ภาวะต่อมลูกหมากโต (Benign prostate enlargement:BPE, Benign prostatic hyperplasia: BPH) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้ชายสูงวัย โดยมักจะพบบ่อยกับผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และไม่นับเป็นภาวะที่ร้ายแรงต่อสุขภาพแต่อย่างใด
ต่อมลูกหมากโตคืออะไร?
ต่อมลูกหมากคือต่อมขนาดเล็กที่พบได้เฉพาะในเพศชาย ต่อมนี้อยู่บริเวณข้างในเชิงกราน ระหว่างองคชาติกับกระเพาะปัสสาวะ และมีหน้าที่ในการช่วยผลิตน้ำเชื้ออสุจิ โดยจะผลิตของเหลวข้นสีขาวที่มาจากโปรตีนที่เรียกว่า Prostate-specific antigen (PSA) ซึ่งของเหลวนี้จะผสมเข้ากับสเปิร์มที่อยู่ในอัณฑะจนกลายเป็นน้ำเชื้อ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
หากต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น จะทำให้กระเพาะและท่อปัสสาวะถูกกดทับจนส่งผลต่อการถ่ายปัสสาวะ และอาจทำให้เกิดปัสสาวะยาก ปัสสาวะถี่ และไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกหมดภายในครั้งเดียว
สำหรับผู้ชายบางคน อาการเหล่านี้อาจไม่รุนแรงและไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่สำหรับคนอีกกลุ่ม อาการเหล่านี้จะสร้างความรำคาญอย่างมากจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
สาเหตุของภาวะต่อมลูกหมากโต
สาเหตุของภาวะต่อมลูกหมากโตนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าภาวะนี้เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ชายชราตัวลง
มีการสันนิษฐานว่าเมื่อผู้ชายแก่ตัวลง ระดับของฮอร์โมนที่ชื่อว่า Dihydrotestosterone (DHT) จะเพิ่มขึ้นจนไปกระตุ้นการเติบโตของต่อมลูกหมาก
ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่ามีฮอร์โมนสองตัวที่ทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น ซึ่งก็คือเทสโทสเตอโรนกับเอสโตรเจน โดยผู้ชายที่อายุน้อยจะมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนออกมามาก และมีระดับเอสโตรเจนน้อยกว่ามาก แต่เมื่อเริ่มสูงวัยร่างกายก็จะมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง จนทำให้มีสัดส่วนของฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้นในร่างกาย ซึ่งเอสโตรเจนนี่เองที่ไปกระตุ้นการขยายใหญ่ขึ้นของต่อมลูกหมาก
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะต่อมลูกหมากโต
ภาวะต่อมลูกหมากโตเป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับอายุที่มากขึ้น และพบได้บ่อยในผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยจากการประมาณการณ์ พบว่าผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป 4 ใน 10 คน และ ผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป 3 ใน 4 คน จะมีปัญหาระบบปัสสาวะที่เกิดจากภาวะต่อมลูกหมากโต
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
นอกจากนี้ มีงานวิจัยชี้ว่าผู้ชายที่มีความดันโลหิตสูงและผู้ชายที่เป็นเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่อมลูกหมากโตสูงมาก อย่างไรก็ตามทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงนั้นต่างก็เกี่ยวข้องกับกระบวนการชราภาพตามธรรมชาติอยู่แล้ว การนำภาวะทั้งสองมาเชื่อมโยงกับภาวะต่อมลูกหมากโตจึงยากที่จะยืนยันว่ามีความเกี่ยวข้องกันจริงๆ
อาการของภาวะต่อมลูกหมากโต
อาการของภาวะต่อมลูกหมากโตเกิดจากการที่ต่อมลูกหมากที่ขยายใหญ่ขึ้นไปกดทับกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ จนส่งผลต่อการปัสสาวะหลายอย่าง เช่น
- ปัสสาวะออกยาก ทำให้ต้องพยายามเบ่งปัสสาวะ
- การไหลของปัสสาวะอ่อน หรือออกๆ หยุดๆ
- ต้องปัสสาวะบ่อย หรือต้องตื่นขึ้นกลางดึกเพื่อปัสสาวะบ่อยครั้ง
- รู้สึกปวดปัสสาวะกะทันหันจนทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ไม่สามารถขับถ่ายให้หมดภายในครั้งเดียวได้
- มีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ
ภาวะต่อมลูกหมากโตในระยะท้ายๆ อาจทำให้ขับถ่ายปัสสาวะไม่ได้ และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ ไตเสียหาย เป็นต้น
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
หากคุณสังเกตถึงปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการขับถ่ายปัสสาวะ แม้ว่าอาการจะไม่รุนแรง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง และควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ เพื่อแพทย์จะได้ตรวจหาว่ามีภาวะสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ หรือไม่
การวินิจฉัยภาวะต่อมลูกหมากโต
อันดับแรก แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามอาการต่างๆ หากพบว่าคุณมีอาการเข้าข่ายภาวะต่อมลูกหมากโต ขั้นตอนต่อไปก็คือการคำนวณคะแนน International Prostate Symptom Score (IPSS) ซึ่งเป็นการทำแบบสอบถามประเมินอาการ ในแต่ละคำถามจะมีห้าคำตอบให้เลือก แต่ละตัวเลือกจะมีคะแนนแตกต่างกันไป เสร็จแล้วแพทย์จะนำคะแนนรวมที่ได้จากแบบทดสอบนี้มาประเมินความรุนแรงของอาการของคุณ
รายการคำถามทดสอบภาวะต่อมลูกหมากโต มีดังต่อไปนี้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- ในช่วงเดือนที่ผ่านมานั้น คุณรู้สึกว่าไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะให้หมดภายในครั้งเดียวบ่อยแค่ไหน?
- คุณต้องทำการถ่ายซ้ำอีกครั้งภายในเวลาน้อยกว่าสองชั่วโมงหลังการถ่ายครั้งแรกบ่อยแค่ไหนไหน?
- คุณสังเกตว่าปัสสาวะของคุณหยุดๆ ออกๆ บ่อยขนาดไหน?
- การขับถ่ายปัสสาวะของคุณอ่อนบ่อยขนาดไหน?
- คุณต้องพยายามเบ่งหรือดันปัสสาวะให้ออกบ่อยขนาดไหน
- คุณมีอาการปวดระหว่างขับถ่ายกลางดึกหรือไม่?
- คุณต้องลุกไปเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะกลางดึกบ่อยขนาดไหน?
หลังจากตอบคำถาม แพทย์จะประเมินความรุนแรงของอาการของคุณ เพื่อกำจัดความเป็นไปได้ที่อาการดังกล่าวจะเป็นภาวะสุขภาพอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกันได้ออกไป
หลังจากทำแบบสอบถามประเมินอาการไปแล้ว แพทย์อาจใช้วิธีวินิจฉัยอื่นๆ เพิ่มเติมในขั้นตอนต่อไป ซึ่งการทดสอบที่นำมาใช้มีดังต่อไปนี้
การทดสอบปัสสาวะ
การตรวจปัสสาวะมีเพื่อตรวจสอบว่าอาการของคุณเกิดจากการติดเชื้อที่ระบบขับถ่ายหรือไม่ เช่นการติดเชื้อที่ไต หรือการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
การตรวจทวารหนัก
คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการตรวจทางทวาร โดยแพทย์จะสวมถุงมือและใช้สารหล่อลื่นบนนิ้วก่อนค่อยๆ สอดนิ้วเข้าไปยังทวารหนักของคุณ เพราะว่าเป็นช่องทางที่อยู่ใกล้กับต่อมลูกหมากที่สุด จากนั้นจะสัมผัสและตรวจสอบว่าพื้นผิวของต่อมลูกหมากนั้นแข็งหรือขรุขระผิดปกติหรือไม่ โดยกระบวนการนี้อาจสร้างความไม่สบายเนื้อสบายตัวเล็กน้อย แต่มักจะไม่เจ็บปวด
มะเร็งต่อมลูกหมากไม่ใช่ภาวะเดียวที่ทำให้รูปร่างของต่อมลูกหมากเปลี่ยนไป ดังนั้นคุณอาจต้องเข้ารับการทดสอบเฉพาะทางอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ และแพทย์อาจต้องส่งตัวคุณไปพบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขับถ่ายอีกทีด้วย
การทดสอบ Prostate-specific antigen (PSA)
แพทย์สามารถประเมินปริมาณของโปรตีน PSA ที่ผลิตออกมาจากต่อมลูกหมากได้โดยการตรวจเลือด ซึ่งระดับ PSA ที่เพิ่มขึ้นนั้นบ่งชี้ถึงการขยายใหญ่ขึ้นของต่อมลูกหมาก และการเพิ่มขึ้นในปริมาณค่อนข้างมากจะบ่งชี้ถึงภาวะมะเร็งต่อมลูกหมากได้ อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับการตรวจทางทวารหนัก การทดสอบ PSA ก็ไม่สามารถยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งได้อย่างสมบูรณ์
Transrectal ultrasound (TRUS)
เป็นการสแกนอัลตราซาวด์ประเภทหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบต่อมลูกหมากและพื้นที่โดยรอบต่อม โดยจะมีการสอดแท่งอัลตราซาวด์เข้าทางทวาร เพื่อดูขนาดของต่อมลูกหมาก และสามารถใช้เพื่อยืนยันข้อสันนิษฐานหรือกำจัดความเป็นไปได้ที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้
Computer tomographic (CT) urogram
เป็นการตรวจสอบระบบทางเดินปัสสาวะโดยมองหาการตีบตันภายในที่อาจเป็นสาเหตุของอาการ เช่น ภาวะนิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ทั้งยังสามารถตรวจหาความเสียหายภายในระบบปัสสาวะได้เช่นกัน
ระหว่างการสแกน CT Urogram แพทย์จะฉีดสารทึบแสงที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งจะปรากฏออกมาบนฟิล์มเอกซเรย์อย่างชัดเจน หลังจากฉีดสาร 30-60 นาที สารทึบแสงจะเข้าไปยังระบบปัสสาวะและช่วยให้มองเห็นความผิดปกติชัดขึ้นเมื่อถ่ายเอกซเรย์ ในบางกรณีแพทย์อาจขอให้คุณปัสสาวะก่อนถ่ายฟิล์มเอกซเรย์ครั้งสุดท้ายด้วย
ตารางบันทึกการปัสสาวะ
ตารางบันทึกการปัสสาวะ (Voiding chart) เป็นบันทึกที่ให้คุณจดช่วงเวลาที่ปัสสาวะภายใน 24 ชั่วโมง คุณต้องจดรายละเอียดทั้งหมดของการปัสสาวะแต่ละครั้ง เช่น ปัสสาวะหยุดๆ ออกๆ หรืออาการขับถ่ายลำบาก ซึ่งแพทย์จะสามารถใช้ข้อมูลที่ได้มานี้ชี้ชัดแนวทางการรักษาที่น่าจะควบคุมอาการของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
การวัดการไหลของปัสสาวะ
การวัดการไหลของปัสสาวะ (Uroflowmetry) เป็นวิธีวัดแรงดันของกระเพาะปัสสาวะของคุณ และดูการทำงานของกระเพาะปัสสาวะในขณะปัสสาวะ
คุณจะได้รับยาชาเฉพาะที่ก่อนแพทย์จะทำการสอดท่อสวนขนาดเล็กเข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อเคลื่อนไปยังกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นแพทย์จะฉีดน้ำเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะผ่านสายสวน และคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับสายสวนจะทำการวัดแรงดันภายในกระเพาะปัสสาวะของคุณ ก่อนจะประเมินว่ากระเพาะปัสสาวะของคุณทำงานได้ดีเพียงไหน
การวัดการไหลของปัสสาวะนี้เป็นวิธีการตรวจสอบเพื่อกำหนดวิธีการรักษาควบคุมอาการที่ดีเช่นกัน
การรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต
การรักษาภาวะต่อมลูกหมากโตนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ หากมีอาการในระดับไม่รุนแรงไปจนถึงปานกลาง คุณจะไม่ได้รับการรักษาในทันที แต่อาจมีเพียงการตรวจร่างกายตามกำหนดเวลาเพื่อประเมินต่อมลูกหมากของคุณแทน
อีกทั้งแพทย์จะแนะนำให้คุณทำการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เลี่ยงการดื่มน้ำก่อนเข้านอน 1-2 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงที่คุณต้องลุกขึ้นกลางดึกเพื่อไปปัสสาวะ
- ทดลองเวลาที่คุณใช้ยา เช่น ลองใช้ยาตอน 1 ทุ่ม เพื่อป้องกันการลุกไปห้องน้ำกลางดึก
- หยุดดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน หรือจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีสารเหล่านี้ เพราะจะไปสร้างความระคายเคืองแก่กระเพาะปัสสาวะของคุณ และทำให้อาการทรุดลงได้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ งานวิจัยพบว่าการออกกำลังกายง่ายๆ อย่างการเดิน 30-60 นาทีต่อวัน จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลที่รับรองได้แน่ชัดก็ตาม
- เข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการไปพบกับกลุ่มช่วยเหลือตามสถานที่ต่างๆ เพื่อช่วยจัดการกับอาการที่ไม่รุนแรงต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา
การฝึกกระเพาะปัสสาวะ
การฝึกกระเพาะปัสสาวะเป็นโปรแกรมออกกำลังที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มระยะเวลาการขับถ่ายและเพิ่มปริมาณปัสสาวะที่คุณสามารถอั้นได้ โดยคุณจะได้รับเป้าหมาย เช่น รออย่างน้อย 2 ชั่วโมงระหว่างเวลาขับถ่ายแต่ละครั้ง
รวมทั้งจัดทำแผนผังการฝึกกระเพาะปัสสาวะที่สามารถช่วยให้สามารถจดจำช่วงเวลาการขับถ่ายของคุณ รวมไปถึงปริมาณปัสสาวะที่ออกมา โดยคุณจะได้รับเหยือกพลาสติกสำหรับวัดปริมาณปัสสาวะกลับบ้านไป
นอกจากนี้แพทย์จะสอนขั้นตอนการออกกำลังกายแก่คุณ เช่น การหายใจ การผ่อนคลาย และการออกกำลังกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยลดการจดจ่อกับความอยากปลดปล่อยปัสสาวะ
เมื่อเวลาผ่านไป เวลาที่เป็นเป้าหมายของคุณจะเพิ่มขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงท้ายของโปรแกรมฝึกคุณจะสังเกตได้ว่าตัวเองสามารถกลั้นปัสสาวะได้นานยิ่งขึ้น ทั้งนี้การฝึกกระเพาะปัสสาวะควรดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเท่านั้น
การใช้ยา
การใช้ยาร่วมมักทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตข้างต้น และเป็นวิธีที่แนะนำสำหรับรักษาอาการของภาวะต่อมลูกหมากโตปานกลางถึงรุนแรง
ยารักษาภาวะต่อมลูกหมากโตที่แพทย์เลือกใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ ไฟนาสเตียไรด์ (Finasteride) และดูทาสเทไรด์ (Dutasteride) ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมน Dihydrotestosterone (DHT) บนต่อมลูกหมาก ช่วยให้ขนาดของต่อมลูกหมากลดลง และช่วยทำให้บรรเทาอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ยาทั้งสองชนิดนี้อาจช่วยให้รู้สึกถึงอาการที่ดีขึ้นในทันที แต่คุณอาจต้องใช้ยานี้ไปเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน กว่าจะได้รับประโยชน์ขั้นสูงสุด โดยจะมีการติดตามอาการของคุณหลังจากนั้นทุกๆ ปี
อย่างไรก็ตามยาไฟนาสเตียไรด์และยาดูทาสเทไรด์จะส่งผลเสียกับการตั้งครรภ์ โดยอาจเสี่ยงทำให้ทารกผิดปกติแต่กำเนิดได้ ดังนั้นระหว่างที่ใช้ยานี้คุณจึงควรใช้ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้ตัวยามีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยอาจทำให้มีน้ำเชื้อน้อยหรือไม่มีเลยในขณะที่กำลังหลั่ง และหลายๆ กรณีพบว่าผลข้างเคียงเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อร่างกายค่อยๆ ปรับตัวกับยาที่ใช้ แต่หากคุณเป็นกังวลกับผลข้างเคียงข้อนี้ก็สามารถปรึกษากับแพทย์ได้
ตัวยาอีกชนิดหนึ่งที่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ คือ Alpha blockers มีฤทธิ์ช่วยคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ และทำให้ปัสสาวะได้สะดวกขึ้น โดยคุณอาจได้รับยา Alpha blockers มาใช้เป็นยารักษาหลัก หรือใช้ร่วมกับยาไฟนาสเตียไรด์ก็ได้
ยากลุ่ม Alpha blockers ที่แพทย์มักใช้รักษาภาวะต่อมลูกหมากโตมากที่สุด ก็คือยาแทมซูโลซิน (Tamsulosin) กับยาอัลซูโลซิน (Alfuzosin) ซึ่งเป็นยาที่พบผลข้างเคียงได้ไม่บ่อยนัก และหากมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นก็มักจะไม่รุนแรงมาก เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนล้า มีจำนวนอสุจิน้อยหรือไม่มีเลยขณะหลั่งน้ำอสุจิ ในระหว่างที่ใช้ยานี้แพทย์อาจแนะนำให้เลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือใช้ยาเครื่องจักร ไปจนกว่าฤทธิ์ของยาจะหมด
การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีที่มักแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะต่อมลูกหมากโตระดับปานกลางถึงรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาทั้งหลาย โดยหัตถการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดแรงดันภายในกระเพาะปัสสาวะ มีหลายประเภทดังต่อไปนี้
การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยวิธีสอดกล้อง (Transurethral resection of the prostate - TURP) คือหัตถกรรมที่ใช้เครื่องมือขนาดเล็กที่เรียกว่า Resectoscope สอดเข้าท่อปัสสาวะทางองคชาติ เครื่องมือนี้มีห่วงลวดอยู่ที่ปลาย ซึ่งจะทำความร้อนด้วยกระแสไฟฟ้าเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อส่วนเกินออกจากต่อมลูกหมาก
แพทย์จะใช้ยาสลบให้ผู้ป่วยหลับไปตลอดกระบวนการ หรืออาจใช้วิธีการระงับความรู้สึกทางสันหลังที่ทำให้ช่วงล่างของร่างกายชาแต่คุณจะรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา กระบวนการผ่าตัดวิธีนี้จะใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าต้องกำจัดเนื้อเยื่อออกเท่าใด
ผู้ชายส่วนมากที่เข้ารับการรักษาประเภทนี้จะกลับมาแข็งแรงพอจะออกจากโรงพยาบาลได้ใน 2-3 วันหลังการผ่าตัด แต่คุณจะไม่สามารถปัสสาวะได้เหมือนเดิมในช่วงแรกเนื่องจากท่อปัสสาวะยังคงบวมอยู่ ทำให้แพทย์ต้องทำการสวนกระเพาะปัสสาวะเพื่อดูดปัสสาวะออก โดยมักจะทำการถอดท่อนี้ออกหลังการผ่าตัด 24-48 ชั่วโมง
การผ่าตัดแบบนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้ไม่สามารถหลั่งน้ำเชื้อออกมาได้ ซึ่งเรียกว่าภาวะหลั่งน้ำอสุจิย้อนทาง (Retrograde ejaculation) เป็นภาวะที่ทำให้ระหว่างการหลั่ง น้ำอสุจิกลับไหลเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะแทนที่จะไหลผ่านองคชาติ แม้คุณจะยังคงมีความรู้สึกเหมือนกำลังหลั่งตามปรกติก็ตาม (ยังคงถึงจุดสุดยอดอยู่)
การกรีดคอกระเพาะปัสสาวะ (Bladder neck incision - TUIP) เป็นการขยายท่อปัสสาวะให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น มีวิธีคล้ายกับการผ่าตัดแบบ TURP คือศัลยแพทย์จะสอด Resectoscope ที่มีห่วงลวดให้ความร้อนที่ปลายเข้าไปในท่อปัสสาวะ ห่วงลวดนี้จะใช้เพื่อการตัด (กรีด) กล้ามเนื้อที่ต่อมลูกหมากบรรจบกับกระเพาะปัสสาวะ
การผ่าตัดประเภทนี้จะช่วยเปิดช่องให้กระเพาะปัสสาวะ จนทำให้ของเหลวไหลออกมาได้ โดยภายหลังการผ่าตัด คุณอาจไม่สามารถปัสสาวะได้ และแพทย์จะสอดสายสวนเพื่อดูดปัสสาวะออกแทน โดยคุณอาจต้องมีสายสวนติดอยู่ระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะสามารถขับถ่ายได้ตามปรกติ การผ่าตัดวิธีนี้จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหลั่งน้ำอสุจิย้อนทางน้อยกว่าการผ่าตัดแบบ TURP
Holmium laser enucleation of the prostate (HoLEP) มีความคล้ายกับการผ่าตัดแบบ TURP คือเป็นการตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่เกินออกด้วยเครื่องมือที่สอดผ่านท่อปัสสาวะ แต่วิธีการนี้จะใช้เลเซอร์แทนห่วงลวด กระบวนการนี้มีประโยชน์มากกว่าTURP แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน ดังนั้นหากแพทย์แนะนำให้ใช้วิธี HoLEP คุณควรสอบถามและขอคำอธิบายว่าเหตุใดจึงเลือกใช้วิธีการนี้ รวมไปถึงความเสี่ยงและผลที่จะได้รับจากวิธีนี้เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบ TURP
Insertion of prostatic urethral lift implants เป็นหัตถการรูปแบบใหม่ที่ช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับท่อปัสสาวะ กระบวนการนี้สามารถดำเนินการด้วยการใช้ยาชาหรือยาสลบก็ได้
แพทย์จะสอดอวัยวะปลูกถ่ายเข้าไปยังท่อปัสสาวะ โดยตัวอวัยวะเทียมนี้จะถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถดันต่อมลูกหมากที่โตออกจากท่อปัสสาวะเพื่อทำให้ท่อไม่บีบรัด
ข้อดีของวิธีการนี้คือมีความเสี่ยงต่อระบบการทำงานทางเพศน้อยกว่าการผ่าตัดแบบ TURP และ TUIP หรือกล่าวได้ว่ามีความเสี่ยงต่อปัญหาสมรรถภาพทางเพศและปัญหาการหลั่งน้อยกว่าหัตถการทั้งสองนั่นเอง ทั้งยังเป็นวิธีที่สร้างความเสียหายแก่เนื้อเยื่อน้อยกว่า ทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าและไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีข้อเสียที่ยังไม่สามารถแก้ไขอาการปัสสาวะติดขัดได้อย่างถาวร และเนื่องจากว่ายังเป็นหัตถการที่ใหม่อยู่มาก จึงทำให้ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ในระยะยาว และเป็นตัวเลือกการรักษาที่จำกัดมากอยู่
Transurethral vaporisation of the prostate (TUVP) จะคล้ายกับวิธี TURP แต่จะเป็นการทำลายส่วนเกินของต่อมลูกหมากแทนการตัดออก การศึกษาแสดงให้เห็นว่า TUVP มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับ TURP แต่อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องได้รับการรักษาอีกในอนาคต
Greenlight laser surgery (PVP) การทำเลเซอร์สามารถใช้เพื่อทำลายเนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากได้ โดยกระบวนการนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของ TUVP โดยขั้นตอนการทำจะมีการสอดเครื่องมือที่เรียกว่า Cystoscope ผ่านท่อปัสสาวะ และจะยิงเลเซอร์ผ่าน Cystoscope เพื่อทำลายเนื้อเยื่อส่วนเกินของต่อมลูกหมากที่ปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ
กระบวนการนี้แนะนำให้ใช้เฉพาะในชายที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตที่ไม่อยากเผชิญกับความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด เช่น ผู้ที่ไม่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก ไม่มีความเสี่ยงต่อการเลือดออกมาก มีต่อมลูกหมากน้อยกว่า 100 มิลลิลิตร ทั้งยังมีข้อดีที่มีช่วงพักฟื้นที่โรงพยาบาลสั้นกว่า ถอดสายสวนกระเพาะปัสสาวะออกได้เร็วกว่า ฟื้นตัวเร็วกว่า และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่า
การผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบเปิด (Open prostatectomy) เป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการผ่าตัดวิธี TURP ในกรณีที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตรุนแรง แต่เป็นวิธีที่ไม่นิยมใช้ เนื่องจาก ณ ปัจจุบันมีทางเลือกการรักษาเกิดขึ้นใหม่มากมาย เช่น HoLEP เป็นต้น
ระหว่างการผ่าตัดเปิดต่อมลูกหมากจะมีการกรีดหน้าท้องและเยื่อภายในบริเวณใกล้ต่อมลูกหมาก ก่อนจะนำต่อมออกมา แต่กระบวนการนี้มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูงมาก เช่น ภาวะหมดสมรรถภาพทางเพศ และภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงที่ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาถาวรได้มากกว่าการใช้วิธี TURP
ภาวะแทรกซ้อนของต่อมลูกหมากโต
ภาวะต่อมลูกหมากโตอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง เช่น การติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection: UTI) หรือภาวะปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน
ภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
หากคุณไม่สามารถปลดปล่อยปัสสาวะได้ทั้งหมด จะมีความเสี่ยงที่ร่างกายจะไม่สามารถกำจัดแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะทั้งหมด และอาจทำให้เชื้อลุกลามไปจนทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะขึ้น
อาการของของการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ปัสสาวะมีสีขุ่น ปัสสาวะปนเลือดหรือมีกลิ่นเหม็น ปวดท้องน้อย คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น และมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
ภาวะนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ โดยภาวะนี้มักจะไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดการติดเชื้อพร้อมกันหลายครั้งหลายตัวก็สามารถสร้างความเสียหายแก่ไตและกระเพาะปัสสาวะได้ หากคุณเคยมีประวัติติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะซ้ำซ้อน คุณอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาด้วย
ภาวะปัสสาวะไม่ออกกะทันหัน
ภาวะปัสสาวะไม่ออกกะทันหัน (Acute urinary retention: AUR) คือการไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะออกมาได้อย่างกะทันหัน ซึ่งนับเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เพราะหากไม่ทำการรักษาอย่างเร่งด่วนจะทำให้ปัสสาวะไหลกลับไปยังไต ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายแก่อวัยวะได้
อาการของภาวะปัสสาวะไม่ออกกะทันหัน ได้แก่ ไม่สามารถถ่ายปัสสาวะได้อย่างกะทันหัน ปวดท้องน้อยรุนแรง กระเพาะปัสสาวะบวมออกจนสามารถสัมผัสได้ด้วยมือ เป็นต้น
การรักษาภาวะนี้สามารถทำได้ด้วยการสอดสายสวนกระเพาะปัสสาวะเพื่อดูดของเหลวออกจากกระเพาะปัสสาวะ และในกรณีที่เป็นรุนแรงอาจต้องมีการผ่าตัดเพื่อทำให้กระเพาะปัสสาวะว่าง
ภาวะแทรกซ้อนจากต่อมลูกหมากโตนั้นมักไม่ร้ายแรง และที่หลายคนกังวลว่าภาวะนี้จะส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้นนั้นไม่เป็นความจริง เพราะพบว่าความเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากของชายที่มีต่อมลูกหมากขนาดปกติกับชายที่มีต่อมลูกหมากโตนั้นไม่ได้แตกต่างกันเลย