ติดเชื้อแบคทีเรีย ปัญหาสุขภาพที่ควรรู้

เผยแพร่ครั้งแรก 26 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ติดเชื้อแบคทีเรีย ปัญหาสุขภาพที่ควรรู้

การติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial infection) เป็นคำที่เราได้ยินค่อนข้างบ่อย และโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียหลายๆ โรค ก็เป็นโรคที่เราคุ้นเคย เช่น อหิวาตกโรค โรคปอดบวม วัณโรค โรคฉี่หนู โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วแบคทีเรียนั้นอยู่รอบตัวเรา ทั้งในร่างกาย บนผิวหนัง และในสิ่งแวดล้อมที่เราสัมผัสอยู่ ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้มักเป็นเชื้อประจำถิ่นที่ไม่ก่อโรค แต่ก็มีแบคทีเรียหลายชนิดที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะก่อโรคทำให้เกิดอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ได้ ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงถึงชีวิตเลยทีเดียว

เชื้อแบคทีเรียคืออะไร?

แบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เชื้อแบคทีเรียนั้นแตกต่างจากเชื้อราที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีหลายเซลล์ และต่างจากเชื้อไวรัสที่เป็นเพียงสารพันธุกรรมซึ่งมีขนาดเล็กมาก แบคทีเรียชนิดที่ก่อโรค เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจแทรกตัวเข้าไปสู่ในเซลล์ต่างๆ สร้างสารพิษ หรือกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองจนเกิดความผิดปกติได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ประเภทของเชื้อแบคทีเรีย

การแบ่งประเภทแบคทีเรียนั้นขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่ง ยกตัวอย่างเช่น

  • หากแบ่งตามรูปร่าง หลักๆ จะแบ่งได้เป็น แบคทีเรียรูปร่างกลม (Cocci) และแบคทีเรียรูปร่างแท่ง (Bacilli)
  • หากแบ่งตามส่วนประกอบบนผนังและเยื่อหุ้มเซลล์ จะแบ่งเป็น แบคทีเรียแกรมบวก (Gram positive) และ แบคทีเรียแกรมลบ (Gram negative) ซึ่งเมื่อย้อมด้วยสีแกรมจะมองเห็นสีแตกต่างกัน
  • หากแบ่งตามการใช้ออกซิเจน จะแบ่งได้เป็น แบคทีเรียที่ต้องใช้ออกซิเจน (Aerobic bacteria) และแบคทีเรียที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจน (Anaerobic bacteria) ในการเจริญเติบโต  

การติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบต่างๆ

แบคทีเรียนั้นสามารถเข้าไปก่อโรคในแทบทุกระบบทั่วร่างกาย เนื่องจากแบคทีเรียแต่ละชนิดมีแหล่งที่อยู่ และกลไกการก่อโรคแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างระบบ/อวัยวะในร่างกายที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ ได้แก่

  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง มักก่อให้เกิดผิวหนังอักเสบ แผลติดเชื้อ ฝี หรือหนอง ขึ้นที่ผิวหนังบริเวณดังกล่าว ซึ่งแบคทีเรียที่มักเป็นตัวการ คือแบคทีเรียแกรมบวกรูปร่างกลม (Gram positive cocci) เช่น Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes นอกจากนี้ ยังมีแบคทีเรีย anaerobic บางชนิดที่ทำให้เกิดสิวได้ เช่น propionibacterium acnes เป็นต้น
  • การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ โรคในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ คออักเสบ ปอดบวม ทอนซิลอักเสบ ซึ่งอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมักจะรุนแรงกว่าการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียที่มักก่อโรคในทางเดินหายใจมีหลายชนิด เช่น Streptococcus pneumoniae นอกจากนี้ ยังมีเชื้อ Mycobacterium tuberculosis ที่ก่อโรควัณโรคด้วย
  • การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ โดยปกติทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง จะมีเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นที่ไม่ก่อโรคอาศัยอยู่ แต่บางครั้งเราก็อาจติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ จนเกิดการอักเสบและลุกลามมายังทางเดินปัสสาวะส่วนบนได้ เชื้อที่มักก่อโรคในทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ Escherichia coli รวมถึงแบคทีเรียแกรมลบรูปร่างแท่ง (Gram negative bacilli) ชนิดอื่นๆ
  • การติดเชื้อที่ทางเดินอาหาร โรคติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารที่พบบ่อย ได้แก่ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ที่เกิดจากเชื้อ Helicobacter pylori และโรคลำไส้อักเสบและอาหารเป็นพิษ ซึ่งมักทำให้เกิดอาการปวดบิดเกร็งท้อง และท้องร่วง ที่เกิดจากเชื้อหลายชนิด เช่น Escherichia coli และ Shigella spp. รวมถึงอหิวาตกโรค ที่เกิดจากเชื้อ Vibrio cholerae ด้วย
  • การติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์ โรคในระบบสืบพันธุ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหนองในแท้ ซึ่งสาเหตุมาจากเชื้อ Neisseria gonorrhoeae โรคหนองในเทียม ที่มาจากเชื้อ Chlamydia Trachomatis และโรคซิฟิลิส ที่เกิดจากแบคทีเรีย Treponema pallidum โดยโรคดังกล่าวติดต่อกันได้ทางการมีเพศสัมพันธ์
  • การติดเชื้อในระบบประสาท โรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในเด็ก ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ซึ่งเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น Neisseria meningitidis, Haemophilus influenzae หรือแบคทีเรียที่ลุกลามมาจากทางเดินหายใจ นอกจากนี้ แบคทีเรียบางชนิดยังสามารถสร้างสารพิษที่ส่งผลต่อระบบประสาทได้ เช่น เชื้อ Clostidium tetani ที่ก่อโรคบาดทะยัก    
  • การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจากแหล่งอื่นๆ และลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดไปยังทั่วร่างกาย ซึ่งเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจมาจากระบบหรืออวัยวะใดก็ได้ และเป็นเชื้อชนิดใดก็ได้ หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้น ถือเป็นภาวะรุนแรงฉุกเฉินที่อาจทำให้ผู้ป่วยช็อกและเสียชีวิตได้

อาการจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

อาการของโรคติดเชื้อแบคทีเรียนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าแบคทีเรียจะก่อโรคที่ส่วนไหนของร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม มีอาการร่วมกันบางอย่างที่พบได้ในการติดเชื้อแบคทีเรียแทบทุกชนิด ได้แก่

  • มีไข้ ตัวร้อน ซึ่งอาจเป็นไข้ต่ำๆ หรือมีไข้สูงหนาวสั่น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  • มีการอักเสบ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียจะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันร่างกายตอบสนอง และเกิดการอักเสบขึ้น ซึ่งอาการที่บ่งชี้ถึงการอักเสบ ได้แก่ รู้สึกเจ็บปวด เช่น เจ็บคอ ปวดท้อง และบริเวณที่ติดเชื้อมีลักษณะบวมแดง เช่น ผิวหนังบวมแดง เป็นต้น
  • เป็นหนอง หรือฝี ซึ่งภายในตุ่มหนองจะมีของเหลวสีเขียวเหลืองข้น และมีเศษเซลล์แบคทีเรียที่ตายแล้ว เซลล์เนื้อเยื่อ และเซลล์เม็ดเลือดขาวปะปนอยู่ หนองนั้นเกิดได้ทั้งที่ผิวหนังและอวัยวะภายใน เช่น ปอด เป็นต้น

การรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย

  • การใช้ยาปฏิชีวนะ เป็นแนวทางการรักษาเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด โดยชนิดของยาที่ใช้ขึ้นอยู่กับประเภทของแบคทีเรีย ความรุนแรงของโรค การดื้อยาของเชื้อ และการให้ยาอาจเป็นรูปแบบยาทาน หรือยาฉีดทางหลอดเลือดดำก็ได้
  • การใช้ยาแก้ปวดลดไข้ เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ โดยยาที่ใช้ ได้แก่ ยาพาราเซตามอลสำหรับลดไข้ และยาแก้อักเสบบางชนิด
  • การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การผ่าตัดฝีและหนอง และการดูดระบายน้ำออกจากปอดในผู้ป่วยโรคปอดบวม เพื่อบรรเทาความรุนแรงของโรค รวมถึงการฉีดสารต้านทานเชื้อ หรือเซรุ่ม สำหรับผู้ป่วยโรคบาดทะยักด้วย

การป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย

โรคติดเชื้อแบคทีเรียนั้นติดต่อได้ทั้งจากสิ่งแวดล้อม และจากคนสู่คน ดังนั้น เราจึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อโรคได้ โดย...

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะแบคทีเรียที่เราสัมผัสอยู่เป็นประจำและไม่ก่อโรค หากร่างกายเราอ่อนแอลงแบคทีเรียดังกล่าวก็อาจก่อโรคได้
  • รักษาความสะอาดและสุขอนามัย โดยการล้างมือก่อนทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ เลือกทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ จัดการที่อยู่อาศัยไม่ให้สกปรก อาบน้ำชำระร่างกายเป็นประจำ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อโรค
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยสวมถุงยางอนามัย และหากทราบว่าคู่นอนเป็นโรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาให้หาย
  • ไม่กลั้นปัสสาวะบ่อยๆ เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะได้
  • หลีกเลี่ยงการทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น หรือไม่ได้อยู่ในการควบคุมของแพทย์ เพราะจะทำให้แบคทีเรียประจำถิ่นที่มีประโยชน์ถูกกำจัด ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรค และอาจส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นดื้อยาด้วย

22 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Infection: Types, causes, and differences. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/196271)
Bacterial Infections: Symptoms, Causes, Diagnosis, and Treatment. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/what-is-a-bacterial-infection-770565)
Bacterial Infections. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/bacterialinfections.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป