แนะนำการเลือกครีมรักษาสิวและยารักษาสิวรูปแบบอื่นๆ ให้ได้ประสิทธิภาพและปลอดภัย พร้อมอธิบายวิธีใช้อย่างครบถ้วน

ครีมรักษาสิว ตัวไหนใช้แล้วหน้าใส ได้ผลจริง สิวหายเกลี้ยง! | HonestDocs
เผยแพร่ครั้งแรก 4 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
แนะนำการเลือกครีมรักษาสิวและยารักษาสิวรูปแบบอื่นๆ ให้ได้ประสิทธิภาพและปลอดภัย พร้อมอธิบายวิธีใช้อย่างครบถ้วน

สิวเป็นปัญหาผิวที่เกิดได้บ่อย โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หลายคนอาจพยายามรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันสิว หรือใช้วิธีธรรมชาติรักษาแล้ว แต่ไม่ได้ผล การใช้ยาทารักษาสิวจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ควรจะเลือกใช้ตัวยาอะไร มีวิธีใช้แบบไหน มีสิ่งใดต้องระมัดระวังบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

จะเลือกครีมรักษาสิวให้ถูก ควรรู้จักชนิดของสิวเสียก่อน

ในการรักษาสิวโดยใช้ยานั้น มีรูปแบบการรักษาที่เป็นขั้นตอนตามชนิดและระดับความรุนแรนแรงของสิว สามารถจำแนกได้ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  1. สิวชนิด Comedone เป็นสิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน โดยมีเส้นขนอุดตันอยู่ในรูขุมขนร่วมกับซีบัม (ซีบัม (Sebum) เป็นไขมันที่ผลิตโดยต่อมไขมันผิวหนัง (Sebaceous Gland) ทำหน้าป้องกันการระเหยของน้ำออกจากผิวหนัง และช่วยทำให้ขนและผิวหนังมีความลื่น แต่เมื่อมีการผลิตซีบัมที่มากเกินไป ก็ทำให้เกิดความผิดปกติบริเวณนั้นได้ เช่น เกิดสิว หรือเกิดซีสต์ไขมัน) และเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว การอุดตันสามารถพัฒนาจนทำให้เกิดเป็นตุ่มขนาดเล็ก

    Comedone สามารถจำแนกได้ 2 ชนิดคือ
    1. สิวหัวขาว (Whitehead) ลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก รูสิวยังไม่เปิด
    2. สิวหัวดำ (Blackhead) ลักษณะเป็นตุ่มนูน มีรูสิวเปิด สาเหตุที่สิวมีสีดำเนื่องจากซีบัมสัมผัสกับอากาศ ทางรูสิว ทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันจนสิวเปลี่ยนสี

  2. สิวชนิด Papule เป็นสิวขนาดไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร ที่พัฒนาจากสิวชนิด Comedone ที่เกิดการอักเสบ การอุดตันจากระยะ Comedone ทำให้ซีบัมที่ถูกสร้างขึ้นเรื่อยๆ ถูกสะสมไว้ในรูขุมขนซึ่งเป็นอาหารของเชื้อ Propioni Acne (P. Acne) เชื้อจึงเกิดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อทั้งซีบัม เซลล์ที่ตายแล้ว และเชื้อ P. Acne เหล่านี้มีจำนวนมากขึ้น ก็จะทำให้สิวเกิดการแตกกระจายไปยังเซลล์ข้างเคียง ทำให้บริเวณนั้นเกิดการอักเสบ ผิวหนังที่เป็นสิวจะมีการแดง รู้สึกปวด เจ็บ

  3. สิวชนิด Pustule เป็นสิวที่มีการอักเสบรุนแรงกว่า Papule มีลักษณะเป็นผิวหนังอักเสบแดงล้อมรอบหัวหนองสีขาวเหลือง

  4. สิวชนิด Nodule เป็นสิวอักเสบที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.5 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นตุ่มแข็งขนาดใหญ่ สามารถสัมผัสและเห็นได้ชัด มีความรุนแรงมากกว่า 3 ชนิดด้านบน สิว Nodule เกิดจากการแตกออกของสิวไปยังบริเวณข้างเคียง ทำให้เกิดการอักเสบและบวมเป็นตุ่ม สิวชนิดนี้มีโอกาสเกิดรอยแผลเป็นได้

    หากเป็นสิว Nodule แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ยารับประทานในกลุ่มกรดของวิตามินเอในการรักษา ซึ่งจะมีผลค้างเคียงสูง และยาส่งผลต่อสตรีมีครรภ์

การจำแนกความรุนแรงของสิว

ปัจจุบันไม่ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่ชัดของระดับความรุนแรงของสิว แต่เมื่อพิจาณาจากลักษณะของสิวที่เกิดขึ้นอาจแบ่งตามความรุนแรงของคร่าวๆ ได้ดังนี้

  1. สิวไม่อักเสบ ได้แก่ สิวชนิด Comedone ทั้งแบบสิวหัวขาวและสิวหัวดำ
  2. สิวอักเสบระดับรุนแรงน้อย ได้แก่ สิวชนิด Comedone ที่มี Papule และ Pustule อยู่บ้าง
  3. สิวอักเสบระดับรุนแรงปานกลาง ได้แก่ สิวชนิด Comedone ที่เกิดขึ้นร่วมกับ Papule และ Pustule ซึ่งมีการอักเสบรุนแรง อาจพบสิวชนิด Nodule ได้บ้าง
  4. สิวอักเสบชนิดรุนแรง ได้แก่ การเกิดสิวอักเสบทั้งชนิด Comedone, Papule, Pustule และ Nodule จำนวนมาก มีการอักเสบที่รุนแรง และมีการทิ้งรอยแผลของสิว

ยาในรูปแบบยาทาสำหรับรักษาสิว

ยาในรูปแบบยาทารักษาสิว ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบเจลหรือครีมทาสิว ซึ่งมีจำหน่ายในประเทศไทย มีดังนี้

  1. ยาในกลุ่มเรตินอยด์

    เช่น อะแดพาลีน 0.1 % (Adapalene หรือที่รู้จักในยี่ห้อ Differin) เตรตินอยน์ 0.025 -0.1 % (Tretinoin หรือที่รู้จักในยี่ห้อ Retin-A)

    รูปแบบของยาที่มีวางจำหน่าย อะแดพาลีนมีวางจำหน่ายในรูปแบบเจลและแบบครีมรักษาสิว ความเข้มข้น 0.1% ส่วนเตรตินอยน์มีวางจำหน่ายในรูปแบบครีมรักษาสิว ความเข้มข้น 0.025-0.1 %

    ยากลุ่มนี้เป็นยากลุ่มหลักที่ใช้ในการรักษาสิว ช่วยป้องกันการเกิดและลดจำนวนสิวอุดตัน อีกทั้งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ทำให้ยามีประสิทธิภาพดีกับทั้งสิวอักเสบและไม่อักเสบ เรตินอยด์ชนิดทาสามารถใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาสิวชนิดไม่อักเสบ และแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ (เช่น คลินดาไมซิน) ในการรักษาสิวชนิดอักเสบ

    แม้ว่ายาแต่ละตัวในกลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาเท่าๆ กัน แต่จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยสามารถทนต่อผลข้างเคียงของอะแดพาลีนได้ดีกว่ายาตัวอื่นในกลุ่ม ซึ่งผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ของยากลุ่มนี้ ได้แก่ ผิวหนังบริเวณที่ทายามีอาการแห้ง แดง ลอกออก อาจพบความรู้สึกเหมือนถูกมดกัดหลังทายาได้ ยาทำให้ผิวไวต่อแสง จึงแนะนำให้ใช้ครีมกันแดดร่วมด้วยเพื่อลดความเสี่ยงในการถูกแดดเผาบริเวณที่ทายา ยากลุ่มนี้ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากทำให้ทารกพิการได้ ส่วนยาเตรตินอยน์นั้นแนะนำให้ทาในช่วงเย็น เนื่องจากในยาบางสูตร ตัวยาสำคัญสามารถถูกทำลายได้ด้วยแสง

  2. เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide หรือ BP)

    ยี่ห้อที่นิยม เช่น Benzac AC

    แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
    รักษาสิว ลดรอยสิววันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 93%

    จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

    รูปแบบของยาที่มีวางจำหน่าย เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์มีวางจำหน่ายในรูปแบบเจล ในประเทศไทยมีวางจำหน่ายเฉพาะความเข้มข้น 2.5 และ 5 %

    ยา BP มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ P. acne โดยเป็นสารอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิดสิวอุดตัน นิยมใช้ BP เสริมกันกับยาปฏิชีวนะแบบทา เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาและลดการดื้อยาของเชื้อ นอกจากนี้ยังนิยมใช้ BP ร่วมกับยาในกลุ่มเรตินอยด์ในการรักษาสิวผสมระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง

    ความเข้มข้นของ BP มีตั้งแต่ 2.5% ไปจนถึง 10 % การใช้ยาครั้งแรกแนะนำให้ใช้ที่ความแรง 2.5 % หรือ 5 % ก่อน เนื่องจากยาที่มีความแรงสูงมีแนวโน้มจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้มากกว่า

    ควรระวังการเปื้อนของยาลงบนเสื้อผ้า เนื่องจาก BP สามารถฟอกสีของผ้าได้

    หากต้องได้ยา BP ร่วมกับเตรตินอยน์ ควรใช้ยาสองชนิดคนละเวลากัน เช่น ตัวหนึ่งทาตอนเช้า อีกตัวทาเวลาเย็น เนื่องจากเตรตินอยน์สามารถเกิดปฏิกิริยาออกซิไดซ์และถูกทำลายได้ด้วย BP

  3. ยาปฏิชีวนะในรูปแบบทา

    เช่น คลินดาไมซิน (clindamycin) อิริโธรไมซิน (erythromycin)

    รูปแบบของยาที่มีวางจำหน่าย คลินดาไมซินที่ใช้สำหรับรักษาสิวมีวางจำหน่ายในรูปแบบเจลและแบบยาน้ำสำหรับทา ความเข้มข้น 1 % ส่วนอิริโธรไมซินที่ใช้สำหรับรักษาสิวมีวางจำหน่ายในรูปแบบเจล ความเข้มข้น 4 %

    ยาปฏิชีวนะในรูปแบบทานี้ ใช้สำหรับรักษาสิวอักเสบระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง หรือใช้รักษาสิวผสม คลินดาไมซินนิยมใช้ในความแรง 1 % และอริโธรไมซินที่ความแรง 2 %

    จากการศึกษาพบว่า คลินดาไมซินมีประสิทธิภาพการรักษาสูงกว่าอิริโธรไมซิน ด้วยเหตุผลเรื่องการดื้อยาของเชื้อ การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาเป็นยาเดี่ยวในการรักษาสิวมีโอกาสที่เชื้อจะเกิดการดื้อสูง จึงแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาทาในกลุ่มเรตินอยด์หรือเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์

    ทั้งคลินดาไมซินและอิริโธรไมซินมีความปลอดภัยต่อสตรีมีครรภ์ อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ยังมีผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์อยู่บ้าง ได้แก่ ผิวหนังบริเวณที่ทายามีอาการแห้ง แดง ลอกออก ผิวมัน

    แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
    หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

    จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  4. กรดอะเซลาอิก (Azelaic Acid)

    มักรู้จักในยี่ห้อ Skinoren

    รูปแบบของยาที่มีวางจำหน่าย กรดอะเซลาอิกที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมักเป็นรูปแบบครีมรักษาสิว ความเข้มข้น 20 %

    กรดอะเซลาอิกเป็นกรดอินทรีย์ พบในข้าวสาลี ใช้ในการรักษาสิวอักเสบระดับรุนแรงน้อยถึงปานกลาง หรือใช้รักษาสิวผสม ซึ่งนอกจากใช้รักษาสิวแล้ว ยังสามารถใช้รักษาฝ้าได้ด้วย จัดเป็นยาที่พิจารณาให้ใช้ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากค่อนข้างมีความปลอดภัย

    ผลข้างเคียงของยาที่สำคัญ ได้แก่ ทำให้สีของผิวหนังบริเวณที่ทาซีดกว่าปกติ (Hypopigmentation) การใช้ยาในผู้ที่มีสีผิวเข้มอาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทามีสีแตกต่างไปจากผิวหนังบริเวณอื่นได้ ผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ รู้สึกแสบ คัน ระคายเคือง อาจรู้สึกเหมือนถูกมดกัดหลังทายา

  5. กรดซาลิไซลิก (salicylic acid)

    รูปแบบของยาที่มีวางจำหน่าย กรดซาลิไซลิกมีวางจำหน่ายหลายรูปแบบ เช่น เจล ครีม โลชัน ยาน้ำสำหรับทา ทั้งในรูปแบบยาเดี่ยวและเป็นสารผสมร่วมกับยารักษาชนิดอื่น ซึ่งนอกจากนี้แล้วยังเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เช่น ในคลีนเซอร์สำหรับทำความสะอาดผิวหน้า

    กรดซาลิไซลิกมีคุณสมบัติลดการเกิดสิวอุดตัน มีฤทธิ์อ่อนกว่ายาทาในกลุ่มเรตินอยด์ ความเข้มข้นของกรดซาลิไซลิกที่ใช้รักษาสิวมีตั้งแต่ 0.5-2 % ผู้ใช้ส่วนมากมีแนวโน้มทนต่อผลข้างเคียงของของกรดซาลิไซลิกได้ดี มีความปลอดภัยสูง แต่ตัวยายังมีข้อจำกัดในเรื่องประสิทธิผลในการรักษาสิว เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่มีคุณภาพมากพอสนับสนุนประสิทธิผลในข้อบ่งใช้ดังกล่าว

    ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ผิวหน้าแห้ง ระคายเคืองผิว

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาทารักษาสิวด้วยตนเอง

ตามแนวทางการรักษาสิวนั้น จะใช้วิธีการรักษาเป็นลำดับขั้นตามความรุนแรง ซึ่งแพทย์หรือเภสัชกรจะเป็นผู้ประเมินว่าควรเริ่มรักษาด้วยยาชนิดใดก่อน เบื้องต้นมักจะใช้เบนโซอิลเพอรอกไซด์ หรือยาเรตินอยด์ เป็นยาทางเลือกแรกในการรักษา ในกรณีผู้ป่วยต้องการที่จะซื้อครีมรักษาสิว หรือยาทาสำหรับรักษาสิวระดับความรุนแรงที่ไม่มากมาใช้เอง สามารถใช้ยาสองชนิดนี้เป็นยาทางเลือกแรกก่อนได้

แต่ในกรณีที่ใช้แล้วยังไม่หาย หรือมีความรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะเข้าช่วย ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ไม่ควรหาซื้อมารับประทานเอง

ในกรณีเป็นสิวระดับรุนแรงก็เช่นกัน หากต้องการให้การรักษามีประสิทธิภาพและปลอดภัย ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากแพทย์อาจให้ใช้ยาไอโซเตรตินอยน์ (Isotretinoin) รูปแบบรับประทาน ซึ่งยานี้จัดเป็นยากลุ่มยาควบคุมพิเศษ การสั่งใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น ยาไอโซเตรตินอยน์นี้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง แต่ผลข้างเคียงของยาอันตรายอย่างมาก เช่น เป็นพิษต่อตับ สามารถทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) ได้ ข้อควรระวังคือห้ามใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรอย่างเด็ดขาด เนื่องจากยาทำให้ทารกพิการได้ การใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานานมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน เป็นต้น การใช้ยานี้เองอย่างต่อเนื่องอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตทีเดียว

ส่วนยาในกลุ่มกรดอะเซลาอิก และกรดซาลิไซลิก ไม่ได้เป็นยาทางเลือกหลักในการรักษา ผู้ที่เป็นสิวและต้องการรักษาสิวด้วยตนเองก่อนสามารถใช้ยานี้ในการรักษาได้ เนื่องจากยาไม่ได้มีอันตรายมากนัก ไม่ได้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบภายในของร่างกาย เว้นแต่อาการข้างเคียงเฉพาะบริเวณที่ทา และโดยส่วนใหญ่ผู้ที่ใช้ยาสามารถทนต่ออาการข้างเคียงเหล่านี้ได้

เคลียร์ข้อสงสัย...ยาทาสเตียรอยด์ใช้รักษาสิวได้หรือไม่?

ยากลุ่มสเตียรอยด์มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้นำมารักษาสิว เนื่องจากสเตียรอยด์สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงตามมา และกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง เช่น การเกิดสิวสเตียรอยด์ (Steroid Acne) ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (Rosacea) และพบว่ามีอาการใบหน้าติดการใช้สเตียรอยด์ (Topical Steroid Dependent Face (TSDF)) คือผิวหน้าจะแดง รู้สึกแสบร้อน เมื่อพยายามถอนการใช้สเตียรอยด์ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทารูปแบบสเตียรอยด์ในการรักษาสิว


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Lahiri K, Topical Steroid Damaged/Dependent Face (TSDF): An Entity of Cutaneous Pharmacodependence, May-June 2016.
Jaggi Rao, Acne Vulgaris Guidelines, 9 October 2018.
American Family Physician, Practice Guideline: Acne Vulgaris: Treatment Guidelines from the AAD, June 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
รวม 10 คลินิกรักษาสิวในกรุงเทพมหานคร พร้อมที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์
รวม 10 คลินิกรักษาสิวในกรุงเทพมหานคร พร้อมที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์

ใครที่กำลังมองหาคลินิกรักษาสิวอยู่มาทางนี้ HonestDocs ได้รวบรวม 10 คลินิกสำหรับรักษาสิวในกรุงเทพฯ ไว้ให้แล้ว

อ่านเพิ่ม
5 วิธีบอกลาสิว พร้อมแนะนำครีมแต้มสิว ยุติวงจรสิวอุดตันซ้ำซาก
5 วิธีบอกลาสิว พร้อมแนะนำครีมแต้มสิว ยุติวงจรสิวอุดตันซ้ำซาก

สิว ปัญหาผิวหน้าที่ทำให้ใครหลายคนขาดความมั่นใจ หยุดง่ายๆ ด้วย 5 วิธี พร้อมแนะนำครีมแต้มสิวที่มีประสิทธิภาพ

อ่านเพิ่ม