การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่ใช่เรื่องยาก แค่ทำตาม “4 ขั้นตอนการดูแลรักษาโรคเบาหวาน” อย่างเป็นระบบ การเรียนรู้และทำความเข้าใจในแต่ละขั้นตอน จะช่วยให้คุณควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้
ขั้นตอนที่ 1 เรียนรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานมีอยู่ 3 ชนิดหลัก ได้แก่
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดนี้ ร่างกายจะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ ทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่มีตัวช่วยในการนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดแปลงเป็นพลังงานเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะต้องได้รับยาฉีดอินซูลินทุกวันเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคเบาหวานประเภทนี้ ร่างกายจะไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ หรือนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ หรือไม่มีประสิทธิภาพ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะต้องได้รับยารับประทานรักษาโรคเบาหวาน หรือยาฉีดอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โรคเบาหวานชนิดนี้เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ผู้หญิงบางคนจะเป็นโรคเบาหวานชนิดนี้ขณะตั้งครรภ์ แต่ส่วนใหญ่จะหายจากโรคนี้เมื่อคลอดลูก แต่ว่าผู้หญิงที่เป็นโรคนี้ และลูกที่คลอดออกมา จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานในอนาคตได้
คุณคือคนสำคัญที่มีส่วนในการดูแลรักษา
แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีในการดูแลตนเอง เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง นอกจากแพทย์แล้ว ยังมีทีมดูแลสุขภาพอื่นๆ ที่จะคอยช่วยเหลือคุณ ได้แก่ ทันตแพทย์ แพทย์โรคเบาหวาน นักโภชนาการ จักษุแพทย์ (หมอตา) แพทย์ตรวจเท้า เพื่อนและครอบครัว จิตแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และเภสัชกร
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อทำให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพสูงสุด
โรคเบาหวานเป็นโรคร้ายแรง
บางครั้งคุณอาจได้ยินคนพูดว่า “โรคเบาหวานเป็นโรคไม่ร้ายแรง” หรือ “น้ำตาลสูงนิดเดียว” จนทำให้รู้สึกว่าโรคเบาหวานไม่ใช่โรคร้ายแรง นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะผลกระทบจากการไม่ควบคุมโรคเบาหวานสามารถทำให้เสียชีวิตได้ และอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ ไตวาย ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของการมีสุขภาพที่ดี เคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานยา หรือใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
ทำไมถึงต้องดูแลรักษาโรคเบาหวาน
การดูแลตนเอง ควบคุมโรคเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะทำให้คุณสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนทั่วไป เช่น
- รู้สึกมีพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ
- ไม่ค่อยอ่อนเพลีย หรือเหนื่อยง่าย
- ปัสสาวะออกเหมือนปกติ (ผู้ป่วยเบาหวานจะปัสสาวะค่อนข้างบ่อยกว่าปกติ)
- แผลหายเร็ว
- ไม่ค่อยติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือกระเพาะปัสสาวะ
นอกจากนี้ ยังช่วยให้คุณมีความเสี่ยงต่ำต่อปัญหาสุขภาพที่เกิดจากโรคเบาหวาน เช่น
- หัวใจวาย หรือ โรคหลอดเลือดสมอง
- ปัญหาที่ตา ทำให้การมองเห็นไม่ชัด หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นตาบอด
- ปวด ชา ที่มือ เท้า ซึ่งหมายถึงเส้นประสาทถูกทำลาย
- ปัญหาที่ไต ซึ่งอาจทำให้ไตหยุดการทำงาน
- ปัญหาโรคเหงือกและฟัน
ขั้นตอนที่ 2 เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการ ABCs
หลักการ ABCs ประกอบไปด้วย การควบคุมระดับน้ำตาลสะสม (A1C) ระดับความดันโลหิต (Blood pressure) และระดับไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ของเบาหวาน
ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วย-ผู้สูงอายุวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 ลดสูงสุด 51%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
A: A1C test หรือการตรวจระดับน้ำตาลสะสม
ระดับน้ำตาลสะสม หรือ A1C คือระดับน้ำตาลเฉลี่ยในเลือดในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างจากค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่คุณตรวจทุกวัน การตรวจระดับน้ำตาลสะสมจะทำให้คุณรู้ค่าระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
เป้าหมายของระดับน้ำตาลสะสม คือ น้อยกว่า 7% แต่ว่าบางคนอาจจะแตกต่างไปจากนี้ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้งว่าเป้าหมายของคุณคือเท่าใด
B: Blood pressure (ระดับความดันโลหิต)
ความดันโลหิต คือแรงของเลือดที่กระทำต่อผนังของหลอดเลือด ถ้าความดันโลหิตสูงกว่าปกติ จะทำให้หัวใจทำงานหนัก และทำให้เกิดหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลเสียต่อไต และดวงตาอีกด้วย
เป้าหมายในการควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยเบาหวานโดยทั่วไป คือ น้อยกว่า 140/90 แต่ว่าบางคนอาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกันได้ จึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทราบค่าเป้าหมายที่เหมาะสมกับตัวคุณ
C: Cholesterol (ระดับไขมันคอเลสเตอรอล)
ไขมันคอเลสเตอรอลมีอยู่ 2 ชนิด คือ แอลดีแอล (LDL) และ เอชดีแอล (HDL)
- LDL หรือ “ไขมันเลว” เป็นไขมันคอเลสเตอรอลที่สามารถทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองตามมาได้
- HDL หรือ “ไขมันดี” เป็นไขมันที่จะช่วยกำจัดไขมันเลวออกจากเส้นเลือดของคุณ
เป้าหมายในการควบคุม LDL และ HDL ให้สอบถามจากแพทย์เพื่อหาเป้าหมายในการควบคุมที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล ถ้าคุณมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป อาจจำเป็นต้องได้รับยาลดไขมัน กลุ่มสะแตติน (Statin) เพื่อสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง
ขั้นตอนที่ 3 เรียนรู้วิธีในการอยู่กับโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักจะรู้สึกเศร้า เสียใจ หรือโกรธ จากปัญหาเกี่ยวกับความเข้มงวดในการทำตามแผนการรักษาที่ต้องทำเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยให้คุณมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนคนปกติทั่วไป
การรับมือกับโรคเบาหวาน
- ความเครียดจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จึงขอแนะนำวิธีการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น คือ พยายามหายใจเข้าออกลึกๆ หาเวลาว่างไปทำสวน เดินเล่น นั่งสมาธิ ทำงานอดิเรก หรือฟังเพลงที่ชอบ อะไรก็ได้ที่ทำให้คุณรู้สึกสบายใจ
- หากรู้สึกซึมเศร้า แนะนำให้ขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์ เพื่อน หรือคนในครอบครัว พวกเขาเหล่านั้นพร้อมจะรับฟังและช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น
การรับประทานอาหารที่ดี
- วางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเบาหวานร่วมกับทีมแพทย์ที่ดูแลรักษา
- เลือกอาหารที่มีพลังงานต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานซ์ น้ำตาล และเกลือ
- รับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืชเต็มเมล็ด ผักต่างๆ
- เลือกรับประทานอาหาร เช่น ผลไม้ไม่หวานจัด ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด ขนมปังโฮลวีท นมไขมันต่ำ นมพร่องมันเนย และชีส
- ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำผลไม้ หรือน้ำโซดา
การออกกำลังกาย
- ตั้งเป้าหมายของการออกกำลังกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกายที่มากขึ้น โดยให้มีจำนวนวันต่อสัปดาห์มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในช่วงแรกให้เริ่มจากการเดิน 10 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ และค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- ออกกำลังกายโดยการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น ยางยืดออกกำลังกาย โยคะ วิดพื้น ทำสวนหนัก เช่น ขุดดิน หรือปลูกต้นไม้ด้วยเครื่องมือ
- ควบคุมหรือลดน้ำหนักตัวให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมเพื่อให้มีสุขภาพดี โดยการรับประทานอาหารตามแผนที่กำหนด และเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย
สิ่งที่ต้องทำทุกวัน
- รับประทานยา หรือใช้ยารักษาโรคเบาหวาน ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด แม้ว่าคุณจะรู้สึกสบายดีก็ตาม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หากคุณต้องการยาแอสไพรินเพื่อป้องกันโรคหัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมอง คุณต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ หากไม่สามารถจ่ายค่ายา หรือเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- ตรวจเท้าทุกวันว่า มีบาดแผล หรือจุดบวมแดงไหม หากมีแล้วแผลไม่สามารถหายได้เอง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทุกวันเพื่อรักษาสุขภาพช่องปาก ฟัน และเหงือก
- เลิกบุหรี่
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองทุกวัน ซึ่งอาจมากกว่าวันละ 1 ครั้ง และจดบันทึกระดับน้ำตาลทุกครั้ง และเมื่อไปพบแพทย์ตามนัด ให้นำบันทึกระดับน้ำตาลนี้ไปให้แพทย์ดูด้วย
- วัดระดับความดันโลหิต ถ้าแพทย์แนะนำให้คุณวัด และจดบันทึกทุกครั้ง
พูดคุยกับทีมแพทย์ที่ดูแล
- สอบถามแพทย์ที่ดูแลรักษา หากมีคำถามใดๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากสุขภาพของคุณมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม
- สอบถามทีมแพทย์เกี่ยวกับการวางแผนรับประทานอาหารสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับโรคเบาหวาน
- สอบถามเกี่ยวกับวิธีในการออกกำลังกาย การเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย
- สอบถามเกี่ยวกับระยะเวลา ความถี่ในการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด และเมื่อได้ผลแล้วจะจัดการดูแลโรคเบาหวานอย่างไร
- เมื่อไปพบแพทย์ทุกครั้งให้สอบถามทีมแพทย์ที่ดูแลรักษาท่านเกี่ยวกับแผนการรักษา ว่าปัจจุบันแผนนี้ดีแล้วหรือยัง หรือต้องมีการปรับเปลี่ยนใดๆ
ขั้นตอนที่ 4 เข้ารับการตรวจเป็นประจำ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี
เข้ารับการตรวจติดตามโดยแพทย์เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อค้นหาปัญหาและรักษาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในระยะเริ่มต้น
ทุกครั้งที่มาพบแพทย์ คุณจะต้อง:
- ได้รับการตรวจวัดความดันโลหิต
- ได้รับการตรวจเท้า
- ชั่งน้ำหนัก
- ทบทวนแผนการรักษา
2 ครั้งต่อปี คุณจะต้อง:
- ตรวจระดับน้ำตาลสะสม ซึ่งอาจจะต้องตรวจถี่มากกว่านี้หากระดับน้ำตาลสะสมของคุณมากกว่า 7%
- ตรวจระดับไขมันคอเลสเตอรอล
- ตรวจเท้าอย่างละเอียด
- ตรวจสุขภาพช่องปากโดยทันตแพทย์
- ตรวจตาโดยละเอียดโดยจักษุแพทย์
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- ตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือด เพื่อเช็คการทำงานของไต
ปีละ 1 ครั้ง คุณจะต้อง:
- ตรวจระดับไขมันคอเลสเตอรอล
- ตรวจเท้าอย่างละเอียด
- ตรวจสุขภาพช่องปากโดยทันตแพทย์
- ตรวจตาโดยละเอียดโดยจักษุแพทย์
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- ตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือด เพื่อเช็คการทำงานของไต
อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต คุณจะต้อง:
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
สิ่งที่คุณสามารถทำได้
- สอบถามทีมแพทย์ที่ดูแลรักษาคุณเกี่ยวกับการตรวจติดตามที่เหมาะสมสำหรับคุณ และความหมายของผลการตรวจต่างๆ
- จดบันทึกวันนัดหมายเข้าพบแพทย์ครั้งถัดไปไว้เสมอเพื่อเตือนความจำ
ข้อควรจำ
- คุณคือหนึ่งในบุคคลสำคัญของทีมดูแลรักษา
- ปฏิบัติตาม 4 ขั้นตอนนี้เพื่อช่วยให้คุณจัดการดูแลรักษาโรคเบาหวานได้อย่างเหมาะสม
- เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีในการควบคุมระดับน้ำตาลสะสมให้ได้ตามเป้าหมาย
- หากต้องการความช่วยเหลือ ให้สอบถามทีมแพทย์ที่ดูแลคุณ