กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ชนิดของยุง วงจรชีวิตยุง และการนำโรคต่างๆ

ยุง แมลงสร้างความรำคาญ และเป็นพาหะนำโรคที่คุณต้องรู้จักรับมือกับมัน
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 13 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
ชนิดของยุง วงจรชีวิตยุง และการนำโรคต่างๆ

ยุง แมลงตัวเล็กที่คอยรบกวน ก่อความรำคาญให้เราได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน เราทราบกันดีว่ายุงเป็นพาหะนำโรคหลายชนิดมาสู่คน แต่ว่าจะมีโรคใดบ้าง แต่ละชนิดจะร้ายแรงขนาดไหน เราควรศึกษาข้อมูลไว้ เพื่อเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้โรคจากยุงทำอันตรายเราได้

ชนิดของยุงและการนำโรค

จากการศึกษาพบว่าทั่วโลกมียุงหลากหลายสายพันธุ์ อาศัยได้ทุกพื้นที่ทั่วโลกแต่พบมากในเขตร้อนและเขตอบอุ่น แต่ยุงที่เรารู้จักโดยส่วนใหญ่ มี 4 ชนิด ได้แก่ ยุงก้นปล่อง (Anopheles) ยุงลาย (Aedes) ยุงเสือหรือยุงลายเสือ (Mansonia ) ยุงรำคาญ (Culex) 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

1.ยุงก้นปล่อง

ในประเทศไทยพบยุงก้นปล่องอย่างน้อย 73 ชนิด แต่มีเพียง 3 ชนิดที่เป็นพาหะสำคัญนำโรค ไข้ป่าหรือโรคไข้มาเลเรีย ยุงชนิดนี้พบมากในชนบทแถวชายป่า ชอบไข่ในแอ่งน้ำสะอาด ออกหากินเวลาพลบค่ำ ไปจนถึงเช้าตรู่

2. ยุงลาย

ยุงลายมีลำตัวและขาสีขาวสลับดำ ยุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก โรคชิกุนคุนยา และไข้สมองอักเสบ มักออกหากินเวลากลางวัน หรือตอนเย็น

3. ยุงเสือหรือยุงลายเสือ

ยุงสีน้ำตาลขนาดใหญ่มีลวดลายแปลกตาบนปีก ออกหากินช่วงหัวค่ำ ถึงตอนเช้าตรู่ เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง พบมากในภาคใต้ของประเทศไทย

4. ยุงรำคาญ

ยุงรำคาญหรือยุงธรรมดา ตัวไม่โต ลำตัวมีสีเทา ขาและปีกไม่ลาย อาศัยอยู่ในเมืองบริเวณชุมชน ออกหากินทุกเวลา เป็นพาหะที่สำคัญทั้งไวรัสไข้สมองอักเสบและโรคเท้าช้าง

วงจรชีวิตของยุง

ยุงจะพบได้ตลอดปี แต่จะชุกชุมในฤดูร้อน ฤดูฝน พอเข้าฤดูหนาวจะลดลงมาก อายุของยุงจะมีชีวิตนานนับเดือน ยิ่งมีอาหารสมบูรณ์ก็จะมีอายุนานหลายเดือน วงจรชีวิตของยุงมี 4 ระยะ

1. ระยะไข่ 

ยุงตัวเมียผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ในแหล่งน้ำ โดยยุงแต่ละสายพันธุ์จะวางไข่ในแหล่งน้ำที่แตกต่างกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ยุงก้นปล่อง: น้ำสะอาด ไหลริน
  • ยุงลาย, ยุงเสือ, และยุงรำคาญ: น้ำนิ่ง น้ำขัง 

จากนั้นไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน (ลูกน้ำ) ในเวลา 2-3 วัน

2. ระยะตัวอ่อน หรือลูกน้ำ 

จะอยู่ในน้ำ เจริญเติบโตหากินในน้ำนาน 5-10 วันจึงจะกลายเป็นตัวแก่หรือตัวโม่ง ซึ่งตัวอ่อนแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีลักษณะการหากินในน้ำที่แตกต่างกันด้วย

  • ยุงก้นปล่อง: ลูกน้ำจะลอยตัวทำมุม 90 องศา กับผิวน้ำ
  • ยุงชนิดอื่น: จะขนานกับผิวน้ำ

3. ระยะตัวโม่ง 

จะหยุดกินอาหารอยู่นาน 2-3 วัน แล้วลอกครอบฟักออกเป็นตัวยุง

4. ระยะตัวยุง 

มักเกาะผิวน้ำชั่วครู่ พอปีกแห้ง จึงเริ่มบินหาอาหาร เจริญเติบโต และแพร่พันธุ์ต่อไป

โรคร้ายจากยุงที่ต้องระวัง

ด้วยสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย ทำให้พื้นที่ประเทศของเราเหมาะสมกับการแพร่พันธุ์ของยุง จนเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกิดจากยุงได้ เช่น

โรคไข้เลือดออก 

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue) มักระบาดหนักในหน้าฝน มียุงลายเป็นพาหะนำโรค นับเป็นโรคที่อันตรายได้ถึงชีวิตหากรักษาไม่ทัน อาการที่เด่นชัดของผู้ป่วยโรคนี้คือ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เมื่อมีอาการรุนแรงขึ้นก็จะมีภาวะเลือดออกบริเวณผิวหนังเป็นจุดเล็กๆ ทั่วร่างกาย รวมถึงอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ทางเดินอาหาร ตับ ม้าม หากไม่รีบรับการรักษา ผู้ป่วยจะเกิดภาวะวิกฤต คือเกิดภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวและเกิดอาการช็อก อาจเสียชีวิตได้ภายใน 12-24 ชั่วโมง

วิธีการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือการเจาะเลือด และการตรวจจำนวนเกล็ดเลือด 

ส่วนวิธีการรักษาไข้เลือดออกให้หายขาดยังไม่สามารถทำได้ แต่ทำได้เพียงประคับประคองและรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้ก็จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดไข้ หากอาเจียนก็จะให้ยาแก้คลื่นไส้และอาเจียน พร้อมจิบน้ำเกลือหรือให้น้ำเกลือทางเลือด แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น เกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกมาก เสี่ยงต่อภาวะช็อก แพทย์ก็จะดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่อยู่ในช่วงวิกฤต

โรคไข้มาลาเรีย 

มีอีกชื่อเรียกว่า "ไข้ป่า" หรือ "ไข้จับสั่น" มักพบการติดเชื้อในพื้นที่เขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อนทั่วโลก มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งโรคไข้มาลาเรียเกิดจากเชื้อโปรโตซัวกลุ่ม "พลาสโมเดียม" (Plasmodium) ที่จะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของผู้ป่วย โดยอาการเริ่มต้นของโรคไข้มาลาเรียจะมีความเด่นชัด และสังเกตได้ต่อไปนี้ 

  • มีไข้สูงเกิน 40 องศา 
  • มีอาการหนาวสั่น 
  • มีภาวะซีดรุนแรง
  • ปัสสาวะสีเข้ม 

และหากคุณอยู่ หรือเคยเดินทางไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย และมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา โดยวิธีการวินิจฉัยโรคไข้มาลาเรียจะเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก คือวิธีการตรวจเลือด

วิธีการรักษาโรคไข้มาลาเรีย สามารถรักษาได้โดยใช้ยาให้อาการทุเลาลง หรือจ่ายยาป้องกันหากจำเป็นต้องเดินทางไปในบริเวณที่มีการระบาดของเชื้อไข้มาลาเรีย รวมถึงการฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนโรคไข้มาลาเรียที่ได้รับการยอมรับให้ใช้อย่างแพร่หลายนัก แต่ก็มีหลายชนิดที่กำลังอยู่อยู่ในขั้นตอนพัฒนา 

แต่ขณะเดียวกัน ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้มาลาเรีย หรือจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาดจริงๆ ก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่กลางแจ้งระหว่างช่วงหัวค่ำ และเช้ามืด เพราะยุงก้นปล่องมักออกหากินในช่วงเวลาดังกล่าว
  • สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังให้มากที่สุด
  • ทายากันยุง
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องยาป้องกันมาลาเรีย หากเดินทางไปประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ทวีปแอฟริกา หรือบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก

โรคชิกุนคุนยา

มีอีกชื่อเรียกว่า "โรคไข้ปวดข้อยุงลาย" มียุงลายเป็นพาหะนำโรค อาการของผู้ป่วยจะคล้ายกับอาการไข้เลือดออก แต่จะมีอาการผื่นแดงขึ้นตามตัว มีอาการคัน ปวดตามข้อมือ ข้อเท้าและข้ออักเสบ ซึ่งอาการปวดจะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยบางรายอาจปวดถึงขั้นเคลื่อนไหวอวัยวะบางส่วนไม่ได้ 

เชื้อไวรัสชิกุนคุนยาจะไม่รุนแรงเท่าโรคไข้เลือดออก คือไม่ทำให้มีน้ำเลือดรั่วออกนอกเส้นเลือด ผู้ป่วยจึงไม่มีภาวะช็อกเกิดขึ้น แต่หากโรคนี้เกิดกับผู้สูงอายุที่มีภาวะเจ็บปวดเรื้อรังอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ก็อาจส่งผลประทบรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้

วิธีการวินิจฉัยโรคชิกุนคุนยา สามารถทำได้โดยการซักถามประวัติผู้ป่วย หรือตรวจเลือด ซึ่งจะช่วยแยกจากโรคไข้เลือดออก แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาสำหรับรอผล ส่วนวิธีการรักษาการรักษาโรคชิกุนคุนยา จะใช้หลักการเดียวกับไข้เลือดออก คือการรักษาแบบประคับประคอง จ่ายยาตามอาการของผู้ป่วย และให้พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยถูกยุงกัด

โรคเท้าช้าง

โรคเท้าช้างเกิดจากหนอนพยาธิตัวกลมที่อาศัยตัวคนเป็นแหล่งที่อยู่ และใช้ยุงเป็นพาหะนำเชื้อ โดยไม่ใช่แค่ยุงลายเท่านั้น แต่ทั้งยุงรำคาญ ยุงลายเสือ ยุงก้นปล่องต่างก็เป็นพาหะนำเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเท้าช้างทั้งหมด โรคนี้จะพบมากในประเทศเขตร้อนและชิดเขตร้อน เช่น อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีนตอนใต้ ส่วนประเทศไทยจะพบมากในแถบภาคใต้

อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับโรคเท้าช้างมากที่สุดก็คือ ท่อน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลือง เพราะพยาธิจะเติบโตและอาศัยอยู่ในนั้น รวมถึงเข้าไปสู่ระบบน้ำเหลืองจนเกิดความเสียหาย ทำให้ร่างกายสูญเสียการป้องกันเชื้อโรค จนเกิดเป็นการติดเชื้อ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อเรื้อรัง ก็จะเกิดภาวะบวมน้ำเหลือง นำไปสู่อาการเท้าช้าง ลักษณะอาการคือผิวหนังมีความแข็งและหนาขึ้น สามารถเกิดได้ทั้งที่ขาและแขน อวัยวะเพศ บริเวณเต้านมสำหรับเพศหญิงด้วย

วิธีการวินิจฉัยโรคเท้าช้างจะเช่นเดียวกับโรคอื่นๆ ที่เกิดจากยุง นั่นก็คือการตรวจเลือด แต่สำหรับโรคเท้าช้างจะมีการใช้กล้องจุลธรรศน์ตรวจหาตัวอ่อนพยาธิด้วย นอกจากนี้ยังมีวิธีการใช้เครื่องอัลตราซาวด์ และการตรวจปัสสาวะ

วิธีการรักษาโรคเท้าช้าง จะมีดังต่อไปนี้ 

  • ทานยาตามคำสั่งของแพทย์ อาจเป็นยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ
  • ทำความสะอาดบริเวณที่มีอาการบวมของโรคอย่างระมัดจะวัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 
  • ทำกายภาพบำบัดหรือออกกำลังกาย ให้น้ำเหลืองในร่างกายมีการเคลื่อนไหวบ้าง
  • เฝ้าระวังการเป็นได้ซ้ำหลังหายจากโรค

โรคไข้สมองอักเสบ 

สาเหตุของโรคไข้สมองอักเสบในประเทศไทยมาจากเชื้อไวรัสชื่อว่า "แจแปนนีส เอนเซปฟาไลตีส" (JAPANESE ENCEPHALITIS) สามารถเรียกสั้นๆได้ว่า "เชื้อ JE" เป็นโรคที่มักระบาดหนักในฤดูฝน พบได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย แต่จะพบมากที่สุดในภาคเหนือ ตามพื้นที่ชนบทหรือชานเมือง 

สาเหตุของไข้สมองอักเสบเกิดจากสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อโรค ซึ่งได้แก่ทุ่งนาที่มีสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะทุ่งนาที่เลี้ยงหมูถือเป็นตัวแพร่พันธุ์สำคัญของโรคไข้สมองอักเสบ เพราะเป็นพื้นที่ทุ่งนาและมีน้ำขังจะเหมาะกับการแพร่พันธุ์ของยุง Culex tritaeniorrhynchus ซึ่งเป็นพาหะนำโรค โดยยุงชนิดนี้จะเป็นยุงนอกบ้าน มักออกหากินเวลาค่ำ

กระบวนการแพร่เชื้อของโรคนี้จะเริ่มจากยุงที่มีเชื้อ JE กัดลูกหมูที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน แล้วเชื้อโรคก็จะเข้าไปเจริญเติบโตในตัวลูกหมู และเกิดการขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อยุงตัวอื่นมากัดลูกหมูแล้วไปกัดคนที่ไม่ภูมิคุ้มกันโรคต่อ ก็จะเกิดการติดเชื้อในคนได้ ซึ่งเชื้อไวรัส JE จะทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อสมองทั่วๆ ไป หรือแค่เฉพาะที่ จนทำให้เกิดการอักเสบของเยื้อหุ้มสมอง ซึ่งอยู่ติดกับเนื้อสมองไปด้วย 

อาการของโรคไข้สมองอักเสบจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน บางคนได้รับเชื้อแต่ไม่เกิดโรค บางคนเกิดอาการแต่ไม่มาก ซึ่งทางที่ดีหากรู้สึกว่าตนเองมีความเสี่ยงแม้เพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบเข้ารับการรักษาไว้ก่อนเพราะโรคไข้สมองอักเสบสามารถลุกลามถึงขั้นสมองบวม เกิดการอัมพาตของประสาทสมองคู่ต่างๆ บริเวณก้านสมองได้ อาจมีการหยุดหายใจได้หากอยู่ในระยะอาการรุนแรง และถึงแก่ชีวิต

การวินิจฉัยโรคไข้สมองอักเสบต้องอาศัยข้อมูลดังต่อไปนี้

  • ประวัติ สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย สัตว์เลี้ยง 
  • น้ำไขสันหลัง
  • ระดับแอนติบอดีในน้ำไขสันหลัง
  • การตรวจเลือด

วิธีการรักษาโรคไข้สมองอักเสบ ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ แต่เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการผู้ป่วยเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพกล้ามเนื้อ

ส่วนวิธีป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ ในกรณีที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้สมองอักเสบ ได้แก่

  • กำจัดยุง รวมถึงแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หากเป็นไปได้ให้กำจัดแหล่งน้ำขังด้วย
  • ป้องกันอย่าให้ยุงกัด ให้นอนในมุ้งมิดชิด อย่านอนเล่นนอกบ้านในช่วงพลบค่ำ
  • หากต้องเลี้ยงสัตว์เช่น หมู วัว ควาย ให้สร้างคอกสัตว์อยู่ห่างจากบ้านพอสมควร
  • ฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งสามารถฉีดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

คำถามจากผู้ป่วยท่านอื่นเกี่ยวกับโรคเกิดจากยุง

แพ้ยุงมากโดนกัดแล้วตุ่มบวมใหญ่มาก รักษาไม่หายสักที ควรทำอย่างไรคะ?

คำตอบ ที่จริงคือแพ้สารโปรทีนในน้ำลายยุง ร่างกายจึงมีปฏิกิริยาแพ้ การแพ้เกิดได้ทั้งตรงตำแหน่งที่ถูกกัด และเกิดพร้อมๆ กันกับผิวหนังบริเวณอื่น(ที่ไม่ถูกกัด) อย่างหลังนี้เรียกว่า ปฏิกิริยาแพ้ยุง ตุ่มยุงกัด และตุ่มปฏิกิริยาแพ้ยุง มักเป็นตุ่มนูนบวมขนาดไม่ใหญ่มาก เหมือนตุ่มลมพิษขนาดเล็ก และเมื่อถูกกัดแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นรอยคล้ำอยู่นาน ก็ต้องทายาต้านการอักเสบ คือครีมสเตรอยด์ เช่น 0.1% Hydrocortisone cream, 0.05% Prednisolone cream อาการคัน และปฏิกิริยาแพ้ ลดลงโดยการทานยาต้านฮิสทามีน - ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)

เวลาโดนยุงกัดแล้วเกิดผื่นแล้วเม็ดคล้ายๆ แผลพุพองขึ้นเกิดจากอะไรคะ?

คำตอบ อาจจะเกิดจากการแพ้น้ำลาย หรือสารบางอย่างจากยุงค่ะ ทำให้ร่างกายมีการตอบสนองไม่เหมือนคนทั่วไป โดยมีผื่นที่ดูรุนแรงกว่าคนปกติ คล้ายๆ กับคนที่ถูกแมลงกัดแล้วมีผื่นแดงคันขึ้นค่ะ - ตอบโดย วิภา สุวรรณชีวะศิริ (พญ.)

ขาลายเพราะโดนยุงกัด จะรักษาให้แผลจางลงยังไงคะ?

คำตอบ 1 รอยด่างดำที่เคยเป็นการใช้ยาอาจได้ผลน้อยครับ แนะนำการเลเซอร์ผิวสามารถช่วยได้บ้างครับ - ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)

คำตอบ 2 งดการแกะเกาเพิ่ม ทายารักษารอยแผลเป็นเช่น Hiruscar รับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง และทำเลเซอร์ค่ะ - ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

ผื่นแพ้ยุงรักษายังไงคะ?

คำตอบ ก่อนจะบอกว่าแพ้ยุงได้อาจจะต้องดูก่อนนะครับว่าผื่นที่เกิดจากยุงกัดของเรามีขนาดหรือความรุนแรงกว่าคนทั่วไปหรือไม่ หรืออาจจะทดสอบด้วยการตรวจ skin prick test เพื่อยืนยันว่าเราแพ้ยุงจริงๆ ในกรณีที่ผื่นยุงไม่ได้เป็นมาก อาจจะใช้ยาสามัญประจำบ้านที่เรามีอยู่เช่น calamine lotion ทาเพื่อลดอาการคันและทำให้เย็นลงก่อนได้ครับ หรืออาจจะทานยาแก้แพ้ เช่น chlorpheniramine(CPM) แต่ยาตัวนี้จะทำให้ง่วงหน่อยนะครับ แต่ถ้าผื่นเป็นมากอาจจะต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ร่วมด้วย ซึ่งอาจจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยานะครับ ในกรณีที่โดนยุงกัดแล้วผื่นรุนแรง การป้องกันไม่ให้โดนยุงกัดเป็นสิ่งที่สำคัญนะครับ เช่นการสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด การนอน หลีกเลี่ยงแหล่งที่มียุงชุม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ใช้ยาจุดกันยุง หรือยาทากันยุง หรืออาจจะใช้สารหอมระเหย เช่นตะไคร้หอม น้ำมันยูคาลิปตัส ก็ช่วยได้ครับ - ตอบโดย Rattapon Amampai (Dr.)

แพ้ยุง ต้องฉีดยาเผื่อไข้เลือดออกไหม?

คำตอบ อาการแพ้ยุง กับ ไข้เลือดออก ไม่เหมือนกันครับ จึงไม่จำเป็นต้องฉีดยาครับและถึงแม้จะเป็นไข้เลือดออกก็ไม่จำเป็นต้องฉีดยาครับ ควรทานยาแก้แพ้หรือใช้ยาทาเอาครับ - ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Caron, M., Paupy, C., Grard, G., Becquart, P., Mombo, I., Nso, B., Kassa Kassa, F., Nkoghe, D. and Leroy, E. (2012). Recent Introduction and Rapid Dissemination of Chikungunya Virus and Dengue Virus Serotype 2 Associated With Human and Mosquito Coinfections in Gabon, Central Africa. Clinical Infectious Diseases, 55(6), pp.e45-e53.
Schmid S, Chiodini P, Legros F, et al. The risk of malaria in travelers to India. J Travel Med 2009; 16(3):194-9.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป