขึ้นมีดังนี้

  • การระบุรูปแบบการนอนของลูกสามารถช่วยเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันของเขา
  • กำหนดกิจวัตรก่อนนอน ตัวอย่างเช่น อาบน้ำ แต่งตัว เล่านิทานก่อนนอน เป็นต้น
  • คนที่มีส่วนช่วยเหลือเด็กไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือแพทย์ควรใช้วิธีที่เหมือนกันในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการให้ลูกดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือใช้อุปกรณ์ที่ต้องใช้มือถือก่อนเข้านอน 1 ชั่วโมง เพราะสิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นสมอง
  • ห้องนอนของลูกจะต้องเอื้อต่อการนอนหลับ ภายในห้องจะต้องไม่มีลวดลายของผนังที่ทำให้เด็กจินตนาการถึงสิ่งที่น่ากลัว นอกจากนี้ห้องนอนจะต้องมีอุณหภูมิที่ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไปและต้องไม่สว่าง
  • หากลูกรู้สึกหิวก่อนเข้านอน ให้ลูกทานอาหารมากขึ้นในช่วงค่ำ แต่ก็อย่าลืมว่าอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดอาจส่งผลต่อการนอน
  • หากลูกรู้สึกเศร้าเมื่อคุณปล่อยให้เขาอยู่ในห้องนอนคนเดียว ให้คุณค่อยๆ ทำให้เขาคุ้นเคยกับการที่ไม่มีคุณอยู่ภายในห้อง โดยหลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนบนเตียงกับลูก หลังจากนั้นไม่กี่วัน ให้คุณเพิ่มระยะห่างระหว่างคุณและลูกจนกว่าเขาสามารถนอนหลับได้โดยไม่มีคุณอยู่ภายในห้อง

การรักษาเด็กที่มีไข้สูง

สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี หากมีอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือ 99.5 องศาฟาเรนไฮต์ มันก็บ่งบอกได้ว่าเด็กมีไข้ อย่างไรก็ตาม การมีไข้ถือเป็นเรื่องปกติในเด็กเล็ก ซึ่งมีผู้ปกครองของเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือน - 5 ปีมากกว่า 60% ที่บอกว่าลูกเคยมีไข้ สาเหตุของการมีไข้นั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ไม่รุนแรง และสามารถรักษาตัวได้เองที่บ้าน

การมีอุณหภูมิของร่างกายที่สูงสามารถทำให้ผู้ปกครองหรือคนที่ดูแลเด็กเกิดความรู้สึกวิตกกังวล แต่เด็กส่วนมากจะมีอาการดีขึ้นหลังจากผ่านไป 2-3 วัน

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กมีไข้?

ลูกของคุณอาจมีไข้หากมีอาการดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • เมื่อคุณสัมผัสที่หน้าผาก แผ่นหลัง หรือท้องของลูก คุณรู้สึกว่าผิวของเขาร้อนกว่าปกติ
  • ลูกมีเหงื่อชุ่มหรือตัวเหนียว
  • แก้มแดง

หากคุณสงสัยว่าลูกของคุณมีไข้หรือไม่ คุณควรตรวจสอบโดยใช้ปรอทวัดไข้ ซึ่งคุณสามารถหาซื้อปรอทวัดไข้ที่ทั้งปลอดภัยและมีราคาถูกที่ร้านขายยา ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านค้าออนไลน์ อย่างไรก็ตาม คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้ปรอทวัดไข้ชนิดที่ใช้วัดไข้ที่หน้าผาก เพราะมันให้ผลลัพธ์ที่ไม่แม่นยำ

วิธีการดูแลเด็กที่มีไข้

คุณสามารถช่วยให้ลูกสบายตัวโดยทำตามวิธีดังนี้

  • ให้ลูกดื่มน้ำมากขึ้น หากคุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณก็ให้นมลูกตามปกติ
  • ให้อาหารเมื่อลูกต้องการเท่านั้น
  • ระวังสัญญาณของภาวะขาดน้ำ ซึ่งสามารถประกอบไปด้วยอาการปากแห้ง ไม่มีน้ำตา นัยน์ตาลึก และหากเป็นทารก คุณจะพบว่าทารกปัสสาวะน้อยกว่าปกติ และมีกระหม่อมตอบลง
  • ตรวจสภาพร่างกายของเด็กเป็นครั้งคราวในระหว่างคืน
  • ไม่ให้เด็กไปสถานที่ดูแลเด็กหรือโรงเรียน และให้คนดูแลเด็กหรือโรงเรียนทราบว่าลูกของคุณกำลังป่วย
  • หากลูกดูเจ็บปวด คุณก็อาจให้เขาทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน แต่คุณไม่ควรให้ลูกทานยาสองชนิดพร้อมกัน
  • หากคุณให้ลูกทานยาเพียงชนิดเดียว และมันไม่ได้ช่วยให้อาการดีขึ้น คุณก็อาจให้ลูกทานยาชนิดอื่นก่อนที่จะถึงเวลาทานยาชนิดเดิม
  • ทานยาตามคำแนะนำบนขวดหรือบรรจุภัณฑ์อย่างระมัดระวัง และไม่ทานยาเกินกว่าปริมาณที่แนะนำ รวมถึงไม่ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีทานยาแอสไพริน
  • หากลูกป่วยเป็นโรคหืดหอบ ให้คุณลองปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนให้เขาทานยาไอบูโพรเฟน
  • คุณไม่จำเป็นต้องปลดเสื้อให้ลูก หรือใช้ฟองน้ำอุ่นๆ เช็ดตัวให้ลูก เพราะมีงานวิจัยพบว่าทั้งสองวิธีดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ไข้ลดลง นอกจากนี้คุณควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกใส่เสื้อหลายชั้น หรือใช้ผ้าปูเตียงหนาเกินไป

สิ่งที่ควรทำเมื่อคุณรู้สึกกังวล

หากคุณรู้สึกกังวลเกี่ยวกับทารกหรือลูก คุณควรพาเขาไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ ทั้งนี้คุณควรพาลูกไปพบแพทย์เสมอหากเขามีอาการดังนี้

  • ทารกมีอายุต่ำกว่า 3 เดือน และมีอุณหภูมิของร่างกาย 38 องศาเซลเซียส (101 องศาฟาเรนไฮต์) หรือมากกว่านี้
  • ทารกมีอายุ 3-6 เดือน และร่างกายมีอุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส (102 องศาเซลเซียส) หรือมากกว่านี้
  • คุณคิดว่าทารกอาจตกอยู่ในภาวะขาดน้ำ
  • ทารกมีผื่นแดงเกิดขึ้นที่ผิว ซึ่งรอยแดงไม่จางลงเมื่อนำแก้วมากลิ้งบนผิว
  • เด็กมีอาการชักกระตุก ไม่หยุดร้องไห้ หรือมีเสียงแหลมหรือเสียงผิดปกติเมื่อร้องไห้
  • มีไข้นานกว่า 5 วัน
  • สุขภาพของเด็กแย่ลง
  • คุณมีความกังวลเกี่ยวกับการดูแลลูกเมื่ออยู่บ้าน

สัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง

การที่เราจะรู้ว่าทารกหรือเด็กวัยเตาะแตะป่วยอย่างรุนแรงหรือไม่นั้นอาจเป็นเรื่องยาก แต่สิ่งสำคัญที่คุณควรเชื่อก็คือสัญชาตญาณของตัวเอง คุณรู้จักลูกดีกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นคุณจะรู้เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น

สัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงในทารกหรือเด็กวัยเตาะแตะ

สำหรับสัญญาณเตือนที่คุณควรระวังมีดังนี้

อุณหภูมิ

  • มีอุณหภูมิของร่างกายสูง แต่กลับมีฝ่าเท้าและมือที่เย็น
  • อุณหภูมิของร่างกายไม่ลดลงแม้ว่าทานยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟนแล้ว
  • ลูกไม่พูดและไม่ร่าเริงแม้ว่าไข้ลดลงแล้ว
  • ทารกที่มีอายุน้อยกว่า 8 สัปดาห์มีอุณหภูมิของร่างกายสูง

การหายใจ

  • หายใจเร็วหรือหายใจแรง
  • มีเสียงออกมาจากลำคอขณะหายใจ
  • หายใจลำบาก และหายใจแรงจนทำให้ท้องยุบไปอยู่ใต้ซี่โครง
  • ผิวเป็นสีน้ำเงิน ผิวซีด มีจุดบนผิว หรือผิวเป็นสีเทา
  • ลูกตื่นนอนยากกว่าเดิม ไม่เชื่อฟัง หรือสับสน
  • ร้องไห้อย่างต่อเนื่อง และคุณไม่สามารถปลอบหรือเบี่ยงเบนความสนใจ หรือลูกร้องไห้ผิดปกติ
  • มีจุด หรือผื่นสีม่วงแดงบนร่างกาย ซึ่งไม่หายไปเมื่อคุณใช้แก้วกดลงบนผิว อย่างไรก็ดี อาการดังกล่าวสามารถเป็นสัญญาณของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • อาเจียนเป็นสีเขียว
  • ลูกเป็นโรคลมชักครั้งแรก
  • ลูกมีอายุน้อยกว่า 8 สัปดาห์ และไม่ต้องการกินนม
  • ผ้าอ้อมไม่เปียกชื้นมากเท่าที่ควร ซึ่งมันสามารถเป็นสัญญาณของภาวะขาดน้ำ

สัญญาณอื่นๆ

หากคุณพบว่าลูกมีอาการข้างต้น คุณควรพาเขาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

เมื่อไรที่ควรเรียกรถพยาบาล

หากลูกหยุดหายใจ ไม่ตื่น เป็นโรคลมชัก และมีอาการแพ้อย่างรุนแรง คุณสามารถโทรไปที่สายด่วน 1669 ซึ่งเป็นเบอร์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

โรคที่พบได้ในเด็ก

โรคหวัด

การที่เด็กเป็นโรคหวัด 8 ครั้งหรือมากกว่านี้ต่อปีนับว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะมีเชื้อไวรัสหลายร้อยสายพันธุ์ และเด็กเล็กยังไม่มีภูมิต้านทานต่อไวรัสเหล่านี้ เพราะพวกเขาไม่เคยรับเชื้อเหล่านี้มาก่อน อย่างไรก็ดี ร่างกายของเด็กจะค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันและเป็นหวัดน้อยลง

เด็กที่เป็นโรคหวัดจะมีอาการดีขึ้นภายใน 5-7 วัน สำหรับวิธีบรรเทาอาการมีดังนี้

  • ให้ลูกของคุณดื่มน้ำให้มากขึ้น
  • การหยดน้ำเกลือในจมูกสามารถช่วยทำให้น้ำมูกที่แห้งกรังคลายตัวและบรรเทาอาการคัดจมูก
  • หากลูกมีไข้ ปวดตัวหรือไม่สบายตัว การให้เขาทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟนสำหรับเด็กก็สามารถช่วยบรรเทาอาการ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เป็นโรคหอบหืดอาจไม่สามารถทานยาไอบูโพรเฟน ดังนั้นให้คุณตรวจสอบกับเภสัชกรหรือแพทย์ก่อน นอกจากนี้คุณควรทำตามคำแนะนำการใช้ยาที่ระบุตรงบรรจุภัณฑ์อย่างเคร่งครัด
  • สนับสนุนให้คนในครอบครัวล้างมือเป็นประจำเพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรคหวัด

วิธีรักษาอาการไอและโรคหวัดในเด็ก

เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ไม่ควรทานยาที่ซื้อจากร้านขายยาเพื่อรักษาอาการไอหรือโรคหวัด ซึ่งหมายความรวมถึงยาลดน้ำมูก เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากแพทย์หรือเภสัชกร

อาการเจ็บคอในเด็ก

อาการเจ็บคอมักเกิดจากการป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคหวัดธรรมดา หรือโรคไข้หวัดใหญ่ คอของลูกอาจแห้งและเขาอาจรู้สึกเจ็บคอเป็นเวลา 1-2 วันก่อนเริ่มเป็นโรคหวัดธรรมดา คุณสามารถให้ยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟนเพื่อบรรเทาอาการเจ็บ

อย่างไรก็ตาม โดยมากแล้วอาการเจ็บคอจะหายไปเองหลังจากผ่านไป 3-4 วัน หากลูกของคุณยังคงมีอาการเจ็บคอมากกว่า 4 วัน ร่างกายมีอุณหภูมิสูง รู้สึกไม่สบาย หรือไม่สามารถกลืนของเหลวหรือน้ำลาย คุณควรพาลูกไปพบแพทย์

อาการไอในเด็ก

เด็กมักมีอาการไอเมื่อพวกเขาเป็นโรคหวัด เพราะน้ำมูกไหลลงไปยังด้านหลังคอ หากลูกของคุณสามารถทานอาหาร ดื่มน้ำ และหายใจได้ตามปกติ และไม่มีเสียงฟืดฟาดขณะหายใจ คุณก็ไม่ต้องกังวล

หากลูกมีอาการไออย่างรุนแรงซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะหาย คุณก็ควรพาลูกไปพบแพทย์ ถ้าเขามีอุณหภูมิของร่างกายสูงและหายใจลำบาก ไม่แน่ว่าหน้าอกของเขากำลังอยู่ในช่วงติดเชื้อ หากเกิดจากแบคทีเรียแทนที่จะเป็นไวรัส แพทย์ก็จะจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อ แต่ยาปฏิชีวนะจะไม่สามารถบรรเทาหรือหยุดอาการไอได้ทันที

หากอาการไอยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะถ้ามีอาการแย่ที่สุดตอนกลางคืน มันก็สามารถเป็นสัญญาณของโรคหืดหอบ เด็กบางคนที่เป็นโรคหืดหอบอาจหายใจฟืดฟาดหรือหายใจลำบาก หากลูกของคุณมีอาการใดอาการหนึ่ง คุณก็ควรพาเขาไปพบแพทย์ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการได้ยินเสียงลูกไอสามารถทำให้คุณกลัดกลุ้ม แต่การไอช่วยขับเสมหะออกจากหน้าอก หรือขับน้ำมูกออกจากด้านหลังคอ หากลูกของคุณมีอายุมากกว่า 1 ปี คุณอาจให้ลูกลองดื่มเลมอนผสมน้ำผึ้ง

โรคครูป (Croup)

เด็กที่เป็นโรคครูปจะมีอาการไอที่เหมือนเสียงเห่าของสุนัข และมีเสียงพร่าเมื่อหายใจเข้า นอกจากนี้เด็กอาจมีน้ำมูก เจ็บคอ และมีอุณหภูมิของร่างกายสูง

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคครูป และผู้ป่วยสามารถรักษาตัวที่บ้าน อย่างไรก็ตาม หากอาการของลูกคุณอยู่ในขั้นรุนแรงและหายใจลำบาก คุณควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลที่ใกล้มากที่สุด

การติดเชื้อที่ช่องหู

การติดเชื้อที่ช่องหูนับว่าเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งผู้ป่วยมักเป็นโรคหวัด และมีอุณหภูมิของร่างกายสูงตามมาในภายหลัง ทารกหรือเด็กวัยเตาะแตะอาจดึงหรือถูที่ใบหูของตัวเอง สำหรับอาการอื่นๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ประกอบไปด้วยการเป็นไข้ ฉุนเฉียวง่าย ร้องไห้ ทานอาหารยากขึ้น กระสับกระส่ายตอนกลางคืน และมีอาการไอ

หากลูกของคุณเจ็บหูไม่ว่าจะมีหรือไม่มีไข้ คุณสามารถให้เขาทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟนตามปริมาณที่แนะนำ โดยให้ลูกลองทานยา 1 เม็ด หากอาการยังไม่ดีขึ้น คุณก็ค่อยให้ยาเพิ่ม อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรหยดน้ำมัน ยาหยอดหู หรือใช้สำลีก้านแหย่เข้าไปในหูของลูกเว้นเสียแต่ว่าแพทย์แนะนำให้ทำเช่นนี้

การติดเชื้อที่ใบหูส่วนมากเกิดจากไวรัส ซึ่งสามารถรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ โดยปกติแล้ว เด็กจะมีอาการดีขึ้นเองภายในประมาณ 3 วัน หลังจากที่หูติดเชื้อ ลูกของคุณอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินประมาณ 2-6 สัปดาห์ หากอาการยังไม่ดีขึ้น คุณก็ควรพาเขาไปพบแพทย์

ภาวะที่มีน้ำขังอยู่ด้านหลังแก้วหูในเด็ก (Glue Ear)

การติดเชื้อที่หูชั้นกลางซ้ำๆ หลายครั้งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะที่มีน้ำขังอยู่ด้านหลังแก้วหู ซึ่งเป็นภาวะที่มีของเหลวเหนียวๆ ก่อตัวขึ้น และสามารถส่งผลต่อการได้ยินของเด็ก โดยอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาพูดไม่ชัด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรม

หากคุณสูบบุหรี่ ลูกของคุณมีโอกาสที่จะตกอยู่ในภาวะที่มีน้ำขังอยู่ด้านหลังแก้วหูมากขึ้น และจะมีอาการดีขึ้นช้ากว่าปกติ อย่างไรก็ตาม แพทย์สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรักษาภาวะดังกล่าว

ท้องเสียและคลื่นไส้

การมีอาการท้องเสียและคลื่นไส้นับว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อ ทารกและเด็กเล็กส่วนมากที่ท้องเสียและอาเจียนไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา และคุณสามารถดูแลลูกด้วยตัวเองที่บ้าน แต่ทั้งนี้คุณควรระวังสัญญาณของภาวะขาดน้ำที่อาจเกิดขึ้น

ร่างกายของทารกและเด็กวัยเตาะแตะสามารถตกอยู่ในภาวะขาดน้ำรวดเร็วกว่าเด็กโตเมื่อพวกเขาท้องเสียและอาเจียน หากภาวะขาดน้ำอยู่ในขั้นรุนแรง มันก็สามารถเป็นอันตรายโดยเฉพาะในทารกที่อายุน้อย ทั้งนี้การดูแลสุขอนามัยของเด็กในระหว่างที่เขาเจ็บป่วยนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันช่วยยับยั้งไม่ให้อาการท้องเสียและอาเจียนแย่ลง

การดูแลทารกหรือเด็กวัยเตาะแตะเมื่อมีอาการท้องเสียและอาเจียน

ในขณะที่ทารกมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน คุณก็ยังคงให้เขากินนมได้ตามปกติ สำหรับเด็กที่กินนมจากขวด คุณก็อาจให้เขาดื่มน้ำสลับกันด้วย และชงนมให้ลูกด้วยความเข้มข้นตามปกติ

เด็กเล็กที่มีอายุมากกว่าหนึ่งปีสามารถดื่มเครื่องดื่มอื่นๆ ตัวอย่างเช่น นมวัวชนิดไขมันเต็มส่วน แต่ให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีก๊าซ เพราะมันสามารถทำให้อาการท้องเสียแย่ลง

หากลูกของคุณอยู่ในช่วงทานอาหารแข็ง คุณก็ให้อาหารลูกตามปกติ หรือคุณอาจให้ลูกทานผงน้ำตาลเกลือแร่ (Oral Rehydration Salt - ORS) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งคุณสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หากคุณยังคงวิตกกังวล คุณก็สามารถปรึกษาแพทย์

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์

โดยทั่วไปแล้ว อาการอาเจียนและอาการท้องเสียจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 1-2 วัน และ 5-7 วันตามลำดับ หากอาการของลูกเกิดขึ้นนานกว่านี้ หรือมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ คุณก็ควรไปพบแพทย์

สัญญาณของภาวะขาดน้ำในทารกและเด็กวัยเตาะแตะ

ลูกของคุณอาจตกอยู่ในภาวะขาดน้ำหากเขามีบางอาการ เช่น

  • นัยน์ตาลึก
  • มีรอยบุ๋มที่กระหม่อมของทารก
  • มีน้ำตาไหลน้อยหรือไม่มี
  • ปากแห้ง
  • ผ้าอ้อมเปียกน้อย
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์ทันที

คุณควรรีบพาทารกหรือเด็กวัยเตาะแตะไปพบแพทย์ทันทีหากเขามีอาการดังนี้

  • อาการดูเหมือนแย่ลงแทนที่จะมีอาการดีขึ้น
  • ทารกที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือนมีอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส (100.4 องศาฟาเรนไฮต์) หรือทารกที่มีอายุ 3-6 เดือนมีอุณหภูมิของร่างกายมากกว่า 39 องศาเซลเซียส (102.2 องศาฟาเรนไฮต์)
  • มีเลือดหรือเมือกในอุจจาระ
  • อาเจียนออกมาเป็นน้ำดีสีเขียว
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง

วิธีคืนน้ำให้ร่างกายของเด็กโดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่

หากลูกของคุณตกอยู่ในภาวะขาดน้ำ คุณจำเป็นต้องเติมน้ำให้ร่างกายของเขาโดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ทั้งนี้ผงน้ำตาลเกลือแร่ช่วยทดแทนน้ำและเกลือที่สูญเสียในระหว่างที่ท้องเสียและอาเจียน โดยให้ทารกหรือเด็กทานผงน้ำตาลเกลือแร่ที่ผสมกับน้ำทีละน้อยแต่ให้ทำบ่อยครั้งตลอดเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง

หากลูกของคุณกินนมจากเต้า คุณก็ให้นมลูกตามปกติ แต่ถ้าลูกไม่ได้กินนมแม่ คุณไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำชนิดใดๆ ก็ตามนอกเหนือจากสารละลายน้ำตาลเกลือแร่เว้นเสียแต่ว่าแพทย์เป็นคนแนะนำ นอกจากนี้คุณไม่ควรให้ลูกทานอาหารชนิดอื่นๆ ในระหว่างที่ดื่มสารละลายดังกล่าว

หากทารกหรือเด็กวัยเตาะแตะอาเจียนสารละลายออกมาหรือไม่ยอมดื่ม ให้คุณลองปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรให้เด็กทานยาแก้ท้องร่วงเว้นเสียแต่ว่าแพทย์เป็นคนแนะนำ

การดูแลเด็กหลังจากที่มีการเติมน้ำให้ร่างกาย

เมื่อร่างกายของเด็กได้รับการเติมน้ำ พวกเขาสามารถเริ่มทานอาหารแข็งได้อีกครั้ง และคุณอาจให้เขาบริโภคเครื่องดื่มที่เขาดื่มตามปกติ ซึ่งประกอบไปด้วยการให้ลูกกินนมจากเต้า แต่ให้หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำที่มีก๊าซ หากลูกยังคงมีอาการท้องเสีย คุณก็อาจให้เขาทานสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หลังจากที่มีอาการท้องเสียในแต่ละครั้ง

วิธีป้องกันไม่ให้อาการท้องเสียและอาเจียนแพร่กระจาย

  1. ทุกคนในครอบครัวควรล้างมือเป็นประจำ โดยให้ใช้สบู่เหลวและน้ำอุ่นล้างมือ รวมถึงเช็ดมือให้แห้ง
  2. ล้างมือหลังจากเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมและก่อนทานอาหาร
  3. คนที่มีอาการท้องเสียและอาเจียนควรใช้ผ้าเช็ดตัวของตัวเอง
  4. ทารกหรือเด็กที่มีอาการท้องเสียและอาเจียนไม่ควรไปสถานที่รับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอย่างน้อย 48 ชั่วโมงหลังจากที่ท้องเสียหรืออาเจียนครั้งล่าสุด
  5. ทารกหรือเด็กไม่ควรว่ายน้ำในสระสาธารณะเป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังจากที่หายจากอาการท้องเสียและอาเจียน

โรคติดเชื้อ (Infectious illnesses)

โรคอีสุกอีใส

ระยะฟักตัว: 1-3 สัปดาห์

ระยะติดเชื้อ: ส่วนมากแล้วเกิดขึ้น 1-2 วันก่อนที่จะมีผื่นปรากฏ แต่ก็ยังคงติดเชื้ออย่างต่อเนื่องจนกระทั่งตุ่มตกสะเก็ด

อาการ

โรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดเชื้อระดับเบา ซึ่งเด็กส่วนมากเป็นโรคนี้สักช่วงหนึ่งของชีวิต ในช่วงเริ่มต้นนั้นผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายตัว มีผื่น และมักมีไข้

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยจะพบว่ามีตุ่มขึ้นตามร่างกาย ซึ่งตุ่มที่ว่านี้เป็นสีแดงและจะมีน้ำใสๆ ด้านในภายในหนึ่งหรือสองวัน สุดท้ายตุ่มก็จะแห้งและตกสะเก็ด ซึ่งตุ่มจะปรากฏครั้งแรกที่หน้าอก แผ่นหลัง ศีรษะ หรือคอ จากนั้นก็จะแพร่กระจายไปทั่วทั้งร่างกาย อย่างไรก็ตาม แผลเป็นจะไม่เกิดขึ้นเว้นเสียแต่ว่ามีการติดเชื้ออย่างรุนแรงหรือมีการแกะตุ่ม

สิ่งที่ต้องทำ

  1. คุณไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เว้นเสียแต่ว่าคุณไม่แน่ใจว่าลูกเป็นโรคอีสุกอีใสหรือไม่ หรือลูกรู้สึกไม่สบายตัวมากหรือเจ็บปวดมาก
  2. ให้ลูกดื่มน้ำมากขึ้น
  3. ทานยาพาราเซตามอลตามปริมาณที่แนะนำเพื่อลดไข้หรือความรู้สึกไม่สบายตัว แต่เด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใสไม่ควรทานยาไอบูโพรเฟน
  4. การอาบน้ำ การใส่เสื้อผ้าที่หลวม หรือเสื้อผ้าที่ทำให้สบายตัว และการใช้คาลาไมน์โลชั่นสามารถช่วยบรรเทาอาการคัน
  5. บอกเด็กว่าห้ามเกาหรือพยายามเบี่ยงเบนความสนใจ เพราะมันจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็น ทั้งนี้การตัดเล็บของเด็กให้สั้นลงสามารถช่วยได้
  6. แจ้งอาจารย์ที่โรงเรียนหรือคนดูแลเด็กที่เนิร์สเซอรีทราบว่าลูกของคุณป่วย
  7. ไม่ให้เด็กเข้าใกล้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือพยายามตั้งครรภ์ หากลูกของคุณสัมผัสผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนที่พวกเขาไม่สบาย ให้คุณแจ้งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และแนะนำให้เธอไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส และเจ็บป่วยในขณะตั้งครรภ์สามารถเกิดภาวะแท้ง หรือทารกอาจเกิดมาเป็นโรคอีสุกอีใส

โรคหัด

ระยะฟักตัว: 7-12 วัน

ระยะติดเชื้อ: ตั้งแต่ประมาณ 4 วันก่อนที่จะมีผื่นปรากฏบนผิวจนกระทั่ง 4 วันหลังจากผื่นหายไป

อาการ

  • ผู้ป่วยจะเป็นหวัด และเจ็บคอขณะไอ รวมถึงมีน้ำตามาก
  • ลูกของคุณจะค่อยๆ มีอาการแย่ลงพร้อมกับมีไข้
  • ผื่นจะปรากฏหลังจากผ่านไป 3-4 วัน จุดที่เกิดขึ้นนั้นมีสีแดงและนูนเล็กน้อย นอกจากนี้เรายังพบตุ่มที่ไม่ทำให้รู้สึกคัน ส่วนผื่นจะเกิดขึ้นหลังใบหู และกระจายมายังใบหน้า
  • อาการป่วยมักคงอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม โรคหัดเป็นโรคที่ร้ายแรงกว่าโรคอีสุกอีใส โรคหัดเยอรมัน หรือโรคคางทูม ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีน MMR ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงนั้นประกอบไปด้วยโรคปอดบวมและการเสียชีวิต

สิ่งที่ต้องทำ

  1. ให้ลูกพักผ่อนและดื่มน้ำอย่างเพียงพอ การดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆสามารถช่วยบรรเทาอาการไอ
  2. ให้ลูกทานยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟนเพื่อลดไข้และความรู้สึกไม่สบายตัว
  3. ทาวาสลีนรอบๆ ริมฝีปากเพื่อปกป้องผิว
  4. หากเปลือกตาของลูกมีขุย ให้คุณล้างโดยใช้น้ำอุ่น
  5. หากลูกมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ ชัก ไอมาก หรือเซื่องซึม ให้คุณรีบพาเขาไปพบแพทย์

โรคคางทูม

ระยะฟักตัว: 14-25 สัปดาห์

ระยะติดเชื้อ: ตั้งแต่ 3-4 วันก่อนที่จะเริ่มรู้สึกไม่สบายตัวจนกระทั่ง 3-4 วันหลังจากนั้น

อาการ

  • รู้สึกไม่สบาย
  • อุณหภูมิของร่างกายสูง
  • รู้สึกเจ็บและบวมที่ด้านข้างใบหน้า (ด้านหน้าใบหู) และใต้คาง อาการบวมมักเริ่มต้นจากใบหน้าเพียงฝั่งเดียว และเกิดที่ใบหน้าอีกฝั่งตามมาแต่ก็ไม่เสมอไป
  • รู้สึกไม่สบายขณะเคี้ยวอาหาร
  • ใบหน้าของเด็กจะกลับมามีขนาดตามปกติประมาณ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี การเป็นโรคคางทูมแทบจะไม่ส่งผลต่ออัณฑะของเด็กผู้ชาย แต่มักพบได้มากในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคคางทูม หากคุณคิดว่าอัณฑะของเด็กบวมหรือเขารู้สึกเจ็บ ให้คุณพาลูกไปพบแพทย์

สิ่งที่ต้องทำ

  1. ให้เด็กทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟนเพื่อบรรเทาอาการเจ็บบริเวณต่อมที่บวม แต่ให้อ่านบรรจุภัณฑ์เพื่อตรวจสอบปริมาณของยาที่เหมาะสมก่อนทาน
  2. ให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอ แต่ห้ามเป็นน้ำผลไม้ เพราะมันจะทำให้น้ำลายไหลออกมามากขึ้น ซึ่งสามารถทำให้อาการเจ็บแย่ลง
  3. ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เว้นเสียแต่ว่าลูกของคุณมีอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียน มีผื่นขึ้นตามตัว หรือมีอัณฑะบวม
  4. การฉีดวัคซีน MMR สามารถช่วยป้องกันโรคคางทูม

โรคฟิฟธ์ หรือพาร์โวรัส บี19

ระยะฟักตัว: 1-20 วัน

ระยะติดเชื้อ: 3-4 วันก่อนที่ผื่นขึ้น ซึ่งเด็กจะไม่แพร่เชื้อเมื่อผื่นขึ้น

อาการ

  • มีไข้และมีน้ำมูก
  • มีผื่นสีแดงสว่างที่เหมือนรอยตบบนแก้ม
  • หลังจากผ่านไป 2-4 วัน ผื่นแดงจะกระจายไปยังลำตัว แขน และขา
  • เด็กที่เป็นโรคเกี่ยวกับเลือด เช่น ภาวะเม็ดเลือดแดงป่อง หรือโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวอาจมีเลือดจางมากกว่าเดิม ซึ่งคุณควรพาลูกไปพบแพทย์

สิ่งที่ต้องทำ

  1. ให้ลูกนอนพักผ่อนและดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
  2. ให้ลูกทานยาพาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟนเพื่อบรรเทาความรู้สึกไม่สบายตัวและลดไข้
  3. ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงที่วางแผนว่าจะตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หากสัมผัสกับบริเวณที่ติดเชื้อหรือมีผื่นคัน

โรคหัดเยอรมัน

ระยะฟักตัว: 15-20 วัน

ระยะติดเชื้อ: ตั้งแต่ 1 อาทิตย์ก่อนที่มีอาการจนกระทั่ง 4 วันหลังจากมีผื่นขึ้น

อาการ

  • เริ่มแรกจะมีอาการเหมือนตอนเป็นโรคหวัดระดับเบา
  • มีผื่นขึ้นภายในวันที่หนึ่งหรือสอง โดยเริ่มจากบริเวณใบหน้า และลามไปตามลำตัว จุดมีลักษณะแบนและมีสีชมพูอ่อนบนผิวที่สว่าง
  • ­­­ต่อมด้านหลังคออาจบวม
  • ลูกของคุณจะรู้สึกไม่สบายอยู่เสมอ

สิ่งที่ต้องทำ

  1. ให้ลูกดื่มน้ำมากขึ้น
  2. ให้ลูกทานยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟนเพื่อบรรเทาความรู้สึกไม่สบายหรือลดไข้
  3. ให้ลูกอยู่ห่างจากคนที่อยู่ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ (ประมาณ 4 เดือน) หรือกำลังพยายามตั้งครรภ์ หากลูกของคุณสัมผัสกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนที่คุณรู้เกี่ยวกับการเจ็บป่วย คุณควรบอกให้ผู้หญิงเหล่านั้นทราบ เพราะพวกเขาจำเป็นต้องไปพบแพทย์
  4. การฉีดวัคซีน MMR สามารถช่วยป้องกันโรคหัดเยอรมัน

โรคไอกรน

ระยะฟักตัว: 6-21 วัน

ระยะติดเชื้อ: ตั้งแต่มีการปรากฏสัญญาณของการเจ็บป่วยจนถึงประมาณ 3 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการไอ หากทานยาปฏิชีวนะ ระยะเวลาติดเชื้อจะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วันหลังจากเริ่มรักษา

ผู้ป่วยจำเป็นต้องทานยาปฏิชีวนะตั้งแต่ช่วงแรกที่ป่วยเพื่อให้อาการดีขึ้น

อาการ

  • อาการมีความคล้ายคลึงกับโรคหวัดและอาการไอ ซึ่งอาการไอจะค่อยๆ แย่ลง
  • หลังจากผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ อาการไอก็จะกำเริบ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยและหายใจลำบาก
  • เด็กเล็ก (ทารกที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน) ได้รับผลกระทบจากโรคนี้มากกว่าเด็กโต และสามารถกลั้นหายใจหรือมีอาการซึมเศร้าก่อนที่จะมีอาการไอ
  • ลูกของคุณอาจมีอาการสำลักและอาเจียน ในบางครั้งเขาจะส่งเสียงวูป (Whoop) ในขณะที่สูดหายใจเข้าหลังมีอาการไอ
  • อาการไอแบบฉับพลันอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และสามารถดำเนินต่อไปนานถึง 3 เดือน

สิ่งที่ต้องทำ

  1. การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคไอกรน
  2. หากลูกของคุณมีอาการไอที่ดูแย่ลงมากกว่าที่จะมีอาการดีขึ้น และเริ่มไอบ่อยและนานขึ้น คุณควรพาเขาไปพบแพทย์
  3. หากลูกป่วย คุณจำเป็นต้องบอกให้เด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ตัวทราบ ทั้งนี้ให้คุณปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีดูแลเด็ก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสทารกที่เสี่ยงต่อการตกอยู่ในภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
  4. เราสามารถป้องกันไม่ให้เด็กเป็นโรคไอกรนโดยฉีดวัคซีนให้เขา

ยาของเด็ก

เราไม่จำเป็นต้องให้เด็กทานยาเมื่อเขาเจ็บป่วยเสมอไป เพราะส่วนมากแล้วอาการเจ็บป่วยต่างๆ จะทุเลาลงเอง และทำให้เด็กแข็งแรงขึ้น และสามารถทนต่อการเจ็บป่วยในอนาคต

ยาแก้ปวดสำหรับเด็ก

ยาพาราเซตามอลและยาไอบูโพรเฟนมักถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาความรู้สึกไม่สบายตัวที่เกิดจากการมีอุณหภูมิของร่างกายสูง เด็กบางคนอย่างเด็กที่เป็นโรคหืดหอบอาจไม่สามารถทานยาไอบูโพรเฟน ดังนั้นให้คุณตรวจสอบกับเภสัชกรหรือแพทย์

โดยทั่วไปแล้ว ทั้งยาพาราเซตามอลและยาไอบูโพรเฟนเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผล คุณอาจซื้อยาชนิดใดชนิดหนึ่งหรือทั้งสองชนิดติดไว้ที่บ้าน โดยเก็บไว้ในสถานที่ๆ ปลอดภัย

นอกจากนี้คุณไม่ควรให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีทานยาแอสไพรินเว้นเสียแต่ว่าแพทย์เป็นคนจ่ายยาให้ ซึ่งมีการพบความสัมพันธ์ระหว่างยาดังกล่าวกับกลุ่มอาการราย (Reye's syndrome) ในกรณีที่คุณให้นมลูก ให้คุณขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนทานยาแอสไพริน

ยาพาราเซตามอลสำหรับเด็ก

เราสามารถให้ยาพาราเซตามอลแก่เด็กที่มีอายุมากกว่า 2 เดือนเพื่อลดอาการปวดหรือลดไข้ แต่ทั้งนี้คุณควรจำกัดปริมาณยาที่จะให้เด็กทานอย่างเหมาะสม เพราะการทานยามากเกินไปสามารถทำให้เกิดอันตราย ทั้งนี้ให้คุณสอบถามเภสัชกรและอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์อย่างระมัดระวัง

ยาไอบูโพรเฟนสำหรับเด็ก

เด็กที่มีอายุ 3 เดือน และอายุมากกว่านี้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 5 กิโลกรัม (11 lbs) สามารถทานยาไอบูโพรเฟน แต่ให้คุณตรวจสอบปริมาณยาที่เหมาะสมกับลูก และหลีกเลี่ยงการให้ยาไอบูโพรเฟนแก่เด็กที่เป็นโรคหืดหอบเว้นเสียแต่ว่าแพทย์เป็นคนแนะนำ

ยาปฏิชีวนะสำหรับเด็ก

โดยมากแล้วเด็กไม่จำเป็นต้องทานยาปฏิชีวนะ เพราะการติดเชื้อที่พบในเด็กส่วนมากเกิดจากไวรัส และยาปฏิชีวนะสามารถรักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรียเท่านั้น

หากแพทย์จ่ายยาโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ให้คุณสอบถามถึงความจำเป็น และทางเลือกอื่นๆ รวมถึงถามเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่เป็นไปได้ ตัวอย่างเช่น การทานยาจะทำให้ลูกของคุณรู้สึกง่วงนอนหรือฉุนเฉียวหรือไม่

 ในกรณีที่แพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะ คุณต้องให้ลูกทานยาจนหมดเพื่อให้มั่นใจว่าแบคทีเรียถูกกำจัดออกไปแล้ว อย่างไรก็ดี ลูกของคุณอาจมีอาการดีขึ้นหลังจากผ่านไป 2-3 วัน หากแพทย์จ่ายยาสำหรับทาน 5 วัน เด็กก็ต้องทานยาให้ครบตามที่กำหนด มิเช่นนั้นโรคที่กำลังเป็นอยู่มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกิดซ้ำอีกครั้ง

ปริมาณยาที่ให้เด็กทาน

  • คุณจำเป็นต้องรู้ปริมาณและความถี่ของการให้ยาเด็ก ซึ่งการจดบันทึกอาจช่วยให้คุณสามารถจำได้
  • หากมีข้อสงสัยใดๆ ให้คุณปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ และอย่าให้เด็กทานยาบ่อยกว่าที่เภสัชกรหรือแพทย์แนะนำ
  • สำหรับยาน้ำ คุณต้องให้ปริมาณยาที่เหมาะกับอายุของเด็ก โดยทำตามคำแนะนำที่ระบุบนขวด
  • ในบางครั้งคุณอาจต้องใช้ช้อนพิเศษหรืออุปกรณ์ตวงยาชนิดน้ำ ซึ่งมันจะช่วยให้คุณตวงยาได้ถูกต้องมากขึ้น
  • ห้ามใช้ช้อนในห้องครัว เพราะมันมีขนาดแตกต่างกัน แต่ให้คุณสอบถามเภสัชกร หรือแพทย์เพื่ออธิบายวิธีตวงยา
  • อ่านคำแนะนำเกี่ยวกับการทานยาและปริมาณที่ผู้ผลิตระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ และให้เด็กทานยาตามปริมาณที่ระบุบนขวดยา หากมีข้อสงสัยใดๆ ก็ตาม ให้คุณปรึกษาเภสัชกร

หากคุณซื้อยาที่ร้านขายยา

  • ให้คุณบอกเภสัชกรว่าลูกอายุเท่าไรทุกครั้ง เพราะยาบางชนิดทานได้เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น
  • ทำตามวิธีการใช้ยาที่ระบุบนฉลากอยู่เสมอ หรือถามเภสัชกรหากคุณไม่แน่ใจ
  • หากมียาที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม ให้คุณซื้อยาชนิดนี้แทน และให้ตรวจสอบวันหมดอายุก่อนให้เด็กทานยา
  • ให้ลูกของคุณทานยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น และห้ามให้เด็กทานยาที่แพทย์สั่งจ่ายให้คนอื่นๆ
  • ถ้าเป็นไปได้ ให้คุณเก็บยาทั้งหมดให้พ้นมือและสายตาของเด็ก และเก็บยาในสถานที่ๆ ไม่ทำให้ยาอุ่น

เด็กและผลข้างเคียงที่เกิดจากการทานยา

หากคุณคิดว่าลูกแสดงปฏิกิริยาในทางลบต่อยาที่ทาน ตัวอย่างเช่น มีผื่น หรือท้องร่วง คุณควรหยุดให้ยาลูก และปรึกษาแพทย์  ในกรณีที่คุณกังวลว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นผลข้างเคียงจากการทานยา ให้คุณอ่านข้อแนะนำการใช้ยาที่ให้มาพร้อมกับยา ซึ่งมีการระบุผลข้างเคียงของการทานยาและแนะนำว่าคุณต้องทำอย่างไร หรือคุณอาจต้องไปพบแพทย์

การดูแลเด็กที่ป่วย

หากลูกของคุณป่วย สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณควรทำคือ การฟังสิ่งที่ลูกร้องขอ หากเขาบอกว่าไม่อยากนอนบนเตียง เขาก็อาจหมายความอย่างที่พูด ซึ่งเขาอาจรู้สึกดีกว่าเมื่อได้นอนบนโซฟาพร้อมกับผ้าห่ม อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเด็กจะนอนบนเตียงหรือโซฟา การทำสิ่งที่เรากำลังจะกล่าวหลังจากนี้สามารถทำให้เด็กรู้สึกสบายขึ้น

  • ให้ลูกอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก หากห้องมีอุณหภูมิอุ่นเกินไป มันก็อาจทำให้เขารู้สึกไม่ดี
  • ให้ลูกดื่มน้ำอย่างเพียงพอ สำหรับวันแรกหรือวันถัดไป คุณไม่ควรวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องอาหารนอกจากลูกเป็นฝ่ายเรียกร้อง หลังจากนั้นให้คุณเริ่มกระตุ้นเขาด้วยอาหารเพียงเล็กน้อย และให้เขาดื่มเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยสารอาหารอย่างนม
  • ให้ลูกเล่นเกมที่ต้องใช้ความเงียบ เล่านิทาน อยู่เป็นเพื่อนลูก และปลอบใจ
  • เด็กที่ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยมาก และจำเป็นต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ ให้คุณพาลูกไปนอนเมื่อเขาต้องการ ซึ่งคุณอาจอ่านนิทานหรือเปิดเทปหรือซีดีให้ลูกฟังก่อนนอน แต่ทั้งนี้คุณไม่ควรนอนไปพร้อมกับทารกที่ป่วยบนโซฟาแม้ว่าคุณทั้งคู่จะรู้สึกเหนื่อยมาก เพราะมันจะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคไหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome - SIDS)
  • การดูแลเด็กที่ป่วยเพียงไม่กี่วันก็สามารถทำให้คุณรู้สึกอ่อนล้า ทั้งนี้ให้คุณดูแลตัวเองโดยพักผ่อนและนอนเมื่อคุณสามารถทำได้ และพยายามให้คนอื่นๆ มาช่วยดูแลลูกแทนเป็นบางครั้งเพื่อให้คุณมีเวลาพัก

การช่วยเหลือทางการแพทย์สำหรับเด็กที่ป่วย

พยาบาล แพทย์ และเภสัชกรสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรักษาอาการป่วยของเด็ก แพทย์สามารถช่วยรักษาเด็กและสั่งจ่ายยา หากลูกของคุณป่วย คุณสามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยาแถวบ้านก่อน พวกเขาจะบอกว่าลูกของคุณจำเป็นต้องไปพบแพทย์หรือไม่ แต่ถ้าเด็กแสดงสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเจ็บป่วยที่ร้ายแรง ให้คุณปรึกษาแพทย์โดยตรง หรือรีบพาลูกไปโรงพยาบาล นอกจากนี้คุณสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพเด็กและการดูแลเบื้องต้น หรือถามข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่พบในเด็กโดยติดต่อสายด่วน 1415

การช่วยเหลือเด็กที่ประสบอุบัติเหตุที่ไม่ร้ายแรง

ในกรณีที่ลูกประสบอุบัติเหตุที่ไม่ร้ายแรง เช่น โดนของมีคมบาด หรือมีสิ่งของติดในจมูกหรือหู การไปพบแพทย์และเภสัชกรก็นับว่าเพียงพอ ซึ่งอาจไม่ต้องถึงขั้นเข้าห้องฉุกเฉิน

ข้อมูลเพิ่มเติมและการขอความช่วยเหลือ

หากมีปัญหาเรื่องทุนทรัพย์ หรือต้องการข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพเด็กเพิ่มเติม คุณสามารถติดต่อมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กจากครอบครัวที่ไม่อาจช่วยตนเอง โดยให้การสงเคราะห์ด้านต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าเลี้ยงชีพ ค่าพาหนะเดินทางกลับภูมิลำเนา ค่าน้ำเกลือ ค่ายา และค่าอวัยวะเทียมแก่ผู้ป่วยสามัญบางราย ฯลฯ คุณสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน 1415

สิทธิประโยชน์ของเด็กพิการ

ในกรณีที่ลูกของคุณเป็นเด็กพิการ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของคนพิการได้จากเว็บไซต์http://www.mol.go.th/employee/...

น้ำหนักและส่วนสูงของทารก

การมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกว่าทารกมีสุขภาพดีและทานอาหารอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันแรกๆ หลังจากที่เด็กเกิด การมีน้ำหนักลดลงถือเป็นเรื่องปกติสำหรับทารก ซึ่งจะมีการชั่งน้ำหนักเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำหนักของเขากลับมาเท่ากับตอนน้ำหนักแรกเกิด

ทั้งนี้มีทารกที่มีสุขภาพดีประมาณ 4/5 ที่มีน้ำหนักเท่ากับหรือมากกว่าตอนแรกเกิดในช่วง 14 วันแรก แพทย์จะถามคุณเกี่ยวกับการให้นมลูกว่าเป็นอย่างไรบ้าง และดูสุขภาพโดยรวมของทารก ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญหากทารกมีน้ำหนักลดลงมาก หรือน้ำหนักไม่กลับมามีค่าเท่ากับหรือประมาณน้ำหนักตอนแรกคลอด

ทารกจะต้องชั่งน้ำหนักบ่อยเพียงใด?

ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอดลูก ทารกจะถูกชั่งน้ำหนัก

  • ไม่เกินเดือนละครั้งจนถึงอายุ 6 เดือน
  • ไม่เกินหนึ่งครั้งทุก 2 เดือน ตั้งแต่มีอายุ 6-12 เดือน
  • ไม่เกินหนึ่งครั้งทุก 3 เดือน เมื่อมีอายุมากกว่า 1 ปี

อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจชั่งน้ำหนักทารกถี่กว่านี้ถ้าคุณร้องขอ หรือหากทารกมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหรือการเจริญเติบโต

ทำความเข้าใจกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตของเด็ก

ในสมุดบันทึกสุขภาพของเด็กจะมีกราฟที่แสดงถึงการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งเป็นกราฟที่แสดงถึงรูปแบบการเจริญเติบโตของเด็กที่มีสุขภาพดีไม่ว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือนมผง กราฟนี้จะทำให้คุณเห็นว่าเด็กเติบโตตามมาตรฐานหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงมีกราฟที่แตกต่างกัน เพราะเด็กผู้ชายมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักและส่วนสูงมากกว่า และรูปแบบการเติบโตของทั้งผู้ชายและผู้หญิงแตกต่างกันเล็กน้อย

เส้นกราฟเปอร์เซ็นต์ไทล์คืออะไร?

เส้นโค้งบนกราฟเรียกว่า เส้นเซ็นต์ไทล์ ซึ่งแสดงถึงน้ำหนักและส่วนสูงเฉลี่ยสำหรับทารกในแต่ละช่วงอายุ หากลูกของคุณมีน้ำหนักอยู่ที่เปอร์เซ็นต์ไทล์ 25 นั่นหมายความว่า หากคุณจัดแถวเด็ก 100 คนที่มีอายุเท่ากันโดยไล่จากเด็กที่มีน้ำหนักตัวเบาที่สุดไปจนถึงเด็กที่มีน้ำหนักตัวหนักที่สุด ลูกของคุณจะอยู่ในลำดับที่ 25 และมีเด็ก 75 คนที่สูงกว่า

อย่างไรก็ตาม การที่เด็กมีน้ำหนักและส่วนสูงด้านบนหรือด้านล่างเส้นเซ็นต์ไทล์นับว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเส้นดังกล่าวจะแสดงให้เห็นอย่างคร่าวๆ ว่าทารกที่มีสุขภาพดีควรเติบโตโดยมีน้ำหนักและส่วนสูงประมาณเท่าใด ทั้งนี้ลูกของคุณอาจมีน้ำหนักและส่วนสูงที่ไม่เป็นไปตามเส้นเซ็นต์ไทล์อย่างแม่นยำ ผลที่ได้อาจอยู่สูงหรือต่ำกว่าเส้นเซนต์ไทล์ 1 เส้น หากเกินกว่านี้ คุณควรปรึกษาแพทย์

ด้วยความที่ทารกทุกคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นกราฟการเจริญเติบโตของลูกและเด็กคนอื่นๆ จึงไม่เหมือนกันแม้ว่าเป็นพี่น้องท้องเดียวกันก็ตาม

การมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นของทารก

โดยทั่วไปแล้ว ทารกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในช่วง 6-9 เดือนแรก และจะค่อยๆ ช้าลงเมื่อเด็กมีอายุ 1-3 ปี หรือที่เรียกว่า เด็กวัยเตาะแตะ และเมื่อเด็กมีความกระตือรือร้นมากขึ้น หากทารกหรือเด็กวัยเตาะแตะป่วย น้ำหนักก็อาจเพิ่มช้าลงสักพัก และโดยมากแล้วน้ำหนักจะกลับมาอยู่ในระดับปกติภายใน 2-3 สัปดาห์

น้ำหนักและส่วนสูงของเด็กวัยเตาะแตะ

ความสูงของเด็กหลังจากอายุสองปีสามารถบ่งบอกถึงความสูงของเด็กเมื่อโตขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เด็กจะมีตำแหน่งเซนต์ไทล์ของน้ำหนักและส่วนสูงต่างกัน เมื่อลูกของคุณมีอายุ 2 ปี แพทย์อาจใช้น้ำหนักและส่วนสูงของเขาในการคำนวณดัชนีมวลกาย และนำมาวาดที่กราฟเปอร์เซ็นต์ไทล์ ซึ่งมันอาจบ่งชี้ได้ว่าน้ำหนักของเด็กอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีหรือไม่

หากเด็กมีน้ำหนักที่มากหรือน้อยกว่ามาตรฐาน แพทย์สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารและระดับของการออกกำลังกาย หรือช่วยวางแผนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น คุณสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กกับแพทย์

การตรวจสุขภาพและพัฒนาการของทารก

ทารกจะได้ตรวจสุขภาพและพัฒนาการอย่างสม่ำเสมอในช่วงปีแรกๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กมีสุขภาพดีและเติบโตอย่างปกติ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่คุณจะได้ถามคำถามและพูดถึงปัญหาใดๆ ก็ตามที่คุณไม่สบายใจ

สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กสีชมพู

เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก คุณจะได้รับสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กที่เป็นสีชมพู ซึ่งเป็นสมุดที่ใช้บันทึกสุขภาพของแม่และเด็ก ภายในสมุดเล่มนี้จะมีการบันทึกเกี่ยวกับสุขภาพของคุณแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ไปจนถึงคลอด รวมถึงมีการบันทึกความผิดปกติใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ทั้งของแม่และเด็ก

นอกจากนี้ภายในสมุดยังมีคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลลูก อีกทั้งยังมีเกณฑ์วัดน้ำหนัก และส่วนสูงเพื่อใช้ติดตามพัฒนาการของเด็ก รวมถึงยังเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ประกอบการแจ้งเกิดเพื่อออกสูติบัตรและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน อย่างไรก็ดี ผู้หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องพกสมุดเล่มนี้ทุกครั้งที่ไปพบแพทย์และพกติดตัวตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์

มีการทำสิ่งใดตอนตรวจสุขภาพของทารก

ในระหว่างการตรวจสุขภาพของทารก แพทย์จะพูดเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก และสอบถามว่าคุณมีเรื่องที่กังวลหรือไม่ หากทารกคลอดก่อนกำหนด ช่วงของพัฒนาการก็จะคำนวณจากวันคลอดตามปกติแทนที่จะใช้วันที่เด็กเกิดจนกระทั่งเด็กมีอายุ 2 ปี

ทั้งนี้แพทย์จะชั่งน้ำหนักของทารกเป็นประจำ แต่ก็จะหลีกเลี่ยงการชั่งน้ำหนักถี่เกินไป เพราะการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักสามารถผันแปรเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งการเว้นช่วงสัก 2-3 สัปดาห์จะช่วยให้เห็นพัฒนาการที่ชัดเจนมากกว่า

เมื่อไรที่มีการตรวจสุขภาพของทารก

โดยทั่วไปแล้วจะมีการตรวจสุขภาพของเด็กตามช่วงอายุที่เรากำลังจะกล่าวหลังจากนี้ แต่หากคุณวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกนอกเหนือจากช่วงอายุที่ระบุ ให้คุณลองปรึกษาแพทย์

ตรวจสุขภาพทันทีหลังคลอด

ลูกของคุณจะต้องชั่งน้ำหนักตอนแรกคลอดและในช่วงสัปดาห์แรกอีกครั้ง นอกจากนี้แพทย์อาจตรวจร่างกายทั้งหมดภายใน 72 ชั่วโมงหลังคลอด โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะตรวจดวงตา หัวใจ สะโพก และหากเป็นเด็กผู้ชาย เขาก็จะตรวจอัณฑะเพิ่มเติม

เมื่อเด็กมีอายุ 5 หรือ 8 วัน เด็กจะโดนตรวจเลือดเพื่อหาโรคที่พบได้ยาก ตัวอย่างเช่น โรคซิสติก ไฟโบรซิสซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม และโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว นอกจากนี้แพทย์จะทดสอบการได้ยินภายหลังจากการคลอดลูก และสูติแพทย์จะช่วยสอนเกี่ยวกับการให้นมลูก การดูแลทารกแรกคลอด และสิ่งที่ต้องทำในฐานะของแม่มือใหม่

1-2 สัปดาห์

แพทย์อาจรายงานผลสุขภาพของทารกให้ทราบเมื่ออยู่ในช่วง 10-14 วัน และช่วยแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูก ซึ่งหมายความรวมถึงวิธีให้นมลูกจากเต้า

6-8 สัปดาห์

ในช่วงนี้แพทย์อาจตรวจร่างกายของทารกอย่างละเอียด โดยมีการตรวจดวงตา หัวใจ สะโพก และในกรณีที่เป็นเด็กผู้ชาย แพทย์ก็จะตรวจลูกอัณฑะ รวมถึงตรวจน้ำหนัก ส่วนสูง และเส้นรอบวงของศีรษะ นอกจากนี้แพทย์หรือพยาบาลก็จะพูดเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนที่ทารกจำเป็นต้องฉีด และแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับสุขภาวะทางอารมณ์ของคุณนับตั้งแต่คลอดลูก

9 เดือน-1 ปี

ในช่วงนี้แพทย์ก็อาจตรวจสอบเรื่องอื่นๆ ซึ่งประกอบไปด้วยภาษาและการเรียนรู้ ความปลอดภัย อาหาร และพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่คุณและคู่สมรสจะได้พูดเกี่ยวกับเรื่องที่คุณอาจรู้สึกกังวล ทั้งนี้แพทย์อาจให้คุณทำแบบทดสอบสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจว่าเด็กมีพัฒนาการอยู่ในระดับใด

1-3 ปี

เมื่อทารกมีอายุ 1 ปี เขาก็จะยังคงต้องฉีดวัคซีนชุดต่อไป และในระหว่างที่เด็กมีอายุ 2-6 ปี เขาจะต้องไปฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่รายปี ต่อมาเมื่อเด็กมีอายุ 2-2 ½ ปี แพทย์ก็อาจตรวจสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก ซึ่งเขาก็อาจให้คุณเล่าเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก และจะช่วยเหลือประเด็นที่คุณรู้สึกวิตกกังวล คุณอาจต้องทำแบบสอบถามสั้นๆ เกี่ยวกับพัฒนาการของทารก

3 ปีเป็นต้นไป

เมื่อเด็กมีอายุ 3 ปีเป็นต้นไป เขาก็จะได้ฉีดวัคซีน หรือในบางครั้งเรียกว่า Preschool Booster นอกจากนี้เขาจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จนถึงอายุ 6 ปี

กำหนดการฉีดวัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2561

การฉีดวัคซีนให้เด็กแรกเกิดจนเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นการช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายของเด็ก ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศชนิดของวัคซีนสำหรับเด็กไทยประจำปี พ.ศ.2561 ดังนี้

อายุ

วัคซีนที่ได้

ข้อแนะนำ

แรกเกิด

BCG (วัคซีนป้องกันโรควัณโรค)

ฉีดให้เด็กก่อนออกจากโรงพยาบาล

HB1 (วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี)

ควรให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด

1 เดือน

HB2 (วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี)

เฉพาะรายที่คลอดจากมารดาที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี

2 เดือน

DTP-HB1 (วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี)­­

 

OPV1 (วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน)

4 เดือน

DTP-HB2 (วัคซีนรวมเพื่อป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี)

ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด 1 เข็ม พร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน 1 ครั้ง

OPV2 (วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน)

IPV1 (วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด)

6 เดือน

DTP-HB3 (วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และตับอักเสบบี)

 

 

OPV3 (วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน)

 

9 เดือน

MMR1 (วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน)

หากไม่ได้ฉีดเมื่อมีอายุ 9 เดือน ให้รีบติดตามฉีดโดยเร็วที่สุด

1 ปี

LAJE1 (วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์

 

 

 

 

 

 

 

1 ปี 6 เดือน

DTP4 (วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน)

 

 

OPV4 (วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน)

 

2 ปี 6 เดือน

LAJE2 (วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์)

 

 

MMR2 (วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน)

 

4 ปี

DTP5 (วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน)

 

 

OPV5 (วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน)

 

ประถมศึกษาปีที่ 1

 

MMR (วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน)

 

 

 

 

 

เฉพาะรายที่ไม่ได้รับครบตามเกณฑ์

HB (วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี)

LAJE (วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นแบบอ่อนฤทธิ์)

 

IPV (วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด)

 

dT (วัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก)

 

OPV (วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดทาน)

 

BCG (วัคซีนป้องกันโรควัณโรค)

1.ให้ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานว่าเคยได้รับเมื่อแรกเกิดและไม่มีแผลเป็น

2.ไม่ให้ในเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการของโรคเอดส์

ประถมศึกษาปีที่ 5

HPV1 และ HPV2 (วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV)

ระยะห่างระหว่างเข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย กำหนดให้ฉีดเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

ประถมศึกษาปีที่ 6

dT (วัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก)

แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทยกำหนดให้ฉีดเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

 

กำหนดการให้วัคซีนแก่เด็กที่มารับวัคซีนล่าช้า

ครั้งที่

ช่วงอายุ 1-6 ปี

ตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป

ข้อแนะนำ

เดือนที่

วัคซีน

เดือนที่

วัคซีน

1

 

 

0 (เมื่อพบเด็กครั้งแรก)

DTP-HB1

 

0 (เมื่อพบเด็กครั้งแรก)

dT1

 

OPV1

CPV2

IPV

IPV

ให้วัคซีน IPV เก็บตกเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี และเด็กนักเรียนชั้นป.1

MMR1

MMR/MR

 

BCG

BCG

1.ให้ในกรณีไม่มีหลักฐานว่าเคยได้รับเมื่อแรกเกิดและไม่มีแผลเป็น

2.ไม่ให้ในเด็กติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการของโรคเอดส์

2

1

DTP HB2

1

HB1

 

OPV2

LAJE1

LAJE1

3

2

MMR2

2

dT2

 

OPV2

HB2

4

4

DTP-HB3

7

HB3

 

OPV3

5

12

DTP4

12

dT3

 

OPV4

OPV3

LAJE2

LAJE2

 

อย่างไรก็ดี คุณสามารถพาลูกไปฉีดวัคซีนได้ที่คลินิกเด็กทั่วไป เทศบาลในท้องถิ่นบางแห่ง และโรงพยาบาล

วิธีวัดอุณหภูมิร่างกายของทารก

อุณหภูมิร่างกายตามปกติของเด็กมีค่าประมาณ 36.4 องศาเซลเซียส (97.5 องศาฟาเรนไฮต์)  แต่เด็กแต่ละคนอาจมีอุณหภูมิร่างกายแตกต่างจากที่เรากล่าวไปเล็กน้อย โดยทั่วไปแล้ว การที่เราจะตัดสินว่าเด็กมีไข้นั้น เด็กต้องมีอุณหภูมิของร่างกายมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส (99.5 องศาฟาเรนไฮต์) อย่างไรก็ตาม คุณสามารถรู้ได้ว่าลูกมีไข้หากเขามีอาการดังนี้

  • ร่างกายร้อนกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก แผ่นหลัง หรือท้อง
  • มีเหงื่อออกตามตัว หรือร่างกายเย็นชื้น
  • แก้มแดง

สาเหตุที่ทำให้เด็กมีไข้

การมีไข้นับว่าเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งมันสามารถเป็นสัญญาณที่บอกว่าร่างกายกำลังพยายามต่อสู้กับการติดเชื้อ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายเพิ่มขึ้น มันก็เป็นเรื่องยากสำหรับแบคทีเรียและไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมีชีวิตรอด

ทารกหรือเด็กเล็กบางคนอาจมีไข้หลังจากได้รับวัคซีนตามปกติเช่นกัน ซึ่งอาการของโรคจะหายไปเองอย่างรวดเร็ว แต่หากคุณกังวล คุณก็อาจปรึกษาแพทย์

วิธีวัดอุณหภูมิของร่างกาย

หากคุณไม่แน่ใจว่าทารกมีอุณหภูมิของร่างกายสูงหรือไม่ ขั้นตอนแรกที่คุณควรทำคือ การใช้ปรอทวัดอุณหภูมิ ซึ่งสามารถช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าจำเป็นต้องพาลูกไปพบแพทย์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากต้องการอ่านค่าอุณหภูมิของร่างกายได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ คุณจำเป็นต้องใช้ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปและซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่

ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล

คุณสามารถวัดอุณหภูมิของร่างกายให้เด็กโดยถือปรอทวัดไข้บนหัวเข่า และนำไปวางไว้ใต้รักแร้ของเด็ก โดยให้ทำเช่นนี้เสมอกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จากนั้นให้จับแขนของเด็กแนบกับลำตัวอย่างมั่นคงแต่ก็ทำอย่างอ่อนโยนจนถึงเวลาตามที่ระบุในข้อแนะนำของผู้ผลิต โดยทั่วไปแล้วคือ 15 นาที

อย่างไรก็ตาม ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอลอาจส่งเสียงร้องเมื่อวัดอุณหภูมิแล้วเสร็จ จากนั้นมันก็จะแสดงตัวเลขที่บอกถึงอุณหภูมิของร่างกาย

ปรอทวัดไข้แบบอื่นๆ

นอกจากปรอทวัดไข้แบบที่เรากล่าวไปแล้ว มีปรอทวัดไข้แบบอื่นๆ ให้คุณเลือกใช้เช่นกัน แต่อาจไม่มีประสิทธิผลเท่ากับปรอทวัดไข้แบบดิจิตอลที่ใช้สำหรับวัดอุณหภูมิของทารกหรือเด็กเล็ก ตัวอย่างเช่น

  • ปรอทวัดไข้ทางหู: วัดอุณหภูมิของร่างกายโดยใช้ปรอทวัดไข้สอดเข้าไปในหู ซึ่งเป็นวิธีที่รวดเร็วแต่กลับมีราคาแพง และสามารถทำให้อ่านค่าผิดพลาดหากใส่ปรอทวัดไข้ทางหูไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการใช้ปรอทชนิดนี้กับทารก
  • ปรอทวัดไข้ชนิดแถบ: คุณจะต้องนำปรอทวัดไข้ชนิดนี้วางไว้บนหน้าผากของเด็ก แต่มันก็วัดอุณหภูมิได้ไม่แม่นยำ เพราะมันจะแสดงอุณหภูมิของผิวแทนที่จะเป็นอุณหภูมิของร่างกาย
  • ปรอทวัดไข้ชนิดแก้ว: ในปัจจุบันไม่มีการใช้ปรอทวัดไข้ชนิดนี้ในโรงพยาบาล ซึ่งมันสามารถแตก และทำให้เศษแก้วและสารปรอททำอันตรายต่อผู้ใช้ หากลูกของคุณสัมผัสกับสารปรอท ให้คุณรีบพาลูกไปโรงพยาบาลทันที

เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอ่านค่าบนปรอทวัดไข้ถูกต้อง?

หากคุณใช้ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอลสอดเข้าไปใต้รักแร้ของเด็ก และทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างระมัดระวัง ค่าที่อ่านได้นั้นก็ค่อนข้างแม่นยำ แต่ก็อาจมีบางสภาวะที่สามารถทำให้ค่าบนปรอทวัดไข้เปลี่ยนไปเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น หากลูกของคุณห่อตัวอยู่ในผ้าห่มอย่างแน่นหนา อยู่ในห้องที่อุ่นมาก กระตือรือร้นมาก กอดขวดน้ำร้อน ใส่เสื้อผ้าหลายชั้น หรืออาบน้ำ

ในกรณีนี้ให้คุณพยายามทำให้ลูกมีอุณหภูมิของร่างกายลดลงเป็นเวลา 3-4 นาที และวัดอุณหภูมิของร่างกายอีกครั้งเพื่อดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

สิ่งที่ต้องทำ

คุณควรติดต่อแพทย์หรือไปโรงพยาบาลหาก

  • ลูกของคุณมีสัญญาณเจ็บป่วยอื่นๆ และมีอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น
  • อุณหภูมิของร่างกายมากกว่า 38 องศาเซลเซียส (101 องศาฟาเรนไฮต์) หรือมากกว่านี้ (ถ้าเด็กมีอายุต่ำกว่า 3 เดือน) หรือเด็กมีอุณหภูมิของร่างกายมากกว่า 39 องศาเซลเซียส (102 องศาฟาเรนไฮต์) หรือมากกว่านี้ (ถ้าเด็กมี 3-6 เดือน)

หากลูกของคุณมีอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าระดับปกติเพียงเล็กน้อย และไม่มีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย คุณสามารถช่วยให้ลูกสบายตัวขึ้นด้วยตัวเอง โดยให้เด็กดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ในกรณีที่ลูกอยู่ในช่วงที่ยังไม่หย่านม การให้นมจากเต้าคือทางเลือกที่ดีที่สุด

ปัญหาเกี่ยวกับขาและฝ่าเท้าที่พบในเด็ก

เมื่อเด็กเริ่มเดิน การเดินโดยที่ฝ่าเท้าแยกจากกันและเป๋ไปเป๋มานับว่าเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวยังพบได้ทั่วไปในเด็กเล็กที่มีขาโก่งหรือเข่าชนกัน หรือเดินโดยที่นิ้วเท้างอเข้าหรืองอออก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับฝ่าเท้าส่วนมากที่พบในเด็กจะหายไปเอง แต่คุณอาจปรึกษาแพทย์หากคุณกังวลเกี่ยวกับภาวะดังนี้

  • ขาโก่ง: ก่อนที่เด็กมีอายุ 2 ปี เด็กส่วนมากจะมีช่องว่างเล็กๆ ระหว่างหัวเข่าและข้อเท้าเมื่อยืน หากช่องว่างที่ว่ายังคงชัดเจนหรือไม่หายไปเอง ให้คุณลองปรึกษาแพทย์ เพราะมันสามารถเป็นสัญญาณของโรคกระดูกอ่อนในเด็ก แม้ว่าพบได้ไม่บ่อยมากก็ตาม
  • หัวเข่าชนกัน: เมื่อเด็กยืนขึ้น เขาจะมีหัวเข่าที่หันเข้ามาชิดกัน และมีช่องว่างระหว่างข้อเท้า ในระหว่างที่เด็กมีอายุ 2-4 ปี การมีช่องว่างที่กว้าง 6 เซนติเมตร หรือประมาณ 2.5 นิ้วนับว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ภาวะนี้มักจะหายไปเองเมื่อเด็กมีอายุ 6 ปี
  • ปลายเท้าบิดเข้าใน: เท้าของเด็กจะบิดเข้าใน โดยทั่วไปแล้วภาวะที่ว่านี้มักหายไปเองเมื่อเด็กมีอายุ 8-9 ปี และไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
  • ปลายเท้าบิดออกนอก: ฝ่าเท้าของเด็กจะชี้ออกไปข้างนอก ซึ่งภาวะนี้สามารถหายไปเอง และโดยมากแล้วไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
  • เท้าแบน: คุณไม่ต้องกังวลหากลูกของคุณมีฝ่าเท้าที่แบนราบไปกับพื้น หรือถ้าเด็กยืนโดยใช้ปลายเท้าและมีฝ่าเท้าเป็นทรงโค้ง โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
  • เดินเขย่งเท้า: การเดินเขย่งเท้าเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในเด็กที่มีอายุ 3 ปี หรือน้อยกว่านี้ หากคุณรู้สึกวิตกกังวล คุณก็อาจปรึกษาแพทย์

การเลือกรองเท้าให้ลูกครั้งแรก

เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีฝ่าเท้าที่เติบโตเร็วมาก และกระดูกจะต้องเติบโตเป็นเส้นตรง ทั้งนี้กระดูกในนิ้วเท้าของเด็กมีลักษณะนุ่มตั้งแต่เกิด หากมันถูกรองเท้าหรือถุงเท้ารัดแน่นมากเกินไป กระดูกจะไม่สามารถยืดออกและเติบโตได้อย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ลูกของคุณไม่จำเป็นต้องใส่รองเท้าจนกระทั่งเขาสามารถเดินได้ด้วยตัวเอง ถึงกระนั้นก็ตาม อย่างน้อยในช่วงแรกคุณสามารถให้ลูกใส่รองเท้าเพื่อออกไปข้างนอกบ้านเท่านั้น แต่รองเท้าและถุงเท้าจะต้องมีขนาดที่เหมาะสม

การให้ลูกใส่รองเท้าที่มีเชือกรัด หัวเข็มขัดเล็กๆ หรือตีนตุ๊กแกนับว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะมันช่วยยึดส้นเท้า ไม่ทำให้ฝ่าเท้าเลื่อนไปด้านหน้า และไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อนิ้วเท้า หากลูกของคุณยืนเขย่งเท้าและส้นรองเท้าหลุดออก นั่นก็หมายความว่ารองเท้ามีขนาดใหญ่เกินไป

อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ ให้คุณเลือกซื้อรองเท้าที่ผลิตโดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น หนัง ผ้าฝ้าย หรือผ้าใบ เพราะวัสดุเหล่านี้ช่วยถ่ายเทอากาศได้สะดวก ในขณะที่รองเท้าพลาสติกทำให้ฝ่าเท้ามีเหงื่อออก ทำให้เกิดการเสียดสี และทำให้เกิดการติดเชื้อรา นอกจากนี้ถุงเท้าที่ทำจากผ้าฝ้ายก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเช่นกัน

การดูแลฝ่าเท้าและนิ้วเท้าของเด็ก

หลังจากที่ล้างฝ่าเท้าของเด็ก ให้คุณเช็ดบริเวณระหว่างนิ้วเท้าจนแห้ง ในขณะที่ตัดเล็บเท้า ให้คุณตัดเล็บเป็นแนวตรง มิเช่นนั้นเด็กอาจมีเล็บขบ

การลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตายในทารก (Sudden Infant Death Syndrome -SIDS)

โรคไหลตายในทารกเป็นโรคที่ทำให้เด็กเสียชีวิตแบบฉับพลับโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการให้เด็กนอนหงายหลังสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคดังกล่าวได้ และการที่ทารกสูดควันบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตาย นอกจากนี้มีการพบความสัมพันธ์ระหว่างการนอนร่วมกับทารกบนเตียง โซฟา หรือเก้าอี้กับโรคไหลตาย

อย่างไรก็ตาม โรคไหลตายเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย ดังนั้นคุณไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไป ซึ่งการทำตามคำแนะนำที่เราจะกล่าวหลังจากนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้มากเท่าที่จะเป็นไปได้

วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตาย

  1. ให้ทารกนอนหงายหลังภายในเตียงที่อยู่ในห้องเดียวกับคุณในช่วง 6 เดือนแรก
  2. ไม่สูบบุหรี่ในระหว่างที่ตั้งครรภ์หรือให้นมลูก และไม่ให้คนอื่นสูบบุหรี่ในห้องเดียวกับทารก
  3. ไม่นอนเตียงเดียวกับทารกหากคุณเพิ่งดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่
  4. ไม่นอนพร้อมกับทารกบนโซฟาหรือเก้าอี้ที่มีที่วางแขน
  5. ไม่ปล่อยให้ทารกร้อนหรือหนาวจนเกินไป
  6. อย่าให้ผ้าห่มคลุมศีรษะของเด็ก และผ้าห่มไม่ควรอยู่สูงเกินกว่าระดับหัวไหล่ของเด็ก
  7. ให้เด็กนอนในตำแหน่งที่เรียกว่า Feet to Foot หรือให้เท้าของเด็กอยู่ที่ปลายของเปล

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตายในทารกมีดังนี้

การให้ทารกนอนหงายหลัง

คุณควรให้เด็กนอนหงายหลังตั้งแต่ต้นทั้งในตอนกลางวันและตอนกลางคืน ซึ่งมันจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตาย อย่างไรก็ตาม การให้ทารกนอนตะแคงข้างหรือนอนคว่ำนับว่าเป็นท่านอนที่ไม่ปลอดภัยเท่ากับการนอนหงายหลัง นอกจากนี้ทารกที่มีสุขภาพดีที่นอนหงายหลังมีแนวโน้มที่จะสำลักน้อยกว่า

เมื่อทารกโตพอที่จะกลิ้งตัวได้ด้วยตัวเอง คุณไม่จำเป็นต้องกังวลเมื่อเขานอนคว่ำหรือนอนตะแคงข้างในขณะที่นอนหลับ

ความเสี่ยงของการนอนร่วมเตียงเดียวกับทารก

สถานที่ๆ ปลอดภัยสำหรับทารกมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกก็คือ เปลที่อยู่ภายในห้องเดียวกับคุณ ทั้งนี้คุณหรือคนรักไม่ควรนอนเตียงเดียวกับลูกหาก

  • เป็นคนสูบบุหรี่ โดยไม่สำคัญว่าสูบที่ใดหรือเมื่อไร และแม้ว่าคุณจะไม่เคยสูบบุหรี่บนเตียงนอนก็ตาม
  • เพิ่งดื่มแอลกอฮอล์
  • เพิ่งทานยาที่ทำให้คุณนอนหลับลึก

นอกจากนี้ความเสี่ยงในการนอนร่วมเตียงเดียวกับทารกยังเพิ่มสูงขึ้นหากเขา

  • เกิดก่อนกำหนด หรือเกิดก่อนมีอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์
  • มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ หรือมีน้ำหนักน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม หรือ 5.5 ปอนด์

นอกจากนี้การนอนเตียงเดียวกับลูกยังทำให้ความเสี่ยงที่คุณจะนอนทับทารกจนทำให้เขาหายใจไม่ออกสูงขึ้น หรือเด็กอาจกลิ้งตกเตียงของผู้ใหญ่และได้รับบาดเจ็บ

อย่านอนกับทารกบนโซฟาหรือเก้าอี้ที่มีแขน

การนอนกับทารกบนโซฟาหรือเก้าอี้ที่มีแขนมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตายที่สูงขึ้น ทั้งนี้การให้ทารกนอนหงายหลังในเปลของตัวเองก่อนที่คุณจะไปนอนนั้นเป็นวิธีที่ปลอดภัยมากที่สุด

ไม่อนุญาตให้คนอื่นสูบบุหรี่ในห้องที่มีทารก

ทารกที่สูดควันบุหรี่ทั้งก่อนและหลังเกิดมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคไหลตายมากขึ้น ดังนั้นคุณไม่ควรให้ใครก็ตามสูบบุหรี่ภายในบ้าน ซึ่งหมายความรวมถึงผู้มาเยี่ยมเยือนเช่นกัน

ในกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ คุณอาจร้องขอให้แขกไปสูบบุหรี่นอกบ้าน และไม่ให้ทารกอยู่ในสถานที่ๆ มีควันบุหรี่ หากคุณเป็นคนสูบบุหรี่ การนอนเตียงเดียวกับทารกจะทำให้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคไหลตายเพิ่มขึ้น

อย่าปล่อยให้ร่างกายของทารกร้อนหรือหนาวจนเกินไป

การมีอุณหภูมิของร่างกายที่สูงเกินไปสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตาย อย่างไรก็ตาม เด็กสามารถมีร่างกายที่ร้อนขึ้น เพราะนอนในเตียงที่มีหมอนหรือผ้าห่มมากเกินไป ใส่เสื้อผ้าหลายชิ้น หรือห้องที่เขานอนมีอุณหภูมิสูงเกินไป

เมื่อคุณตรวจสอบร่างกายของทารก คุณต้องมั่นใจว่าร่างกายของเขาไม่ร้อนจนเกินไป หากทารกมีเหงื่อออก หรือท้องร้อน ให้คุณนำผ้าห่มบางชิ้นออกจากเปล อย่างไรก็ตาม การมีมือหรือเท้าที่เย็นนับว่าเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นคุณไม่ต้องกังวล

การใช้ผ้าห่มที่มีน้ำหนักเบาช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกายได้ง่ายขึ้น แต่ให้คุณจำว่าการใช้ผ้าห่มที่พับเป็นสองทบนับว่าเป็นผ้าห่ม 2 ผืน นอกจากนี้การให้ทารกนอนในถุงนอนที่มีน้ำหนักเบาและมีขนาดพอดีกับลำตัวก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน

อย่างไรก็ดี คุณควรควบคุมอุณหภูมิภายในห้องให้เย็นสบาย ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 18 องศาเซลเซียส (65 องศาฟาเรนไฮต์) แม้แต่ในช่วงฤดูหนาว ทารกส่วนมากที่ไม่สบายหรือมีไข้ก็ไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าเพิ่มเติม

นอกจากนี้คุณไม่ควรให้ทารกนอนกับขวดน้ำร้อนหรือผ้าห่มไฟฟ้า นอนถัดจากเครื่องนำความร้อน ฮีทเตอร์ ไฟ หรือสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ทารกสูญเสียความร้อนผ่านศีรษะของเขา ดังนั้นคุณไม่ควรให้ผ้าห่มคลุมศีรษะของทารกในขณะที่เขานอนหลับ และถอดหมวกหรือเสื้อผ้าที่ใส่เพิ่มเติมให้เขาทันทีที่คุณเข้ามาในบ้าน หรือเข้าไปในรถยนต์ รสบัส หรือรถไฟที่มีสภาพอากาศที่อบอุ่น

อย่าปล่อยให้ผ้าคลุมศีรษะของทารก

ทารกที่มีผ้าหรือหมอนปิดศีรษะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคไหลตายมากขึ้น ทั้งนี้คุณสามารถป้องกันไม่ให้ทารกดิ้นจนลำตัวเข้ามาในผ้าห่มโดยให้ทารกนอนท่า Feet to Foot ซึ่งฝ่าเท้าของทารกจะอยู่ที่ปลายของเปลหรือเตียงนอนของเด็ก สำหรับวิธีจัดท่านอนดังกล่าวมีดังนี้

  • สอดผ้าห่มใต้แขนของทารกเพื่อไม่ให้ผ้าห่มเลื่อนไปคลุมศีรษะ โดยให้ใช้ผ้าห่มหนึ่งผืนหรือมากกว่าหนึ่งผืนที่มีน้ำหนักเบา
  • เลือกใช้ฟูกนอนสำหรับเด็กที่แข็งแรง แบน กระชับ สะอาด และกันน้ำ
  • ใช้ผ้าปูเตียงหนึ่งผืนคลุมฟูก
  • ไม่ใช้ผ้าห่มนวม ผ้าห่มบุนวม Baby Nests Wedges ฟูกม้วน หรือหมอน

การให้นม การใช้จุกนมหลอก และโรคไหลตายในทารก

การให้ลูกกินนมจากเต้าช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตาย นอกจากนี้การใช้จุกนมหลอกตั้งแต่ที่เด็กเริ่มนอนก็มีความเป็นไปได้ว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือ และมีผู้เชี่ยวชาญบางคนเท่านั้นที่เห็นด้วยว่าควรสนับสนุนให้ทารกใช้จุกนมหลอก

หากคุณใช้จุกนมหลอก คุณไม่ควรเริ่มใช้จนกว่าคุณให้ลูกกินนมจากเต้าประมาณ 1 เดือน และให้หยุดใช้จุกนมหลอกเมื่อเขามีอายุ 6-12 เดือน

ในกรณีที่ทารกไม่สบาย ให้พาทารกไปพบแพทย์ทันที

ทารกมักเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล ทั้งนี้ให้ทารกดื่มน้ำอย่างเพียงพอและไม่ปล่อยให้ร่างกายของเขาร้อนจนเกินไป หากทารกนอนมาก ให้คุณปลุกเขาเป็นระยะๆ เพื่อดื่มน้ำ

อย่างไรก็ดี การที่จะตัดสินว่าการเจ็บป่วยอยู่ในระดับร้ายแรงหรือไม่นั้นอาจเป็นเรื่องยาก สำหรับสัญญาณที่บ่งบอกว่าทารกกำลังเผชิญโรคภัยที่รุนแรง คุณสามารถตรวจสอบสัญญาณดังกล่าวจากที่เรากล่าวไปก่อนหน้านี้

อาการท้องผูกในเด็ก

อาการท้องผูกถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในเด็ก โดยเฉพาะเมื่อเด็กอยู่ในช่วงฝึกขับถ่ายโดยใช้กระโถนเมื่อมีอายุประมาณ 2-3 ปี หากเด็กไม่ถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระแข็งอยู่เสมอ และใช้เวลาเบ่งอุจจาระนาน มันก็อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าเด็กกำลังมีอาการท้องผูก

อย่างไรก็ดี อุจจาระของเด็กอาจมีขนาดใหญ่ หรืออาจดูเหมือนอุจจาระของกระต่าย หรือก้อนกลมเล็กๆ หากลูกของคุณฝึกใช้กระโถนแล้ว การมีรอยเปื้อนของอุจจาระที่กางเกงในก็สามารถเป็นสัญญาณของอาการท้องผูก เพราะอุจจาระแบบเหลวอาจเล็ดออกมา

ถ้าลูกของคุณมีอาการท้องผูก เขาอาจรู้สึกเจ็บปวดขณะท้องผูกเช่นกัน ทำให้เกิดวงจรของปัญหา คือ ยิ่งเด็กรู้สึกเจ็บมากเท่าไร เขาก็จะยิ่งอั้นอุจจาระมากเท่านั้น และยิ่งอาการท้องผูกรุนแรงมากเท่าไร เขาก็จะยิ่งรู้สึกเจ็บมากเท่านั้น ถึงแม้ว่าเขาไม่รู้สึกเจ็บปวดในขณะที่ถ่ายอุจจาระ แต่เมื่อเด็กมีอาการท้องผูก เขาจะไม่อยากไปเข้าห้องน้ำโดยสิ้นเชิง

สาเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการท้องผูก

ลูกของคุณอาจมีอาการท้องผูกเพราะเขาทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงอย่างผักและผลไม้หรือดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้กระโถนหรือห้องน้ำ นอกจากนี้การมีอาการท้องผูกสามารถบอกได้เช่นกันว่าลูกของคุณกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับบางสิ่ง ตัวอย่างเช่น การย้ายบ้าน การไปเนิร์สเซอร์รี หรือการมีทารกใหม่เข้ามาอยู่ในบ้าน

วิธีรักษาอาการท้องผูกในเด็ก

  • พาลูกของคุณไปพบแพทย์หากคิดว่าเขาอาจมีอาการท้องผูก ซึ่งการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก ทั้งนี้การใช้ยาระบายเป็นสิ่งที่แนะนำสำหรับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ เด็กที่ทานอาหาร และมีการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์
  • ยิ่งลูกของคุณมีอาการท้องผูกนานเท่าไร มันก็จะยิ่งยากต่อการกลับมาสู่ภาวะปกติมากเท่านั้น ดังนั้นคุณควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ
  • อย่างไรก็ดี กว่าที่การรักษาจะได้ผลอาจใช้เวลาหลายเดือน และให้จำไว้ว่าการรักษาโดยใช้ยาระบายอาจทำให้อาการอุจจาระเล็ดแย่ลงก่อนที่อาการโดยรวมจะดีขึ้น
  • คุณและลูกอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด แต่ให้คุณใจเย็นและผ่อนคลายเพื่อช่วยให้เด็กรับมือกับปัญหา

วิธีป้องกันอาการท้องผูก

เมื่อลูกของคุณหายจากอาการท้องผูก การใช้วิธีใดก็ตามที่ไม่ให้อาการกลับมากำเริบอีกครั้งถือเป็นเรื่องสำคัญ แพทย์อาจแนะนำให้เด็กใช้ยาถ่ายสักพักเพื่อให้มั่นใจว่าอุจจาระของเขานุ่มลงพอที่จะทำให้เขาถ่ายอุจจาระได้เป็นประจำ สำหรับวิธีอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันอาการท้องผูกมีดังนี้

  1. ให้เด็กดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน ซึ่งหมายความรวมถึงนมแม่และนมผง
  2. ให้เด็กทานอาหารหลากหลาย โดยหมายความรวมถึงผักและผลไม้ ซึ่งเป็นแหล่งของไฟเบอร์ที่ดี
  3. สนับสนุนให้เด็กออกกำลังกาย
  4. สอนให้เด็กนั่งกระโถนหรือโถส้วมหลังทานอาหารหรือเข้านอนจนติดเป็นกิจวัตร และพูดชมลูกทุกครั้งไม่ว่าเขาจะถ่ายอุจจาระสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
  5. คุณต้องมั่นใจว่าเด็กสามารถพักฝ่าเท้าที่พื้น หรือสามารถก้าวเท้าเมื่อใช้กระโถนหรือโถส้วม
  6. ร้องขอให้ลูกบอกเมื่อเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับการใช้กระโถนหรือโถส้วม ซึ่งเด็กบางคนไม่ต้องการอุจจาระในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อต้องไปอยู่ที่เนิร์สเซอรี
  7. ใจเย็น และเรียกความมั่นใจให้ลูกเพื่อที่เขาจะได้ไม่มองว่าการไปห้องน้ำเป็นเรื่องเครียด ซึ่งคุณคงต้องการให้ลูกมองว่าการอุจจาระเป็นเรื่องปกติของชีวิต และไม่ใช่เรื่องน่าอาย
  8. หากคุณต้องการคำแนะนำอื่นๆ เพิ่มเติม ให้คุณลองปรึกษาแพทย์

5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Baby Care, Health, Feeding & Safety Tips. Parents. (https://www.parents.com/baby/)
Infant and Newborn Care. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/infantandnewborncare.html)
Maintaining Infant Health - Postnatal Care. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK55931/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis)
ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis)

ภาวะติดเชื้อในมดลูกจัดเป็นภาวะที่รุนแรง

อ่านเพิ่ม