ผักชีเป็นผักชนิดหนึ่งที่เรารู้จักกันดี มีกลิ่นแรงเป็นเอกลักษณ์ แต่เปี่ยมไปด้วยสรรพคุณหลายอย่าง ตั้งแต่ต้นจนถึงราก เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราไม่ควรมองข้ามการรับประทานผักชี ว่าแล้วก็ตามไปทำความรู้จักผักชีให้มากขึ้นกันเลย
ทำความรู้จักผักชี
ผักชี (Coriander) เป็นผักที่มีสีเขียวทั้งต้น แต่มีรากเป็นสีขาว ถิ่นกำเนิดของผักชีอยู่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน อินเดีย และเอเชียตะวันตก ในประเทศไทยปลูกผักชีกันมากในจังหวัดราชบุรี นครปฐม และกรุงเทพมหานคร ผักชีถูกนำมาใช้ประกอบอาหารหลากหลายชนิด โดยเฉพาะการโรยหน้าอาหาร เพื่อเพิ่มสีสันและแต่งกลิ่นทำให้อาหารน่ารับประทานยิ่งขึ้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
คุณค่าทางโภชนาการของผักชี
ผักชี 100 กรัม มีคุณทางโภชนาการดังนี้
คาร์โบไฮเดรต 3.67 กรัม
น้ำตาล 0.87 กรัม
เส้นใย 2.8 กรัม
ไขมัน 0.52 กรัม
โปรตีน 2.13 กรัม
วิตามินเอ 337 ไมโครกรัม
เบต้าแคโรทีน 3930 ไมโครกรัม
ลูทีนและซีแซนทีน 865 ไมโครกรัม
วิตามินบี 1 0.067 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.162 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 1.114 มิลลิกรัม
วิตามินบี 5 0.57 มิลลิกรัม
วิตามินบี 6 0.149 มิลลิกรัม
วิตามินบี 9 62 ไมโครกรัม
วิตามินซี 27 มิลลิกรัม
วิตามินอี 2.5 มิลลิกรัม
แคลเซียม 67 มิลลิกรัม
สรรพคุณของผักชี
ผักชีมีสรรพคุณดังต่อไปนี้
- ต่อต้านอนุมูลอิสระ ใบของผักชีมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ แลกโตน ฟีโนลิก แทนนิน ต้นผักชียังอุดมไปด้วยวิตามินเอและเกลือแร่ จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า ใบและลำต้นของผักชีมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง มีสรรพคุณต่อต้านอาการชัก ป้องกันเซลล์สมองจากการถูกทำลาย ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และช่วยย่อยในระบบทางเดินอาหาร จึงไม่น่าแปลกใจที่ผักชีกลายเป็นพืชยอดฮิตของคนญี่ปุ่น
- ส่งเสริมระบบการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ผักชีจัดว่าเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่ช่วยเพิ่มกลิ่นหอมให้อาหาร โดยได้มีการนำไปเป็นตัวยา ซึ่งมีสรรพคุณกระตุ้นกระเพาะอาหารและลำไส้ ให้ขับน้ำดีและขับน้ำย่อยออกมามากขึ้น นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยของผักชียังมีสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี
- ลดน้ำตาลในเลือด นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องจากผักชีมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้จากการศึกษาทางเภสัชวิทยายังพบว่า ผลและเมล็ดของผักชี ยังมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิตได้ ส่งเสริมประสิทธิภาพของยาลดความดันให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
- ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ผักชีเป็นเครื่องเทศที่มีรสชาติเผ็ดร้อน มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็งกลุ่มเฮเทอโรไซคลิกเอมีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการรับประทานอาหารปิ้งย่าง จากงานศึกษาวิจัยหลายๆ ชิ้นก็ได้ยืนยันตรงกันว่า ผักชีสามารถป้องกันโรคมะเร็งที่เกิดจากการรับประทานอาหารปิ้งย่างได้เป็นอย่างดี
- บำรุงสายตา ต่อต้านการอักเสบ ในผักชี 100 กรัม มีเบต้าแคโรทีนสูงถึง 3,930 ไมโครกรัม นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารต้านอนุมูลอิสระที่มีสูงในผักชี มีสรรพคุณที่ช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย และสารเบต้าแคโรทีนยังมีส่วนบำรุงสายตา ทำให้การทำงานของสายตาเป็นไปอย่างปกติ
- รักษาและป้องกันสิว การรับประทานผักชีเป็นประจำจะทำให้ร่างกายได้รับสารคลอโรฟิลล์ที่มีคุณสมบัติกำจัดสารพิษตกค้างออกจากร่างกาย นอกจากนี้ ยังช่วยลดกรดในกระแสเลือด ช่วยกระตุ้นการทำงานของอินซูลิน ช่วยล้างพิษตับ และทำให้ระบบเผาผลาญพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผักชีจึงมีส่วนช่วยรักษาและป้องกันสิว
แนวทางการใช้ผักชีเพื่อสุขภาพ
ผักชีมีคุณสมบัติโดดเด่นหลายด้าน มีการนำผักชีมาใช้เป็นตำรับยาแผนโบราณนานแล้ว เนื่องจากผักชีใช้เป็นยาได้ทั้งต้น ตั้งแต่ใบ เมล็ด และราก ดังนี้
- ใบผักชี ใบผักชีเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยบรรเทาอาหารคลื่นไส้ แก้หวัด อาเจียน ลดอาการวิงเวียนศีรษะ รักษาอาการอาหารเป็นพิษ แก้กระหายน้ำ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
- เมล็ดผักชี เมล็ดผักชีสามารถใช้รักษาแผล บรรเทาอาการปวดฟัน รักษาโรคบิด แก้ริดสีดวงทวารหนัก บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการถ่ายเป็นเลือด และถ่ายเป็นมูก
- ต้นสด ต้นผักชีช่วยให้เจริญอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยขับเหงื่อ ขับลม ละลายเสมหะ และใช้รักษาโรคริดสีดวงทวารได้
- รากผักชี รากผักชีมีสรรพคุณช่วยขับพิษไข้หัว รักษาโรคหิด รักษาโรคอีสุกอีใส และไข้อีดำอีแดง
เมนูสุขภาพที่ทำจากผักชี
ผักชีสามารถนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบอาหารหลายอย่าง เช่น ต้มยำ ยำ และยังสามารถนำมารับประทานสดเป็นผักเคียง จิ้มกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน ซึ่งการรับประทานแบบสดช่วยให้ได้รับสารอาหารจากผักชีเป็นอย่างดีทีเดียว ส่วนเมนูแนะนำอื่นๆ ที่ใช้ผักชีเป็นส่วนประกอบ ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- ยำผักชีไข่ต้ม หากมีผักชีเหลืออยู่ในครัว ลองนำมาทำเมนูนี้กันดู เริ่มจากการต้มไข่ให้สุก ปอกเปลือก จากนั้นตำกระเทียม พริก ให้ละเอียด ใส่น้ำตาลปี๊ป น้ำปลา มะนาว ปรุงรสตามชอบ พักเอาไว้ หั่นมะเขือเทศ ซอยผักชีพอหยาบ จากนั้นจึงผ่าครึ่งไข่ต้ม นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าด้วยกัน จัดวางไข่ต้มบนจาน นำน้ำยำมาราด แล้วตักขึ้นเสิร์ฟได้เลย
- หมูหรือไก่คั่วผักชีแห้ง เริ่มจากการนำหมูคลุกกับแป้งสาลีให้ทั่ว นำไปทอดในน้ำมันพืชร้อน ๆ จนสุกเหลือง แล้วตักขึ้นพัก จากนั้นใส่น้ำมันพืชลงในกระทะตั้งให้ร้อน ใส่กระเทียม รากผักชี พริกขี้หนู ผัดให้แห้งจนเหลือง ใส่หมูทอดที่เตรียมเอาไว้ลงไป ปรุงรสด้วยพริกไทย เกลือป่น ซอสปรุงรส น้ำตาลทราย ผัดให้เข้ากัน ปิดไฟ โรยผักชีแล้วผัดให้เข้ากัน ตักใส่จานพร้อมรับประทาน
- หมูมรกตผักชีปั่น เริ่มปรุงเมนูนี้ด้วยการล้างเนื้อหมูให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ นำผักชีไปปั่นให้ละเอียด ผสมน้ำลงไปเล็กน้อย ตั้งน้ำมันในกระทะให้เดือด เมื่อน้ำมันเริ่มเดือดใส่เนื้อหมูลงไปผัด เมื่อเนื้อหมูเริ่มสุก ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำตาล ซอสถั่วเหลือง ผงปรุงรส ใส่ผักชีปั่นลงไป ผัดต่อสักครู่ จากนั้นตักขึ้นเสิร์ฟ
- หมูต้มผักชี เริ่มจากการหั่นหมูให้เป็นชิ้นบางๆ ตั้งน้ำให้เดือด แล้วใส่หมูลงไป ต้มจนกว่าหมูจะเริ่มเปื่อย แล้วจึงใส่ขิงซอย มิโซะ น้ำ และกระเทียมสับลงไป ชิมรสตามชอบ
- ต้มจืดหมูสับผักชี ทำด้วยการนำผักชีไปล้าง ซอยหยาบๆ พักไว้ จากนั้นตัดรากผักชีออกไป หมักหมูด้วยซีอิ๊วขาว พริกไทยดำ แป้งมัน ใส่น้ำเล็กน้อย แล้วคลุกเคล้าทุกอย่างเข้าด้วยกัน เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วจึงใส่ผักชี คลุกหมูบดกับผักชีให้เข้ากัน ตั้งหม้อใส่น้ำ ใช้ไฟกลาง ใส่เกลือเล็กน้อย เมื่อน้ำเดือดให้ปั้นหมูสับเป็นก้อนใส่ลงไป ต้มต่ออีก 5 นาที ปิดไฟ ตักขึ้นเสิร์ฟ กินกับข้าวสวยร้อนๆ
ข้อควรระวัง
- ผู้ที่มีประวัติแพ้พืชวงศ์ผักชี เช่น คื่นช่าย ยี่หร่า เทียนข้าวเปลือก กระเทียม หอมใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักชีจะดีที่สุด เนื่องจากผักชีอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น เกิดผดผื่นคัน ผิวไวต่อแสงแดด เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง ทำให้เยื้อบุจมูกและตาอักเสบ หรืออาจทำให้เกิดอาการหลอดลมเกร็งตัว
- ผู้ที่เป็นโรคไตไม่ควรรับประทานผักชีปริมาณมากเกินไป เพราะผักชีมีโพแทสเซียมสูง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
- ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ต่อกันว่า หากดื่มน้ำผักชีต้มหรือปั่นเป็นประจำทุกวันจะสามารถช่วยล้างไตให้สะอาดได้นั้น ไม่เป็นความจริงเลย ผู้ป่วยโรคไตยิ่งควรเลี่ยงผักชีอย่างเด็ดขาด
- สำหรับคนทั่วไป การรับประทานผักชีปริมาณมากอาจทำให้กลิ่นตัวแรงขึ้น หรือเกิดอาการตาลาย และหลงลืมง่าย ดังนั้น รับประทานแต่พอดีจะดีกว่า
ที่มาของข้อมูล
Meenakshi Nagdeve, 16 Amazing Benefits of Cilantro or Coriander (https://www.organicfacts.net/health-benefits/herbs-and-spices/health-benefits-of-coriander.html), 13 February 2019.
Megan Ware, Health benefits of Cilantro (Coriander) (https://www.medicalnewstoday.com/articles/277627.php), 5 January 2018.
United State Department of Agriculture Agriculture Research Service, Basic Report: 11165, Coriander (Cilantro) leaves, raw (https://ndb.nal.usda.gov/ndb/foods/show/11165).
ร.ศ. ดร.ภญ. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, ผักชีของไทย...ดังไกลถึงญี่ปุ่น...แล้วประโยชน์คืออะไร (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/336)