ปวดหู (Earache)

อาการ สาเหตุ และวิธีการรักษาอาการปวดหู
เผยแพร่ครั้งแรก 18 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 27 ก.พ. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ปวดหู (Earache)

อาการปวดหูเป็นปัญหาทั่วไปที่พบได้ในทุกคน โดยเฉพาะเด็ก มักเกิดจากการติดเชื้อเล็กๆ น้อยๆ สามารถดีขึ้นได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน แม้จะไม่ได้รับการรักษา อาการปวดหูอาจเป็นแบบเจ็บแปล๊บ ปวดทื่อ หรือแสบร้อน และเป็นได้ทั้งเป็นๆ หายๆ หรือเกิดขึ้นตลอดเวลา เป็นกับหูทั้งสองข้าง หรือเป็นเพียงข้างเดียวก็ได้

สาเหตุของอาการปวดหู

สาเหตุของอาการปวดหูที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ภาวะติดเชื้อในหู ลักษณะอาการคือ มีหนองหรือของเหลวไหลออกจากหู ภาวะติดเชื้อในหูยังสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีก ได้แก่
    • ภาวะติดเชื้อในหูชั้นนอก (Outer ear infections) คือ ภาวะติดเชื้อที่ท่อเชื่อมหูชั้นนอกกับแก้วหู
    • ภาวะติดเชื้อในหูชั้นกลาง (Middle ear infections) คือ ภาวะติดเชื้อในส่วนที่อยู่หลังแก้วหู มักจะเป็นสาเหตุทั่วไปของอาการปวดหู
  • ภาวะมูกข้นในหู คือภาวะมีของเหลวข้นในช่องหู (Glue ear) หรือเรียกกันว่า ภาวะน้ำในหูชั้นกลาง (Otitis media with effusion หรือ OME) เกิดจากการสะสมของของเหลวที่อยู่ลึกภายในหู ซึ่งทำให้เกิดภาวะสูญเสียการได้ยินชั่วคราว โดยทั่วไปภาวะนี้มักไม่สร้างความเจ็บปวดใดๆ แต่บางครั้งแรงดันของน้ำภายในหูอาจทำให้มีอาการปวดหูขึ้นมาได้
  • ความเสียหายที่หู บางครั้งอาการปวดหูก็เป็นผลมาจากการบาดเจ็บภายในหู เช่น การบาดเจ็บจากการแคะขี้หูด้วยก้านสำลี หรือการแยงก้านสำลีเข้าไปลึกเกินจนกดโดนแก้วหู เป็นต้น
    อย่างไรก็ตาม แม้โพรงหูจะเป็นช่องที่มีความอ่อนไหวและเสียหายได้ง่ายมาก แต่ความเสียหายนั้นควรจะหายเองในเวลาไม่นานแม้จะไม่ได้รับการรักษา นอกเสียจากบาดเจ็บถึงขั้นแก้วหูฉีกขาด อาจต้องใช้เวลานานถึง 2 เดือน ระหว่างที่แก้วหูของคุณฉีก ไม่ควรใช้ยาหยอดกับหูข้างนั้น
  • มีสิ่งของหรือขี้หูติดในหู การมีขี้หู (Earwax) สะสมหรือมีสิ่งแปลกปลอมติดในหูสามารถทำให้เกิดอาการปวดหูขึ้นได้ หากหูของคุณหรือในเด็กเล็กมีบางสิ่งเข้าไปติดและสร้างความเจ็บปวด อย่าพยายามแคะออกด้วยตนเอง เพราะยิ่งทำให้สิ่งนั้นเข้าไปลึกกว่าเดิมจนสร้างความเสียหายกับแก้วหู ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้นำออกให้จะดีที่สุด ทั้งนี้ หากคุณมีขี้หูสะสม เภสัชกรจะแนะนำยาหยอดหูที่มีฤทธิ์ทำให้ขี้หูอ่อนตัวลงจนหลุดออกมาเองตามธรรมชาติ หรือบางกรณีแพทย์อาจทำการกำจัดขี้หู (ที่ถูกทำให้อ่อนนุ่มลงด้วยยาหยอดหูแล้ว) ด้วยการชะล้างออกด้วยน้ำ (Ear irrigation)
  • การติดเชื้อที่คอ หากคุณมีอาการเจ็บปวดขณะกลืนและมีอาการเจ็บคอ อาการปวดหูที่เกิดขึ้นอาจเป็นอาการแสดงของการติดเชื้อที่คอ เช่น ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) หรือฝีรอบทอนซิล (Quinsy) ก็ได้ ทั้งนี้ภาวะทอนซิลอักเสบบางประเภทหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่วันโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากคุณมีภาวะฝีรอบทอนซิล คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด
  • ปัญหาที่กราม บางครั้งอาการปวดหูอาจเกิดจากปัญหาที่ข้อต่อของกราม (ตำแหน่งที่กรามบรรจบกับกะโหลก) ภาวะนี้เรียกว่าอาการปวดที่ข้อต่อขากรรไกรล่าง (Temporomandibular joint pain) อาจเกิดจากโรคข้ออักเสบ (Arthritis) หรือการเสียดสีของฟันก็ได้ ซึ่งการปวดกรามมักรักษาได้ด้วยยาแก้ปวด การประคบร้อนหรือเย็น และการดูแลตนเองให้ไม่กัดหรือทำให้ฟันเสียดสีกัน
  • ฝีในปาก (Dental abscess) คือตุ่มหนองที่เกิดขึ้นในฟันหรือบนเหงือกที่เป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาการหลักของฝีในปากคือเจ็บปวด ณ ตำแหน่งที่เกิดฝี ซึ่งหากรุนแรงมากอาจปวดลามไปถึงหูได้ หากคุณคาดว่าตนเองมีภาวะฝีในปาก ควรเข้าไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด ทันตแพทย์สามารถกำจัดฝีออกได้ด้วยการเจาะดูดหนอง

ปวดหูแบบไหนถึงควรไปพบแพทย์

คุณควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

  • มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง อาเจียน เจ็บคอรุนแรง สูญเสียการได้ยิน รอบใบหูบวม หรือมีสารคัดหลั่งถูกขับออกจากหู
  • มีบางอย่างเข้าไปติดในหู
  • อาการปวดหูไม่ดีขึ้นหลังผ่านไประยะเวลาหนึ่ง

การรักษาอาการปวดหู

ปกติแล้วอาการปวดหูสามารถหายเองได้ ระหว่างนั้นอาจบรรเทาอาการปวดหูไปก่อน หากปวดหูจากภาวะติดเชื้อ ส่วนใหญ่อาการจะหายไปได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษาภายในเวลาไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ แต่ในบางกรณีแพทย์อาจรักษาด้วยการจ่ายยาหยอดหูหรือยาปฏิชีวนะให้ โดยการบรรเทาอาการปวดหูสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รับประทานยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ข้อควรระวังคือ เด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปีไม่ควรรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin)
  • ผ้าขนหนูอุ่นๆ ประคบหูข้างที่มีอาการ
  • ปรึกษาเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำในการเลือกซื้อยาหยอดหูสำหรับบรรเทาอาการปวดหู โดยบอกอาการที่เป็นทั้งหมดอย่างละเอียด การใช้ยาหยอดหูในโรคหูชั้นกลางที่มีเยื่อแก้วหูทะลุ ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะในยาบางชนิด (Ototoxicity) อาจส่งผลต่อเซลล์ประสาทหูชั้นในได้
  • หากพบว่ามีภาวะติดเชื้อในหู ควรเลี่ยงการแยงสิ่งของ เช่น ก้านสำลี เข้าไปในหู และควรหลีกเลี่ยงไม่ให้หูข้างที่มีอาการเปียกน้ำ
  • ไม่ควรใช้ยาหยอดหูหรือน้ำมันมะกอกแบบหยด เพราะหากแก้วหูของคุณทะลุ การรักษาเหล่านี้ไม่ช่วยบรรเทาภาวะติดเชื้อในหู

2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ปารยะ อาศนะเสน, หูชั้นนอกอักเสบ...ปวดหูจัง ทำไงดี (https://www.si.mahidol.ac.th/s...), ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, 23 ธันวาคม 2559.
ปารยะ อาศนะเสน, ยาหยอดหู (http://www.rcot.org/2016/People/Detail/17), ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย, 16 เมษายน 2552.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป