สูญเสียการได้ยิน (Hearing loss)

อาการ สาเหตุ และวิธีการรักษาภาวะสูญเสียการได้ยิน
เผยแพร่ครั้งแรก 19 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 11 นาที
สูญเสียการได้ยิน (Hearing loss)

เกี่ยวกับภาวะสูญเสียการได้ยิน

ภาวะสูญเสียการได้ยินเป็นปัญหาทั่วไป มักเป็นผลมาจากเรื่องอายุ หรือฟังเสียงดังเป็นเวลานาน บางครั้งเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน แต่ส่วนมากแล้วมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการและสัญญาณของภาวะสูญเสียการได้ยิน

ภาวะสูญเสียการได้ยินอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่บางครั้งก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ไม่ทันได้สังเกตตั้งแต่แรก สัญญาณที่บ่งชี้ว่าอาจอยู่ในภาวะสูญเสียการได้ยินมีดังนี้

  • ได้ยินคนอื่นพูดไม่ชัดเจนและเข้าใจผิด โดยเฉพาะเมื่ออยู่กับกลุ่มคน
  • เริ่มถามให้คนอื่นทวนประโยค
  • ฟังเพลงหรือเปิดโทรทัศน์เสียงดังกว่าปกติ
  • เริ่มได้ยินเสียงเรียกเข้าหรือเสียงกริ่งประตูยากขึ้น
  • ไม่สามารถหาทิศทางต้นกำเนิดของเสียงได้
  • มักรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือเครียดจากการพยายามฟัง

บางคนอาจสังเกตสัญญาณของภาวะสูญเสียการได้ยินของคนอื่นได้ ก่อนที่คนคนนั้นจะรู้สึกตนเองเสียอีก มีงานวิจัยกล่าวว่า คนเราจะใช้เวลาถึง 10 ปีเริ่มทำอะไรบางอย่างกับภาวะสูญเสียการได้ยิน หลังจากมีคนสังเกตภาวะนี้ครั้งแรก

ส่วนในเด็กทารก ตามปกติเด็กจะได้รับการตรวจคัดกรองภายในไม่กี่สัปดาห์แรกหลังคลอดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจมีภาวะสูญเสียการได้ยิน

ผู้ใหญ่ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจการได้ยินทันที หากมีอาการต่อไปนี้

  • ไม่ตื่นตกใจจากเสียงดัง
  • ไม่วิ่งเข้าหาเสียง ในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสี่เดือน
  • ยังไม่พูดคำแรกหลังมีอายุหนึ่งปี
  • ให้ความสนใจคุณเมื่อพวกเขาเห็นคุณ แทนที่จะสนใจจากการเรียกชื่อ
  • ทำท่าทางให้เห็นว่าได้ยินเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน
  • เรียนรู้การพูดช้า หรือพูดจาไม่ชัดเจน
  • มักขอให้คุณทวนคำ
  • เมื่อถูกถามแล้วตอบคำถามไม่ตรงประเด็น
  • ไม่ขานรับเมื่อคุณเรียก
  • มักพูดจาเสียงดัง
  • ชอบเปิดโทรทัศน์เสียงดังมาก
  • ใช้วิธีสังเกตและลอกเลียนผู้อื่นเมื่อปฏิบัติกิจกรรม

นอกจากนี้ ภาวะหูอื้อ (tinnitus) ก็นับว่ามีความเกี่ยวข้องกับภาวะสูญเสียการได้ยินเช่นกัน มีอาการคือได้ยินเสียงดังในหู

ระดับของภาวะสูญเสียการได้ยิน

ระดับของการสูญเสียการได้ยินแบ่งออกเป็นสี่ระดับ ใช้เกณฑ์แบ่งจากระดับเสียงเบาที่สุดที่แต่ละคนสามารถได้ยินได้ในหน่วยเดซิเบล (decibels : dB) ดังต่อไปนี้

  1. หูตึงระดับอ่อน : หากคุณมีภาวะสูญเสียการได้ยินระดับอ่อน คุณจะมีระดับการได้ยินที่เบาที่สุดคือ 21-40 dB ภาวะหูตึงระดับอ่อนนี้ อาจทำให้ฟังบทสนทนาได้ลำบากบ้าง โดยเฉพาะหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดัง
  2. หูตึงระดับปานกลาง : หากคุณมีภาวะสูญเสียการได้ยินระดับปานกลาง คุณจะมีระดับการได้ยินที่เบาที่สุดคือ 41-70 dB โดยอาจฟังลำบากมากเมื่อไม่ได้ใช้เครื่องช่วยฟัง
  3. หูตึงระดับรุนแรง : หากคุณมีภาวะสูญเสียการได้ยินระดับรุนแรง คุณจะมีระดับการได้ยินที่เบาที่สุดคือ 71-90 dB ผู้อยู่ในระดับการได้ยินระดับนี้มักจะต้องใช้การอ่านริมฝีปากหรือใช้ภาษามือสื่อสาร แต่ก็สามารถใช้เครื่องช่วยฟังร่วมด้วยได้
  4. หูหนวก : หากคุณมีภาวะหูหนวก (Profound deafness) เสียงที่เบาที่สุดที่สามารถได้ยินคือมากกว่า 90 dB ขึ้นไป ผู้ที่อยู่นี้สามารถเข้ารับการปลูกถ่ายคอเคลีย (ส่วนหูชั้นในรูปหอยโข่ง) ได้ และต้องมีการสื่อสารด้วยการอ่านริมฝีปากหรือใช้ภาษามือ

สาเหตุของภาวะสูญเสียการได้ยิน

ภาวะสูญเสียการได้ยินเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

  • อายุมากขึ้น : สาเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะสูญเสียการได้ยิน ผู้คนส่วนมากจะเริ่มเสียความสามารถในการได้ยินเล็กน้อยตั้งแต่อายุ 40 ปี จากนั้นความบกพร่องเช่นนี้จะเริ่มมากขึ้นเมื่อคุณแก่ตัวลง เมื่อมาถึงอายุ 80 ปี ผู้คนส่วนมากจะมีปัญหาการได้ยินค่อนข้างมาก

    เมื่อการได้ยินเริ่มเสื่อมถอยลง เสียงที่มีความถี่สูงอย่างเสียงของเด็กหรือผู้หญิงก็จะยิ่งฟังได้ยากมากขึ้น และการได้ยินเสียงคำบางคำก็จะลำบากจนทำให้ผู้ป่วยฟังเสียงพูดในสถานที่ที่มีเสียงอื่นปะปนยากมากขึ้นอีก
  • อยู่ในที่ที่เสียงดัง : การได้ยินเสียงดังซ้ำๆ เป็นเวลานาน จนเซลล์เส้นขนภายในคอเคลีย (ส่วนหูชั้นในรูปหอยโข่ง) ได้รับความเสียหาย เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสูญเสียการได้ยินได้

    คุณจะมีความเสี่ยงต่อภาวะสูญเสียการได้ยินจากเสียงมากขึ้น หากปฏิบัติดังต่อไปนี้
    • ทำงานร่วมกับเครื่องมือที่มีเสียงดัง เช่น เครื่องเจาะถนนหรือค้อนกดอากาศ
    • ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง เช่น ในสถานบันเทิงยามวิกาล
    • ฟังเพลงผ่านหูฟังด้วยเสียงที่ดังมากๆ เป็นประจำ

นอกจากนี้ ภาวะสูญเสียการได้ยินยังมักจะเกิดขึ้นกะทันหันหลังฟังเสียงที่ดังเป็นพิเศษ เช่น เสียงระเบิด (acoustic trauma)

  • มีความผิดปกติทางพันธุกรรม : เป็นสาเหตุให้บางคนเกิดมาพร้อมภาวะหูหนวก หรือเริ่มหูหนวกไปตามกาลเวลา
  • ติดเชื้อไวรัสในหูชั้นใน : เช่นไวรัสคางทูม หรือโรคหัด
  • ติดเชื้อไวรัสที่เส้นประสาทรับเสียง : เช่นโรคคางทูมหรือโรคหัดเยอรมัน
  • เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Ménière's disease) : ทำให้มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (vertigo) สูญเสียการได้ยิน หูอื้อ และรู้สึกหูตัน
  • เป็นโรคเนื้องอกบนเส้นประสาทหู (acoustic neuroma) : ภาวะที่มีเนื้องอก (ที่ไม่ใช่เนื้อร้าย) โตบนหรือใกล้กับเส้นประสาทรับเสียง
  • เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ : เกิดการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มรอบสมองและไขสันหลัง
  • เป็นโรคสมองอักเสบ (encephalitis) : โรคทางประสาทที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมองและไขสันหลัง)
  • มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
  • หูเจริญผิดรูป
  • เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) : หรือหลอดเลือดที่จะนำเลือดไปเลี้ยงสมองถูกตัดขาดหรืออุดตัน
  • อยู่ระหว่างการรักษาและการใช้ยาบางอย่าง เช่น การบำบัดรังสีสำหรับรักษามะเร็งโพรงจมูก การใช้ยาทางเคมีบำบัดบางชนิด หรือการใช้ยาปฏิชีวนะบางตัว เนื่องจากทำให้คอเคลียและระบบประสาทรับเสียงเสียหาย
  • เกิดภาวะการนำเสียงบกพร่อง : เกิดจากการอุดตันในหู เช่น มีขี้หูมากเกินไป มีการสะสมของของเหลวภายในหู ติดเชื้อในหู แก้วหูฉีกขาด เป็นโรคหินปูนเกาะกระดูกหู อวัยวะภายในหูบาดเจ็บ มีบางอย่างเข้าไปติดในหู

    ภาวะนำเสียงบกพร่องมักเป็นภาวะชั่วคราว และมักรักษาได้ด้วยการใช้ยาหรือผ่าตัดขนาดเล็ก

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

หากมีสัญญาณแสดงให้เห็นว่าฟังไม่ถนัด หรือรู้สึกว่าหูข้างในข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างไม่ได้ยินนาน 2-3 วันควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดที่ทำได้

แพทย์ของคุณจะสามารถตรวจหาปัญหาต่าง ๆ และอาจส่งคุณไปพบนักโสตสัมผัสวิทยา (audiologist) หรือศัลยแพทย์ ENT เพื่อรับการทดสอบเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

วิธีการวินิจฉัยภาวะสูญเสียการได้ยิน

ในระหว่างการตรวจหู แพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีไฟฉายติดอยู่ที่ปลาย (auriscope) สอดเข้าไปมองหาความผิดปรกติต่างๆ เช่น การอุดตันของขี้หู ของเหลว สิ่งแปลกปลอมต่างๆ การติดเชื้อของโพรงหู การบวมขึ้นของแก้วหู (อาการบ่งชี้ถึงการติดเชื้อในหูชั้นกลางหรือภาวะหูชั้นกลางอักเสบ) การมีของเหลวหลังแก้วหู (glue ear) แก้วหูฉีกขาด แก้วหูล้ม การมีเศษผิวหนังสะสมในหูชั้นกลาง (cholesteatoma)

แพทย์จะสอบถามว่าคุณมีความเจ็บปวดในหูหรือไม่ และคุณสังเกตเห็นภาวะสูญเสียการได้ยินครั้งแรกเมื่อไร

แพทย์อาจทำการส่งคุณไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู จมูก และลำคอ (ENT) หรือนักโสตสัมผัสวิทยา (audiologist) เพื่อดำเนินการทดสอบการได้ยินเพิ่มเติม เพื่อช่วยชี้หาสาเหตุของภาวะสูญเสียการได้ยินของคุณ และเพื่อจัดทำแผนการรักษาที่ดีที่สุดต่อไป

การทดสอบการได้ยินที่คุณอาจได้รับมีดังต่อไปนี้:

  • การทดสอบด้วยส้อมเสียง (tuning fork test) : ส้อมเสียงคืออุปกรณ์เหล็กดัดรูปตัว Y ส้อมนี้จะเปล่งคลื่นเสียงในระดับคงที่ออกมาเมื่อถูกเคาะเบา ๆ โดยเสียงที่ออกมาสามารถใช้ทดสอบระดับการได้ยินของคุณได้

    ผู้ทดสอบจะเคาะส้มเสียงด้วยศอกหรือเข่าเพื่อให้ส้อมเขย่า ก่อนจะถือส้อมเสียงในตำแหน่งต่างๆ รอบศีรษะของคุณ

การทดสอบนี้จะช่วยชี้ชัดหาว่าคุณมีภาวะสูญเสียการได้ยินชนิดการนำเสียงบกพร่อง หรือภาวะประสาทหูเสื่อมที่หูชั้นใน หรือเส้นประสาทได้ยินทำงานผิดปรกติ

  • การตรวจการได้ยินด้วยเสียงบริสุทธ์ (pure tone audiometry) : การทดสอบการได้ยินของหูทั้งสองข้าง ด้วยการใช้เครื่องจักรที่เรียกว่า audiometer ปล่อยเสียงออกมาในระดับความดังและความถี่ที่ต่างกัน คุณจะต้องฟังเสียงเหล่านี้ผ่านหูฟัง และตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน ซึ่งโดยมากใช้วิธีกดปุ่มเมื่อได้ยินเสียง
  • การตรวจการได้ยินทางกระดูก (bone conduction test) : มักดำเนินการเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจการได้ยินด้วยเสียงบริสุทธ์ในผู้ใหญ่ วิธีการตรวจนี้จะใช้เพื่อตรวจสอบว่าคุณมีภาวะสูญเสียการได้ยินจากประสาทหูเสื่อมหรือไม่ด้วยการทดสอบว่าหูชั้นในของคุณทำงานได้ดีเพียงไหน

การทดสอบนี้จะมีการใช้แท่งยาวที่สั่นได้สัมผัสกับกระดูกมาสทอยด์ (mastoid bone) ที่อยู่หลังหู แท่งนี้จะตรวจว่าเสียงส่งผ่านกระดูกได้ดีแค่ไหน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การทดสอบการได้ยินทางกระดูกจะมีความซับซ้อนมากกว่าการทดสอบด้วยส้อมเสียง และเมื่อดำเนินการร่วมกับการตรวจการได้ยินด้วยเสียงบริสุทธ์แล้ว จะทำให้สามารถชี้ชัดว่าภาวะสูญเสียการได้ยินนั้นมาจากชั้นนอกกับชั้นกลางของหู (ภาวะการนำเสียงบกพร่อง) หูชั้นใน (ภาวะประสาทหูเสื่อม) หรือทั้งสองภาวะ

การรักษาภาวะสูญเสียการได้ยิน

หากการได้ยินของคุณบกพร่อง การรักษาต่างๆ จะสามารถเพิ่มความสามารถในการได้ยินและคุณภาพชีวิตของคุณได้ ที่นิยมกันมากอย่างหนึ่งคือ การใช้เครื่องช่วยฟัง

เครื่องช่วยฟังคืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประกอบด้วยไมโครโฟน ตัวขยายสัญญาณ ที่กระจายเสียง และแบตเตอรี่ อุปกรณ์นี้จะเพิ่มระดับเสียงที่ส่งเข้าหูของคุณเพื่อให้คุณได้ยินสิ่งต่างๆ ชัดเจนขึ้น

ไมโครโฟนจะจับเสียงที่ทำให้ดังขึ้นด้วยตัวขยายสัญญาณ และอุปกรณ์นี้จะติดตั้งด้วยอุปกรณ์เสริม ที่ช่วยแยกเสียงพื้นหลังออกจากเสียงที่อยู่เบื้องหน้า เช่น เสียงการจราจรกับเสียงสนทนา เป็นต้น

เครื่องช่วยฟังสมัยใหม่จะมีขนาดเล็กกะทัดรัดอย่างมาก และสามารถสวมใส่เข้าหูของคุณได้เลย

อย่างไรก็ตาม เครื่องช่วยฟังเพียงเพิ่มการได้ยินขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยฟื้นฟูความสามารถในการได้ยินให้กลับมา อุปกรณ์เหล่านี้เหมาะกับผู้คนส่วนมาก แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินแบบทั้งหมด หรือมีภาวะสุขภาพบางอย่างอยู่ แพทย์และนักโสตสัมผัสวิทยาจะสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยฟังที่เหมาะสมกับคุณที่สุดได้

หากแพทย์แนะนำให้คุณใช้เครื่องช่วยฟัง นักโสตสัมผัสวิทยาจะจำลองรูปร่างหูของคุณเพื่อหาอุปกรณ์ที่พอดีกับหูของคุณ อีกทั้งยังมีการปรับอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับระดับความบกพร่องทางการได้ยินของคุณ พร้อมกับสอนวิธีใช้และการรักษาอุปกรณ์ให้

หลังจากเริ่มใช้เครื่องช่วยฟัง คุณควรเข้าพบแพทย์เพื่อติดตามผลภายในอีก 12 สัปดาห์

หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้เครื่องช่วยฟัง เช่น ได้ยินเสียงเพี้ยน หรือมีการติดเชื้อในหูซ้ำซาก คุณควรเข้ารับการรักษาวิธีอื่นแทน

เครื่องช่วยฟังมีหลายประเภท ดังนี้

  • เครื่องช่วยฟังชนิด Behind-the-ear (BTE) : BTE คืออุปกรณ์ช่วยฟังที่มีพิมพ์หู (earmould) โยงเข้าไปในหู โดยสายอุปกรณ์จะพาดบนใบหูและมีอุปกรณ์อยู่ข้างหลังใบหู

อุปกรณ์ BTE บางประเภทจะมีไมโครโฟนสองตัวเพื่อให้คุณฟังเสียงในระดับใกล้เคียงกับความเป็นจริง หรือเพื่อเน้นเสียงที่มาจากทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างมากเมื่อผู้ใช้ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดัง

ส่วนเครื่องช่วยฟัง BTE แบบเปิด จะเหมาะกับผู้ที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินชนิดอ่อนถึงปานกลาง โดยจะมีการท่อสอดเข้าในหูแทนที่จะเป็นพิมพ์หู

  • เครื่องช่วยฟังชนิด Receiver in-the-ear (RITE) : RITE เป็นอุปกรณ์ช่วยฟังที่คล้ายกับ BTE แต่ส่วนที่อยู่หลังใบหูจะเชื่อมต่อกับสายไปยังเครื่องรับ (ตัวเพิ่มความดัง) ที่อยู่ภายในโพรงหู ดังนั้นอุปกรณ์ RITE จึงมักจะมองเห็นได้ยากกว่า BTE
  • เครื่องช่วยฟังชนิด In-the-ear (ITE) : ITE จะมีรูปร่างคล้ายพิมพ์หู โดยอุปกรณ์จะปิดพื้นที่ภายในโพรงหู และปิดช่องเปิดของโพรงหู ส่วนที่ทำงานของอุปกรณ์นี้จะอยู่ภายในปลอก
  • เครื่องช่วยฟังชนิด In-the-canal (ITC) : ITC จะปิดส่วนนอกของโพรงหู และมีความเด่นชัดมาก
  • เครื่องช่วยฟังชนิด Completely in-the-canal (CIC) : CIC มีขนาดเล็ก และมองเห็นได้ยากกว่า ITE หรือ ITC อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ประเภทนี้มักไม่ถูกแนะนำแก่คนที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินรุนแรง หรือมีภาวะติดเชื้อในหูบ่อยครั้ง
  • เครื่องช่วยฟังชนิด Body-worn (BW) : BW จะมีกล่องขนาดเล็กที่มีไมโครโฟนอยู่ กล่องนี้จะถูกเหน็บเข้ากับเสื้อผ้า หรือให้คุณยัดใส่กระเป๋าเสื้อได้ มีสายเชื่อมจากกล่องไปยังหูฟัง ทำหน้าที่ส่งเสียงเข้าไปในหูของคุณ

เครื่องช่วยฟังประเภทนี้เป็นตัวเลือกสำหรับผู้ต้องการเครื่องช่วยฟังที่มีกำลังสูง

  • เครื่องช่วยฟังชนิด CROS/BiCROS : ตัว CROS คืออุปกรณ์แนะนำสำหรับผู้ที่มีหูใช้การได้เพียงข้างเดียว โดยอุปกรณ์จะจับเสียงที่อยู่ในทิศหูที่ไม่ได้ยิน แล้วส่งเสียงเข้าไปใยหูที่ยังใช้ได้ โดยมากเป็นการส่งเสียงผ่านสายไฟ แต่ ณ ขณะนี้ก็มีอุปกรณ์แบบไร้สายให้เลือกใช้แล้ว

ส่วน BiCROS จะมีการทำงานคล้ายกับ CROS แต่จะขยายเสียงที่ไปยังหูที่ใช้การได้ อุปกรณ์ประเภทนี้เหมาะกับผู้ที่หูใช้งานไม่ได้หนึ่งข้าง ส่วนอีกข้างสูญเสียการได้ยินไปบางส่วน

  • เครื่องช่วยฟังแบบเข้ากระดูก : เครื่องช่วยฟังแบบเข้ากระดูก (Bone conduction hearing aids) เป็นอุปกรณ์แนะนำสำหรับผู้มีภาวะนำเสียงบกพร่อง หรือแบบผสม ที่ไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังตามปกติได้ โดยอุปกรณ์ประเภทนี้จะใช้การสั่น ตอบสนองต่อเสียงที่เข้าไปในไมโครโฟน

อุปกรณ์ประเภทนี้ยังสามารถใช้ช่วยผู้ที่มีภาวะหูตึงข้างเดียว หรือมีหูข้างหนึ่งสูญเสียการได้ยินแบบอ่อน

ส่วนของเครื่องช่วยฟังที่สั่นไว้ที่กระดูกหลังหู จะถูกตรึงอยู่กับที่ด้วยสายรัดศีรษะ การสั่นไหวจะถูกส่งผ่านกระดูกมาสตอยด์ไปยังคอเคลีย และเปลี่ยนให้เป็นสัญญาณเสียงตามปรกติ อุปกรณ์นี้มีประสิทธิภาพมาก แต่ก็อาจสร้างความไม่สบายเนื้อสบายตัวให้ผู้ใช้ได้ หากใช้เป็นเวลานาน

  • เครื่องช่วยฟังชนิดฝังกระดูก (BAHA) : เครื่องช่วยฟังแบบฝังเข้ากระดูก (Bone anchored hearing aid (BAHA)) จะส่งเสียงไปยังคอเคลียโดยตรง ด้วยการสั่นเข้าที่กระดูกมาสตอยด์ การฝังอุปกรณ์จะต้องดำเนินผ่านการผ่าตัดขนาดเล็ก เพื่อติดหัวเกลียวเข้ากับกะโหลก ให้สามารถติดหรือถอดเครื่องช่วยฟังได้ โดยผู้ใช้อุปกรณ์นี้จะต้องถอดมันออกเวลานอนหลับหรือสัมผัสน้ำ

บางคนอาจใช้อุปกรณ์ฝังกระดูกแบบใหม่ได้ ซึ่งจะสามารถติดอุปกรณ์ได้ด้วยแม่เหล็กที่ศีรษะ แทนที่จะเป็นตัวเชื่อมฝังที่โผล่ออกมาจากผิวหนัง

  • การฝังหูชั้นกลาง : การฝังหูชั้นกลางคือหัตถกรรมฝังอุปกรณ์ติดเข้ากับกระดูกที่ใช้ฟังเสียง เพื่อทำให้กระดูกสั่นไหว เทคนิคนี้เหมาะกับผู้ที่ไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังได้ และมีภาวะสูญเสียการได้ยินในระดับที่ BAHA ไม่สามารถช่วยได้
  • เครื่องช่วยฟังแบบใช้แล้วทิ้ง : อุปกรณ์ช่วยฟังแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable hearing aids) มักนำมาใช้กับผู้ที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินชนิดอ่อนถึงปานกลาง

แบตเตอรีภายในอุปกรณ์มักจะอยู่ได้ประมาณ 12 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากพ้นช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว จะต้องทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งหมด ทำให้อุปกรณ์ช่วยฟังแบบใช้แล้วทิ้งมักจะมีราคาแพงมาก สำหรับการรักษาระยะยาว

  • การฝังคอเคลีย : การฝังคอเคลียคือการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยฟังขนาดเล็กใต้ผิวหนังข้างหลังใบหูด้วยการผ่าตัด

อุปกรณ์จะมีตัวรับเสียงทั้งส่วนภายนอกและภายในร่างกาย รวมไปถึงคอยล์รับสัญญาณ ชุดอุปกรณ์ไฟฟ้า และสายยาวที่มีอิเล็กโทรดอยู่

ตัวรับภายนอกจะทำหน้าที่จับเสียง แล้วเปลี่ยนให้เป็นสัญญาณส่งผ่านผิวหนังไปยังตัวรับที่อยู่ภายใน ซึ่งจะทำการส่งสัญญาณด้วยชุดอิเล็กโทรดไปยังส่วนของหูชั้นในที่เรียกว่าคอเคลีย (cochlea) จากนั้นสัญญาณจะถูกส่งไปยังสมองและเส้นประสาทรับเสียงตามปรกติ ดังนั้นการฝังคอเคลียจึงเหมาะกับผู้ที่เส้นประสาทรับเสียงทำงานได้ตามปกติเท่านั้น

การฝังคอเคลียยังเป็นการรักษาที่มักแนะนำให้แก่ผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีภาวะประสาทหูเสื่อมรุนแรงทั้งสองข้าง จนไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟังได้

สำหรับเด็ก มักจะทำการฝังอุปกรณ์ที่หูทั้งสองข้าง แต่สำหรับผู้ใหญ่ มักจะทำเพียงข้างเดียว โดยก่อนแพทย์จะแนะนำการฝังคอเคลีย ผู้ป่วยจะต้องได้รับการประเมินว่าวิธีการนี้จะช่วยเพิ่มการได้ยินจริง ซึ่งจะมีการประเมินความพิการและปัญหาการสื่อสารของคุณร่วมด้วย

มีหลักฐานว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการฝังคอเคลียจะมีความเสี่ยงต่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบมากขึ้น โดยเฉพาะหากพวกเขาไม่ได้มีภูมิต้านทานโรคนี้

  • การฝังประสาทหูเทียมที่ก้านสมอง : การฝังประสาทหูเทียมที่ก้านสมอง (auditory brainstem implant (ABI)) เป็นการรักษาที่ผู้เชี่ยวชาญมักแนะนำแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินชนิดรุนแรง และมีปัญหาที่เส้นประสาทส่งเสียงไปยังสมอง

โดย ABI คืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประกอบด้วย อิเล็กโทรดที่ฝังเข้าไปยังส่วนของสมองที่ทำงานด้านการประมวลเสียง (ที่ก้านสมอง) อุปกรณ์รับที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนังข้างหลังหู แบะตัวประมวลเสียงขนาดเล็กนอกหู

เมื่อไมโครโฟนที่ตัวประมวลเสียงดักจับเสียงได้ อุปกรณ์จะเปลี่ยนเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และส่งไปยังสมองผ่านตัวรับและอิเล็กโทรด

ABI ไม่อาจทำให้การได้ยินกลับมาอย่างสมบูรณ์ แต่อาจช่วยฟื้นฟูการได้ยินขึ้นบ้าง และสามารถทำให้การอ่านริมฝีปากเป็นไปได้ง่ายขึ้น อีกทั้งโดยมากแล้ว การรักษานี้มักจะใช้กับภาวะสูญเสียการได้ยินที่เกี่ยวข้องกับโรคท้าวแสนปมชนิด 2 (neurofibromatosis type 2 (NF2))

การป้องกันการเกิดภาวะสูญเสียการได้ยิน

หูเป็นอวัยวะบอบบาง และสามารถได้รับความเสียหายได้หลายทาง ดังนั้นจึงไม่มีวิธีการที่ป้องกันภาวะสูญเสียการได้ยินอย่างสมบูรณ์แบบ ความเสี่ยงที่การได้ยินของคุณจะเสียหายจากเสียงดัง จะขึ้นอยู่กับระดับความดังของเสียง และระยะเวลาที่คุณต้องรับฟัง โดยผู้เชี่ยวชาญต่างยอมรับว่าการฟังเสียงที่ 85 dB ขึ้นไป (เช่นเสียงการจราจรที่แออัดคับคั่งหรือเครื่องตัดหญ้า) เป็นเวลานานๆ ก็สามารถทำให้เกิดภาวะนี้ได้

อย่างไรก็ตาม มีเพียงหลักปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสูญเสียการได้ยินในระยะยาว ได้แก่

  • ไม่เปิดเพลงหรือโทรทัศน์เสียงดังเกินไป โดยเฉพาะหากมีเด็กเล็กในบ้าน เพราะว่าหูของเด็กจะมีความอ่อนไหวมากกว่าหูผู้ใหญ่ หากคุณไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นที่อยู่ในระยะมากกว่าสองเมตรได้ คุณควรลดเสียงอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้ลง อีกทั้งหลังจากฟังเพลงควรพยายามสังเกตว่าตนเองมีการได้ยินลดลงหรือได้ยินเสียงดังในหูหรือไม่ ซึ่งหากมี แสดงว่าคุณฟังเสียงดังเกินไป
  • ใช้อุปกรณ์ป้องกันหูในงานแสดงเพลงหรือสถานที่ที่มีเสียงดัง
  • ไม่นำสิ่งใดแหย่เข้าไปในหูของตนเองหรือของเด็ก ซึ่งรวมถึงก้านสำลี กระดาษชำระ และนิ้วมือ
  • เฝ้าระวังอาการที่เป็นสาเหตุทั่วไปของภาวะสูญเสียการได้ยิน เช่น การติดเชื้อในหูและโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
  • ไปพบแพทย์เมื่อเกิดสัญญาณของภาวะติดเชื้อในหู เช่น มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดหูรุนแรง มีของเสียออกจากหู หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน

19 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Hearing loss. World Health Organization (WHO). (https://www.who.int/health-topics/hearing-loss)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป