August 26, 2019 08:01
ตอบโดย
Shintai Thavonlun (นพ.)
การตั้งครรภ์ ในผู้หญิงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการตกไข่ในผู้หญิง และมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีการตกไข่เท่านั้น (ส่วนใหญ่ในช่วงประมาณ14วันนับจากประจำเดือนวันแรกครับ) ถ้ามีการสอดใส่ หรือไม่มีการป้องกัน ก็จะมีโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ครับ
โดยการมีเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีหลั่งข้างนอก จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ประมาณ 20%
เบื้องต้นแนะนำให้ซื้อชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองมาทดสอบก่อนครับ โดยเก็บปัสสาวะหลังตื่นนอนซึ่งเป็นปัสสาวะใหม่ครับ
โดยตรวจหลังจากมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 2 สัปดาห์
และถ้าผลลบแนะนำให้ทดสอบซ้ำอีกครั้งหลังจากครั้งแรกอย่างน้อย 2-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์ครับ (อาจเปลี่ยนยี่ห้อการตรวจครับ)
นอกจากนี้การที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอนั้นอาจเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุครับ เช่น
- มีปัญหาการตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอ
- รังไข่ผิดปกติ เช่น การมีถุงน้ำหลายใบในรังไข่
- ฮอร์โมนในเลือดผิดปกติ
- ความเครียด/วิตกกังวล/อารมณ์แปรปรวน
- การออกกำลังกายที่หนักเกินไป
- น้ำหนักตัวที่มากหรือน้อยเกินไป
- ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด
- ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
เป็นต้นครับ
ถ้าตรวจการตั้งครรภ์ไม่พบ แนะนำจดบันทึกรอบประจำเดือนให้ชัดเจน และไปพบแพทย์สูตินรีเวชเพื่อตรวจประเมินอาการให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อที่จะได้ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ทำเลสิกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 25,500 บาท ลดสูงสุด 35%!!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ตอบโดย
สุวพัชญ์ พิศาลมงคล (นพ.)
สวัสดีครับ
การหลั่งภายนอก เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพต่ำ ไม่แนะนำครับ วิธีนี้มีโอกาสการตั้งครรภ์ได้ประมาณร้อยละ 4-22 เบื้องต้นหากมีประวัติมีเพศสัมพันธ์ในรอบเดือนที่ผ่านมาแล้วขาดประจำเดือน สงสัยว่าตั้งครรภ์ สามารถหาซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์ตามร้านขายยาทั่วไปมาทดสอบได้ด้วยตนเองครับ หากทดสอบการตั้งครรภ์อย่างถูกวิธี ผลการทดสอบมีความน่าเชื่อถือสูงมากครับ
________________________
สาเหตุของการขาดประจำเดือน เป็นได้หลายสาเหตุครับ เช่น
- กำลังตั้งครรภ์อยู่ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้า ยาทางจิตเวช เป็นต้น
- ความเครียด, การออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป, น้ำหนักตัวน้อยมาก (BMI < 18.5)
- การมีพังผืดในมดลูก (Asherman’s syndrome) มักจะสัมพันธ์กับประวัติที่เคยขูดมดลูกมาก่อน
- การมีระดับฮอร์โมนเพศชายที่สูงกว่าปกติ (Hyperandrogenism) มักสัมพันธ์กับการมีหน้ามัน สิวมาก มีขนขึ้นมากผิดปกติ เช่น โรค Polycystic ovarian syndrome (PCOS)
- การมีระดับฮอร์โมนเพศต่ำกว่าปกติ (Hypogonadism) เช่น รังไข่เสื่อม (Premature ovarian failure) ไม่มีการตกไข่ (Anovulation) เป็นต้น
- การเป็นโรคไทรอยด์
สาเหตุต่างๆที่ได้กล่าวไปเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งการวินิจฉัยต้องอาศัยการซักประวัติ และตรวจร่างกายเพิ่มเติมครับ ดังนั้นถ้าสงสัยหรือกังวลแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจและให้การรักษาครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ตอบโดย
นิธิวัฒน์ ตั้งชมพู (นพ.)
สวัสดีครับ
การหลั่งข้างนอก ( withdrawal ) เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพไม่ค่อยดีเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ครับ
>>จากสถิติ ถ้าทำได้ถูกต้องเลยโอกาสจะตั้งท้องประมาณ 4% แต่โดยทั่วๆไป หรือตามความจริงแล้ว ขณะที่อวัยวะเพศชายสอดใส่ มักมีสเปิร์มออกมาพร้อมกับร้ำหล่อลื่นบ้างบางส่วนครับ ทำให้โอกาสจะตั้งครรภ์ในชีวิตจริงมีสูงถึง 22-27% ครับ
ในกรณีประจำเดือนไม่มาตามปกติ หรือ ประจำเดือนขาดไป
-ถ้าคนไข้มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การใช้ถุงยางอนามัย หรือการคุมกำเนิดวิธีอื่นๆไม่ถูกต้อง หรือ ผิดพลาด เช่น ถุงยางอนามัยรั่วซึม หรือ การหลั่งนอก ก็อาจตั้งครรภ์ได้ เบื้องต้นแนะนำว่า ให้ตรวจการตั้งครรภ์ก่อนนะครับ โดยการตรวจการตั้งครรภ์ทางปัสสาวะด้วยตนเอง สามารถตรวจได้ตั้งแต่ 14 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ครับ
(การตรวจนั้น ต้องตรวจถุกต้องตามคำแนะนำและระยะเวลาที่เหมาะสมด้วยนะครับจึงจะเชื่อถือได้ครับ)
-ถ้าคนไข้ไม่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เลยหรือตรวจการตั้งครรภ์แล้วไม่พบการตั้งครรภ์. ปัจจัยที่จะทำให้ประจำเดือนที่เคยมา แล้วไม่มา หรือผิดปกติ มีหลายอย่างครับ ตัวอย่าง เช่น
1.ความเครียด การอดอาหารนานๆ และการออกกำลังกายอยางหักโหมมากเกินไป ทำให้ประจำเดือนขาดได้ครับ พบได้บ่อยที่สุด
2.การใช้ยาฮอร์โมนต่างๆ เช่น ยาคุมกำเนิด แบบฉีด หรือยาบางอย่าง เช่น ยารักษาโรคทางจิตเวช
3.โรคทางระบบสืบพันธ์บางชนิด เช่น ถุงน้ำรังไข่ ( PCOS) อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ หรือ การ ติดเชื้อ ทางเพศสัมพันธ์ อาจมำให้มีอาการปวดท้อง หรือ ตกขาว ที่ผิดปกติได้ ซึ่ง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย
4.ฮอร์โมน ไทรอยด์ผิดปกติ ซึ่งจะต้องทีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ใจสั่น กินจุ น้ำหนักลด หรือ ฮอร์โมนจากรังไข่ผิดปกติ อาจทำให้ไม่เกิดการตกไข่ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่มา หรือมาแบบกระปริบกระปรอย เป็นต้นครับ
5. โรคทางการกินที่ผิดปกติ (anorexia) ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง หากอดอาหาร หรือทานอาหารไม่ถูกวิธีนานๆ จะทำให้ขาดประจำเดือนได้ครับ
ถ้าคนไข้มีอาการต่างๆที่ผิดปกติดังที่กล่าวไป แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหรือตรวจภายในเพิ่มเติมนะครับ
หากประจำเดือนมาล่าช้ากว่าปกติ และไม่ได้เป็นมาติดต่อกันนานเกิน 3 ครั้ง ก็ให้รอดูอาการก่อนได้ครับ หากเกิน 3 เดือนประจำเดือนไม่มา แนะนำให้ไปตรวจร่างกาย และตรวจภายในเพิ่มเติมนะครับ
อนึ่ง การทำใจให้สบาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ระมัดระวังเรื่องการใช้ยาหรืออาหารเสริมที่แพทย์ไม่ได้สั่ง และออกกำลังกาย จะช่วยให้สมดุลฮอร์โมนดีและทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
สวัสดีคะ คุณหมอคือว่าประจำเดือนดิฉันเดือนสิงหาคมยังไม่มาเลย มีเพศสัมพันธ์แบบหลั่งภายนอกค่ะ มีโอกาสท้องมั้ยคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)