ภาพรวมของสิว
ผิวหนังเป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยรูเล็กๆ ที่เรียกว่ารูขุมขน (Pores) ซึ่งอาจเกิดการอุดตันจนทำให้เกิดสิวอักเสบได้จาก
- น้ำมัน
- แบคทีเรีย
- เซลล์ผิวที่ตายแล้ว
- สิ่งสกปรก
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Dermatology) กล่าวว่า สิว คือโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย แม้จะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะเมื่อมีอาการรุนแรง นอกจากนี้สิวที่เกิดขึ้นบนใบหน้า จะส่งผลกระทบต่อการนับถือตนเอง ความภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดแผลเป็นบนใบหน้า จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกทุกข์ใจ
รักษาสิว ลดรอยสิววันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 93%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ปัจจุบันมีวิธีการรักษาสิวที่มีประสิทธิภาพหลายวิธี ที่ช่วยลดจำนวนสิวที่เกิดขึ้น และลดโอกาสในการเกิดแผลเป็นจากสิว
อาการของสิว
สิวสามารถพบได้เกือบทุกที่ในร่างกาย แต่มักเกิดขึ้นบนใบหน้า หลัง คอ หน้าอก และไหล่
โดยทั่วไปจะสังเกตเห็นตุ่มสิวเป็นสีขาว หรือสีดำ โดยทั้งสิวหัวขาว (Whiteheads) และสิวหัวดำ (Blackheads) เรียกอีกอย่างได้ว่า สิวอุดตัน (Comedones)
- สิวหัวดำ คือสิวที่มีรูเปิดที่ผิวหนัง เมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศทำให้ลักษณะภายนอกกลายเป็นสีดำ หรือเรียกว่า สิวอุดตันหัวเปิด
- สิวหัวขาว คือสิวที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนัง ลักษณะภายนอกเป็นสีขาว เรียกว่า สิวอุดตันหัวปิด
แม้ว่าสิวหัวขาวและสิวหัวดำจะเป็นสาเหตุของรอยแผลเป็นที่พบได้บ่อยในโรคสิว แต่ก็ยังมีสิวประเภทอื่นที่สามารถเกิดขึ้นได้ คือ สิวอักเสบ สิวชนิดนี้โอกาสทำให้เกิดแผลเป็นบนผิวหนังได้มากกว่า โดยสามารถแบ่งชนิดของสิวอักเสบได้ ดังนี้
- สิวชนิดตุ่มนูนแดง (Papules) มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ขนาดเล็ก สีแดง เกิดจากการอักเสบ หรือการติดเชื้อที่บริเวณรูขุมขน
- สิวหัวหนอง (Pustules) มีลักษณะเป็นตุ่มสิวสีแดง ขนาดเล็ก แต่ที่บริเวณหัวสิวมีหนองสีขาวนูนขึ้นมา
- สิวอักเสบแดงเป็นก้อน (Nodules) มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง ขนาดใหญ่ เป็นไตแข็งอยู่ใต้ผิวหนัง และมีอาการเจ็บ
- สิวซีสต์ (Cysts) มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง ขนาดใหญ่ อยู่ใต้ผิวหนัง เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บมาก และมีหนองอยู่ภายใน
สาเหตุของสิว
ในแต่ละรูของผิวหนัง จะมีรูเปิดเข้าสู่รูขุมขน (Follicle) ซึ่งเป็นที่อยู่ของขน (Hair) และต่อมไขมัน (Sebaceous gland) โดยต่อมไขมันจะทำหน้าที่หลั่งไขมัน (Oil หรือ Sebum) ซึ่งจะเดินทางผ่านขนขึ้นสู่รูเปิดบนผิวหนังของคุณ ไขมันที่สร้างขึ้นนี้ จะทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่มและช่วยไม่ให้ผิวแห้ง
สิวจะเกิดขึ้น เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในกระบวนการสร้างไขมัน ดังนี้
รักษาสิว ลดรอยสิววันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 93%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- มีการสร้างไขมันออกมามากเกินไป
- มีการสะสมของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วในรูขุมขน
- มีแบคทีเรียเจริญเติบโตขึ้นในรูขุมขน
ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดตุ่มสิวขึ้น โดยสิวจะเกิดขึ้นเมื่อมีแบคทีเรียเจริญเติบโตในรูขุมขนที่อุดตัน ร่วมกับการที่น้ำมันไม่สามารถระบายออกสู่ภายนอกรูขุมขนได้
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นสิว
ในปัจจุบันพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดสิว มีดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นเมื่อโตเป็นวัยรุ่น หรือมีการตั้งครรภ์
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด หรือยาสเตียรอยด์บางชนิด
- การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลทรายขาวหรือคาร์โบไฮเดรตปริมาณสูงเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง มันฝรั่งทอด
- มีพ่อแม่เป็นสิวมาก่อน
ช่วงวัยรุ่นคือช่วงที่มีโอกาสเป็นสิวมากที่สุด เพราะในช่วงนี้ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างมาก ที่กระตุ้นการผลิตน้ำมันในรูขุมขน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิว แต่สิวที่มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยรุ่นจะหายไปได้เอง หรือมีอาการดีขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
การวินิจฉัยโรคสิว
หากคุณมีอาการของสิว แพทย์จะยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจสภาพผิวหนังของคุณ เพื่อระบุชนิดของสิวและความรุนแรงของโรค เพื่อช่วยเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
การรักษาสิว
การรักษาด้วยตนเอง
คุณสามารถใช้วิธีต่อไปนี้ในการดูแลตนเองที่บ้านเพื่อป้องกันการเกิดสิวและเพื่อรักษาสิว
- ทำความสะอาดผิวด้วยสบู่อ่อนทุกวัน เพื่อกำจัดน้ำมันส่วนเกินและสิ่งสกปรกบนผิว
- สระผมเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงไม่ให้แชมพูโดนใบหน้า
- ใช้เครื่องสำอางที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (Water-Based) หรือมีฉลากระบุว่าไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน (Noncomedogenic หรือ Non Pore-Clogging)
- ไม่บีบสิว หรือกดสิว ซึ่งเป็นการเพิ่มการแพร่กระจายของแบคทีเรียและน้ำมันส่วนเกิน
- ไม่สวมหมวก ไม่สวมผ้าพันศีรษะแน่น
- ไม่สัมผัสใบหน้าของตนเอง
การรักษาสิวด้วยการใช้ยา
หากการรักษาด้วยตนเองไม่ช่วยให้อาการของสิวดีขึ้น ก็อาจใช้ยาเพื่อช่วยในรักษา ซึ่งสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา โดยยาหลายชนิดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ช่วยเปิดรูขุมขน และลดปริมาณน้ำมันบนผิวหนัง ได้แก่
- Benzoyl Peroxide เป็นยาที่มีทั้งรูปแบบครีมและรูปแบบเจล ซึ่งจะช่วยให้สิวที่เป็นอยู่แห้งและป้องกันการเกิดสิวใหม่ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของสิวด้วย
- Sulfur (กำมะถัน) เป็นสารตามธรรมชาติมีกลิ่นเฉพาะตัว พบในโลชั่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว และแผ่นมาสก์บางยี่ห้อ
- Resorcinol เป็นสารที่ไม่เป็นที่นิยม ใช้สำหรับกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว
- Salicylic Acid พบได้ในสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสำหรับผู้ที่เป็นสิว โดยจะช่วยป้องกันการอุดตันของรูขุมขน
แม้จะรักษาด้วยยาข้างต้นแล้ว แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ในกรณีนี้คุณอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งแพทย์จะประเมินอาการของโรค จ่ายยาเพื่อรักษาสิวและป้องกันการเกิดแผลเป็น ได้แก่
- ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) ชนิดรับประทาน หรือชนิดทาบนผิวหนัง ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของสิวและช่วยลดอาการอักเสบ โดยทั่วไปยาปฏิชีวนะจะใช้ในเวลาสั้นๆ ดังนั้นคุณจึงไม่มีความเสี่ยงต่อการดื้อยา และไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- ยาทาบนผิวหนัง เช่น Retinoic Acid หรือ Benzoyl Peroxide ที่มีความเข้มข้นสูง ฤทธิ์ของยาจะช่วยลดการผลิตน้ำมันและช่วยให้รูขุมขนเปิดออก
- ยาคุมกำเนิด หรือ Spironolactone เพื่อควบคุมฮอร์โมนในร่างกายที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิว โดยจะลดการผลิตน้ำมันลงในกรณีที่เป็นสิวจากฮอร์โมน
- ยา Isotretinoin เป็นยาในกลุ่มวิตามินเอ (Vitamin-A-Based Medication) ซึ่งใช้ในการรักษาสิวอักเสบแดงเป็นก้อน (Nodules) ที่มีอาการรุนแรง ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้ และควรใช้เฉพาะกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผลเท่านั้น
สำหรับการรักษาสิวที่มีความรุนแรง และการป้องกันการเกิดแผลเป็น แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม โดยจะเกี่ยวข้องกับการกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว การลดการผลิตน้ำมัน และการเปิดรูขุมขนลดการอุดตัน ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- การใช้แสงรักษาสิว (Photodynamic Therapy) : เป็นการใช้ยาร่วมกับการฉายแสงชนิดพิเศษหรือเลเซอร์ เพื่อลดการผลิตน้ำมันและลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย อาจมีเลเซอร์อื่นๆ ที่ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการของสิวหรือรอยแผลเป็นได้
- การกรอหน้า (Dermabrasion) : เป็นกระบวนการเพื่อกำจัดผิวหนังชั้นบนสุดออก (ชั้นหนังกำพร้า) โดยการใช้แปรงลวดกรอลงบนผิวหนัง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีในการรักษารอยแผลเป็นจากสิว และยังมี Microdermabrasion ซึ่งเป็นการรักษาที่อ่อนโยนกว่าสำหรับช่วยเปิดรูขุมขนและช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว
- การลอกผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peel) : เป็นกระบวนการลอกผิวหนังชั้นบนสุดออก (ชั้นหนังกำพร้า) ซึ่งจะทำให้ผิวดูเรียบเนียนขึ้น การลอกผิวออกยังช่วยเปิดรูขุมขนและช่วยให้แผลเป็นจากสิวในระดับรุนแรงน้อยดีขึ้นได้
ถ้าเป็นสิวซีสต์ขนาดใหญ่ แพทย์อาจแนะนำให้คุณฉีดยา Cortisone ที่เป็นยาสเตียรอยด์ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบของสิวและช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น
แนวโน้มในอนาคตของผู้ที่เป็นสิว
โดยทั่วไปแล้วการรักษาสิวมักประสบความสำเร็จ โดยอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นอย่างชัดเจนใน 6 - 8 สัปดาห์หลังเริ่มการรักษา หากพบการกลับมาเป็นซ้ำของสิว (ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย) อาจต้องทำการรักษาเพิ่มเติม หรือใช้เวลาในการรักษานานขึ้น
การป้องกันการเกิดสิว
แม้ว่าการป้องกันการเกิดสิวเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่เมื่อคุณรักษาสิวแล้ว คุณสามารถปฏิบัติตนด้วยขั้นตอนต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดสิวใหม่ ดังนี้
- ล้างหน้าวันละ 2 ครั้ง ด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ปราศจากน้ำมัน (Oil-free cleanser)
- ใช้ครีมที่ช่วยกำจัดน้ำมันส่วนเกินบนผิวหนัง ซึ่งมีขายทั่วไปตามร้านขายยา
- หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า และการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน
- ล้างเครื่องสำอาง และล้างหน้าให้สะอาดก่อนเข้านอน
- อาบน้ำหลังออกกำลังกายเสร็จ
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับแน่นเกินไป
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ลดการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลทรายขาว
- ลดความเครียด และหาวิธีจัดการความเครียดให้กับตนเอง
ที่มาของข้อมูล
Darla Burke, What Causes Acne? (https://www.healthline.com/symptom/acne), May 25, 2018.