หลายคนรู้จัก "กำมะถัน (Sulfur)" ว่าเป็นแร่ธาตุที่พบมากในธรรมชาติ ลักษณะเป็นผงผลึกสีเหลือง และเป็นส่วนประกอบของแก๊สไข่เน่าที่มีกลิ่นแสบจมูก แต่รู้หรือไม่ว่า ธาตุกำมะถันนั้นมีประโยชน์มากมายในด้านอุตสาหกรรมและการแพทย์ เป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกาย ช่วยบำรุงผม เล็บ ผิว จนได้ชื่อว่าเป็น "Beauty mineral" หรือ “แร่ธาตุแห่งความสวยงาม” อีกด้วย
คุณสมบัติของกำมะถัน
กำมะถัน เป็นแร่ธาตุที่ไม่ใช่โลหะ และมีคุณสมบัติทางเคมีเป็นกรด สามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ เช่น ในเซลล์พืชและสัตว์ โดยปกติกำมะถันจะอยู่ในรูปของแข็ง เป็นผลึกสีเหลือง ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น แต่หากทำปฏิกิริยากับธาตุอื่นๆ ก็จะเกิดกลิ่นขึ้นมาได้ เช่น เมื่อรวมตัวกับไฮโดรเจนจะเกิดแก๊สที่มีกลิ่นเหมือนไข่เน่า
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
กำมะถันที่อยู่ในอาหาร เมื่อรับประทานเข้าไปจะถูกดูดซึมในลำไส้พร้อมกับกรดอะมิโน จากนั้นจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย ส่วนที่เหลือจะถูกขับออกพร้อมกับเหงื่อและปัสสาวะ ทำให้ในร่างกายมีกำมะถันเพียง 0.25% ของน้ำหนักตัวเท่านั้น
บทบาทของกำมะถันต่อร่างกาย
- เป็นส่วนประกอบของเคราติน (Keratin) ซึ่งพบในเส้นผม ขน และเล็บ การรับประทานกำมะถันจึงช่วยบำรุงให้ผมและเล็บแข็งแรง เงางามดูสุขภาพดี
- ช่วยในการสังเคราะห์คอลลาเจน (Collagen) ซึ่งเป็นองค์ประกอบในชั้นผิวที่ช่วยกักเก็บน้ำและความชุ่มชื้น จึงช่วยบำรุงให้ผิวพรรณเนียนนุ่ม ไม่แห้งกร้าน
- ช่วยในการสังเคราะห์เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกระดูกและข้อต่อ ทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายดีขึ้น ลดอาการปวดเกร็งกล้างเนื้อ และลดอาการปวดข้อได้ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- ช่วยในการผลิตอินซูลิน (Insulin) จึงมีบทบาทช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ
- ช่วยกำจัดสารพิษจากอาหารและสารระเหย เช่น แอลกอฮอล์ และควันบุหรี่
- ช่วยล้างสารพิษในตับ
- มีส่วนช่วยบำรุงการทำงานของสมองและระบบประสาท
- เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญ และการใช้ออกซิเจนในเซลล์ จึงช่วยให้เซลล์มีพลังงานและทำงานได้เป็นปกติ
อาหารที่มีกำมะถันสูง
เราสามารถพบกำมะถันได้ในอาหารหลายชนิด โดยอาหารที่มีกำมะถันสูง ได้แก่
- อาหารจำพวกโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เครื่องใน นม อาหารทะเล กุ้ง หอย ปู
- ผักต่างๆ เช่น กระเทียม หอมหัวใหญ่ หัวไชเท้า กะหล่ำปลี ผักใบเขียว ถั่วงอก
- ผลไม้หลายชนิด เช่น อะโวคาโด สับปะรด แอปเปิล ราสเบอรี่
- ธัญพืช เช่น ถั่วนานาชนิด และข้าวซ้อมมือ
หากปริมาณกำมะถันในร่างกายผิดปกติ จะส่งผลอย่างไร
- เมื่อร่างกายขาดกำมะถัน จะแสดงอาการที่เห็นได้ชัดคือ มีผิวแห้งผิดปกติ ผิวหยาบกร้าน ผมหลุดร่วง ไม่แข็งแรง และเล็บแตกเปราะ
- การรับกำมะถันจากอาหารมากเกินไป ยังไม่พบว่ามีอันตรายรุนแรง เนื่องจากร่างกายสามารถขับธาตุส่วนเกินออกได้ แต่กำมะถันในรูปอนินทรีย์นั้นพบว่ามีพิษต่อร่างกาย
จะรับกำมะถันในปริมาณที่เพียงพอต่อวันได้อย่างไร
เราสามารถรับกำมะถันในปริมาณที่เพียงพอได้ จากการรับประทานอาหารที่มีกำมะถันเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะอาหารพวกโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ คนทั่วไปที่ได้รับโปรตีนเพียงพอจึงได้รับกำมะถันเพียงพอไปด้วย
แต่สำหรับใครที่ต้องการรับกำมะถันเพิ่มเติม ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเอ็มเอสเอม (Methysulferfonylmethane: MSM) ซึ่งเป็นกำมะถันแบบอินทรีย์ร่วมกับวิตามินบีรวม เนื่องจากวิตามินบีเป็นตัวช่วยเสริมให้การทำงานของกำมะถันในร่างกายดีขึ้น การรับประทานเอ็มเอสเอมในปริมาณ 1,000–4,000 มิลลิกรัมต่อวัน (แบ่งวันละ 2-3 ครั้ง) พร้อมกับอาหาร จะช่วยรักษาปัญหาผิว แก้อาการภูมิแพ้ นอกจากนี้ การรับประทานเอ็มเอสเอมร่วมกับกลูโคซามีน (Glucosamine) ยังช่วยลดอาการข้ออักเสบและปวดตึงได้อีกด้วย