เล็บฉีก เป็นเพราะอะไร ปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไรดี?

เล็บฉีก เกิดได้จากหลายสาเหตุตั้งแต่อุบัติเหตุจนถึงขาดสารอาหาร ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยอาหารบำรุงเล็บ และหากเกิดเล็บฉีกแล้ว ควรปฐมพยาบาลให้ถูก เหมาะกับความรุนแรงของการฉีก
เผยแพร่ครั้งแรก 14 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เล็บฉีก เป็นเพราะอะไร ปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไรดี?

เล็บ เป็นชั้นหนังกำพร้าที่ตายแล้ว ดูเผินๆ อาจไม่ได้มีหน้าที่อะไรมากไปกว่าการป้องกันอันตรายต่อนิ้วมือนิ้วเท้า และใช้สำหรับแกะเกา แต่ความจริงเล็บเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติของอวัยวะภายใน และการขาดสารอาหารของคุณอีกด้วย

ปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับ เล็บ ที่หลายคนมักพบเจอ ได้แก่ เล็บฉีก ในบทความนี้จะอธิบายสาเหตุว่ามีอะไรบ้างทำให้เล็บฉีกง่าย และหากเกิดเล็บฉีกขึ้น ควรดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างไร

8 ที่ทำให้เล็บฉีกฉีกง่าย

โดยทั่วไป อาการเล็บฉีกสามารถเกิดได้ในชีวิตประจำวันของเราจากอุบัติเหตุที่นิ้วมือหรือเท้า แต่หากสังเกตพบว่าเล็บของตัวเองนั้นฉีกง่ายกว่าที่เคย คือเล็บฉีกง่ายกว่าคนอื่น แท้จริงแล้วภายในอาจเกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว

โดยอาจเป็นหนึ่งใน 8 สาเหตุที่ทำให้เล็บฉีก ต่อไปนี้

1. ขาดวิตามินและเกลือแร่บางชนิด

วิตามินบี 7 หรือไบโอติน (Biotin) เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการหนาขึ้นของเล็บ โดยมีผลการวิจัยบ่งชี้ว่า หากรับประทานไบโอตินทุกวัน เล็บจะหนาขึ้น 25% ดังนั้นหากขาดไบโอตินจะส่งผลให้เล็บบางลงและมีโอกาสฉีกขาดไดด้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็ก วิตามินบีอื่นๆ วิตามินดี และวิตามินอี ที่เป็นสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของเล็บ

2. ขาดโปรตีน

เคราติน (Keratin) เป็นชนิดของโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเล็บ ดังนั้นการขาดโปรตีนจึงส่งผลต่อความแข็งแรงของเล็บด้วย

3. ดื่มน้ำไม่เพียงพอ

ร่างกายของคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่า 60% ดังนั้นหากได้รับไม่เพียงพอ การทำงานของอวัยวะในระบบต่างๆอาจผิดปกติไป รวมถึงส่งผลให้เล็บเปราะบางและฉีกง่าย

4. เล็บขาดความชุ่มชื้น

เล็บนั้นขาดความชุ่มชื้นได้หากสัมผัสน้ำหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ่อยเกินไป

การที่มือและเล็บของเราสัมผัสน้ำบ่อยๆ ส่งผลให้เล็บอ่อนแอลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากกิจกรรมที่ต้องใช้สบู่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ ยิ่งจะทำให้เล็บแห้งกรอบและฉีกง่ายขึ้น

การทาเล็บเป็นระยะเวลานานๆ ก็ส่งผลให้เล็บขาดความชุ่มชื้นเช่นกัน เพราะแผ่นเล็บหรือหน้าเล็บไม่ได้สัมผัสอากาศ เล็บจึงแห้งและฉีกได้ง่าย

5. ตัด-ตะไบเล็บแบบผิดๆ

การตะไบเล็บในทิศทางกลับไปกลับมา ไม่ไปทางเดียวกัน ทำให้เล็บฉีกง่าย เพื่อป้องกันเล็บฉีกคุณควรตะไบเล็บไปทางเดียว และให้อยู่ในรูปทรงที่ลดความเสี่ยงในการฉีก ได้แก่ ทรงเหลี่ยม มีขอบด้านข้างมนเล็กน้อย หรือทรงรูปไข่

การเล็มจมูกเล็บก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เล็บฉีดได้ เพราะตามธรรมชาติแล้วจมูกเล็บเป็นส่วนที่แผ่นเล็บงอกออกมา ถือเป็นเกราะป้องกันระหว่างเซลล์กับตัวสร้างเล็บ ทางที่ดีไม่ควรตัดเล็มเลยจะดีกว่า

6. ถูกกระแทกบริเวณเล็บ

ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง หรือจากการใช้งานนิ้วมือเบาๆ แต่ต่อเนื่อง เช่น เคาะคีย์บอร์ดพิมพ์งาน ก็ส่งผลต่อความแข็งแรงสมบูรณ์ของเล็บทั้งนั้น

7. เป็นโรคผิวหนัง

โรคผิวหนัง เช่น เชื้อรา สะเก็ดเงิน เป็นสาเหตุทำให้เล็บฉีกได้เช่นกัน

การติดเชื้อราที่เล็บมักเป็นที่นิ้วเท้า ส่งผลให้เล็บมีรอยแตก เปลี่ยนเป็นสีเหลือง และหนาขึ้นแต่อ่อนแอลงได้

ส่วนสะเก็ดเงินมีอาการแสดงที่เล็บได้หลากหลาย เช่น รอยดำใต้เล็บ รอยบุ๋มเล็กๆ บนแผ่นเล็บ เล็บเปราะแตกฉีกขาดง่าย จนถึงเล็บหลุดได้

8. ใช้ยาบางชนิด

ยา สามารถส่งผลต่ออัตราการยาว ความหนา บาง และความแข็งแรงของเล็บได้ โดยเฉพาะยาเคมีบำบัดทำให้เล็บบางลง ฉีกขาดได้ง่ายขึ้น

ควรรับประทานอะไรเพื่อเสริมให้เล็บแข็งแรง?

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ความแข็งแรงและความหนาของเล็บเกี่ยวข้องกับวิตามินบี 7 หรือไบโอติน รวมถึงวิตามินดี วิตามินอี และโปรตีนเพื่อบำรุงเล็บให้แข็งแรง ไม่เกิดเล็บฉีกง่าย

ตัวอย่างอาหารแนะนำเพื่อบำรุงเล็บ ได้แก่

  • อาหารที่มีไบโอตินสูง ได้แก่ ไข่แดง ถั่ว ปลาแซลมอน นม ชีตส์ โยเกิร์ต อโวคาโด มันเทศ บรอกโคลี
  • อาหารที่มีวิตามันดีสูง ได้แก่ ปลาที่มีกรดไขมันจำเป็นสูง เช่น ทูน่า แมกเคอเรล แซลมอน
  • อาหารที่มีโปรตีนสูง ได้แก้ เนื้อสัตว์ ถั่ว ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม

การปฐมพยาบาลเมื่อเล็บฉีก เจ็บ ปวด เป็นหนอง เลือดออก

หากเกิดเล็บฉีก ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นและสังเกตอาการโดยละเอียดเป็นระยะ ตามสาเหตุและลักษณะเล็บฉีก ดังนี้

1. หากเล็บฉีกเพียงเล็กน้อย

ให้ใช้กรรไกรตัดเล็บตัดส่วนที่ฉีกออก และใช้ตะไบเล็มขอบให้เรียบ อาจใช้พลาสเตอร์หรือผ้าก๊อซปิดคลุมบริเวณนั้นไว้ เพื่อรอเวลาที่เล็บใหม่จะงอกขึ้นมาแทนที่ และเป็นการป้องกันไม่ให้เล็บฉีกหรือมีอาการบาดเจ็บมากขึ้น

2. หากเล็บฉีกจากอุบัติเหตุ

ให้ใช้น้ำแข็งประคบ โดยห่อนิ้วด้วยผ้าก่อน อย่าประคบโดยตรง หากมีอาการปวดอาจจะรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) บรรเทาอาการได้

3. หากมีอาการปวดมาก มีหนอง มีเลือดออกใต้เล็บกินพื้นที่มากกว่า 25%

มีเล็บเกือบหลุดออกมาจากโคน หรือมีอาการเชื้อราที่รุนแรงมากๆ ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม อาจมีความจำเป็นต้องถอดเล็บ รวมถึงต้องได้รับยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อราเพื่อรักษาและป้องกันการติดเชื้อ

ทั้งนี้หากเลือดออกใต้เล็บน้อยกว่า 25% โดยไม่มีอาการอื่นร่วม อาการมักจะดีขึ้นเองได้โดยไม่ต้องทำการรักษา


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Healthwise Staff, Torn or Detached Nail (https://www.mottchildren.org/health-library/sig256776), 1 April 2019.
Psoriasisfriend, สะเก็ดเงินที่เล็บรักษาอย่างไรดี ? (https://psoriasisctrl.com/cure-nail-psoriasis/), 1 December 2014
Brian Wu, Drug-induced nail disease (https://dermnetnz.org/topics/drug-induced-nail-disease/), June 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)