โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี มีอะไรบ้าง?

เผยแพร่ครั้งแรก 11 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี มีอะไรบ้าง?

ถุงน้ำดี (Gall bladder) เป็นถุงขนาดเล็กที่อยู่ใต้ตับ มีหน้าที่เก็บน้ำดีที่สร้างจากตับ และส่งผ่านท่อน้ำดีไปยังลำไส้เล็กเพื่อช่วยย่อยไขมัน หากถุงน้ำดีเกิดความผิดปกติขึ้นมา จะทำให้เกิดอาการมากมาย ตั้งแต่ปวดท้องรุนแรง โดยเฉพาะท้องด้านขวา แน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน อาหารไม่ย่อย เจ็บหน้าอก ไปจนถึงมีไข้หนาวสั่น ตัวเหลือง ตาเหลือง และอุจจาระมีสีผิดปกติด้วย โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดีที่พบบ่อยๆ ได้แก่

นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone)

คือการที่สารบางอย่างตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่วอยู่ภายในถุงน้ำดี ซึ่งก้อนนิ่วอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ สาเหตุของโรคนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะเกี่ยวกับภาวะที่ทำให้มีคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินในน้ำดีมาก จนสารเหล่านี้จึงก่อตัวเป็นผลึก นิ่วในถุงน้ำดีพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในวัยกลางคนที่มีรูปร่างค่อนข้างอ้วน อาการที่พบบ่อย ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ปวดท้องรุนแรง โดยเฉพาะช่วงขวาบน
  • จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • รู้สึกจุกแน่น หรือแสบในอก

ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการเลยก็ได้ แต่หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ก้อนนิ่วก็อาจมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ และทำให้เกิดการอักเสบในถุงน้ำดีได้เช่นกัน

การรักษานิ่วในถุงน้ำดี

  • ใช้ยาสลายก้อนนิ่ว เช่น ยา Chenodiol และยา Ursodiol ซึ่งสามารถสลายก้อนนิ่วขนาดไม่ใหญ่มากได้ แต่มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้ท้องเสีย
  • ผ่าตัดนำก้อนนิ่วออก จะทำในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ การผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งการผ่าแบบส่องกล้อง และการผ่าแบบเปิดหน้าท้อง

ถุงน้ำดีอักเสบ (cholecystitis)

การอักเสบสามารถเกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง และยังถือเป็นปัญหาสุขภาพที่รุนแรง สาเหตุของถุงน้ำดีอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อ การมีเนื้องอกที่ตับ ตับโตจนเบียดถุงน้ำดี หรือเป็นอาการแทรกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดีก็ได้ อาการที่มักพบ ได้แก่

  • ปวดเสียดท้องด้านบนขวา ร้าวไปถึงใต้สะบัก โดยเฉพาะเมื่อกดท้องจะรู้สึกเจ็บมาก
  • อาหารไม่ย่อย ท้องอืด และปวดท้องยิ่งขึ้นหลังทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • คลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร
  • มีไข้ขึ้นสูง และมีเหงื่อออกมาก
  • ตัวเหลืองตาเหลืองคล้ายดีซ่าน
  • อุจจาระมีสีซีดเทา ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ติดเชื้อในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีทะลุ ตับอ่อนอักเสบ หรือกลายเป็นมะเร็งถุงน้ำดี

การรักษาถุงน้ำดีอักเสบ

  • การดูแลเบื้องต้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร เพื่อพักการทำงานและลดการบีบตัวของถุงน้ำดี แต่แพทย์จะให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อรักษาระดับน้ำและแร่ธาตุในเลือดจนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • การให้ยา หากเกิดการติดเชื้อที่ถุงน้ำดี แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อบรรเทาอาการ และหากมีอาการปวดท้องรุนแรงและมีไข้ ก็สามารถทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอลได้
  • การผ่าตัด หากเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีน้ำดีอุดตัน หรือถุงน้ำดีทะลุ อาจจำเป็นต้องผ่าตัด เพื่อใส่ท่อระบายน้ำดีผ่านหน้าท้อง ซึ่งการผ่าตัดอาจใช้เวลาพักฟื้นนาน 2-3 สัปดาห์

มะเร็งถุงน้ำดี (Gallbladder cancer)

เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก และมักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในวัย 40 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งถุงน้ำดี ได้แก่ การเป็นถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง นิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่ได้รับการรักษา รวมถึงพันธุกรรมด้วย อาการของมะเร็งถุงน้ำดีนั้นคล้ายคลึงกับโรคถุงน้ำดีอักเสบ คือปวดท้องด้านบนขวาอย่างรุนแรง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ตัวเหลืองตาเหลือง มีไข้ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด บางครั้งอาจพบถุงน้ำดีโตได้เช่นกัน

การรักษามะเร็งถุงน้ำดี

คล้ายกับการรักษามะเร็งทั่วไป คือใช้วิธีฉายรังสีและเคมีบำบัด นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องตัดถุงน้ำดีออกทั้งหมดเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งลุกลามด้วย

การป้องกันโรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกิน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ และพัฒนาไปเป็นมะเร็งถุงน้ำดีได้
  • ทานอาหารที่ย่อยง่ายและมีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคตับและถุงน้ำดีอักเสบ 

22 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Gallbladder Disease. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/gallbladderdiseases.html)
Gallbladder Disease: Overview and More. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/gallbladder-disease-overview-3520726)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป