โทงเทง (Chinese lantern plant)

สรรพคุณ รสชาติ และคุณประโยชน์ของโทงเทง ไขข้อสงสัย โทงเทงกับโทงเทงฝรั่งต่างกันตรงไหน?
เผยแพร่ครั้งแรก 10 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
โทงเทง (Chinese lantern plant)

โทงเทง เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่พบเห็นได้ทั่วไป มี 2 ชนิดคือ โทงเทงไทยและโทงเทงฝรั่ง แต่ชนิดที่มีสรรพคุณทางยามากกว่าคือโทงเทงไทย เนื่องจากมีการใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ สืบทอดมาถึงปัจจุบัน และยังคงมีการใช้ภูมิปัญญานี้ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ อีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Physalis minima L.

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ชื่อวงศ์            SOLANACEAE

ชื่ออังกฤษ         Chinese lantern plant

ชื่อท้องถิ่น         เตงหลั่งเช้า ปุงปิง หญ้าต้อมต้อก หญ้าถงแถง บ่าตอมต๊อก โคมจีน

โคมญี่ปุ่น เผาะแผะ ตุ้งติ้ง ทุงทิง มะก่องเข้า

หมายเหตุ โทงเทงที่กล่าวถึงในบทความนี้ คือโทงเทงไทย หรือโทงเทงน้ำ เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับโทงเทงฝรั่ง ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Physalis angulata var. angulata แต่จัดอยู่ในวงศ์ SOLANACEAE เช่นกัน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของโทงเทง

เป็นพรรณไม้ล้มลุก อายุ 1 ปี สูง 50 เซนติเมตร ทั้งต้นมีขนปกคลุม แตกกิ่งก้านบริเวณยอดต้น ก้านมีขนาดเล็ก ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ก้านใบยาว 1-4 เซนติเมตร ใบรูปไข่ ปลายใบแหลม ใบยาว 2-8 เซนติเมตร กว้าง 1-5 เซนติเมตร หน้าใบมีเส้นคล้ายขนนก มีขนปกคลุมทั้งหน้าใบและหลังใบ ขอบใบเรียบหรือเป็นลอน ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว ออกที่ง่ามใบ ดอกรูปปากแตร แตกเป็น 5 แฉกที่ปลายกลีบดอก ปลายดอกคล้ายรูป 5 เหลี่ยม ก้านดอกยาว 5 มิลลิเมตร ดอกสีเหลือง ผลมีสีเหลือง ออกบริเวณง่ามใบ มีกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดกลมแบนสีขาวอมเขียว

โทงเทงไทย กับโทงเทงฝรั่ง ต่างกันอย่างไร?

โทงเทงไทยกับโทงเทงฝรั่ง มีลักษณะแตกต่างที่สังเกตได้ชัดเจน คือ ลำต้นของโทงเทงไทยจะเล็กกว่า ใบมีลักษณะเป็นขอบเรียบ ต่างจากใบโทงเทงฝรั่งที่เป็นขอบหยัก ผลของโทงเทงไทยจะมีกลีบเลี้ยงหุ้ม แต่ผลของโทงเทงฝรั่งจะมีกาบใบเลี้ยงสีเขียวอมเหลืองหุ้มและมีรสชาติอร่อย ต่างกับผลโทงเทงไทยที่มีรสขม สามารถใช้แทนกันได้ เพราะมีสรรพคุณที่คล้ายกันหลายอย่าง

สรรพคุณของโทงเทง

แต่ละส่วนของโทงเทง สามารถนำมาปรุงเป็นยาได้ โดยมีวิธีทำและสรรพคุณดังนี้

  • แพทย์ตามชนบทใช้ทั้งต้นตำละลายกับสุรา หรือจะละลายกับน้ำส้มสายชูก็ได้เช่นกัน แล้วเอาสำลีชุบอมไว้ข้างแก้ม กลืนน้ำผ่านลำคอทีละน้อย แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ฝีในคอ แก้อาการอักเสบในลำคอ แก้เหงือกบวม แก้ร้อนในกระหายน้ำ และทำให้แผลฟกบวมอักเสบเย็น
  • โทงเทงทั้งต้น มีรสเฝื่อนเย็น ขับปัสสาวะ แก้เจ็บคอ แก้ปวดศีรษะ และใช้ในรักษาโรคเบาหวาน สอดคล้องกับตามตำราแพทย์แผนจีนกล่าวว่าโทงเทงเป็นยาฤทธิ์เย็น ออกฤทธิ์ที่ปอด ตับ และทางเดินปัสสาวะ ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะแสบขัด แก้หวัดจากลมแดด โดยนำโทงเทงทั้งต้นมาตากแห้งประมาณ 30-50 กรัม แล้วนำมาต้มในน้ำเดือด รับประทานก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 4 วัน
  • ต้นโทงเทงทั้งต้นแบบสด ตำให้แหลกแล้วพอกหัวฝีหนอง หรือใช้ต้นสดต้มน้ำ แล้วใช้ไอน้ำมารมควันบริเวณที่มีแผล หรือนำมาล้างแผลเลย
  • กรณีท้องร่วง และปวดบิด ให้ใช้โทงเทงตากแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มในน้ำเดือด รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 1-4 วัน
  • กรณีป่วยเป็นหลอดลมอักเสบ หรือมีอาการหืดไอ ให้ใช้โทงเทงสดทั้งต้น 150 กรัม มาต้มในน้ำเดือด รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันไม่เกิน 10 วัน

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการรับประทานโทงเทง

กลีบเลี้ยงของต้นโทงเทงมีสารพิษโซลานีน (Solanine) ที่สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้ ผู้ที่รับประทานโทงเทงอาจรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอหอย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องร่วง อุณหภูมิร่างกายสูง หลังรับประทานไปแล้วหลายชั่วโมง กรณีนี้หากไม่อาเจียนออก อาจจำเป็นต้องล้างท้อง และให้น้ำเกลือ


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วิทยา บุญวรพัฒน์. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. 2554
โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ, ประมวลสรรพคุณยาไทย ภาคสอง, 2521.
เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, ไม้เทศเมืองไทย, 2522.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)