กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา

ไข้เลือดออก (Dengue)

มหันภัยจากยุงลาย อันตรายถึงชีวิตได้หากรักษาไม่ทันท่วงที
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 10 ก.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 11 นาที
ไข้เลือดออก (Dengue)

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคไข้เลือดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส "เด็งกี่" (Dengue) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เด็งกี่-1 เด็งกี่-2 เด็งกี่-3 และเด็งกี่-4 หากได้รับเชื้อไวรัสไม่ว่าสายพันธุ์ใด ก็สามารถเป็นโรคไข้เลือดออกได้ทั้งนั้น ทั้งนี้ยุงลายถือเป็นพาหะนำโรคของโรคนี้
  • เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนผ่านระยะเวลาฟักตัวนาน 5-8 วัน (สั้นที่สุด 3 วัน - นานที่สุด 15 วัน) หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนไข้หวัดคือ มีไข้ ตัวร้อน ไอ คลื่นไส้ เวียนหัว จึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยผิดพลาดได้ในกรณีที่โรคยังไม่ถึงระยะลุกลาม
  • อาการที่เด่นชัดของไข้เลือดออกได้แก่ มีไข้สูงราว 2-7 วัน (38.5-41 องศาเซลเซียส) มีเลือดออกตามร่างกายและอวัยวะสำคัญ มีตุ่มแดงขึ้นตามผิวหนัง ตับโตเมื่อกดจะรู้สึกเจ็บ ระบบหมุนเวียนโลหิตล้มเหลว
  • ผู้ป่วยไข้เลือดออกห้ามใช้ยาแก้ปวดลดไข้ในกลุ่ม NSAIDS (Nonsteroidal anti-inflammatory drug) เช่น แอสไพริน เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น
  • วัคซีน CYD-TDV เป็นวัคซีนที่ป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเด็งกี่ 4 สายพันธุ์ แต่การสร้างภูมิคุ้มกันในแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป ที่สำคัญเหมาะสำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้ว แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย

โรคไข้เลือดเกิดจากการติดเชื้อไวรัส "เด็งกี่" (Dengue) โดยมี ยุงลาย เป็นพาหะนำโรค ไข้เลือดออกนับเป็นโรคอันตรายเพราะถ้ารักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ แต่หากรู้ตัวและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้ภายในเวลาไม่นาน 

จากข้อมูลของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยพบว่า พ.ศ. 2557 พบผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกร่วม 40,000 ราย 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีนไข้เลือดออก วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 3,136 บาท ลดสูงสุด 2,295 บาท

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ปัจจุบันสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2562 มีจำนวนผู้ป่วยสะสมมากถึง 31,843ราย เสียชีวิตแล้ว 48 ราย 

เมื่อเทียบกับสถิติช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2561 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 19,804 ราย เสียชีวิต 24 ราย จะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 1.6 เท่า ไข้เลือดออกจึงเป็นโรคที่น่ากลัวไม่น้อย

ทั้งนี้หลายๆ คนอาจสับสนระหว่างโรคไข้เลือดออกกับโรคไข้หวัดใหญ่เพราะมีอาการเบื้องต้นคล้ายคลึงกัน ฉะนั้นจึงต้องสังเกตอาการเริ่มแรกให้ดี เพื่อแยกแยะความแตกต่างของไข้หวัดใหญ่กับ ไข้เลือดออก ให้ได้

สายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เด็งกี่-1 เด็งกี่-2 เด็งกี่-3 และเด็งกี่-4  หากได้รับเชื้อไวรัสไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดก็สามารถเป็นโรคไข้เลือดออกได้ทั้งนั้น 

แต่หากร่างกายติดเชื้อจากสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งไปแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานสายพันธุ์นั้นขึ้นมา หมายความว่า เราจะไม่ติดเชื้อจากสายพันธุ์นั้นอีกไปตลอดชีวิต แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นได้

สาเหตุของโรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดมักระบาดในหน้าฝน เมื่อมียุงลายเพศเมียไปกัดคนที่มีเชื้อไวรัส เชื้อจะเข้าสู่กระเพาะของยุงและเข้าไปอยู่ในเซลล์บริเวณผนังกระเพาะและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นจะเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลายของยุงที่พร้อมจะเข้าสู่คนที่ถูกกัดต่อไป 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เชื้อไวรัสจะมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงตัวนั้นกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัดต่อไป 

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนผ่านระยะเวลาฟักตัวนาน 5-8 วัน (สั้นที่สุด 3 วัน - นานที่สุด 15 วัน) หลังจากนั้นจะมีอาการเหมือนไข้หวัด คือ มีไข้ ตัวร้อน ไอ คลื่นไส้ เวียนหัว จึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยผิดพลาดได้ในกรณีที่โรคยังไม่ถึงระยะลุกลาม 

ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกับไข้หวัด แพทย์จึงมักสั่งให้ตรวจเลือดหาเชื้อไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่  

อาการของโรคไข้เลือดออก

อาการของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีความรุนแรงต่างกัน แต่อาการที่เด่นชัดคือ 

  • ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงประมาณ 2-7 วัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส โดยอาจเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน ในบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติการชักมาก่อน
  • ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออก พบบ่อยที่สุดบริเวณผิวหนัง โดยจะพบว่า มีเส้นเลือดเปราะและแตกง่ายร่วมกับมีจุดเลือดออกเป็นจุดเล็ก ๆ กระจายอยู่เต็มตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้ ทั้งนี้อาจมีเลือดดำ หรือเลือดออกตามไรฟันร่วมด้วย สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการขั้นรุนแรง อาจมีอาการอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ สำหรับอาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อกในผู้ป่วยที่มีการช็อกอยู่นาน
  • ผู้ป่วยจะมีอาการตับโต เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บ โดยส่วนใหญ่จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการตับโต ในช่วงวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ
  • ผู้ป่วยจะมีภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกอาจจะมีอาการรุนแรง หรือเรียกว่า "ภาวะช็อก" เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอด หรือช่องท้อง เกิดภาวะช็อกจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ (Hypovolemic Shock) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับไข้ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการรุนแรงในช่วง 3-5 วัน หลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นอาการอาจจะทุเลาลงไประยะหนึ่งและมีอาการรุนแรงขึ้นมาอีก จนอาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ แต่หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็สามารถหายจากโรคได้ภายในไม่กี่วัน

สำหรับช่วงเวลาที่ผู้ป่วยเกิดอาการช็อกนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ด้วยเช่นกัน อาจจะเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 หรือวันที่ 8 ของวันที่ป่วย ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการแย่ลง โดยเริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเริ่มเย็น ชีพจรเบา และความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า อาการของผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกและไข้หวัดนั้นใกล้เคียงกันมาก จึงทำให้ผู้ป่วยและคนรอบข้างชะล่าใจ เนื่องจากคิดว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา 

กว่าจะรู้ตัวอีกครั้งก็เมื่อมีอาการเลือดออกมากผิดปกติ มีไข้ อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด มือ เท้าเย็น ตาลาย เหงื่อออกมาก หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่ไข้ลด ถือเป็นสัญญาณอันตรายต้องรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วนเพราะอาจช็อกหมดสติได้

ดังนั้นทางที่ดีเมื่อพบว่า ตนเองมีอาการป่วยไข้ อย่านิ่งนอนใจให้รีบมาพบแพทย์ หรือถ้าหากรับประทานยาแล้วอาการไม่ทุเลาลงแต่กลับมีไข้สูง ให้รีบเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้ และรับประทานยาพาราเซตามอล จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม: เปรียบเทียบตวามแตกต่างของไข้หวัดธรรมดา, ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก


วิธีสังเกตลักษณะของตุ่มไข้เลือดออก

การสังเกตลักษณะของตุ่มที่เกิดบริเวณผิวหนังว่า มาจากแมลงกัดต่อย ผลพวงจากโรคอื่น หรือเป็นตุ่มที่มาจากไข้เลือดออก สังเกตได้ดังนี้

  • ตุ่มจากแมลงกัดต่อย  ส่วนมากจะเป็นตุ่มนูน หรือเห่อขึ้นมาเป็นจุดๆ ตามผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือแผ่กระจายในจุดเดียวกัน แต่ในตำแหน่งอื่นกลับไม่พบตุ่มนูน บางครั้งมีลักษณะเห่อเหมือนกับลมพิษอาจมีอาการคันร่วมด้วย ส่วนมากผู้ป่วยจะไม่มีไข้ เว้นแต่สัตว์ที่กัดต่อยจะเป็นสัตว์มีพิษจนทำให้เกิดอาการแพ้และมีไข้ร่วมด้วย
  • ตุ่มจากโรคมือเท้าปาก จะมีไข้ร่วมด้วยพร้อมกับอาการเจ็บปาก รับประทานอาหารได้น้อย มีแผลที่กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ตุ่ม หรือผื่นแดงจะเกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า อวัยวะเพศ ผิวหนังของก้น อาจพบตามลำตัว แขนและขาได้ อาการจะคงอยู่ประมาณ 2-3 วันจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายได้ภายใน 1 สัปดาห์
  • ตุ่มที่เกิดขึ้นจากไข้เลือดออก ลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดเล็ก กระจายไปทั่วทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นแขน ขา ลำตัว หรือตามใบหน้า จะพบร่วมกับอาการมีไข้ หากไข้สูงนำมาแล้ว 2-7 วัน หลังจากไข้เริ่มลดลงจะปรากฏผื่นแดง เมื่อสังเกตเห็นผื่นแดงแสดงว่า อยู่ในระยะที่ต้องเฝ้าระวัง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะช็อกได้ 

กลุ่มเสี่ยงโรคไข้เลือดออก

กลุ่มเสี่ยงของโรคไข้เลือดออก ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่อ้วนมาก ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยที่ขยับร่างกายน้อย หรือผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้กับแหล่งที่มีน้ำขัง 

หากสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเพราะปัจจุบันเชื้อไข้เลือดออกมีการกลายพันธุ์ ทำให้เชื้อรุนแรงมากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การตรวจโรคไข้เลือดออก

หากสงสัยว่า ผู้ป่วยอาจเป็นไข้เลือดออก วิธีที่ดีที่สุดคือ แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อที่ห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้การตรวจจำนวนเกล็ดเลือดก็เป็นการวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน ซึ่งมักจะพบความผิดปกติ ประมาณวันที่ 3 นับจากวันที่เริ่มป่วย 

ทั้งนี้ตามปกติคนเราจะมีเกล็ดเลือดประมาณ 150,000 – 450,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร แต่ในผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออก ส่วนใหญ่เกล็ดเลือดจะต่ำกว่า 100,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร

การรักษาโรคไข้เลือดออก

ปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่สามารถต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะเชื้อไข้เลือดออกได้ แพทย์จึงต้องใช้วิธีรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้ก็จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้ หากอาเจียน แพทย์จะให้ยาแก้อาเจียน พร้อมจิบน้ำเกลือชนิดดื่ม หรืออาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดร่วมด้วย 

ทั้งนี้ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูงมาก อาเจียนตลอดเวลา เกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกมาก เสี่ยงต่อภาวะช็อก แพทย์จะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยยังคงอยู่ในช่วงวิกฤตประมาณ 24-48 ชั่วโมงที่มีการรั่วไหลของพลาสมา

ข้อควรรู้

ห้ามใช้ยาแก้ปวดลดไข้ในกลุ่ม NSAIDS (Nonsteroidal anti-inflammatory drug) เช่น แอสไพริน เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น

รู้ได้อย่างไรว่า ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น 

สังเกตได้จากอาการไข้ที่ลดลงภายใน 24-48 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายตัวขึ้น เริ่มรับประทานอาหารได้บ้างเล็กน้อย อาการต่างๆ ที่เคยเป็นจะเริ่มทุเลาลง

การป้องกันโรคไข้เลือดออก

  • ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด
    ไม่ว่าทั้งกลางวันและกลางคืนควรทายากันยุง ติดมุ้งลวด ไม่สวมเสื้อที่มีสีทึบและไม่อยู่ในที่มืด โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุควรอยู่ในห้องที่มีการป้องกันยุงมิดชิดเพราะคนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจมีโอกาสได้รับเชื้อมากกว่า
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและลูกน้ำยุงลายรอบบริเวณบ้าน
    ยุงลายมักวางไข่ตามแหล่งน้ำขังต่างๆ โดยเฉพาะน้ำนิ่ง จึงต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่องทุกๆ สัปดาห์ โดยการเปลี่ยนน้ำในโอ่ง หรือถังน้ำบ่อยๆ ถ่ายถ้วยน้ำรองขาโต๊ะ หรือน้ำในแจกัน คว่ำภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อป้องกันยุงลายวางไข่ เลี้ยงปลาเพื่อช่วยกำจัดลูกน้ำ หรือใส่ทรายอะเบท หรือเกลือแกงลงไปเพื่อทำลายไข่ยุง
  • แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเขตพื้นที่
    เพื่อฉีดยากันยุงและใส่ทรายอะเบทในแหล่งน้ำ รวมถึงแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อมีคนใกล้ตัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก
  • เฝ้าระวังตัวเองและผู้อื่นเมื่อมีอาการ
    พยายามอย่าให้ผู้ป่วยที่กลับมาพักฟื้นที่บ้านโดนยุงกัดในระยะเวลา 5 วันแรก เพราะระยะนี้ผู้ป่วยจะยังมีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกหลงเหลืออยู่ หากผู้ป่วยถูกยุงกัด เชื้อจะติดไปกับยุงและอาจแพร่กระจายสู่คนในบ้านได้
  • ออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพแข็งแรงจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้

วิธีดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

  • ในช่วงที่ผู้ป่วยมีไข้สูง บางรายอาจมีอาการชัก โดยเฉพาะเด็กที่เคยมีประวัติการชักมาก่อน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องให้ยาลดไข้
  • ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้และมีอาการเบื่ออาหาร รวมทั้งอาเจียนจึงทำให้ร่างกายขาดน้ำในปริมาณมาก ดังนั้นจึงควรชดเชยน้ำด้วยการให้ดื่มน้ำผลไม้ หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่
  • หมั่นติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะช็อก
  • ต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ปลอดยุง ควรมีมุ้งลวด หรือกางมุ้งเพื่อป้องกันยุงและการแพร่ระบาดของโรค
  • ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  • ควรให้ผู้ป่วยพักผ่อนมากๆ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน
  • ดื่มน้ำ หรือเกลือแร่ให้มากพอ โดยสังเกตที่สีปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน หากปัสสาวะสีเข้ม ต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้น
  • เช็ดตัวผู้ป่วยด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่น ควรรักษาอุณหภูมิไม่ให้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส กรณีที่มีไข้ ห้ามเช็ดตัว หรืออาบน้ำด้วยน้ำเย็นเพราะผู้ป่วยอาจหนาวสั่นได้
  • ควรรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอลตามขนาดที่แพทย์สั่ง เพราะหากรับประทานยาเกินขนาดอาจทำให้ตับอักเสบได้
  • ห้ามให้ผู้ป่วยรับประทานยาแอสไพรินและยากลุ่ม NSAIDS เด็ดขาด เนื่องจากยาทั้ง 2 ตัวต้านการจับตัวเป็นก้อนของเลือด อาจไปกระตุ้นอาการเลือดออกได้
  • ควรรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย และรสไม่จัด เช่น ข้าวต้ม หรือแกงจืด 
  • ไม่ควรรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีสีแดง ดำ หรือน้ำตาล เพราะเวลาปัสสาวะและอุจจาระอาจสังเกตได้ยากกว่าสิ่งที่ผู้ป่วยขับถ่ายออกมามีเลือดปนมาด้วยหรือไม่ 

ช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่ต้องระวังไข้เลือดออก เพราะเป็นช่วงที่ยุงลายอาละวาดหนัก ทุกคนควรป้องกันตัวเองและคนใกล้ชิดให้ห่างจากยุงลายให้มากที่สุด

อาการเตือนที่รุนแรง 

หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น มีไข้สูงต่อเนื่อง และมีอาการเตือนที่รุนแรง ให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยด่วน ซึ่งอาการจะมีดังนี้

  • ผู้ป่วยมีอาการซึม หรืออ่อนเพลียมากขึ้น
  • ผู้ป่วยดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารได้น้อยลง
  • มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนตลอดเวลา
  • มีอาการปวดท้องมาก
  • เลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำมีเลือดปน
  • ผู้ป่วยปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลยในระยะ 4-6 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยกระหายน้ำอยู่ตลอดเวลา
  • กระสับกระส่าย หงุดหงิด หรือเอะอะโวยวาย
  • หากเป็นผู้ป่วยเด็กอาจร้องกวนตลอดเวลา
  • มีอาการตัวเย็นชื้น เหงื่อออก สีผิวคล้ำลง ตัวลาย ในขั้นนี้อาจเกิดอาการช็อกได้

ทำความรู้จักกับวัคซีนโรคไข้เลือดออก

  • วัคซีน CYD-TDV เป็นวัคซีนที่ป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเด็งกี่ 4 สายพันธุ์ก็จริง แต่ผลที่เกิดขึ้นในแต่ละรายอาจจะสร้างภูมิคุ้มกันแตกต่างกันไป เช่น ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเด็งกี่สายพันธุ์ที่ 3 และ 4 ได้ดีมาก แต่สายพันธุ์ที่ 1 และ 2 อาจส่งผลไม่ดีนัก
  • เป็นวัคซีนที่เหมาะสำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาแล้วเพราะจะมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงมาก แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน วัคซีนชนิดนี้มีเชื้อไวรัสเด็งกี่ทั้ง 4 ประเภทซึ่งถูกทำให้มีฤทธิ์อย่างอ่อนก่อนนำเข้าสู่ร่างกาย หลักการทำงานของวัคซีนนี้คือ เมื่อร่างกายได้รับแล้วก็จะสร้างภูมิต้านทานสายพันธุ์นั้น ๆ และทำให้ไม่เป็นโรคนี้อีก แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยป่วยแล้วฉีดวัคซีนอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงมากกว่าเดิม ผู้ที่ยังไม่เคยเป็นจึงไม่ควรฉีด
  • ประสิทธิภาพโดยรวมในการป้องกันโรคในผู้ที่มีอายุ 9 – 45 ปี ผู้ที่อายุน้อยกว่านี้ไม่ควรฉีดเพราะยาจะไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
  • วัคซีนนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ แต่ยังมีราคาค่อนข้างสูง เข็มละประมาณ 3,000 บาท และต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยระยะเวลาที่ฉีดคือ เดือนที่ 1, 6 และ 12 

ผลข้างเคียงที่พบจากการฉีดวัคซีนโรคไข้เลือดออก

ผลข้างเคียงที่พบจากการฉีดวัคซีนมีน้อย อาจจะมีไข้ หรือเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด มีอาการปวดบวมแดงบริเวณผิวหนังที่ฉีด อ่อนเพลีย และมีไข้ต่ำๆ ซึ่งถือเป็นอาการที่พบได้บ่อยและไม่มีอันตราย 

แต่ในบางรายอาจมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้น เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต น้ำมูกไหล ปวดตามข้อ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นสักระยะหนึ่ง 

ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมากคือ การแพ้วัคซีนซึ่งจะมีอาการที่รุนแรง เช่น มีผื่นขึ้น ใบหน้าบวม ความดันต่ำ หายใจลำบาก ฯลฯ หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบโดยด่วน 

ปัจจุบันมีให้บริการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกในบางโรงพยาบาล จากการวิจัยพบว่า เมื่อถูกยุงกัดและเป็นไข้เลือดออกตามธรรมชาติ วัคซีนนี้สามารถลดความรุนแรงของการเกิดโรคไข้เลือดออกได้ ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออีกในอนาคต แถมยังลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้กว่า 80% 

ถึงแม้ปัจจุบันประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีนจะอยู่ที่ประมาณ 65% ซึ่งอาจดูไม่สูงนัก เพราะวัคซีนนี้ใช้เวลาในการค้นคว้าวิจัยยาวนานมากกว่า 50 ปี เป็นเพราะมีความยากลำบากในทางเทคนิคหลายประการ อย่างไรก็ตามก็ยังมีการวิจัยและพัฒนาต่อไป

คำถามเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก

คำถาม: วัคซีนไข้เลือดออก ถ้าเป็นแล้วควรจะฉีดอีกไหมคะ

คำตอบ 1: สามารถฉีดได้ค่ะ เพราะไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ซึ่งมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ค่ะ สามารถป้องกันสายพันธุ์อื่นที่ผู้ป่วยยังไม่เคยติดได้ แต่วัคซีนไข้เลือดออกยังไม่สามารถป้องกันได้ 100 % 

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนสามารถลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลจากไข้เลือดออกได้ และยังสามารถลดอัตราการป่วยมีภาวะเลือดออกรุนแรงจากไวรัสเด็งกี่ได้ 

วัคซีนนี้ทำมาจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัส 4 สายพันธุ์ คือ DEN1  DEN2  DEN3 และ DEN4 

ประสิทธิภาพในการป้องกันไข้เลือดออกจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ประวัติการติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน และอายุของผู้ได้รับวัคซีนค่ะ  (ตอบโดย Witchuda Onmee (พญ.))

คำตอบ 2: การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกยังไม่สามารถป้องกันการเป็นไข้เลือดออกยังได้ 100 เปอร์เซ็นต์ครับ แต่ครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธ์ุ ของไข้เลือดออก ประสิทธิภาพในการป้องกันแต่ละสายพันธ์ุไม่เท่ากัน 

โอกาสที่จะเป็นไข้เลือดออกก็ยังเป็นได้อยู่ครับ แต่อาการและความรุนแรงที่เป็นจะน้อยกว่าปกติครับ (ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.))

คำถาม: แพ้ยุงต้องฉีดยาเผื่อไข้เลือดออกไหม

คำตอบ: อาการแพ้ยุงกับไข้เลือดออกไม่เหมือนกันครับ จึงไม่จำเป็นต้องฉีดยาครับ และถึงแม้จะเป็นไข้เลือดออกก็ไม่จำเป็นต้องฉีดยาครับ ควรรับประทานยาแก้แพ้ หรือใช้ยาทาเอาครับ (ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.))

คำถาม: หากไข้เลือดออกยังไม่แสดงอาการ ให้น้ำเกลือก่อนจะหายไหม

คำตอบ 1:  การให้สารน้ำเพิ่มเติมที่ปลอดภัยที่สุดคือ การรับประทานน้ำเกลือแร่ทางปากเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำครับ ส่วนการให้ทางหลอดเลือดดำ แพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ซึ่งการให้มากหรือน้อยเกินไปก็อาจส่งผลให้ผู่ป่วยมีอาการแย่ลงได้ (ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.))

คำตอบ 2: การรักษาไข้เลือดออกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับขึ้นอยู่กับสภาวะหลาย ๆ อย่าง โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเองครับ (ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.))

คำตอบ 3:  อาการของไข้เลือดออก ถ้ายังกินอาหารได้ ไม่ซึม สัญญาณชีพปกติ ไม่มีเลือดออกก็อาจยังไม่ต้องให้น้ำเกลือครับเพราะว่าถ้าให้ไปก่อน เวลามีอาการช็อก หรือสัญญาณชีพต่ำ อาจจะทำให้น้ำเกิน มีน้ำท่วมปอดได้ครับ (ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.))

คำถาม: ถ้าเคยเป็นไข้เลือดออกแล้วจะเป็นซ้ำอีกไหม

คำตอบ 1: เป็นซ้ำได้ค่ะเพราะเชื้อไข้เลือดออกมีหลายสายพันธ์ุ เป็นแล้วจะไม่เป็นสายพันธ์ุเดิมค่ะ (ตอบโดย วลีรักษ์ จันทร (พว.))

คำตอบ 2: สามารถเป็นได้อีกค่ะ เพราะว่าไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อเด็งกี่ มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ค่ะ หากเราเคยเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดจะมีภูมิแค่สายพันธุ์นั้นค่ะ สามารถติดเชื้อไข้เลือดออกได้อีกอีก 3 สายพันธุ์ค่ะ (ตอบโดย Witchuda Onmee (พญ.))

คำตอบ 3:สามารถเป็นอีกได้ครับ เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลังการรับเชื้อนั้นจะมีอยู่สูงระยะหนึ่งเท่านั้น จึงสามารถรับเชื้อได้อีก และมีอาการได้อีกครับแต่ไม่น่าจะเป็น 2 หรือ 3 ครั้งในปีเดียวกัน (ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.))

คำถาม: ผื่นตุ่มไข้เลือดออกกี่วันถึงจะหายคันและหายไปคะ ?

คำตอบ 1: ส่วนใหญ่ผื่นจากไข้เลือดออกมักจะขึ้นหลังจากไข้ลดลงแล้ว ส่วนใหญ่ผื่นจะคันเล็กน้อยและหายเองได้ภายใน 2-3 วันค่ะ (ตอบโดย Buakhao Arpaporn (พญ.))

คำตอบ 2: ผื่นจากไข้เลือดออกมีได้ 2 ระยะ ได้แก่ ระยะไข้สูง เป็นในระยะไข้วันที่ 3 ซึ่งผื่นประเภทนี้อาจไม่คันจะหายไปเองภายใน 2-3 วัน และอีกระยะหนึ่งคือ ระยะพักฟื้น ผื่นที่ขึ้นจะมีลักษณะเป็นจุดขาวบนรอยปื้นแดง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาการคันและเจ็บ แต่อาจพบอาการคันได้ ซึ่งผื่นจะหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ค่ะ (ตอบโดย สุนิสา โพธิ์พันธ์ (พว.))

โรคไข้เลือดออกแม้จะเป็นโรคอันตราย แต่เราสามารถป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้ด้วยการระมัดระวังไม่ให้ยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคกัด และกำจัดแหล่งกำเนิดยุงลายในบริเวณที่อยู่อาศัยให้หมดไป 

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

บทความที่เกี่ยวข้อง

ป้องกันโรคร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ ด้วยวัคซีนไข้เลือดออก


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
งานโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, “โรคไข้เลือดออก”อันตรายจากยุงลาย วายร้ายตัวจิ๋ว (https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1347#:~:text=เชื้อไวรัสเดงกี%20มี%204%20สายพันธุ์%20คือ,จะเข้าสู่กระแสเลือด), 9 สิงหาคม 2563.
Waterman S H, Gubler D J. Dengue fever. Clin Dermatol. 1989;7:117–122. [PubMed]

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป