วิตามินถูกแบ่งประเภทออกเป็น 2 ประเภทคือ วิตามินที่ละลายในน้ำ และวิตามินที่ละลายในไขมัน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดซึม และการนำไปใช้ของร่างกาย
วิตามินละลายในน้ำคืออะไร
วิตามินละลายในน้ำ คือวิตามินที่เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะละลายในน้ำเข้าสู่กระแสเลือด โดยวิตามินจะถูกเก็บสะสมไว้ในในร่างกายช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อร่างกายได้รับวิตามินชนิดนี้ในปริมาณมากเกินไปจะถูกขับออกทางปัสสาวะและเหงื่อ ดังนั้นวิตามินละลายในน้ำจึงเป็นวิตามินที่ไม่ถูกเก็บสะสมในร่างกาย ทำให้ต้องรับประทานเข้าไปในทุกๆ วัน ไม่อย่างนั้นจะทำให้ร่างกายขาดวิตามินได้
ตรวจแร่ธาตุวิตามินวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 68%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ความแตกต่างระหว่างวิตามินละลายในน้ำและวิตามินละลายในไขมัน
- วิตามินละลายในน้ำ ต้องใช้น้ำในการดูดซึมวิตามินเข้าร่างกาย ในขณะที่วิตามินละลายไขมัน ต้องใช้ไขมันที่มาจากอาหารช่วยในการดูดซึมวิตามินเข้าสู่ร่างกาย
- เราสามารถรับประทานวิตามินละลายในน้ำได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับในปริมาณที่มากเกินไป เนื่องจากร่างกายสามารถขับปริมาณส่วนเกินออกมาทางปัสสาวะและเหงื่อได้
- ในขณะที่วิตามินละลายในไขมัน (วิตามินเอ ดี อี และเค) จะถูกสะสมในร่างกายหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป จะเกิดการสะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ เช่น หากมีวิตามินเอสะสมในร่างกายปริมาณมากเป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีอาการผมร่วง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ปวดกระดูก
วิตามินละลายในน้ำประกอบไปด้วยวิตามินอะไรบ้าง
วิตามินละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามินซี และกลุ่มวิตามินบีรวม (วิตามินบี 1 2 3 5 6 7 9 และ 12)
วิตามินละลายในน้ำมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร
วิตามินซี
วิตามินซี เป็นวิตามินที่มีประโยชน์หลากหลายต่อร่างกาย เช่น ช่วยในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ให้ความชุ่มชื้นบำรุงผิวพรรณให้กระจ่างใส และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในร่างกาย ผู้ที่ขาดวิตามินซีจะทำให้เกิดโรคเลือดออกตามไรฟันได้ แหล่งอาหารที่พบวิตามินซีในปริมาณสูง ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว มะเขือเทศ เบอร์รี่ต่างๆ
วิตามินบี 1 หรือไธอะมีน (Thiamine)
วิตามินบี 1 ช่วยให้ระบบประสาท กล้ามเนื้อ และหัวใจทำงานเป็นปกติ ช่วยให้ความคิดสติปัญญาดีขึ้น ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารในร่างกายย่อยอาหารประเภทแป้งได้ดี และยังช่วยให้เกิดการสร้างพลังงานให้แก่อวัยวะต่างๆ ได้เป็นปกติอีกด้วย ผู้ที่ขาดวิตามินบี 1 อาจเป็นโรคเหน็บชาได้ แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 1 ในปริมาณสูง ได้แก่ ข้าวกล้อง ถั่ว งา จมูกข้าวสาลี นมถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน และเนื้อหมู เป็นต้น
ตรวจแร่ธาตุวิตามินวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 68%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin)
วิตามินบี 2 มีส่วนช่วยในกระบวนการเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ ส่งเสริมสุขภาพผิวพรรณ เล็บ และเส้นผม ช่วยลดอาการเจ็บแสบในปาก ริมฝีปาก และลิ้น เสริมประสิทธิภาพการมองเห็น และบรรเทาอาการอ่อนล้าของสายตา และทำงานร่วมกับสารอื่นๆ ในการเผาผลาญอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และโปรตีน ผู้ที่ขาดวิตามินบี 2 จะเจ็บที่มุมปากและเกิดรอยแผลที่เรียกว่า ปากนกกระจอก แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 2 ในปริมาณสูง ได้แก่ อาหารจำพวกข้าวที่ไม่ขัดผิว ธัญพืช ตับ ไข่แดง เนื้อสัตว์ เนย ยีสต์ โยเกิร์ต ผักใบเขียว ถั่ว เป็นต้น
วิตามินบี 3 หรือไนอะซิน (Niacin)
วิตามินบี 3 มีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายอย่าง เช่น เป็นส่วนสำคัญในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศ ช่วยลดคอเลสเตอรอล เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความดันโลหิต บรรเทาปัญหาต่างๆ ของระบบย่อยอาหาร ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น บำรุงผิวพรรณให้มีสุขภาพดีขึ้น ช่วยป้องกัน และบรรเทาความรุนแรงของอาการปวดศีรษะจากไมเกรน เป็นต้น ผู้ที่ขาดวิตามินบี 3 มักจะมีอาการผื่นผิวหนังอักเสบรุนแรงแหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 3 ในปริมาณสูง ได้แก่ ปลา เนื้อไม่ติดมัน เนื้อขาวจากพวกสัตว์ปีก ไข่ ตับ โฮลวีต จมูกข้าวสาลี ถั่วลิสง
วิตามินบี 5 หรือกรดแพนโทเธนิก (Pantothenic acid)
วิตามินบี 5 ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ช่วยสร้างกรดโฟลิค ทำให้ร่างกายใช้โปรตีนได้ดีขึ้น ลดความเจ็บปวดจากการเกิดบาดแผลต่างๆ ชะลอการเกิดริ้วรอย ช่วยให้ผิวแลดูมีสุขภาพดีและเนียนนุ่ม ผู้ที่ขาดวิตามินบี 5 มักจะเกิดอาการเบื่ออาหาร ความจำเสื่อม มีผื่นแดงที่ผิวหนัง แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 5 ในปริมาณสูง ได้แก่ อาหารจำพวก เนื้อสัตว์ ไก่ ตับ ถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี รำข้าว จมูกข้าวสาลี ผักสีเขียว
วิตามินบี 6 หรือไพริดอกซีน (Pyridoxine)
วิตามินบี 6 สามารถช่วยป้องกันโรคทางระบบประสาทและผิวหนังหลายชนิด เป็นยาขับปัสสาวะตามธรรมชาติ ลดอาการปากแห้งและปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะที่เป็นผลข้างเคียงจากการรับประทานยาต้านอาการซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก เสริมความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดนิ่วในไต
ตรวจแร่ธาตุวิตามินวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 68%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ผู้ที่รับประทานโปรตีน และไขมันเป็นจำนวนมาก ควรรับประทานวิตามินบี 6 เพราะมีส่วนช่วยให้ร่างกายดูดซึมโปรตีนและไขมันได้ดีขึ้น ช่วยในการเปลี่ยนรูปทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่สำคัญต่อร่างกายในการสังเคราะห์ไนอะซิน ผู้ที่ขาดวิตามินบี 6 จะมีอาการของโรคโลหิตจางและผิวหนังบวมแดง แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 6 ในปริมาณสูง ได้แก่ ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต วอลนัท ไข่ ตับ ปลา
วิตามินบี 7 หรือไบโอติน (Biotin)
วิตามินบี 7 เป็นตัวช่วยในการย่อยสลายอาหารให้กลายเป็นน้ำตาล ทำให้ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้ เป็นสารที่สำคัญต่อการมีผิวและเล็บที่มีสุขภาพดี ช่วยให้ตา ตับ และระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสำคัญต่อการพัฒนาการของทารกระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ที่ขาดวิตามินบี 7 จะมีอาการผมร่วง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 7 ในปริมาณสูง ได้แก่ ไข่แดง นม ตับวัว เนย ถั่วลิสง ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี
วิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิค (Folic acid)
วิตามินบี 9 มีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง กรดนิวคลิอิก (กรดไรโบนิวคลีอิก และกรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก) ช่วยให้กระบวนการเผาผลาญโปรตีนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยรักษาภาวะซีดหรือโลหิตจาง แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 9 ในปริมาณสูง ได้แก่ ผักใบเขียว แครอท ฟักทอง อะโวคาโด ถั่ว ไข่แดง ตับ
วิตามินบี 12 หรือโคบาลามิน (Cobalamin)
วิตามินบี 12 มีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง เส้นประสาท และสาร DNA ใช้เป็นอาหารเสริมเพื่อรักษาโรคโลหิตจางบางประเภทได้ ผู้ที่ขาดวิตามินบี 12 จะมีอาการชาบริเวณมือ เท้า หรือขา อาจเดินลำบาก หรือมีปัญหาในเรื่องการทรงตัว ตัวเหลืองตาเหลือง หรือมีปัญหาเรื่องความคิดหรือความทรงจำได้ แหล่งอาหารที่พบวิตามินบี 12 ในปริมาณสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ ไต ชีส ปลา นม ไข่แดง
วิตามินละลายในน้ำมีความสำคัญต่อกระบวนการทำงานต่างๆ ในร่างกาย ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรง อย่าลืมว่า วิตามินละลายในน้ำไม่เก็บสะสมในร่างกาย จึงต้องรับประทานเป็นประจำในปริมาณที่พอเหมาะ ซึ่งสามารถหาได้จากแหล่งอาหารธรรมชาติ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร