การกินเจเป็นการงดรับประทานอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ อีกทั้งผู้ที่กินเจยังคงต้องประพฤติตนให้อยู่ในศีล 5 ทั้งทางกาย วาจา และใจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีสุขภาพดี จิตใจมีเมตตาต่อสัตว์ และเพื่อการเว้นกรรมนั่นเอง
หลักการปรุงอาหารเจ
วิธีการปรุงอาหารเจจะต้องเป็นการปรุงโดยไม่มีเนื้อสัตว์ รวมถึงเครื่องปรุงต่างๆ ก็ต้องไม่ทำมาจากสัตว์ชนิดใดๆ เลยเช่นกัน แม้แต่อาหารประเภทไข่ น้ำผึ้ง นม หรือน้ำปลาเหล่านี้ก็ไม่ได้ ผักที่ใช้ต้องไม่มีกลิ่นฉุนอย่างเช่นหัวหอมใหญ่ หอมแดง กระเทียม กุยช่าย และผักชี เนื่องจากเชื่อกันว่าผักที่มีกลิ่นแรงจะไปเพิ่มความกำหนัด
แต่หอยนางรมยังคงสามารถนำมารับประทานหรือทำเป็นซอสปรุงรสสำหรับอาหารเจได้ เพราะมีความเชื่อว่าหอยนางรมถวายตนเป็นอาหาร นอกจากนี้ภาชนะที่ใช้สำหรับใส่อาหารเจจะต้องแยกออกมาจากภาชนะที่ใส่อาหารตามปกติอีกด้วย
กินเจอย่างไรให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน
เพื่อให้ร่างกายของผู้กินเจได้รับสารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการที่ร่างกายต้องการ ควรรับประทานอาหารเจตามหลักดังต่อไปนี้
1. คาร์โบไฮเดรต ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย ซึ่งควรรับประทานข้าวกล้องมากกว่าข้าวขาว เนื่องจากในข้าวกล้องมีเส้นใยอาหารสูง 3 – 7 เท่า และยังให้วิตามินบำรุงร่างกายอีกหลายชนิด ช่วยซับน้ำมันและน้ำตาลส่วนเกินในร่างกาย ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้รู้สึกอิ่มทนและนานมากขึ้น
2. โปรตีน ช่วยซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ ดังนั้นอาหารที่สามารถรับประทานได้และยังเป็นแหล่งทดแทนโปรตีนได้เป็นอย่างดีนั่นคือ “ถั่วต่างๆ” โดยมีการแปรรูปเพื่อให้สะดวกต่อการนำมาดัดแปลงทำเป็นอาหาร ซึ่งอยู่ในรูปของเต้าหู้แผ่น น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ทอด นมถั่วเหลือง หรืออาจอยู่ในรูปของโปรตีนเกษตรและเนื้อเทียมที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน
3. วิตามินจากพืชผักและผลไม้ ให้วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่การเลือกผักและผลไม้มารับประทานควรมีความสดใหม่ ล้างให้สะอาด และควรรับประทานแบบสดๆ จะดีกว่าผักและผลไม้ที่ผ่านการแปรรูปอย่างเช่นผักดองหรือผลไม้กระป๋อง เพราะวิตามินต่างๆ จะสลายไปด้วยขั้นตอนของการแปรรูป อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ผ่านการต้มนานๆ ด้วยเช่นกัน รวมถึงควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสชาติหวานจัด จนกลายเป็นการรับปริมาณน้ำตาลมากเกินความต้องการ
4. เกลือแร่ การกินเจจะไม่สามารถรับประทานอาหารทะเลได้ ดังนั้นร่างกายอาจจะได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน เพราะฉะนั้นในการประกอบอาหารเจต้องมีการใส่เกลือไอโอดีนเพื่อทดแทนลงไปขณะปรุงอาหารด้วย ควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 – 10แก้ว และควรงดดื่มน้ำอัดลม
5. ไขมัน ช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ซึ่งการปรุงอาหารเจมักเป็นประเภทผัดหรือทอดในน้ำมันเป็นส่วนมาก ไขมันที่ได้ก็คือไขมันทั้งชนิดอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว แต่หากจะให้เกิดผลดีต่อร่างกายควรเลือกน้ำมันที่มีไขมันไม่อิ่มตัว จึงเหมาะสำหรับการผัดและทอดอย่างเช่นน้ำมันรำข้าว เพื่อช่วยให้ไม่เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือด หรือควรหันมาเน้นรับประทานอาหารเจชนิดต้ม อบ ย่าง และยำ จะช่วยหลีกเลี่ยงการได้รับไขมันในปริมาณมากได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่เราละเลยไม่ได้ในข้อควรปฏิบัติการกินเจให้ครบตามหลักโภชนาการคือ จะต้องรับประทานอาหารให้มีความหลากหลาย ไม่ควรเน้นเฉพาะแป้งและอาหารมันๆ ด้วยการลดการรับประทานของทอด เพราะอาจไปกระตุ้นโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูงที่บางท่านกำลังเป็นอยู่ อีกทั้งในอาหารเจ 1 จาน ก็ควรเน้นผักมากๆ ตามด้วยโปรตีนเกษตรผสมรวมกับข้าวบ้าง ตามด้วยผลไม้และรับประทานธัญพืชเป็นอาหารว่างในระหว่างมื้อ เช่น ถั่วต่างๆ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และข้าวโพด เป็นต้น
เมื่อได้วิธีการกินเจที่ถูกต้องแล้ว หากเราจำเป็นต้องซื้ออาหารเจจากข้างนอกเพราะไม่ได้ประกอบอาหารเจเอง ควรเลือกร้านที่ได้มาตรฐาน คำนึงถึงความสะอาดปลอดภัยและไว้ใจได้ จึงจะทำให้มั่นใจได้ว่าการกินเจในครั้งนี้จะได้ทั้งบุญกุศลและสุขภาพดีอย่างที่ต้องการจริงๆ