August 29, 2019 12:20
ตอบโดย
กันตณัฏฐ์
อยู่ตรีรักษ์ (แพทย์ทั่วไป)
(นพ.)
General physician
สวัสดีครับ
จากอาการตามที่เล่ามานั้นมีแนวโน้มที่จะเข้าได้กับการเป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุดครับ
อาการของโรคซึมเศร้านั้นจะประกอบด้วยการมีอารมณ์เศร้าหดหู่หรือเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไรต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ร่วมกับมีอาการ
- นอนไม่หลับหรืออยากนอนมากขึ้น
- เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น
- อ่อนเพลียไม่มีแรง
- ไม่มีสมาธิ ความคิด ความจำแย่ลง
- คิดช้าทำช้าลงหรือกระสับกระส่ายมากขึ้น
- มีความคิดในแง่ลบ คิดโทษตัวเองบ่อยๆ หรือเห็นคุณค่าในตนเองลดลง
- เคยคิดหรือลงมือทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
ถ้าหากมีอาการในลักษณะนี้หลายๆข้อ ร่วมกับอาการที่เป็นส่งผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็จะมีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้นครับ
ในเบื้องต้นนั้นอาจลองทำแบบทดสอบตามลิงค์นี้เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าด้วยตนเองก่อนได้ครับ
http://www.prdmh.com/แบบประเมินโรคซึมเศร้า-9-คำถาม-9q.html
ถ้าหากทำได้ตั้งแต่ 7 คะแนนขึ้นไปก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามการที่จะให้การวินิจฉัยได้อย่างแน่ชัดว่าอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้นก็จะต้องอาศัยการตรวจประเมินอาการผ่านการพูดคุยกับจิตแพทย์โดยตรงก่อนครับ หมอแนะนำว่าในกรณีนี้ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก่อนเพื่อที่จะได้ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ
________________________
ส่วนอาการของอีก 2 โรคที่เหลือนั้นจะอาการที่แตกต่างจากโรคซึมเศร้าคือ
ในโรคไบโพลาร์นั้นจะมีอารมณ์อีกขั้วหนึ่งที่เรียกว่าขั้วแมเนียที่เกิดขึ้นมาสลับกับช่วงที่มีอาการในขัสซึมเศร้า คือ จะทำให้มีอาการร่าเริงหรือหงุดหงิดง่ายผิดปกติ มีเรี่ยวแรงมากขึ้นติดต่อกันนานอย่างน้อย 4-7 วัน ร่วมกับอาการต่างๆ คือ
- มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น
- มีความต้องการนอนลดลง
- พูดเก่งขึ้น
- มีความคิดแล่นเร็ว
- วอกแวกง่าย
- มีความต้องการทำกิจกรรมต่างๆมากขึ้น และอาจมีแนวโน้มที่จะไปทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายได้
- ใช้เงินฟุ่มเฟือยมากขึ้น ใช้เงินลงทุนโดยไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อน
ส่วนโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นจะประกอบด้วย 2 อาการหลักๆ คือ
1. อาการย้ำคิด เป็นอาการที่จะทำให้เกิดความกังวลในเรื่องเดิมซ้ำๆขึ้นมาอย่างไม่สามารถควบคุมได้ เรื่องที่กังวลนั้นมักเป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางเป็นไปได้แต่ก็ยังอดที่จะคิดไม่ได้หรือไม่สามารถห้ามความคิดได้ เช่น กลัวความสกปรก กลัวลืมปิดน้ำปิดไฟ กลัวของหาย กลัวทำอะไรผิดขั้นตอน
2. อาการย้ำทำ เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่ออาการย้ำคิด โดยจะเป็นพฤติกรรมที่ทำเพื่อลดความกังวลจากอาการย้ำคิดที่เกิดขึ้น เช่น ต้องล้างมือบ่อยๆ อายน้ำเป็นเวลานาน กลับไปเช็คของซ้ำๆ กลับมาตรวจเช็คงานที่ทำไปแล้วบ่อยๆ ต้องทำอะไรตามรูปแบบเดิมๆห้ามผิดขั้นตอน
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ทำเลสิกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 25,500 บาท ลดสูงสุด 35%!!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ตอบโดย
ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)
อาการย้ำคิดย้ำทำ เป็นโรคผิดปกติทางด้านความคิดและพฤติกรรม
ส่วนไบโพลาร์ ซึมเศร้า เป็นโรคผิดปกติทางด้านอารมณ์นะคะ
ทั้ง 3 โรคนี้อาจมีอาการของอีกโรคหนึ่งร่วมด้วยก็ได้
และจากที่คุณเล่ามา มีอาการเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าก็เป็นไปได้นะคะ
ซึมเศร้ามีสาเหตุหลักจากสารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติ ทำให้การคิด การรับรู้ อารมณ์ พฤติกรรมต่างๆ ผิดไปจากเดิม และหากมีเรื่องมากระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะกระตุ้นให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ค่ะ
อาการของซึมเศร้าสามารถประเมินได้ด้วยตนเองดังนี้
โดยในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้มีอาการเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
ไม่มีเลย 0 คะแนน
มี 1-7 วัน 1 คะแนน
≥7 วัน 2 คะแนน
ทุกวัน 3 คะแนน
1. เบื่อหน่าย ไม่สนใจอยากจะทำอะไร
2. ไม่สบายใจ ซึมเศร้า ท้อแท้
3. หลับยาก หลับๆตื่นๆ หรือหลับมากเกินไป
4. เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง อ่อนเพลีย
5. เบื่ออาหาร หรือ กินได้มาก กินจุบจิบตลอดเวลา
6. รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าล้มเหลว หรือคิดว่าทำให้ตนเองและครอบครัวผิดหวัง
7. ขาดสมาธิ เหม่อลอย ขี้ลืมบ่อย
8. ทำอะไรช้าลง กระสับกระส่าย อยู่นิ่งไม่ได้
9. คิดทำร้ายตัวเอง อยากตาย หรือตายไปจะดีกว่า
จากนั้นรวมคะแนน หากได้มากกว่า 7 คะแนนขึ้นไป แนะนำให้พบจิตแพทย์ ประเมินอาการเพิ่มเติม แล้วรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม
การรักษาซึมเศร้าที่ได้ผลดี คือการรักษาด้วยยา ร่วมกับการทำจิตบำบัด ยาจะช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมอง ทำให้ควบคุมความคิด อารมณ์และพฤติกรรมต่างๆได้เหมาะสม ส่วนการทำจิตบำบัดจะช่วยให้เข้าใจ ยอมรับปัญหาและปรับตัวได้ดีขึ้นค่ะ
ในระหว่างทำการรักษาควรดูแลตัวเอง ด้วยการทานยาสม่ำเสมอ หากมีอาการในระหว่างทานยาให้ไปพบแพทย์ก่อนนัด พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย งดสารเสพติดทุกชนิด และไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งนะคะ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้นนะคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
สวัสดีค่ะ ขอสอบถามหน่อยค่ะ โรคย้ำคิดย้ำทำ มันต่างกับซึมเศร้าหรือไบโพลาร์มากไหมคะ ส่วนตัว ที่บ้านมีปัญหาเรื่องครอบครัวค่ะ เราเป็นลูกคนเล็ก พ่อแม่อายุ59และ60 เรามีพี่สองคน เป็น ผู้ชายทั้งหมด เราเป็น ผญ คนเดียว อายุห่างกับพี่ๆ 15และ20ปี แถวบ้านไม่มีเด็กรุ่นเรา เวลามีปัญหา เราจะไม่ค่อยได้ปรึกษาที่บ้าน เพราะไม่ค่อยมีเวลา และบวกกับที่บ้าน ไม่ค่อยได้มีเวลาร่วมกัน เราก็เลยรู้สึกอึดอัด ที่บางทีไม่สามารถพูดคุยกับใครได้ ส่วนตัวเราเป็นคนเงียบๆค่ะ ไม่ชอบพูด พูดและขี้เล่นแค่กับคนสนิทจริงๆ เป็นคนชอบเก็บคำพูดคนอื่นมาคิด น้อยใจง่าย กับเรื่องเล็กๆน้อยๆ และเป็นคนขี้เกรงใจ เมื่อถึงจุดๆนึงเราอึดอัดมากๆจนเคยทำร้ายตัวเองค่ะ เคยทุบตีตัวเอง เคยชกกำแพง ทึ้งผมตัวเอง เมื่อก่อนบ่อยมาก แต่พอโตขึ้นก็เริ่มเบาลงบ้าง พยายามคิดในแง่บวกเสมอว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ยิ่งคิดก็ยิ่งอึดอัดแล้ว เป็นหนักเหมือนเดิม มีหลุดทำบ้างบางที เพื่อนเคยแนะนำให้ลองพบแพทย์ดู แต่เราไม่อยากยอมรับว่าเป็นค่ะ และไม่อยากอุปทานไปเอง อาการแบบนี้ แค่เครียดหรือเข้าข่ายทั้งสามโรคที่สอบถามข้างต้นไปคะ ขอบคุณ สำหรับคำตอบล่วงหน้าด้วยค่ะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)