ผักชีล้อม เป็นผักที่พบมากตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะนิยมนำมาเป็นผักแนมคู่กับน้ำพริก ส่วนทางภาคใต้จะนิยมนำมารับประทานคู่กับขนมจีน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oenanthe javanica (Blume) DC.
ชื่อวงศ์ UMBELLIFERAE (APIACEAE)
ชื่อพ้อง Oenanthe stolonifera (Roxb.) DC.
ชื่ออังกฤษ Chinese Celery, Water Dropwort
ชื่อท้องถิ่น จีอ้อ ผักอัน ผักอันอ้อ
หมายเหตุ ผักชีล้อมที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับผักชีลา ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coriandrum sativum Linn. แต่จัดอยู่ในวงศ์ UMBELLIFEREAE (APIACEAE) เช่นกัน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักชีล้อม
ผักชีล้อมเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 60 เซนติเมตร ชอบขึ้นในน้ำและตามที่ชื้นแฉะ ลำต้นกลวงอวบน้ำ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ใบย่อยรูปใบหอก ใบกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย ดอกช่อ ออกที่ปลาย กลีบดอกสีขาว ก้านดอกย่อยยาวเท่ากัน ผลเป็นผลแห้งรูปรี
คุณค่าทางโภชนาการของผักชีล้อม ต่อ 100 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 52.29 กรัม
- เส้นใย 39.80 กรัม
- ไขมัน 14.87 กรัม
- โปรตีน 15.80 กรัม
- เบตาแคโรทีน 2,498 ไมโครกรัม
- วิตามินเอ 135 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.01 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.35 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 6.05 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.47 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 21 มิลลิกรัม
- วิตามินอี 6.60 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 1,196 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 18.54 มิลลิกรัม
ที่มา: สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
สรรพคุณของผักชีล้อม
ต้นและเมล็ดของผักชีล้อม มีสรรพคุณและวิธีการปรุงเป็นยาดังต่อไปนี้
- ตามศาสตร์แพทย์แผนไทย จะใช้เมล็ดขับลมในลำไส้ ช่วยปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมทำให้สะอึก แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน
- แพทย์ตามชนบท ใช้ทั้งต้นรวมกันกับผักบุ้งแดง ใบหนาด ผิวมะกรูด ใบมะขาม ตะไคร้ เอาเข้ากระโจมรมควัน ช่วยขับเหงื่อ แก้เหน็บชาชนิดบวมดีมาก
- ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน ผักชีทั้งต้น มีรสเผ็ดหอม เป็นยาฤทธิ์ร้อนอ่อนๆ ออกฤทธิ์ต่อปอดและม้าม ใช้เป็นยาขับเหงื่อ ขับลม ขับเสมหะ บำรุงปอดและม้าม โดยนำผักชีล้อมทั้งต้นโขลกพอแหลกแล้วต้มในน้ำเดือด รับประทานก่อนอาหารเช้าติดต่อกัน 3 วัน
- ตามตำรายาแผนจีน ใช้ต้นผักชีล้อมทั้งต้นเข้าตำรับยาแก้อีสุกอีกใส ผสมกับต้นคราบจักจั่น ใช้สมุนไพรแต่ละชนิด อย่างละ 7 กรัม และใบสะระแหน่อีก 2 กรัม นำมาต้มรวมกันในน้ำเดือด รับประทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 7 วัน
- ตามตำรายาแผนจีน ใช้เมล็ดผักชีเข้าตำรับยาขับลมในลำไส้ คล้ายตำรายาแผนไทย โดยนำเมล็ดผักชี 10 กรัม ผสมกับขิงสด 3 แผ่น และส้ม 10 กรัม นำมาต้มรวมกันในน้ำเดือด รับประทานหลังมีอาการท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
ผักชีล้อมช่วยรักษามะเร็ง ได้จริงหรือ?
ในปี ค.ศ. 2006 มีการวิจัยโดยนำสารสกัดจากต้นผักชีล้อมไปทดสอบกับเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดต้นผักชีล้อมสามารถยับยั้งการเจริญเติบของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ และยังสามารถต้านการเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้มะเร็งได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยนี้เป็นเพียงการทดลองในระดับหลอดทดลองเท่านั้น ยังต้องมีการศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อช่วยสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้
การนำผักชีล้อมมาปรุงอาหาร
ส่วนใหญ่แล้ว ผักชีล้อมมักจะนำไปรับประทานเป็นผักแนมกับอาหารต่างๆ และนิยมนำไปโรยหน้าเมนูยำหรือต้มยำเพื่อชูรสอาหารมากขึ้น นอกจากส่วนใบแล้ว ยังนิยมนำรากของผักชีมาโขลกกับกระเทียมพริกไทย ปรุงรสด้วยเกลือหรือน้ำมันหอยแล้วนำมาหมักเนื้อสัตว์ ก่อนจะนำไปผัดหรือทอด
ข้อห้ามและข้อควรระวังในการรับประทานผักชีล้อม
ไม่ควรรับประทานผักชีล้อมในปริมาณมาก เพราะอาจทำให้มีกลิ่นตัวได้ และควรระมัดระวังการรับประทานผักชีในผู้ที่มีอาการแพ้ผักชี ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคัน มีผื่นแพ้ ระคายเคืองเยื่อบุจมูกและเยื่อบุตา หายใจไม่ออก เป็นต้น