กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด (Hematochezia)

รวมคำตอบเกี่ยวกับการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เกิดได้อย่างไร รักษาและป้องกันได้อย่างไรบ้าง
เผยแพร่ครั้งแรก 21 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 6 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด (Hematochezia)

เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินหรือเผชิญกับ "การถ่ายอุจจาระเป็นเลือด" กันมาบ้าง แต่อาจไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร หรือคุณอาจไม่เคยสังเกตอุจจาระของตนเองว่ามีความผิดปกติหรือมีมูกเลือดปนหรือไม่ เพราะการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดนั้น เป็นอาการที่คุณไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาการนี้อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่ร้ายแรงของร่างกายได้

ลักษณะการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

การถ่ายอุจจาระเป็นเลือด (Hematochezia) หมายถึง ลักษณะการถ่ายอุจจาระที่มีเลือดปนออกมาด้วย ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน เช่น ถ่ายออกมาเป็นเลือดสีแดงสดปนกับอุจจาระ ถ่ายเหลวและมีมูกเลือดปน ถ่ายอุจจาระแข็งและมีลิ่มเลือดปนด้วย หรือถ่ายอุจจาระที่มีสีแดงคล้ำไปจนถึงเป็นสีดำ ซึ่งลักษณะของอุจจาระที่ต่างกันนี้จะมีสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดแตกต่างกันไปด้วย

และการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด จะแตกต่างจากคำว่า "ถ่ายเป็นเลือด (Rectorrhagia)" ซึ่งหมายถึง การขับถ่ายออกมาเป็นเลือดสดและไม่มีอุจจาระปนอยู่เลย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บของอวัยวะในส่วนของระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย แต่ส่วนมากผู้คนมักเรียกชื่อของ 2 อาการนี้เป็นอาการแบบเดียวกัน

สาเหตุที่ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

สาเหตุที่ทำให้คุณถ่ายอุจจาระเป็นเลือดได้มักมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร และการขับถ่าย เช่น

  • เป็นริดสีดวงทวาร
  • อุจจาระแข็ง ทำให้ทวารหนักเกิดแผลฉีกขาด
  • ติดเชื้อบิดมีตัว
  • ลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • มีติ่งหรือเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
  • มีเลือดออกในเยื่อบุทางเดินอาหาร
  • เส้นเลือดใหญ่แตก ทำให้มีเลือดไหลเข้าสู่ทางเดินอาหาร
  • เกิดเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่

หากคุณพบว่าตนเองถ่ายอุจจาระเป็นเลือดติดต่อกันหลายครั้ง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร โดยวิธีการวินิจฉัยจะผ่านการสั่งตรวจอุจจาระจากแพทย์ เพื่อดูว่ามีลักษณะอย่างไร มีการติดเชื้อปรสิตหรือบิดมีตัวหรือไม่ ร่วมกับตรวจร่างกายเพื่อประเมินอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อาการท้องร่วง อาการเจ็บปวดเมื่อเบ่งอุจจาระ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย น้ำหนักลด รวมถึงอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือดมาก 

และหลังจากนั้น แพทย์อาจทำการตรวจด้วยวิธีที่จำเพาะขึ้น เช่น การส่องกล้องผ่านทวาร เพื่อตรวจลำไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ รวมถึงการตรวจเลือดด้วย

การรักษาอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

โดยหลักการแล้ว แพทย์มักจะรักษาสาเหตุของการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดควบคู่ไปกับการรักษาตามอาการ ดังนี้

  • หากมีเลือดปนมากับอุจจาระเนื่องจากท้องผูก และเกิดแผลที่ทวารหนัก: แพทย์จะเน้นรักษาอาการท้องผูกโดยให้ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักผลไม้ รวมถึงฝึกนิสัยในการขับถ่ายให้เป็นกิจวัตร
  • หากเป็นริดสีดวงและมีแผลเปิดที่ทวารหนัก: แพทย์รักษาบาดแผลโดยการให้แช่น้ำอุ่น และอาจให้ยาหรือฉีดยาเพื่อห้ามเลือด รวมถึงการทำแผลด้วยวิธีอื่นๆ
  • หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย: แพทย์จะรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะและยาแก้อักเสบ รวมถึงหากสาเหตุของการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดมาจากการติดเชื้อ เช่น เชื้ออะมีบา (Ameba) แพทย์ก็จะให้ยาเพื่อกำจัดเชื้อดังกล่าว
  • หากสาเหตุเกิดจากมีติ่งเนื้อ หรือเนื้องอกที่ลำไส้ และริดสีดวงทวารที่รุนแรง: จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดนำเนื้อส่วนนั้นออก
  • หากมีอาการแทรกซ้อนคือ เสียเลือดมาก และมีความดันโลหิตต่ำ: ผู้ป่วยจะต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อความคุมความดันโลหิต อีกทั้งให้ยาหรือธาตุเหล็กเสริม เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง

วิธีป้องกันอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด

  • เน้นรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงและย่อยง่าย เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อปลา รวมถึงดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • สร้างสุขนิสัยที่ดีในการขับถ่าย โดยควรขับถ่ายทุกวันให้เป็นเวลา
  • หลีกเลี่ยงการบริโภคแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณทางเดินอาหาร และอาจทำให้เกิดแผลมีเลือดออกในเยื่อบุทางเดินอาหารได้
  • รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรคหรือแบคทีเรีนซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงและถ่ายเป็นมูกเลือด

คุณจะเห็นได้ว่า อาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ และทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนตามมาที่รุนแรงได้ ดังนั้น เมื่อมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดแล้ว คุณก็ควรรีบพบแพทย์เข้าเพื่อรับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมโดยทันที เพื่อฟื้นฟูอาการบาดเจ็บหรือความผิดปกติเกี่ยวกับระบบขับถ่ายภายในร่างกายก่อนที่จะสายเกินแก้


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Upper Gastrointestinal Bleeding at eMedicine
Sáenz, Roque; Valdivieso, Eduardo. "Approach to lower gastrointestinal bleeding" (PDF). p. 2. Archived from the original (PDF) on 2013-12-13.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)