กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก เป็นอวัยวะที่สำคัญมากในระบบย่อยอาหาร แต่ถ้าเมื่อไหร่อวัยวะทั้งสองดันบาดเจ็บและอักเสบขึ้นมาแล้วละก็ นอกจากจะเกิดอาการปวดแสบท้องทรมานแล้ว ยังทำให้อาหารที่เราทานเข้าไปถูกย่อยได้ไม่สมบูรณ์ จนมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ไปจนถึงขาดสารอาหารได้ โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ เป็นโรคที่เป็นกันมาก เกิดได้กับทุกวัย แถมทั้งสองโรคก็มีอาการปวดท้องเหมือนกันชวนให้สับสน ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับโรคทั้งสองให้ดียิ่งขึ้นกันเถอะ
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
เกิดจากเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะ ซึ่งสาเหตุนั้นมีมากมาย ทั้งการทานอาหารไม่ตรงเวลาเป็นประจำ การทานอาหาร ยา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งระคายเคืองกระเพาะอาหาร และการติดเชื้อแบคทีเรีย H.pylori ซึ่งทำให้เกิดแผลในกระเพาะและเกิดการอักเสบตามมาได้ อาการของโรคที่เด่นชัด ได้แก่
ตรวจ รักษาโรคทางเดินอาหาร วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 116 บาท ลดสูงสุด 74%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- ปวดท้อง โดยเฉพาะท้องช่วงบน
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- เมื่อทานอาหารเข้าไปมักมีอาการจุกเสียด แน่นท้อง และอิ่มง่าย
- อาจคลื่นไส้อาเจียนหลังทานอาหารอิ่ม
อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเฉียบพลัน และหายไปเองภายในไม่กี่วัน หรือเกิดขึ้นเรื้อรังนานหลายสัปดาห์ก็ได้ นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น มีเลือดออกในกระเพาะ ถ่ายเป็นเลือด เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย และน้ำหนักลด
โรคลำไส้อักเสบ (Enteritis)
เกิดจากการบาดเจ็บของเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ซึ่งสาเหตุอาจมาจากสารพิษจากเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร การติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสโดยตรง รวมถึงสาเหตุอื่นๆ เช่น ได้รับสารพิษโลหะหนัก หรือทานเห็ดพิษเข้าไป นอกจากนี้ ในบางคนก็เกิดลำไส้อักเสบขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ปวดท้องบิดรุนแรงเป็นพักๆ หรือปวดท้องหน่วงๆ
- คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
- ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ บางครั้งอาจถ่ายมีมูกเลือดปน
- อาจมีไข้สูง หนาวสั่น
หากอาการเกิดขึ้นต่อเนื่องและมีถ่ายเหลวหลายครั้ง ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย ตาแห้ง ปากแห้ง ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณของ ‘ภาวะร่างกายขาดน้ำ’ ที่เป็นอันตรายมาก และต้องรีบรักษาโดยด่วน
การดูแลตัวเองและการรักษา
สำหรับ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ มีข้อแนะนำในการดูแลตนเองและการรักษาเมื่อมีอาการ ดังนี้
- ควรงดทานอาหารรสจัดและอาหารที่ย่อยยาก เช่น พวกเนื้อสัตว์ติดมัน เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนัก เกิดกรดในกระเพาะมาก และทำให้อาการอักเสบเลวร้ายลง
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารทีละมากๆ เพราะจะทำให้อาหารย่อยไม่ได้จนมีอาการจุกแน่นท้อง
- หากมีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์มักให้ยารักษาตามสาเหตุของโรค เช่น หากอาการอักเสบไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ แพทย์จะให้ยาลดกรดกลุ่ม Proton pump inhibitors หรือ H2 blockers เพื่อให้กระเพาะหลั่งกรดน้อยลง แต่หากสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น Amoxicillin ร่วมด้วย
ส่วน โรคลำไส้อักเสบ มีแนวทางการดูแลและรักษา ดังนี้
- ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายจากการถ่ายเหลวและอาเจียนหลายครั้ง คือร่างกายขาดน้ำ ดังนั้น ผู้ป่วยต้องได้รับสารน้ำทดแทน โดยการดื่มน้ำผสมเกลือแร่ หรือการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด จนกว่าอาการจะดีขึ้น
- ในช่วงที่มีอาการ ระบบย่อยอาหารจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก และทานอาหารอ่อนรสไม่จัด เช่น ซุป โจ๊ก
- โดยปกติโรคลำไส้อักเสบแบบเฉียบพลันมักหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาด้วยยา แต่หากมีอาการรุนแรงมากและมีไข้ อาจทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และ Hyoscine และถ้าพบว่าสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะด้วย
- ถ้ามีอาการลำไส้อักเสบแบบเรื้อรัง แพทย์อาจให้ยา Corticosteroids เพื่อลดการอักเสบ ซึ่งยานี้จะมีผลข้างเคียงคือ ทำให้หน้าบวม มีขนขึ้น กระสับกระส่าย ไปจนถึงความดันสูง จึงไม่ควรใช้หากไม่จำเป็นจริงๆ
การป้องกันโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
- ควรทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหาร
- รักษาสุขอนามัยให้ดี โดยการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนทานอาหารทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เยื่อบุทางเดินอาหารระคายเคือง
- ทานอาหารให้ตรงเวลา ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้เป็นปกติ