กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างไรบ้าง?

เผยแพร่ครั้งแรก 4 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างไรบ้าง?

การมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานสามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้มากพอกับคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ถ้าน้ำหนักต่ำเกินไป นั่นก็หมายความว่าร่างกายอาจไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต้องใช้สำหรับสร้างกระดูก ผิว และเส้นผม ในขณะที่บางคนอาจมีประวัติคนในครอบครัวที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน หรือเป็นโรคที่ป้องกันไม่ให้คุณเพิ่มน้ำหนักได้สำเร็จ

เมื่อไรถึงจะเรียกว่ามีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน?

The Centers for Disease Control  and  Prevention แนะนำให้เราใช้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เพื่อคำนวณว่ามีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน น้ำหนักที่อยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ หรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน การใช้ BMI ถือเป็นตัววัดน้ำหนักที่ดี เพราะมีการเปรียบเทียบน้ำหนักและส่วนสูง ตัวอย่างเช่น คนที่มีน้ำหนัก 170 ปอนด์ อาจมีน้ำหนักไม่เกินมาตรฐานถ้าตัวสูงมาก แต่อาจมีน้ำหนักเกินมาตรฐานถ้าตัวเตี้ย เราสามารถประเมินค่า BMI ได้ดังนี้

  • น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน: BMI น้อยกว่า 18.5
  • น้ำหนักปกติ: BMI อยู่ในช่วง 18.5-24.9
  • น้ำหนักมากกว่ามาตรฐาน: BMI อยู่ในช่วง 25.0-29.9
  • อ้วน: BMI เท่ากับ 30 หรือมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม การคำนวณเหล่านี้อาจไม่แม่นยำในคนที่เป็นนักกีฬาที่มีกล้ามเนื้อมาก เพราะว่ากล้ามเนื้อมีน้ำหนักมากกว่าไขมัน

ความเสี่ยงของการมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน

  • โรคกระดูกพรุน: มีงานวิจัยเมื่อปี ค.ศ.2016 พบว่า การมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานจะทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น ซึ่งกระดูกจะเปราะและมีโอกาสหักได้ง่ายขึ้น
  • มีปัญหาผิว ผม หรือฟัน: ถ้าคนได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มันก็อาจแสดงอาการผ่านทางร่างกาย เช่น ผิวบาง ผมร่วง ผิวแห้ง สุขภาพช่องปากไม่ดี ฯลฯ
  • ป่วยบ่อย: หากเราไม่ได้รับพลังงานจากอาหารอย่างเพียงพอ ร่างกายก็อาจไม่มีสารอาหารมากพอที่จะไปต่อสู้กับการติดเชื้อ ส่งผลให้คุณป่วยบ่อย และใช้เวลานานขึ้นในการฟื้นตัวจากโรคที่พบได้ทั่วไปอย่างโรคหวัด
  • รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา: การได้รับแคลอรีไม่เพียงพออาจทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลีย
  • โรคโลหิตจาง: คนที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนเม็ดเลือดต่ำ หรือที่รู้จักกันในนามของโรคโลหิตจาง ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ และอ่อนเพลีย
  • มีประจำเดือนมาไม่ปกติ: ผู้หญิงที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานอาจมีประจำเดือนที่ไม่ปกติ พวกเขาอาจพบว่าประจำเดือนหยุดมา  มาช้า หรือหายไป
  • คลอดก่อนกำหนด: จากงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ใน An International Journal of Obstetrics & Gynaecology มีการระบุว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการคลอดก่อนมีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์
  • เติบโตช้าหรือไม่สมบูรณ์: คนที่มีอายุน้อยจำเป็นต้องได้รับสารอาหารเพื่อให้กระดูกเติบโตและมีสุขภาพดี หากร่างกายมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่ได้รับแคลอรีอย่างเพียงพอ มันก็สามารถทำให้กระดูกเติบโตได้ไม่เต็มที่

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ถูกเผยแพร่ใน The journal BMC Public Health ระบุว่า การมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่มีค่า BMI อยู่ในระดับเฉลี่ย นักวิจัยให้ความเห็นว่า การมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานอาจทำให้กระบวนการเยียวยาบาดแผลหลังอุบัติเหตุแย่ลง เมื่อเทียบกับคนที่มี BMI อยู่ในระดับเฉลี่ย

สาเหตุของน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน

  • ประวัติคนในครอบครัว: บางคนมีค่า BMI ต่ำโดยธรรมชาติ เนื่องจากพันธุกรรม
  • มีเมทาบอลิซึมสูง: หากร่างกายเผาผลาญได้สูง คนก็อาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อทานอาหารที่ให้พลังงานสูง
  • ออกกำลังกายบ่อย: นักกีฬา หรือคนที่ทำกิจกรรมทางกายในระดับสูงอย่างนักวิ่ง อาจเผาผลาญแคลอรีได้มาก ส่งผลให้มีน้ำหนักตัวน้อย
  • ป่วยทางกายหรือเป็นโรคเรื้อรัง: มีบางโรคที่สามารถทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียบ่อย ทำให้ยากต่อการเพิ่มน้ำหนัก นอกจากนี้การเป็นโรคต่างๆ ก็สามารถทำให้เราเบื่ออาหาร เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร
  • มีปัญหาทางจิตใจ: การมีสุขภาพจิตที่ไม่ดีสามารถส่งผลต่อความสามารถในการทานอาหาร เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ และโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในการทานอาหารอย่างโรคอะนอเร็กเซียและโรคบูลิเมีย

การรักษาน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน

  • การทานขนมที่มีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตสูง สามารถช่วยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น แครกเกอร์หน้าเนยถั่ว โปรตีนบาร์ อัลมอนด์ ถั่วหรือเมล็ดพืชผสมผลไม้แห้ง พิต้าชิพ ฯลฯ
  • ทานอาหารมื้อเล็กหลายครั้งตลอดวัน
  • ใส่อาหารที่มีแคลอรีสูงเพิ่มในอาหารจานหลัก เช่น โรยถั่วอัลมอนด์บนซีเรียลหรือโยเกิร์ต โรยเมล็ดทานตะวันหรือเมล็ดเจียบนสลัดหรือซุป หรือทาเนยบนขนมปังโฮลเกรน
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ให้พลังงานเยอะ แต่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายน้อย การทานอาหารที่มีแคลอรีสูงอาจทำให้เรามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ทั้งนี้คุณควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีน้ำตาลและเกลือสูง

อย่างไรก็ตาม หากคุณลองพยายามเพิ่มน้ำหนักด้วยตัวเองแล้วแต่ก็ไม่ได้ผล ป่วยทางจิต หรือเป็นโรคที่ทำให้พฤติกรรมการทานอาหารผิดปกติ คุณก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป


25 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Problems caused by being underweight. Patient. (https://patient.info/news-and-features/problems-caused-by-being-underweight)
Underweight adults. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/live-well/healthy-weight/advice-for-underweight-adults/)
Healthy Ways to Gain Weight If You’re Underweight. American Academy of Family Physicians. (https://familydoctor.org/healthy-ways-to-gain-weight-if-youre-underweight/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป