อินทผาลัม กับสารอาหารที่มีประโยชน์ และวิธีการรับประทาน

อินทผาลัม ผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะมีรสชาติหวาน หอม และให้พลังงานสูง
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 21 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
อินทผาลัม กับสารอาหารที่มีประโยชน์ และวิธีการรับประทาน

รู้จักกับ "อินทผาลัม"

มีชื่อสามัญว่า Dates ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ Phoenix dactylifera, L. เป็นผลไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศที่มีความร้อนและแห้งแล้งแบบเดียวกับทะเลทราย จึงพบได้มากในแถบตะวันออกกลาง

ผลของ อินทผาลัม มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และความอุดมสมบูรณ์ของดิน เอกลักษณ์ที่ทำให้ใครๆ ต่างก็ชื่นชอบคือรสชาติที่หวานฉ่ำ สามารถรับประทานได้ ทั้งผลสุกหรือผลดิบ ส่วนใหญ่ผลสุกจะนิยมนำไปตากแห้งเก็บไว้รับประทานได้นานเป็นปีๆ 

ปัจจุบันประเทศไทยนิยมปลูก อินทผาลัม มากขึ้น แต่ก็ยังถือว่าได้ผลผลิตไม่มากนัก เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม ประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้นทำให้การเจริญเติบโตของต้นไม่เต็มที่ ราคาของผลไม้ชนิดนี้จึงยังคงมีราคาสูง เนื่องจากจำเป็นต้องนำเข้า ซึ่งมีทั้งแบบแปรรูปและแบบผลสดด้วย

ส่วนลักษณะของลำต้น

ต้นอินทผาลัมคล้ายกับพืชตระกูลปาล์ม มีความสูงราว 30 เมตร ขนาดลำต้นวัดได้รอบ 30 - 50 เซนติเมตร มีใบเป็นแบบขนนกประมาณ 40 - 60 ก้าน ยาวประมาณ 4 เมตร มีใบย่อยเจริญเติบโตพุ่งเป็นแนวยาวออกไปหลายทิศทาง ส่วนของผลมีลักษณะยาวรี ประมาณ 2 เซนติเมตร บางครั้งก็มีขนาดยาวถึง 4 เซนติเมตร

การออกผลจะออกเป็นช่อ แต่ละต้นมีอายุยืนยาวได้มากถึง 100 ปี ในแต่ละปีสามารถให้ผลได้ประมาณ 7,000 - 9,000 ลูก โดยจำนวนลูกขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ผลที่มีสีเหลืองและสีส้มจะยังเป็นผลดิบอยู่ เมื่อเริ่มสุกแล้วจะสังเกตว่าสีเหล่านี้จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มจัด

สารอาหารที่เป็นประโยชน์ในอินทผาลัม

ผลไม้ชนิดนี้นอกจากให้พลังงานสูงแล้ว ยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย ที่สำคัญไม่มีคลอเลสเตอรอล และมีไขมันต่ำ อุดมไปด้วยวิตามินที่สำคัญ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 และบี 16 วิตามินเค แคลเซียม เหล็ก ซัลเฟอร์ ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และแมงกานีส เป็นต้น นอกจากนี้เรายังพบสารอาหารจำพวกน้ำมันโวลาไทล์ ไฟเบอร์ และเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย และช่วยกำจัดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย ลดการเกิดโรคเรื้องรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ และป้องกันการเกิดมะเร็งได้เป็นอย่างดี

สรรพคุณของอินทผาลัม

อินทผาลัมมีส่วนช่วยลดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแก้โรควิงเวียนศีรษะ ลดการเกิดเสมหะในลำคอ ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียและพยาธิในช่องท้อง หากรับประทานขณะท้องว่าง จะช่วยกำจัดสารพิษในลำไส้ และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร สามารถรับประทาน อินทผาลัม เพื่อช่วยลดอาการแสบร้อน และบรรเทาแผลในกระเพาะอาหารได้ด้วย

การรับประทานอินทผาลัม

อินทผาลัม รับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก ซึ่งให้รสชาติหวานฉ่ำไม่ต่างกัน แต่โดยส่วนมากจะนิยมนำผลสุกที่เป็นสีน้ำตาลเข้ม มาอบแห้งเพื่อเก็บไว้รับประทานได้นานหลายปี นอกจากนี้ยังสามารถนำอินทผาลัมมาคั้นเป็นน้ำดื่ม ที่ให้รสชาติหวาน หอม คล้ายน้ำตาลสด หรือนำอินทผาลัมอบแห้งมาผสมน้ำแล้วปั่นให้ละเอียด จากนั้นนำไปเคี่ยวเพื่อให้ได้ความหวานที่เข้มข้นมากขึ้น

อินทผาลัมกับชาวมุสลิม

อินทผาลัมเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในกลุ่มชาวมุสลิม เนื่องจากในเดือนรอมฎอน หรือเดือนของการถือศีลอด ไม่รับประทานอาหารใดๆ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกเป็นเวลา 30 วัน ชาวมุสลิมจะสามารถรับประทานได้แต่อินทผาลัมกับน้ำเปล่าเท่านั้น แต่หากไม่สามารถหาผลไม้ชนิดนี้ในช่วงเวลานั้นได้ ก็จะใช้วิธีการจิบน้ำเปล่าแทน 

การถือศีลอดของชาวมุสลิมด้วยวิธีนี้ แม้จะไม่ได้รับประทานอาหารใดๆ ตลอดเวลากลางวัน ทว่าคุณประโยชน์ของอินทผาลัม ไม่ว่าจะเป็นไขมัน น้ำตาล วิตามินและแร่ธาตุ ก็เพียงพอที่ทำให้ร่างกายอยู่ได้เป็นปกติในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยไม่เข้าสู่ภาวะขาดสารอาหาร จึงเป็นเหตุที่ชาวมุสลิมใช้ผลไม้ชนิดนี้เป็นตัวช่วยรักษาสภาพร่างกายนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าในอินทผาลัม มีสรรพคุณที่น่าสนใจมากมาย หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะกลายเป็นผลไม้ที่ช่วยบำรุงร่างกาย และยังช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยได้ด้วย


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Rachel Nall, Are dates healthful? (https://www.medicalnewstoday.c...), 23 July 2018
Brianna Elliott, 8 Proven Health Benefits of Dates (https://www.healthline.com/nut...), 21 March 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป